xs
xsm
sm
md
lg

ความท้าทายของรัฐบาลเศรษฐา ภายใต้ปัญหาและภูมิทัศน์การเมืองแบบใหม่ Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์






"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

  กว่า 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสินจากพรรคเพื่อไทยกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ด้วยเสียงสมาชิกรัฐสภา 482 เสียง มาจาก สส. 330 เสียง และ สว. 152 เสียง เกมอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะชั่วคราวของกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมจารีต การต่อสู้ระหว่างกลุ่มเสื้อเหลืองกับกลุ่มเสื้อแดงแบบเก่าที่ครอบงำการเมืองไทยร่วมสองทศวรรษปิดฉากลงไป ขณะที่การต่อสู้แบบใหม่กำลังเริ่มต้นและจะส่งผลต่อภูมิทัศน์การเมืองไทยในยุคต่อไป

กลุ่มพรรคการเมืองที่สนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน ประกอบด้วยพรรคฝ่ายขวาทั้งหมด ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมขวาจัดเข้มข้นปนอำนาจนิยมจารีตสุดโต่งอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ ขวาฉวยโอกาสอย่างนักเลือกตั้งบ้านใหญ่แบบพรรคภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ และขวาประชานิยมที่กลายพันธุ์เป็นขวาจารีตอย่างพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจาก สว. ฝ่ายอำนาจนิยมอีกจำนวนไม่น้อย พันธมิตรการเมืองฝ่ายขวาประเภทต่าง ๆ เหล่านี้มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำและเป็นหัวหอกในการต่อสู้กับฝ่ายเสรีนิยมก้าวหน้าที่มีพรรคก้าวไกลเป็นตัวแทน

แม้ว่าจะประสบความสำเร็จ เอาชนะฝ่ายเสรีนิยมก้าวหน้าในเกมอำนาจได้ แต่ความท้าทายที่รัฐบาลผสมหลายสายพันธุ์ต้องเผชิญมีหลายประการด้วยกัน

 ประการแรกคือปัญหาความชอบธรรม เพราะได้เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลโดยการตระบัดสัตย์ต่อประชาชน และหักหลังพันธมิตรทางการเมืองอย่างพรรคก้าวไกล ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง นายเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยปราศรัยและพูดในที่สาธารณะหลายครั้งหลายคราวว่า จะไม่ร่วมมือกับพรรคสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารอย่างพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเด็ดขาด หลังเลือกตั้งเสแสร้งเล่นละครด้วยการจับมือกับพรรคก้าวไกล และกล่าวในทำนองว่าถูกคลุมถุงชนให้จับมือกัน แต่ในที่สุดก็สลัดพรรคก้าวไกลทิ้งและบอกให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน จากนั้นก็กลืนน้ำลายตนเอง หันไปจับมือกับพรรคที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารเพื่อจัดตั้งรัฐบาล การขึ้นมามีอำนาจด้วยการหลอกลวงประชาชนและพรรคก้าวไกลเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมอย่างรุนแรง ใครหรือพรรคการเมืองใดที่ได้อำนาจมาด้วยวิธีการที่ผิดจริยธรรม ย่อมทำให้รากฐานของความชอบธรรมสั่นคลอน ประชาชนไม่ยอมรับและจะนำไปสู่วิกฤติศรัทธาตามมา

  ประการที่สอง ปัญหาจริยธรรมส่วนตัวของนายเศรษฐา ก่อนได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐาได้ถูกนายชูวิทย์ กมลวิศิษย์เปิดเผยเกี่ยวกับความไม่ตรงไปตรงมาในการทำธุรกิจ จนนำไปสู่การตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับคุณสมบัติว่า มีความเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ยิ่งกว่านั้นนายชูวิทย์ก็ได้จัดส่งเอกสารไปให้หน่วยงานของรัฐหลายแห่งเพื่อขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมในอดีตของนายเศรษฐา แม้ว่านายเศรษฐาจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่การตรวจสอบก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจากการไม่รักษาคำพูดช่วงหาเสียงมาประกอบ สังคมก็ย่อมมีความสงสัยและไม่ไว้วางใจนายเศรษฐา และเมื่อเชื่อมโยงกับธรรมภาษิตข้อหนึ่งที่ว่า  “คนพูดเท็จ ไม่ทำชั่ว นั้นไม่มี” ก็ยิ่งทำให้คำถามเกี่ยวกับปัญหาทางจริยธรรมของนายเศรษฐา มีมากยิ่งขึ้น

 ประการที่สาม ปัญหาเกี่ยวกับภาวะผู้นำและการตัดสินใจทางการเมือง นายเศรษฐา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังจากเข้าสู่วงการทางการเมืองเพียงไม่กี่เดือนด้วยการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย แต่หากกล่าวอย่างตรงประเด็นก็คือ การได้รับการสนับสนุนจากตระกูลชินวัตรโดยเฉพาะจากนายทักษิณ ชินวัตรและ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตระกูลชินวัตรเป็นตระกูลที่ทรงอิทธิพลอย่างแท้จริงของพรรคเพื่อไทย ขณะที่นายเศรษฐานั้นไร้รากฐานการเมืองที่หนักแน่นภายในพรรค ดังนั้น การยอมรับจากนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยต่อนายเศรษฐาย่อมมีไม่มากเท่าที่ควร และมีความเป็นไปได้สูงว่า นายเศรษฐาจะมีฐานะเป็นเพียง “หุ่นเชิด” ทางการเมืองของตระกูลชินวัตรและอาจรวมถึงกลุ่มอำนาจมืดอื่น ๆ ที่มีข้อตกลงกับตระกูลชินวัตรด้วย เมื่อไร้อำนาจ ปราศจากบารมีก็ย่อมส่งผลกระทบต่อภาวะผู้นำและการตัดสินใจ ไม่สามารถมีอิสระในการตัดสินใจ โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความอ่อนไหวและมีผลกระทบสูงทางการเมืองและเศรษฐกิจ

 ประการที่สี่ ปัญหาการจัดการความขัดแย้งภายในรัฐบาลผสม รัฐบาลเศรษฐาถูกจัดตั้งขึ้นมาด้วยการผสมของพรรคการเมืองหลายพรรค ที่มีจุดยืนและความคาดหวังทางการเมืองแตกต่างกัน ความขัดแย้งอย่างแรกที่นายเศรษฐาเผชิญกับพรรคการเมืองอื่น ๆ คือ การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี อันที่จริง เรื่องนี้อาจไม่ใช่เป็นเรื่องของนายเศรษฐาโดยตรง เพราะเขาเป็นเพียงสัญลักษณ์หาใช่ตัวจริงในการต่อรองเรื่องการจัดสรรตำแหน่งแต่อย่างใด แต่เรื่องที่อาจเกี่ยวข้องกับตัวเขาคือ การจัดทำนโยบายของรัฐบาลผสม ซึ่งต้องผสานความต้องการของพรรคการเมืองอื่น ๆ ให้ลงตัว มิฉะนั้นแล้ว ก็จะกลายเป็นรอยร้าว ที่อาจขยายตัวและแตกหักในอนาคตอันใกล้ได้ ยิ่งกว่านั้น ด้วยความจริงที่ว่าพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ต่างก็มีจุดยืนที่ยึดมั่นในเรื่องการแสวงหาทรัพยากรและการจัดสรรงบประมาณ ดังนั้นการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างพรรคจะเต็มไปด้วยความเข้มข้น ความขัดแย้งก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อยครั้ง การใช้บารมีทางการเมืองและทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้งจึงเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดของนายกรัฐมนตรีเพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ด้วยการที่นายเศรษฐามีต้นทุนในเรื่องอำนาจบารมีน้อย จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะไม่สามารถสยบความแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาลได้ และอาจนำไปสู่การแตกหักได้ในเวลาไม่นานนัก หรือหากจะประคับประคองรัฐบาลต่อไปได้ก็ต้องอาศัยอำนาจที่ทรงพลังจากภายนอกเข้ามากลบทับความขัดแย้งเอาไว้ชั่วคราว

 ประการที่ห้า ปัญหาการจัดการความคาดหวังของประชาชน มีคนจำนวนไม่น้อยคาดหวังสูงต่อพรรคเพื่อไทยในเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่หยุดชะงักเป็นเวลายาวนานร่วม 9 ปี จากบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพและขาดประสิทธิผลของรัฐบาลประยุทธ์ นายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยประกาศต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นย่อมทำให้ประชาชนมีความคาดหวังสูงว่า รัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น และผู้คนจะมีรายได้มากขึ้น แต่หากรัฐบาลไม่สามารถทำได้ความผิดหวังอย่างรุนแรงก็อาจเกิดขึ้นได้ หากรัฐบาลแก้ตัวว่านโยบายต่าง ๆ ที่พูดเป็นเพียงเรื่องการหาเสียงเท่านั้น หาได้คิดจะนำมาทำอย่างจริงจังแต่อย่างใด ก็ย่อมทำให้ประชาชนยิ่งไม่พอใจและโกรธแค้นรัฐบาลมากขึ้น และนำไปสู่การออกสู่ท้องถนนเพื่อต่อต้านหรือขับไล่รัฐบาลได้

  ประการที่หก ความขัดแย้งของขั้วการเมืองแบบใหม่ ภูมิทัศน์การเมืองหลังการเลือกตั้งในยุคปัจจุบันมีการแบ่งขั้วการเมืองแบบใหม่ขึ้นมา ขั้วแรกคือ ขั้วชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมแบบจารีตผสมอำนาจนิยม ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ มีสถาบันการเมืองแบบอำนาจนิยมเป็นองคายพ อันประกอบด้วยระบบราชการ กองทัพ องค์กรอิสระ และสื่อมวลชนขวาจัด และมีฐานมวลชนสองกลุ่มหลักให้การสนับสนุนคือ มวลชน “แดงอุปถัมภ์” ที่รักภักดีต่อนายทักษิณและพรรคเพื่อไทย กับมวลชนเสื้อเหลืองจารีตที่มีความเชื่อแบบขวาจัด ส่วนขั้วที่สองคือ พลเมืองเสรี ที่มีจุดยืนสนับสนุนระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย และมีอุดมการณ์ทางเมืองแบบเสรีนิยมก้าวหน้า สวัสดิการนิยม พหุวัฒนธรรมและเพศสภาพนิยม ขั้วนี้มีพรรคก้าวไกลเป็นตัวแทน

ขั้วอนุรักษ์นิยมจารีตมีความต้องการนำสังคมไทยไปสู่ระบอบอำนาจจารีตนิยมแบบดั้งเดิม และมีประชาธิปไตยเป็นไม้ประดับ มีอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่สถาบันทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำ ขั้วนี้ต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมแบบจารีต ดำรงฐานะอันเป็นอภิสิทธิ์ชนของกลุ่มชนชั้นนำ ดำรงรักษาระบบลำดับชั้นของอำนาจทางสังคมเอาไว้อย่างมั่นคง ทำนุบำรุงระบบอุปถัมภ์และระบบพวกพ้องให้ยืนยาว และปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของกลุ่มทุนผูกขาด เพื่อรักษาความไม่เท่าเทียมทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองเอาไว้อย่างเหนียวแน่น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน อาจทำให้ประชาชนไม่พอใจและนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้ รัฐบาลเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำของขั้วนี้จึงได้รับมอบหมายให้แสดงบทบาทในการบรรเทาความไม่พอใจของประชาชน ทางเลือกที่เป็นหลักที่มักใช้คือ การผลักดันนโยบายประชานิยม เพื่อสร้างความหวังเชิงมายาคติหรือภาพลวงตาขึ้นมา ให้ประชาชนคิดว่าตนเองได้รับส่วนแบ่งบ้าง และสร้างวาทกรรมประชาธิปไตยกินได้ขึ้นมาครอบงำความคิดของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ มีพลเมืองเสรีจำนวนมากต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจและการเมือง พวกเขาเห็นและตระหนักถึงมายาคติเหล่านี้อย่างชัดเจนแล้ว ไม่ตกหลุมพลางกับดักที่กลุ่มชนชั้นนำสร้างขึ้นมาล่อลวงอีกต่อไป ในการเลือกตั้ง พลเมืองเสรีจึงเลือกพรรคก้าวไกล ที่นำเสนอวิสัยทัศน์ จุดยืน และนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขา จนพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งเป็นลำดับหนึ่ง แต่ด้วยการเล่นละครแบบเหลี่ยมจัดของพรรคเพื่อไทยที่ร่วมมือกับชนชั้นนำ ทำให้พรรคก้าวไกลไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ ฝ่ายพลเมืองเสรีจึงไม่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ตามที่คาดหวัง อย่างไรก็ตาม พลังของพลเมืองเสรีนับวันจะมีมากขึ้น พวกเขาจะตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องด้วยหลากหลายกลยุทธ์ หลายรูปแบบ และหลายช่องทาง พร้อม ๆ นั้นก็กดดันรัฐบาลให้ปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาชนในช่วงการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง
 ความท้าทายของรัฐบาลเศรษฐารออยู่ข้างหน้าหลายประการ อันได้แก่ ปัญหาความชอบธรรม ปัญหาจริยธรรมส่วนตัว ปัญหาภาวะการนำและการตัดสินใจ ปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐบาล ปัญหาความคาดหวังของประชาชน และปัญหาของขั้วการเมืองแบบใหม่ รัฐนาวาภายใต้การนำของนายเศรษฐาสามารถรับมือและฝ่ากระแสมรสุมจนครบสี่ปีได้หรือไม่ หรือจะล่มกลางคันเสียก่อน เป็นเรื่องที่น่าติดตามยิ่งนัก




กำลังโหลดความคิดเห็น