xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รัฐบาลเพื่อไทย “ใคร” นายกฯ ไม่สำคัญ แค่แบ่งเค้ก “รัฐมนตรี” ลงตัวก็ฉลุย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม่เหนือความคาดหมาย สำหรับมติเอกฉันท์ของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ไม่รับคำร้องของ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ที่ยื่นขอให้วินิจฉัยมติที่ประชุมรัฐสภา เมื่อ 19 กรกฎาคม 2566 ที่ยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ตีตกการเสนอชื่อ “แด๊ดดี้ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติออกมา ก็ส่งผลให้กระบวนการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบเดินหน้าต่อได้ หลังจากที่ “เลื่อน” เพื่อรอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วเกินกว่า 3 สัปดาห์
เรื่องนี้ “วันนอร์” วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ก็ได้กำหนดวันประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ทันที
อย่างไรก็ดี ต้องย้ำว่า มติศาลรัฐธรรมนูญนั้น “ไม่รับคำร้อง” ตั้งแต่ต้น ยกเหตุว่าผู้ร้องทั้ง 3 รายที่ยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ใช่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง จึงไม่ไปถึงขั้นวินิจฉัยเนื้อหาว่า มติรัฐสภาขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

หรือตีความได้ว่า หากต้องการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “พิธา” ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต้องเป็นผู้ยื่นคำร้องเอง แต่ “พิธา” และ “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล ก็ยืนยันแล้วว่า จะไม่ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน เพราะมองว่า เป็นปัญหาภายในฝ่ายนิติบัญญัติ จึงควรที่จะแก้กันเองในที่ประชุมรัฐสภา
ดังที่ “ท่านโรม” รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เคยเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 เพื่อให้พิจารณาทบทวนมติเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่มีการพิจารณาว่าสามารถเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำได้หรือไม่ ปรากฏว่า ไม่ได้ข้อยุติ เพราะ “วันนอร์” ที่ทำหน้าที่ประธานขณะนั้นชิงปิดประชุมไปเสียก่อน
พลันที่มีมติศาลรัฐธรรมนูญออกมาเช่นนี้ “ท่านโรม” ก็ประกาศว่า ในการประชุมรัฐสภาครั้งหน้า พรรคก้าวไกล จะเสนอญัตติให้ที่ประชุมทบทวนมติเมื่อวันที่ 19 ก.ค.66 อีกครั้ง จนทำท่าว่า การประชุมเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 อาจจะไม่จบง่ายๆ หากพรรคก้าวไกลจ้องเล่นเกมตีรวน
โดยมีญัตติของ “ท่านโรม” ประกบกับญัตติของ “เสี่ยเอ๋” สมชาย แสวงการ สว. ที่ยื่นยันไว้อยู่ ก่อนที่ “ประธานวันนอร์” จะชิงปิดประชุมไป ทำให้ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมรัฐสภาจะต้องเริ่มถก 2 ญัตติที่ว่า ซึ่งคาดว่า จะนำไปสู่การลงมติ

มากกว่าจะยึดการวินิจฉัยของ “ประธานวันนอร์” ที่เคยชี้ขาดไว้แล้วว่า ญัตติของ “ท่านโรม” ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการลงมติรัฐสภาเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566 เป็นมติวินิจฉัยจากการออกเสียงของรัฐสภาที่ถือว่า “คำวินิจฉัยนั้นเป็นเด็ดขาด” จึงไม่มีทางเป็นอื่น ที่จะมีผู้เสนอให้ทบทวนได้ เพราะในกรณี “ญัตติที่ถูกเสนอและมีผู้รับรองถูกต้องตามข้อบังคับ” ไม่ได้ให้อำนาจประธานตัดสิทธิการเสนอญัตติอย่างถูกต้อง หากจะไม่พิจารณา “ผู้เสนอญัตติ” ต้องขอถอนด้วยตนเอง

แนวโน้ม พรรคก้าวไกลคงไม่ยอมถอน แม้รู้ตัวว่า เสียเปรียบ และมีโอกาสแพ้โหวตสูง โดยในวันนี้แทบจะโดดเดี่ยวในที่ประชุม

หากแต่สถานการณ์เปลี่ยนไป มีว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลใหม่ที่นำโดย พรรคเพื่อไทย ต้องถามว่าจุดยืนของพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เคยลงมติตีตกการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีรอบ 2 จะเปลี่ยนไปหรือ เพราะวันนี้มายืนในฝ่ายเสียงข้างมากแล้ว
ด้วยต้องยอมรับว่า การลงมติเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เป็นการตัดตอน “พิธา” ออกจากกระดาน และยังผลให้พรรคเพื่อไทย ชิงสิทธิ์แกนนำรัฐบาลนั้นสำเร็จไปแล้ว

พรรคก้าวไกลหวังว่าสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป อาจส่งผลต่อคะแนนโหวตที่อาจพลิกกลับมาสนับสนุนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีซ้ำรอบสองได้ และจะสามารถ “ปลุกผี” สิทธิ์ในการเสนอชื่อ “พิธา” ที่วันนี้ยังถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.จากคดีถือหุ้นสื่อไอทีวี ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเป็นนายกฯอีกรอบ กลับมาได้
ในมุมของพรรคก้าวไกลประเมินว่า หากมีการลงมติ 312 เสียงของ 8 พรรคเสียงข้างมากเดิม ที่เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เป็นเสียงข้างน้อย แพ้ให้กับเสียงข้างมาก 395 เสียง จะยังคงเหนียวแน่นยืนยันว่า สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ในสมัยประชุมเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ
และอาจได้เสียงจากพรรคการเมืองอื่นที่วันนี้สลับมาอยู่ในฐานะ “ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล” เพิ่มขึ้นจนพลิกชนะได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยที่วันนี้ถือสิทธิ์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเตรียมเสนอชื่อ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี น่าจะอยาก “เพลย์เซฟ” ในเรื่องการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า อาจมีรายการโดนเบี้ยว-วางยา จนทำให้ชื่อ “เสี่ยนิด” ร่วงได้
แม้พรรคเพื่อไทยจะมั่นใจว่า โหวตนายกรัฐมนตรีแบบ “ม้วนเดียวจบ” แต่ก็ต้องหาทางป้องกันไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด เพื่อไม่ให้ชื่อของ “เศรษฐา” ถูกตีตกหากรอบแรกไม่ผ่าน อาจทำให้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีหลุดไปถึง “ตาอยู่” อย่างที่ยังหวาดระแวงกันอยู่

หรืออาจพูดได้ว่า แม้พรรคเพื่อไทยจะมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีถึง 3 ราย แต่ก็อยากได้สิทธิ์ในการเสนอชื่อซ้ำมาถือไว้เพื่อความชัวร์ เพราะวันนี้ชัดเจนแล้วว่า จะใช้ “เศรษฐา” เป็นตัวเลือกเพียงคนเดียว

โดยพรรคเพื่อไทยก็มั่นใจว่า หากทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภาได้จริง พรรคก้าวไกลก็คงยังไม่เสนอชื่อ “พิธา” มาแข่งในครั้งนี้ เพราะไม่มีประตูไหนที่จะชนะ “เศรษฐา” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่มีการฟอร์มรัฐบาลไปไกลแล้วได้เลย

อาจเสี่ยงเปิดสวิตซ์ “พิธา” เพื่อเพลย์เซฟชื่อ “เศรษฐา” โดยหว่านล้อมให้ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลโหวตหนุนญัตติของพรรคก้าวไกล

ที่น่าห่วงคือ หากพรรคเพื่อไทยปิดเกมไม่ได้ในการโหวตนายกฯรอบหน้า ก็ต้องเตรียมตัวรับมือเกมตีรวนในฝ่ายพรรคเสียงข้างมากปัจจุบันเอง รวมทั้งการปั่นกระแสเรียกร้องความชอบธรรมในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลกลับคืนมาของพรรคก้าวไกลด้วย

ล้วนแล้วแต่จะทำให้พรรคเพื่อไท เดินลำบากทั้งสิ้น

ดังนั้นโจทย์ของพรรคเพื่อไทยคือทำอย่างไรก็ได้ให้การโหวตนายกฯครั้งต่อไปต้องได้ชื่อ “เศรษฐา” เป็นนายกรัฐมนตรัออกมาจากที่ประชุมรัฐสภา

จึงสังเกตได้ว่า แม้จะพลิกมาถือสิทธิ์พรรคร่วมรัฐบาลแล้ว แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ออกอาการลิงโลดในฐานะ “ผู้ชนะ” อย่างที่ควร ด้วยรู้ดีว่า มี “ตันทุน” ที่สูญเสียไปกับการต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว หรือ “รัฐบาลพิเศษ” สังเกตได้จากอากัปกิริยาของแกนนำพรรคเพื่อไทย ดูจะ “กล้ำกลืน” กันพอสมควร

อีกทั้งความคืบหนน้าในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ยังชะงักอยู่ที่ 9 พรรค 238 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (141), พรรคภูมิใจไทย (71), พรรคชาติไทยพัฒนา (10), พรรคประชาชาติ (9), พรรคชาติพัฒนากล้า (2), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2), พรรคเสรีรวมไทย (1), พรรคพลังสังคมใหม่ (1) และพรรคท้องที่ไทย (1)

ยังกระมิดกระเมี้ยนไม่ยอมแถลงข่าวเพื่อประกาศความร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐ (40) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (36)

ทั้งที่ “รู้กัน” ว่า ทั้ง 2 พรรคลุงมาร่วมรัฐบาลด้วยอย่างแน่นอนแล้ว โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่ลนลานออกมาประกาศเทเสียงสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ทั้ง 40 เสียง ราวกับกลัวตกขบวน แม้จะยังไม่ได้ “ผูกเสี่ยว” กันอย่างเป็นทางการก็ตาม


ว่ากันว่าสิริรวมเสียง “รัฐบาลเพื่อไทย” จะมีทั้งสิ้น 14 พรรค 317 เสียง โดยมีพรรคเล้กที่ติดสอย “ค่ายลุงป้อม” เข้ามาเสริมด้วยอีก 3 พรรค ทั้งพรรคประชาธิปไตยใหม่ (1), พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (1) และพรรคใหม่ (1)

ปล่อยให้ พรรคก้าวไกล (150) , พรรคประชาธิปัตย์ (25) พรรคไทยสร้างไทย (6) และพรรคเป็นธรรม (1) รวม 182 เสียง ร่วมกันทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ( สส.ลาออก 1 คน รอผลเลือกตั้งซ่อมเขต 3 จ.ระยอง)

แม้จำนวน 317 เสียงจะยังไม่เพียงพอต่อการส่ง “เศรษฐา” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่เมื่อมี “พรรค 2 ลุง” ก็ถือว่า การันตีได้ส่วนหนึ่งแล้วว่า จะได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว.จนได้ตัวนายกรัฐมนตรี และสามารถเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

ว่ากันว่าในส่วนการจัดตั้งรัฐบาล มีการพูดคุยในทางลับกันอย่างต่อเนื่อง จนล่วงหน้าไปไกลพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นสำคัญในการ “แบ่งเค้ก” เก้าอี้รัฐมนตรี ซึ่งเบื้องต้นได้สูตร “9 สส.ต่อ 1 รัฐมนตรี”

โดยที่พรรคเพื่อไทยที่มี 141 เสียง จะได้ 1 นายกรัฐมนตรี + 15 เก้าอี้รัฐมนตรี (9 ว่าการ + 6 ช่วยว่าการ), พรรคภูมิใจไทย มี 71 สส. จะได้ 8 เก้าอี้รัฐมนตรี (4 ว่าการ + 4 ช่วยว่าการ), พรรคพลังประชารัฐ ที่มี 40 สส. บวกเสียงกลุ่มพรรรคเล็ก จะได้ 5 เก้าอี้รัฐมนตรี (3 ว่าการ + 2 ช่วยว่าการ), พรรครวมไทยสร้างชาติ มี 36 สส. จะได้ 4 เก้าอี้รัฐมนตรี (2 ว่าการ + 2 ช่วยว่าการ), พรรคชาติไทยพัฒนา มี 10 สส. จะได้ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี (1 ว่าการ) และพรรคประชาชาติ มี 9 สส. จะได้ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี (1 ว่าการ)

แต่แน่นอนว่าการเจรจายังไม่ลงตัวง่าย เพราะทุกพรรคต้องต่อรองสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง ไม่พ้นการขอคุม “เก้าอี้เกรดเอ”

พร้อมๆ กับเสียงแกนนำพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ “เศรษฐา” ว่าที่นายกรัฐมนตรี ระบุประมาณว่า อยากให้การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านพ้นไปก่อนแล้วจึงค่อยมาพูดคุยในเรื่องตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งไม่อยากให้พรรครัฐบาลเก่ากำกับดูแลกระทรวงเดิมด้วย

กระทั่งมีเสียงเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็น “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร แทน โดยอ้างว่า “เศรษฐา” มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม กรณีที่ถูกโจมตีสมัยบริหารบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

คล้ายกับส่งสัญญาณว่า หากการเจรจาไม่ลงตัวก่อนโหวต อาจมีรายการ “เบี้ยว” เกิดขึ้นได้ เพราะไม่ต้องการ “ตีเช็คเปล่า” โดยโหวตให้ก่อน แล้วจึงเจรจาเก้าอี้ภายหลัง อีกทั้งบางพรรคยังต้องการคุมกระทรวงเดิมเพื่อให้การทำงานต่อเนื่องด้วย

พร้อมเป็นการกระตุก “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” ว่า อย่าตั้งเงื่อนไขเยอะด้วย

ก่อนที่ต่อมาเพื่อไทยจะออกมาสยบข่าวลือดังกล่าว ยืนยันเสียงแข็ง ดัน “เศรษฐา” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อย่างแน่นอน

เหตุที่ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น “เซียนการเมือง” ออกแรงบีบพรรคเพื่อไทยแบบไม่เกรงใจ เพราะรู้ว่า พรรคเพื่อไทย วันนี้ไร้แต้มต่อ ไม่มีทางเลือก หันหลังกลับจูบปากพรรคก้าวไกลก็เป็นไปไม่ได้แล้ว

และรู้ว่า “นายห้างดูไบ” ยังไม่อยากหงายไพ่หมดมือ ขอกลบไต๋ “อุ๊งอิ๊งค์” ไว้ใช้ยามจวนตัวจริงๆ เท่านั้น

สำคัญภารกิจหลักในการพา “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านแบบอยู่รอดปลอดภัย ที่ไม่พ้นต้องพึ่งเครือข่ายอำนาจเก่า

การจัดขั้วรัฐบาลใหม่จึงไม่พ้นต้องเจอเหลี่ยมต่อรอง “จอมเขี้ยว” ของขั้วรัฐบาลเดิม

อย่างไรก็ดี เชื่อว่า หากการต่อรอง “ผลประโยชน์” ที่หมายถึงเก้าอี้รัฐมนตรีลงตัว ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็คงไม่มีพรรคไหนติดอะไร

ที่น่าห่วงกว่า ไม่พ้นองค์ประกอบของ “รัฐบาลเพื่อไทย” ถือเป็น “จุดอ่อน” ที่คงต้องเผชิญตลอดอายุขัยของรัฐบาล อย่างที่ “แด๊ดดี้ทิม” หยิบไปค่อนขอดว่า จาก “มีเรา ไม่มีลุง” กลายเป็น “อยากเก็บลุงไว้ทั้ง 2 คน”

หรือการปั่นกระแสในสังคมออนไลน์ว่าที่แท้เป็น “รัฐบาลลุง” เหมือนเดิม แค่เติม “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย เข้าไปร่วมด้วยเท่านั้น

เป็นกระแสที่ปั่นโดย “ด้อมส้ม” ที่มีแรงแค้นจากการที่มองว่า พรรคก้าวไกล อันเป็นที่รักถูกหักหลัง

การจัดตั้งรัฐบาลงวดนี้บังเอิญเป็นช่วงเดียวกับกำลังมีกระแสศรัทธารูปปั้น “ครูกายแก้ว” ที่โด่งดังชั่วข้ามคืน จากเหตุรถบรรทุกรูปปั้นไปติดคานสะพานลอยคนข้ามบริเวณถนนรัชดาภิเษก ขณะจะนำรูปปั้นไปตั้งไว้ที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อทำพิธีเบิกเนตร จนรถติดยาวเหยียด

ทำเอาผู้คนสงสัยใคร่รู้ว่า รูปปั้นคล้ายยักษ์ตัวดำคล้ำ นัยน์ตาแดงกล่ำ ปากมีเขี้ยวยาว ปีกใหญ่สองข้าง ละท้ายคล้ายปีศาจมากกว่าเทพ คือใครมาจากไหน ก่อนมีเฉลยว่าชื่อ “ครูกายแก้ว” พร้อมสตอรี่ว่าเป็น “บรมครูผู้เรืองเวทย์” พระอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชกัมพูชาในอดีต

ระบุด้วยว่า เป็น “อสูรเทพแห่งโชคลาภ” นำมาซึ่งสิริมงคล และโชคลาภ ของผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใส ที่ว่ากันปากต่อปากว่า ช่วยให้ประสบความสำเร็จสมหวัง ร่ำรวยมีเงินทองไหลมาเทมา เจรจาการค้าลุล่วง จนเป็นที่ฮือฮาของ “สายมู” ทั้งไทยและเทศ แห่ไปร่วมพิธีบวงสรวงแน่นขนัด

คู่ขนานไปกับกระแสดรามาต่อต้านที่ขยายวงกว้างไม่แพ้กัน โดยมองว่า เป็นลัทธิบูชาผี-ปีศาจ สร้างความงมงาย เหนือความเชื่อประพฤติดีปฏิบัติชอบในทางศาสนา สะท้อนความสิ้นหวังขอผู้คนที่ต้องมาเคารพกราบไหว้ภูติผีปีศาจ เพื่อหาที่พึ่งทางใจ

ปรากฎการณ์ “ครูกายแก้ว” อาจจะเทียบเคียงได้กับการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในตอนนี้ ที่ทำไปทำมารูปลักษณ์รัฐบาลก็ถูกบูลลี่ไปในทาง “ลบ” จนไม่น่าจะสร้างแรงศรัทธาให้เกิดขึ้นได้

เพราะไม่เพียงเป็น “รัฐบาลไม่ตรงปก” ที่ไม่มี “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคอันกับ 1 เข้าร่วมเท่านั้น ยัง “จำเป็น” ต้องไปดึงเอา “พรรค 2 ลุง” ทั้ง “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ และ “ค่ายลุงตู่” พรรครวมไทยสร้างชาติ มาร่วม “รัฐบาลเพื่อไทย” อีกด้วย

เป็นเหตุจำเป็นตามหลัก “คณิตศาสตร์การเมือง” ในสภาผู้แทนราษฎร ที่เมื่อไม่มี 151 เสียงของพรรคก้าวไกล ก็ต้องไปกวาดต้อนพรรคอื่นๆมาเข้าร่วมในการจัดตั้ง “รัฐบาลเสียงข้างมาก” เพื่อให้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

หนีไม่พ้นที่พรรคเพื่อไทยต้องไปดึง “พรรค 2 ลุง” ไม่ว่าจะพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือทั้ง 2 พรรคมาร่วมงานด้วย ทั้งที่เดิมทีตั้งแง่เป็น “คู่ขัดแย้ง” สาดอาวุธ สาดน้ำลาย ระหว่างขั้วใส่กันมาร่วม 9 ปี กระทั่งในการหาเสียงเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 66 ก็ยังด่ากันไปด่ากันมา แบบไม่นึกมาก่อนว่าจะมีวันที่ต้องมายืนอยู่ข้างเดียวกัน จนถูกขุด “ดิจิทัล ฟุตปรินต์” คลิปปราศรัยหาเสียงมาล้อกันอย่างสนุกสนาน

แม้จะพยายามอรรถาธิบายเท่าไรก็ไม่ดีขึ้น ไม่วายถูกแขวะกลับว่า ก็ไปบอกเลิกเขาเอง

ก็หวังใจว่า “รัฐบาลเพื่อไทย” ที่อาจจะหน้าตาจะขี้ริ้วขี้เหร่ หากทำให้คนไทยลืมตาอ้าปากได้ ก็คงสร้าง “แรงศรัทธา” ประคองรัฐบาลให้อยู่ต่อไปยาวๆ ได้ เฉกเช่นอิทธิฤทธิ์ “ครูกายแก้ว” ที่รูปลักษณ์ภายนอกดูน่ากลัว แต่ก็ว่ากันว่า ทำให้ลูกศิษย์ลูกหาที่ศรัทธามีฐานะร่ำรวยขึ้นตามๆ กันได้

แต่หากเป็นรัฐบาลที่ยึดโยง “ผลประโยชน์” ของตัวเองและพวกพ้องเป็นสำคัญ อย่างที่หวั่นใจกัน ก็น่าห่วงว่า จะอยู่ได้ไม่นาน.


กำลังโหลดความคิดเห็น