ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สังคมคงได้เห็นลีลาของ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ที่ออกมา “แฉ” ประเด็นต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องล่าสุดที่กำลังเปิดการแสดงอยู่ในขณะนี้ก็คือ กรณีของ “บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน)” และ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่ถูกกล่าวหาว่าโกงภาษีที่ดิน ทำให้รัฐบาลขาดภาษีรายได้ 521 ล้านบาท
เจ้าของฉายา “เสี่ยอ่าง” งัดข้อมูลออมาแฉแสนสิริและเศรษฐามาเป็นลำดับ และยิ่งใกล้วันโหวตของรัฐสภาก็ยิ่งเคลื่อนไหวนัก โดยอ้างว่า เพื่อตรวจสอบคนที่กำลังจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
ทว่า ถ้าหากติดตามการแฉของนายชูวิทย์อย่างต่อเนื่อง สังคมก็จะพบเห็น “ความผิดปกติ” ที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่างกรรมต่างวาระกัน จนอดสงสัยว่า ทำไมถึงฉายซ้ำภาพยนตร์เรื่องเดิม นั่นก็คือ การอาละวาดหรือ “กร่าง” แบบไร้เหตุผล
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาระหว่างการแถลงข่าวแบบ “จัดหนัก” กรณีบริษัทแสนสิริ จำกัด(มหาชน) ซื้อที่ดินย่านทองหล่อ เพราะในช่วงหนึ่งนายชูวิทย์ตั้งใจเหน็บแนม “นายสนธิ ลิ้มทองกุล” ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ (MGR) โดยการนำแก้วที่มีน้ำสีเหลืองมีข้อความบนแก้วว่ามิ้นต์ฉี่และมีหลอดดูดไปจ่อที่สแตนดี้รูปนายสนธิ พร้อมทั้งพูดท้าทายด้วยเสียงดังว่า “ถ้าแน่จริงให้มาเอง อย่าส่งลูกกระจ๊อกมา”
แน่นอน ภาพที่ปรากฏออกไปมีสิ่งที่ผิดปกติชวนให้เกิด “คำถาม” และ “ข้อสงสัย” ไม่น้อยว่า ทำไมในการแถลงข่าวเรื่องนายเศรษฐาและแสนสิริ ถึงได้มีการนำพร็อพซึ่งเป็นสแตนดี้รูปนายสนธิมาวางไว้ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่ตั้งใจจัดทำมาเท่านั้น หากยังมีเป้าหมาย “พิเศษ” ที่ต้องการจะกลบเกลื่อนอะไรบางอย่าง
และแน่นอน นายชูวิทย์ย่อมรู้ว่า ในการแถลงข่าวย่อมต้องมี “ผู้สื่อข่าว” ในเครือผู้จัดการมาร่วมซักฟังและซักถามอยู่ด้วย
และแน่นอนว่า ประเด็นสำคัญที่นายชูวิทย์เกรงกลัวเป็นพิเศษและพยายามบ่ายเบี่ยงตอบไม่ตรงประเด็น ก็คือคำถามเกี่ยวกับ “นิติกรรมอำพรางการซื้อขายที่ดินของตัวเองและลูกๆ”
ด้วยเหตุดังกล่าว ก่อนที่จะมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ นายชูวิทย์จึงจำต้องสร้างสถานการณ์เพื่อไม่ได้ชักนำไปสู่เรื่องที่ตัวเองไม่อยากพูด เพราะไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการนำแสตนดี้รูปนายสนธิมาวาง พร้อมกับคำพูด “ถ้าแน่จริงให้มาเอง อย่าส่งลูกกระจ๊อกมา” เพื่อเบี่ยงเบนสถานการณ์ให้เกิดการปะทะคารมกัน
จะว่าไปเหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้น “ครั้งแรก” ดังจะเห็นได้จากหลายกรณีที่ผ่านมา
ยกตัวอย่างเช่น สิ่งที่เกิดกับคู่ปรับอย่าง “นายสันธนะ ประยูรรัตน์” ที่อยู่ๆ นายชูวิทย์ก็ตรงปรี่เข้าไปหาเรื่องแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย จนเป็นเหตุชุลมุน เดือดร้อนเจ้าหน้าที่ต้องล็อกตัวกันวุ่นอยู่หลายครั้งหลายครา
หรือในวันที่บุกไปกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับปมรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อนายชูวิทย์เดินทางมาถึงได้เดินตรงไปยังด้านในอาคารของกระทรวงคมนาคม พร้อมกับถือน้ำยาที่อ้างว่าใช้สำหรับฆ่าเชื้อคนโกง มามอบให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย แต่เมื่อ เลขาฯ รมว.คมนาคม ซึ่งเป็น “สุภาพสตรี” ถามว่ามีหลักฐานมามอบให้กระทรวงคมนาคมหรือไม่ นายชูวิทย์กลับตอบด้วยน้ำเสียมีอารมณ์และใช้ถ้อยคำค่อนข้างรุนแรงว่า “ไม่ได้เชิญมาและไม่ต้องมายุ่ง มาเกะกะ (มาเสือกอะไรด้วย)”
หรือกรณี “กัญชา” กับเหตุการณ์วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 หลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ตรวจสอบ “ร้าน Chuweed Bar” และ “ร้าน Dispensary 24” ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงแรมเดอะเดวิส บางกอก ซ.สุขุมวิท 24 ของครอบครัวนายชูวิทย์ นายชูวิทย์ก็อาละวาดทำลายข้าวของในร้าน กวาดสินค้ากัญชาในร้านลงกับพื้น รวมถึงแสดงกิริยาท่าทาง “ใช้เท้ากระทืบสินค้ากัญชา” ที่ตั้งโชว์อยู่หน้าเคาน์เตอร์
อาละวาดเพื่อกลบเกลื่อนที่จะไม่ตอบคำถามว่า เดินหน้าต่อต้านกัญชา แต่ทำไมถึงเปิดร้านกัญชาในโรงแรมของตัวเอง จากนั้นก็อ้างว่า “ถูกกลั่นแกล้ง”
ดังนั้น ถ้าจะกล่าวว่า การอาละวาดเพื่อเบี่ยงประเด็นเป็น “ซิกเนเจอร์” ของนายชูวิทย์ก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย
ย้อนกลับไปกรณีการซื้อขายที่ดินระหว่างนายชูวิทย์กับแสนสิริอีกครั้งเพราะมีข้อสงสัยมากมาย
ทั้งนี้ ที่ดินผืนที่ว่านี้มีขนาดพื้นที่ 557 ตารางวา อยู่หลังโรงแรม เดอะ เดวิส บางกอก ตั้งราคาขายไว้ 2,000 ล้านบาท ต่อรองราคากันลงมาได้เหลือ 1,800 ล้าน โดยแสนสิริได้ยื่นเงื่อนไขให้นายชูวิทย์ไปจัดการเคลียร์รายเก่าให้เรียบร้อยก่อน ทว่า เกิดปัญหาจนดีลซื้อขายไม่ลงตัว
ที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ นายชูวิทย์กล่าวหาแสนสิริว่าทำ “นิติกรรมอำพราง” เลี่ยงภาษี 500 กว่าล้านบาท สืบไปสืบมากลับย้อนมาที่ตัวนายชูวิทย์เอง เพราะในเดือนกันยายน 2562 ที่แสนสิริทำธุรกรรมซื้อขายที่ดินย่านสารสิน ซึ่งชูวิทย์ เอามาขยี้เศรษฐานั้น เป็นเดือนเดียวกันกับที่ชูวิทย์และลูกๆ ก็มีการซื้อขายโอนที่ดินด้วย แถมมี “เจตนา” ไม่ชอบมาพากลอีกต่างหาก
ประเด็นก็คือ ที่ดินเนื้อที่ 557 ตารางวานั้นเดิมเป็นโฉนด 2 แปลง ถือครองโดย “บริษัท สมบัติเติมตระกูล” มีนายชูวิทย์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม จากนั้นที่ดิน 2 แปลง ถูกซอยออกเป็น 4 แปลง ให้ลูกๆ 4 คนของนายชูวิทย์ถือคนละโฉนด
ต่อมา “วันที่ 27 กันยายน 2562” บริษัทฯ ได้ขายที่ดินผืนดังกล่าวโดยมี “ลูกๆ 4 คน” เป็นผู้ซื้อ แล้วรับโอนมาในราคาแปลงละ 27 ล้านกว่าๆ ซึ่งน่าจะเป็นราคาประเมินของกรมที่ดิน 4 แปลง ขายให้ลูก 4 คน คิดเป็นเงินก็ประมาณ 112 ล้านบาท และในวันเดียวกันนั้น ลูกๆ ของชูวิทย์ทั้ง 4 คน ที่ระบุในสัญญาซื้อขายว่า “ซื้อมาเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย” ก็ขายและโอนที่ดินให้กับ “บริษัท เดวิส 24” ที่ถือหุ้นโดยลูกๆ ทั้ง 4 คนของชูวิทย์ ในราคาแปลงละ 502 ล้านบาท รวม 4 แปลง
จากที่ลูกๆ นายชูวิทย์ซื้อมา 112 ล้านบาทหมาดๆ ไม่ทันข้ามวันตัวเลขบวมฉึ่ง ไปถึง 18 เท่าตัว กลายเป็น 2,008 ล้านบาทกันเลยทีเดียว
สิ่งต้องถาม “นายชูวิทย์” มีอยู่ว่าเจตนาที่ทำแบบนี้ เรียกว่า นิติกรรมอำพรางหรือไม่ เจตนาหลบเลี่ยงภาษี หรือไม่ ?
ด้วย “แนวปฏิบัติ” ของกรมสรรพากร ซึ่งอ้างอิงตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) ที่เกี่ยวกับ “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” สาระสำคัญความว่า “บริษัทจำกัดจะต้องโอนขายทรัพย์สินในราคาไม่ต่ำกว่าราคาตลาด มิฉะนั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน “ตามราคาตลาดในวันที่โอน” ได้
“นายชูวิทย์” ต้องการหลบจากแนวปฏิบัตินี้ จึงไม่ซื้อขาย และโอนจากบริษัทกงสีตัวเองคือบริษัท สมบัติเติมตระกูล ไปสู่บริษัทเดวิส 24 ตรงๆ ใช่หรือไม่ ?
เพราะตาม “ข้อเท็จจริง” ต้องถือว่าราคา 2,008 พันล้านบาทเศษ เป็น “ราคาตลาดในวันโอน” ทำให้ บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ต้องถูกประเมินให้มีกำไรในทางภาษีราว 1,900 ล้านบาท (หักจากราคาที่ขายให้กับลูกๆ นายชูวิทย์ 112 ล้านบาท) โดยต้องเสียภาษีเงินได้ 380 ล้านบาท หรือ (1,900x20%) ซึ่งไม่สามารถยึดราคาขายให้แก่ลูกๆ นายชูวิทย์ 4 คน เพื่อชำระภาษีเพียง 11.4 ล้านบาทเศษ เหมือนที่ผ่านมาได้
ถ้าไม่ทำอย่างนั้น หากคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัท สมบัติเติมตระกูล จำกัด ต้องชำระตาม “ข้อเท็จจริง” คือ ภาษีเงินได้ 380 ล้านบาท บวกด้วยเบี้ยปรับ 1 เท่าตัว หรือ 380 ล้านบาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (ตั้งแต่ มิ.ย.63-ก.ค.66 ) หรือราว 205 ล้านบาท รวมภาษีที่นายชูวิทย์ต้องจ่ายคือราว 954 ล้านบาท
ทว่า นายชูวิทย์ก็ไม่เคยชี้แจงแถลงไขให้สังคมได้กระจ่างแต่ประการใด
สิ่งที่นายชูวิทย์ตอบอย่าเสียไม่ได้เมื่อถามถึงเรื่องนี้ก็คือ “ผมไม่มีนอมินี” ซึ่งสิ่งที่นายชูวิทย์คงลืมนึกไปก็คือ “ลูกๆ” ของเขาถือเป็น “นอมินี” ในการซื้อขายดังกล่าวหรือไม่
และเมื่อถูกถามย้ำว่า เป็น “นิติกรรมอำพรางหรือไม่” นายชูวิทย์ก็ตอบสั้นๆว่า “คุณรู้ไหมผมจบอะไรมา”
งานนี้ต้องบอกว่า ไม่มีดรามา ว่ากันด้วยความจริงที่มีหนึ่งเดียว และเผลอๆ สุดท้าย ลูกๆ ของนายชูวิทย์อาจตกอยู่ในสถานะ “พ่อแม่รังแกฉัน” ก็เป็นได้