xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คุมไม่อยู่! “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” “มษุษย์แม่” เหยื่อเบอร์ 1 อาชญากรรมออนไลน์พุ่งไม่หยุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม - 7 สิงหาคม 2566 พบว่าคนไทยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพมากถึง 87,794 ราย โดยแม่ในกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานตอนปลายจนถึงวัยสูงอายุโดนมิจฉาชีพหลอกลวงมากถึง 9,497 คน ภายในเวลาเพียง 160 วัน หรือคิดเป็นประมาณ 60 คนต่อวัน พบว่าบางรายถูกหลอกจนสูญเงินกว่า 100 ล้านบาท 

ขณะที่ Whoscall (ฮูสคอลล์) แอปพลิเคชันระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก และป้องกันสแปมสำหรับสมาร์ทโฟน เปิดเผยว่ามิจฉาชีพนิยมหลอกลวงกลุ่มคุณแม่หลากหลายวัย พบเหยื่อเฉลี่ย 60 คนต่อวัน สูญเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อคน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่ามนุษย์แม่อีกจำนวนมากอาจตกเป็นเหยื่อเพราะขาดการตระหนักรู้ในวิธีการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ

 นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มพัฒนาการภัยทางการเงินมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอย่างต่อเนื่อง

การหลอกลวงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็น “ส่ง SMS” หลอกลวง และแก๊ง “คอลเซ็นเตอร์” จนนำมาสู่ “แอปดูดเงิน” โดยการหลอกลวงให้โอนเงิน ทำให้ปริมาณความเสียหายเกิดจากโมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566

หากดูตัวเลขสถิติการแจ้งความออนไลน์ผ่าน ธปท. สถาบันการเงิน และตำรวจ พบความเสียหายตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 - สิ้นปี 2565 พบว่ามีการแจ้งความกรณีเกิดจากภัยทางอิเล็กทรอนิกส์สูงสุด โดยตัวเลขเฉพาะความเสียหาย “แอปดูดเงิน” จะอยู่ที่ 5,640 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 511 ล้านบาท

“การทุจริตเราพบพัฒนาการของรูปแบบเปลี่ยนไปตั้งแต่ปลายปี 64 จาก Bin Attack หรือการทุจริตผ่านบัตร มาสู่ SMS หลอกลวง ซึ่งเราก็เข้าไปแก้ไขตรงนี้ จนยอดทุจริตลดลง คนร้ายก็ปรับมาเป็นแก๊ง call center เราก็มีการบล็อกเบอร์โทร จนล่าสุดมาเป็นแอปดูดเงิน ทำให้เกิดความเสียหายจากโมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้น ซึ่งชุดมาตรการที่ ธปท.ออกมาจะช่วยป้องกันคนร้ายและบัญชีม้าจะถูกตัดวงจรด้วย”ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุ

แม้มีการการบุกทลายรังจับกุมเป็นข่าวต่อเนื่อง อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ตำรวจไซเบอร์เปิดปฏิบัติการ “ล่าลวงหลอก” ขุดรากถอนโคนขบวนการ Call Center ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงรายพบตั้งแต่ตั้งปลายปี 2565 จนถึงปัจจุบัน มียอดเงินหมุนเวียน 200 - 300 ล้านบาท มีการทำธุรกรรมวันละ 10 ล้าน มีการจับกุมต้องหา 9 ราย แบ่งเป็นกลุ่มกดเงินและผู้รับจ้างเป็นบัญชีม้า

แต่ตามที่กล่าวข้างต้นแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์มีการปรับเปลี่ยนกลโกงอยู่ตลอดเวลา มีความแยบยลชักจูงใจเหยื่อหลงเชื่อ แม้กระทั่งคนในวงการสื่อสารมวลชนยังตกเป็นผู้เสียหายเสียเอง เช่น กรณีของ น.ส.ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ชื่อดัง ถูกเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน แล้วถูกดูดเงินในโมบายแบงกิ้ง เสียหายกว่า 1 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการปรับรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นข่าวครึกโครมเกิดกรณีหลอกและเรียกค่าไถ่พฤติการณ์ของ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” โดยคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาผู้เสียหาย อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย พบสมุดบัญชีของผู้เสียหายในกล่องพัสดุที่ถูกอายัด เนื่องจากพัสดุดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับขบวนการฟอกเงิน ก่อนออกอุบายให้กับผู้เสียหายถ่ายคลิปโดยมัดมือมัดเท้าตนเอง และติดต่อไปยังญาติของของผู้เสียหายเพื่อเรียกค่าไถ่ ซึ่งมีผู้เสียหายแล้วหลายสิบราย

ขณะเดียวกัน ภาครัฐมีความพยายามแก้ปัญหาแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์อย่างเต็มกำลัง ล่าสุด ทำคลอดกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางป้องปราม  “พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566”  เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สิน โดยผ่านโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในแต่ละวันมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก จึงสมควรมีมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมประเภทนี้ให้หมดไปโดยเร็ว อันเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับพระราชบัญญัติดังกล่าวมีทั้งหมด 14 มาตรา โดยมีสาระสำคัญได้แก่ มาตรา 9 กล่าวโดยย่อคือ ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรเอทีเอ็ม หรืออี-มันนีของตน โดยไม่ได้ใช้เพื่อตนหรือกิจการของตนเอง (บัญชีม้า) หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ หรือยืมใช้เบอร์มือถือ โดยรู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 กล่าวโดยย่อคือ ผู้ใดเป็นธุระ จัดหา โฆษณา หรือไขข่าวซื้อขาย ให้เช่า หรือให้ยืมบัญชีเงินฝาก บัตรเอทีเอ็ม หรืออี-มันนี เพื่อใช้กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 11 กล่าวโดยย่อคือ ผู้ใดเป็นธุระ จัดหา โฆษณา หรือไขข่าวซื้อหรือขายเบอร์มือถือที่ลงทะเบียนแล้วแต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ (เบอร์ผี) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พระราชบัญญัติดังกล่าว ยังกล่าวถึงขั้นตอนหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ หรือผู้ประกอบธุรกิจ เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบร่วมกัน และให้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือหรือโทรคมนาคมอื่น เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ดีอีเอสและสำนักงาน กสทช.เห็นชอบร่วมกัน และแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ และ ปปง.ทราบโดยทันที และนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ป้องกัน ปราบปราม หรือระงับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ (มาตรา 4)

ตำรวจไซเบอร์เปิดปฏิบัติการ“ล่าลวงหลอก” ขุดรากถอนโคนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จับกุมผู้ต้องหา 9 ราย ทำหน้าที่กดเงินและเปิดบัญชีม้า พร้อมยึดทรัพย์รวมกว่า 10 ล้านบาท
หากมีความจำเป็นต้องทราบข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งานหรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ และ ปปง.มีอำนาจสั่งการให้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือหรือโทรคมนาคมอื่นและที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่นำส่งข้อมูล (มาตรา 5) และในกรณีที่สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุอันควรสงสัยเองหรือได้รับข้อมูลว่าบัญชีเงินฝาก หรืออี-มันนีถูกใช้หรืออาจถูกใช้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือฟอกเงิน ให้มีหน้าที่ระงับและแจ้งสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนถัดไป พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลและระงับธุรกรรมชั่วคราวไม่เกิน 7 วันเพื่อตรวจสอบ (มาตรา 6)

และกรณีที่สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจได้รับแจ้งจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ถือบัญชีเงินฝาก หรืออี-มันนี ว่าได้มีการทำธุรกรรมที่เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้มีหน้าที่ระงับการทำธุรกรรมชั่วคราว และแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อทราบและระงับธุรกรรมทันที และแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 72 ชั่วโมง และให้พนักงานสอบสวนพิจารณาภายใน 7 วัน (มาตรา 7) นอกจากนี้ ยังให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจที่ใดก็ได้ หรือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) หรือร้องทุกข์ออนไลน์ก็ได้ (มาตรา 8)

 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเกี่ยวกับพรระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่มีผลบังคับตั้งแต่ 17 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดแนวดำเนินการเพื่อให้การดูแลคุ้มครองประชาชนจากมิจฉาชีพเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมี อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ

ดังนั้น หากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลวกลวงสามารถติดต่อศูนย์แจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคารเพื่อระงับบัญชีได้ทันทีและตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นกลไกให้ระดับความเสียหายได้ทันท่วงที โดยขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐรวม 15 แห่ง ได้เปิดศูนย์แจ้งเหตุฯ แล้ว

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวระบุความผิดของเจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า มีโทษอาญาหนัก จำคุก 3 ปี หรือ ปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่ได้เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนหมายโทรศัพท์ ก็มีโทษอาญาหนักเช่นกัน คือ จำคุกตั้งงแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 - 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เรียกว่าจะใช้กฎหมายดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดกับผู้เปิดบัญชีม้าซิมม้าให้มิจฉาชีพใช้เพื่อหลอกลวงประชาชน

 หลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ยังคงต้องติดตามกันว่าสถานการณ์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองไทยจะทุเราเบาลงหรือไม่? และสิ่งที่สำคัญคือการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนให้รู้เท่าทันไม่ให้ตกเป็นเยื่อของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นโจทย์ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 


กำลังโหลดความคิดเห็น