จบการประชุมวันแรกของ BRICS Summit ครั้งที่ 15 ที่นครโจฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อคิดเห็นจากเหล่าประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งทั้ง 5 ประเทศ ต่อผู้นำด้านเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้
ผู้นำบราซิลคือ ปธน.ลูลา ได้เน้นว่ากลุ่ม BRICS ไม่ต้องการแข่งขันกับองค์กรทางตะวันตก “พวกเราไม่ใช่มาตั้งป้อมตรงข้ามกับจี 7, จี 20 หรือสหรัฐฯ”... “เราเพียงแต่มาร่วมงานกันเท่านั้น”
นี่เป็นเสียงจากผู้นำประเทศที่ใหญ่สุดหลังบ้านสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งแสดงจุดยืนในยูเอ็นเสมือนกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ของ BRICS คือไม่ประณามรัสเซีย-กรณีบุกยูเครน ขณะเดียวกัน ก็ไม่คว่ำบาตรรัสเซียตามที่สหรัฐฯ ได้รณรงค์ถึงขนาดไม่ยอมส่งความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ใดๆ หรือส่งเงินช่วยเหลือให้กับยูเครน; ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสียงไปยังรัสเซียเพื่อให้ยุติสงครามโดยการหันหน้าเข้าเจรจาเพื่อหยุดยิงโดยเร็ววัน; และบราซิลก็เพิ่งตกลงกับอาเจนตินาที่จะสร้างสกุลเงินใหม่ระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อใช้ในการค้าและการลงทุน...ขณะที่ข้อเสนอของรัสเซียเพื่อให้สมาชิกกลุ่ม BRICS หันมาใช้สกุลเงินใหม่ในอนาคต เพื่อปลดแอกจากดอลลาร์ที่สหรัฐฯ ใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นอาวุธ (และรัสเซียได้เรียนรู้ถึงพิษสงที่ถูกสหรัฐฯ ลงโทษไม่ให้รัสเซียสามารถใช้บริการแลกเปลี่ยนผ่าน SWIFT ได้)
ดูเหมือนบราซิลจะพยายามสะท้อนภาพว่า ตนไม่ได้อยู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐฯ เต็มที่ แต่ก็พยายามเสนอให้หาหนทางจบสงครามยูเครนแต่เร็วไว และยังส่งมือขวาของลูลาคือ อดีตปธน.ผู้หญิงคนแรกของบราซิล นางดิลมา รูสเซฟฟ์ ไปนั่งเป็นซีอีโอของ BRICS Bank ที่เซี่ยงไฮ้เสียอีก ซึ่งบทบาทของธนาคารนี้จะต้องวางแผนและกำหนดเส้นทางสำหรับการออกสกุลเงินใหม่ในกลุ่ม BRICS ที่จะมาทดแทนดอลลาร์ โดยจะใช้ทองคำหนุนหลัง (ซึ่งต่างกับดอลลาร์ที่ไม่มีดอลลาร์หนุน...จะมีก็แต่ความเกรียงไกรของแสนยานุภาพแห่งกองทัพอเมริกันเป็นสิ่งค้ำจุน)
เรื่องการขยายสมาชิกของ BRICS ก็ไม่ได้มีเสียงสนับสนุนเต็มที่จากปธน.ลูลา โดยอาจมองว่า บทบาทสำคัญของ 5 ประเทศผู้ก่อตั้งจะลดน้ำหนักลงไป
สำหรับรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศตัวตั้งตัวตีในการเชิญชวนการก่อตั้ง BRICS ตั้งแต่ปี 2006...ในครั้งนี้ ปธน.ปูติน มาทางหน้าจอ เพราะไม่อยากเสี่ยงกับหมายจับของ ICC (กรณีรัสเซียกวาดต้อนเด็กๆ ชาวยูเครน…ที่พ่อแม่ตายในสงครามเอากลับไปเลี้ยงดูที่รัสเซีย ซึ่งเข้าข่ายเสี้ยมให้เด็กๆ เหล่านี้โตขึ้นมาด้วยการล้างสมองให้เกลียดชาวยูเครน เป็นการกระทำเยี่ยงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทีเดียว)...ขณะเดียวกัน ก็ยกเหตุผลกำลังอยู่ท่ามกลางสงครามกับยูเครน จึงทิ้งประเทศออกมาร่วมไม่ได้
(ยิ่งมอสโกกำลังเผชิญกับการโจมตีด้วยโดรนอยู่แทบจะทุกวัน ที่ฝ่ายเคียฟระดมยิงเข้าใส่)
ปธน.ปูตินเน้นย้ำอีกครั้งว่า BRICS จะเป็นพลังสำหรับสร้างความเป็นธรรมแก่นานาประเทศ “เราร่วมมือกันภายใต้หลักการแห่งความเท่าเทียมกัน, ความร่วมมือและเคารพซึ่งกันและกันในผลประโยชน์ของชาติต่างๆ บนเส้นทางที่เติมเต็มความต้องการของมวลเหล่าชาติต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของทั้งโลก ที่เรียกว่า “Global Community” เพราะ BRICS มีประชากรของกลุ่มถึง 40% ของประชากรโลก (ขณะที่จี 7 มีแค่ 10% ของทั้งโลก) และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึง 25% ของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด…โดยล่าสุดจีดีพีของ BRICS ก็มีขนาดใหญ่กว่าของจี 7 (เล็กน้อย) ด้วยซ้ำ
ปูตินพยายามเน้นว่า ที่ตะวันตกพร่ำพูดเสมอว่า Rule-Based System คือกฎเกณฑ์ที่ทั่วโลกยอมรับ ก็เป็นแค่ประเทศตะวันตก ที่ตอนนี้มีขนาดเล็กกว่าเหล่า Global South ที่ BRICS กำลังพยายามรวบรวมผนึกกำลังกันอยู่ แต่กลับบงการค่านิยมและข่มขู่ให้ทั้งโลกต้องปฏิบัติตาม
การขยายสมาชิกของ BRICS เป็นจุดยืนที่รัสเซียสนับสนุน เช่นเดียวกับจีน
สำหรับอินเดีย ประกาศชัดว่า ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับการขยายสมาชิกเพิ่มเติม และมีเสียงจาก think tanks ของอินเดีย รวมทั้งจากรมต.ต่างประเทศอินเดีย ที่ไม่อยากขยายสมาชิกของ BRICS เพราะอินเดียก็มีเรื่องต้องระแวงการขยายอิทธิพลของจีน ประกอบกับฝ่ายตะวันตกก็พยายามตีสนิทกับอินเดีย ขนาดย้ำว่าการลงทุนในจีน จะต้องมี China+1 คือ ทำควบคู่กับการลงทุนในจีน ก็ต้องแบ่งการลงทุนออกจากจีน ไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ด้วย (เช่น อินเดีย, เวียดนาม, ไทย, อินโดนีเซีย เป็นต้น) เห็นได้จากบริษัทอเมริกัน ตอนนี้หันมาแบ่งการลงทุนเข้าไปในอินเดียกันเป็นแถว
รวมทั้งเงินสกุลใหม่ของ BRICS ทางอินเดียก็ยังไม่ค่อยจะเห็นด้วย เพราะอินเดียกำลังได้ประโยชน์กับนโยบายที่อินเดียค้าขายและพึ่งพิงกับประเทศจี 7 ได้คล่องตัวขณะนี้
สำหรับจีน ในการประชุมวันแรกของ BRICS กับกลุ่มเศรษฐกิจ; ปธน.สี ไม่ได้แสดงความคิดเห็น โดยหายตัวไปอย่างลึกลับ ไม่มีคำอธิบาย (ว่าป่วยหรืออย่างไร) ก็คล้ายกับการหายตัวไปของรมต.ต่างประเทศ ฉิน กัง อย่างไม่มีคำอธิบายเช่นกัน
มีแต่รมต.พาณิชย์จีน ออกมาอ่านคำพูดของปธน.สีต่อที่ประชุม ซึ่งมีสาระว่า “การขยายสมาชิกของ BRICS ไม่ใช่จะทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเลือกข้าง (ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หรือการสร้างการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่ม...หากแต่เป็นการขยาย “สถาปัตยกรรมแห่งสันติภาพและการพัฒนา” ต่างหาก
น่าจะเป็นคำใหม่ที่จะอธิบายกลุ่ม BRICS ที่ปธน.สีต้องการขยายมากขึ้น เช่นเดียวกับคำว่า “Global Community” ที่ปูตินได้เสนอนั่นเอง
ด้านปธน.รามาโฟซา เจ้าภาพ ก็เน้นว่าจะยังไม่มีการออกสกุลเงินใหม่ของ BRICS แต่จะเป็นการเพิ่มใช้สกุลท้องถิ่นในการค้าขายและลงทุนระหว่างกันมากยิ่งขึ้น
เขาเน้นปัญหาโลกขาดแคลนอาหารและหวังอยากให้การขนธัญพืชของรัสเซียและยูเครนออกผ่านทะเลดำ, กลับมาอีกครั้งโดยเร็วไว
สรุปว่า กลุ่มผู้ก่อตั้ง BRICS ทั้ง 5 ยังมีความเห็นไม่ตรงกันทีเดียว เรื่องการขยายสมาชิก รวมทั้งเงินสกุลใหม่ ก็คงต้องติดตามต่อไปถึงการเติบใหญ่ของกลุ่ม BRICS
แต่ไม่ปรากฏร่างหรือเงาของปธน.มาครง แห่งฝรั่งเศส เพราะรัสเซียคัดค้านไม่ให้เชิญเข้าร่วมกลุ่ม BRICS