xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“กายแก้ว” ครูบา หรือ ซาตาน!? ศรัทธา ศิลปะ หรือ การตลาด!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นาทีนี้แทบไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ “ครูกายแก้ว”

เรียกได้ว่าเป็นรูปเคารพสายมูที่มาพร้อมกับตำนาน “บรมครูผู้เรืองเวทย์” ที่มาแรงสุดๆ แบบหยุดไม่อยู่ แถมกระพือความร้อนแรงด้วยกระแสบูชายัญลูกสัตว์ เสริมความสิริมงคล ประทานพรความสำเร็จร่ำรวย ด้วยศรัทธาบิดเบี้ยวจนตกเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมไทย

กล่าวสำหรับ “ความแรง” ที่กลายเป็น “ปรากฏการณ์” ที่กล่าวขานกันทั้งบ้านทั้งเมืองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 โดยระหว่างขนย้ายจากโรงหล่อ จ.ราชบุรี เพื่อมาติดตั้งบริเวณด้านหน้าโรงแรมเดอะ บาซาร์ แบงค็อก รัชดาภิเษก จ.กรุงเทพฯ ได้เกิดอุบัติเหตุรูปปั้นครูกายแก้วติดคานใต้สะพานลอยส่งทำให้รถติดยาวเหยียด จากรัชดาไปถึงสะพานพระราม 7 และเมื่อภาพข่าวปรากฏ สังคมก็สงสัยว่า ประติมากรรมดังกล่าวคืออะไร มีประวัติความเป็นมาหรือความศักดิ์สิทธิ์ทางด้านไหน

จากนั้นก็ได้มีการสืบค้นและขุดคุ้ยจนทราบที่มาที่ไป กลายเป็นที่รู้จักของคนไทยเพียงชั่วข้ามคืน

ในวันที่มีพิธีบวงสรวงคือวันที่ 13 สิงหาคม 2566 ผู้คนต่างพากันหลั่งไหลไปบูชาและขอพรกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน

และกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาแรงในยุคนี้นับเนื่องมาจาก “ไอ้ไข่” และ “ท้าวเวสสุวรรณ” กันเลยทีเดียว

ทว่า ปรากฏการณ์ “กายแก้ว” ก็นำมาซึ่งข้อถกเถียงจากสังคมอย่างกว้างขวางจากรูปลักษณ์หรือประติกรรมที่แปลกหูแปลกตา จนเกิดคำถามตามมาว่า “ครูบาหรือซาตาน” รวมทั้งข้อสงสัยต่อ “ความศรัทธา” จากเรื่องราวอันพิสดารว่า เป็นเพราะมี “การปั้นสตอรี่” ที่ได้ผลทางการตลาดอย่างไม่ธรรมดานับตั้งแต่ไปติดคานสะพานลอยเป็นต้นมา

ที่มาของความดังเกิดจากการที่หัวรูปปั้นครูกายแก้วติดสะพานลอยระหว่างการขนย้าย

อาจารย์สุชาติ รัตนสุข

ครูกายแก้วขนาดหน้าตักประมาณ 2 นิ้ว ที่จ่าสิบเอกถวิล มิลินทจินดาหรือพ่อหวิน ได้รับมอบจากพระธุดงค์รูปหนึ่ง
กำเนิดครูกายแก้ว
บรมครูผู้เรืองเวทย์


ความเป็นมาของ “ครูกายแก้ว” หรือ “พ่อใหญ่ บรมครูผู้เรืองเวทย์” ตำนานเล่าขานว่ามากับพระธุดงค์ที่ จ. ลำปาง หลังจากการที่พระรูปนี้ได้ธุดงค์ไปทำสมาธิที่ปราสาทนครวัดนครธม ประเทศกัมพูชา โดยเมื่อเดินทางกลับประเทศไทยก็ได้นำรูปเคารพครูกายแก้วมอบให้กับลูกศิษย์ ซึ่งก็คือ “อาจารย์ถวิล มิลินทจินดา” หรือ “พ่อหวิน” นักร้องเพลงไทยเดิมของกองดุริยางค์ทหารสมัยก่อน ผู้เป็นอาจารย์ของ “อาจารย์สุชาติ รัตนสุข” ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้สืบต่อวิชาแล้ว ยังเป็นผู้สร้างองค์ปฐมของครูกายแก้วขึ้นในประเทศไทย

ในครั้งแรกที่อาจารย์สุชาติได้รับมอบครูกายแก้ว องค์ครูบามีขนาดค่อนข้างเล็กประมาณ 2 นิ้วเท่านั้น เป็นลักษณะคนนั่งหน้าตัก ซึ่งต่อมาครูกายแก้วก็ปรากฎกายให้อาจารย์สุชาติได้เห็น จากนั้นจึงได้วาดภาพของครูกายแก้วจากจินตนาการ ก่อนทำการหล่อรูปองค์ครูขึ้นเป็นองค์แรก มีลักษณะเป็นองค์ยืน คล้ายคนแก่ ก่อนนำไปไว้ที่สำนักเพื่อเป็นการบูชาครู

สำหรับลักษณะรูปเคารพองค์ครูกายแก้วที่อาจารย์สุชาติ สร้างขึ้นนี้ เป็นลักษณะของผู้บำเพ็ญ กึ่งมนุษย์กึ่งนก มีปีกด้านหลัง มีเขี้ยวทองเพื่อสื่อถึงนกการเวก โดยอ้างอิงตามหลักฐานที่ปรากฎอยู่บนกำแพงบายน ที่มีประวัติของการเวกซึ่งเป็นพวกนักดีดสีตีเป่า ถือเป็นครูของศาสตร์ศิลป์ทั้งหลายในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของกัมพูชา

“ครูกายแก้ว” ถูกยกให้เป็น “อสูรเทพ” (อสูรที่ทำบุญด้วยโมหะ) หรือ “อสูรเทพแห่งโชคลาภ” ซึ่งเชื่อกันว่าการกราบไหว้ขอพรครูกายแก้ว จะช่วยให้ประสบความสำเร็จสมหวัง ร่ำรวยมีเงินทองไหลมาเทมา อีกทั้ง ยังเชื่อกันว่าหากใครบูชาจะช่วยให้การเจรจาค้าขายสำเร็จลุล่วง เนื่องจากรูปลักษณ์ครูกายแก้วมีลักษณะคล้ายนกการเวก สัตว์ในตำนานจากป่าหิมพานต์ที่มีซุ้มเสียงอันไพเราะ ช่วยดึงดูดใจคนที่ได้ยิน ช่วยโน้มน้าวใจในการเจรจาสื่อสาร นอกจากเป็นที่นิยมในกลุ่มลูกศิษย์คนไทย ชื่อเสียงยังเลื่องลือไปจนถึงแดนไกลอย่างจีน ไต้หวัน และฮ่องกง ในด้านการให้พรในเรื่องความสำเร็จ ความร่ำรวย เจริญรุ่งเรืองเงินทอง

สำหรับ “ครูกายแก้ว” เป็นที่เคารพนับถือของคนจำนวนหนึ่งมาหลายปีแล้ว และความนิยมได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มีสถานที่สักการะครูกายแก้วที่โดดเด่นหลายแห่ง เช่น เทวาลัยพระพิฆเนศบางใหญ่ จ.นนทบุรี, เทวาลัยพระพิฆเนศ สี่แยกห้วยขวาง กทม., ศาลพระพิฆเนศ อาเขต จ.เชียงใหม่ รวมถึงในบางวัด เป็นต้น

จวบจนล่าสุดได้มีการสร้าง “ศาลครูกายแก้วองค์ใหญ่” เพื่อนำมาประดิษฐ์สถานบริเวณลานโรงแรม เดอะ บาซาร์ แบงค็อก รัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร โดยระหว่างขนย้ายครูกายแก้ว ซึ่งมีขนาดใหญ่คือสูง 4 เมตร กว้าง 3.50 เมตร ขนาดหน้าตัก 108 นิ้ว จากโรงหล่อ จ.ราชบุรี ได้เกิดอุบัติเหตุติดคานสะพานด้วยมีความสูงเกินกว่าที่กำหนดเอาไว้ ทำให้รถติดยาวเหยียดจากรัชดาภิเษกไปถึงสะพานพระราม 7 กระทั่งปลุกกระแส “ครูกายแก้ว” ให้โด่งดังในชั่วข้ามคืน

ทั้งนี้ ในการทำพิธีบวงสรวงเบิกเนตรไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ศรัทธาเข้าร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก ระหว่างพิธีได้เกิดฝนฟ้าคะนองลมแรง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเหตุอาเพศหรืออย่างไรกันแน่ เนื่องเพราะไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่ทาง “สายมู” ถือว่าเป็น “สิริมงคล” หากแต่เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม บางก็ว่า เป็นความพิเศษสำหรับ “เทพมูสายมืด” ไปเสียอย่างนั้น

ที่น่าสนใจคือ ในวันดังกล่าวมี “คนบันเทิงสายมู” เข้าร่วมงานด้วย ทำให้กระแสครูกายแก้วดังกระหึ่มขึ้นไปอีก โดยเฉพาะ “มดดำ-คชาภา ตันเจริญ”ที่ร่ำลือกันว่า ไปร่วมงานด้วย

อย่างไรก็ดี “มดดำ - คชาภา ตันเจริญ” เปิดเผยผ่านรายการข่าวใส่ไข่ว่า ไม่ได้ไปร่วมงานบวงสรวงเบิกเนตร

แต่ก็ยอมรับว่า “ก่อนครูกายแก้วเกิดเป็นกระแสศรัทธาในสังคมไทย รายการ “คชาภาพาไปมู” เคยไปถ่ายทำเรื่องราวของครูบาแต่ทำไม่ทันจบ ถ่ายได้เพียงครึ่งเทป มันไม่มีคอนเทนต์ กระทั่งมาวันนี้อยู่ดีๆ ครูกายแก้ว มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นเมา ส่วนเรื่องอิทธิฤทธิ์ท่านเป็นนกการเวก แต่กลายเป็นที่ฮือฮาเพราะในติ๊กต็อกบอกผีป่าจะเข้าเมือง เขาว่าอย่างนั้น ผีป่าจะวิ่งมาสิงเมือง คือตัวเองเคยรู้จักครูกายแก้วสมัย 20 ปีที่แล้ว รู้จักที่ห้วยขวาง อ.สุชาติ เป็นคนสร้างพระพิฆเนศที่ห้วยขวาง เป็นคนสร้างพระตรีมูรติ”

นั่นแสดงว่าความเรื่องราว ความเชื่อและความศรัทธาในครูกายแก้วมีมาก่อนแล้ว เพียงแต่จำกัดอยู่ในวงแคบๆ ไม่ได้แพร่หลายออกไปในวงกว้าง

เหรียญครูกายแก้วรุ่นแรกที่มีการปั่นราคากันจนแพงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า

 ครูกายแก้วที่เทวาลัยพระพิฆเนศบางใหญ่ จ.นนทบุรี 9.

ครูกายแก้วที่ศาลพระพิฆเนศ อาเขต จ.เชียงใหม่
 ปรากฏการณ์มูทั้งเมือง
เชือดหมาเชือดแมวบูชายัญ? 

ความจริงต้องบอกว่า ศรัทธาหรือความเชื่อของคนไทยในเรื่องเกี่ยวกับ “ไสยศาสตร์” หรือที่ปัจจุบันใช้คำว่า “มู” มีมาอย่างต่อเนื่อง พวกทรงเจ้าเข้าผี นับถือเครื่องรางของขลังอันแปลกประหลาดก็มีให้เห็นกันเสมอๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แถมมี “พระ” เป็นผู้ปลุกเสกลงเลขยันต์อีกต่างหาก ดังคำกล่าวที่ว่า “พุทธกับไสยไปด้วยกัน” ดังนั้น จงอย่าสงสัยใน “ความปัง” ที่เกิดขึ้นกับ “ครูกายแก้ว” ที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

หรือจะใช้คำว่าประสบความสำเร็จทางการตลาดอย่างล้นหลามก็คงไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก

นอกจากนี้ ถ้าสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่า ความเชื่อของคนในยุคนี้มุ่งเน้นไปที่ “ความร่ำรวย” เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในระยะหลัง สิ่งเคารพบูชาก็มักจะตอบสนองเรื่องในทำนองนี้อย่างลงตัว ยิ่งในยามที่เศรษฐกิจตกสะเก็ด คนก็ยิ่งแห่แหนไปบูชาไปขอกันจ้าละหวั่นจนกลายเป็น “ความปกติใหม่” ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของ “ครูกายแก้ว” ก็เป็นไปอย่างนั้นเช่นกัน โดยร่ำลือหรือบอกต่อๆกันมาว่า ช่วยประทานพรให้ประสบความสำเร็จ เงินทองไหลมาเทมา ให้โชคลาภกับผู้ที่กราบไหว้

อย่างไรก็ดี มีกระแสแสดรามาในโซเซียลการบูชาครูกายแก้วให้สัมฤทธิ์ผล ต้องบูชายัญด้วยลูกสัตว์ มีผู้อ้างตัวเป็นลูกศิษย์ครูกายแก้วโพสต์เฟซบุ๊กตามหาลูกสัตว์ เช่น ลูกหมา, ลูกแมว, ลูกกระต่าย, ลูกไก่ ฯลฯ โดยกล่าวอ้างว่าจะนำไปบูชายัญถวายครูกายแก้ว เสริมความสิริมงคล จนเกิดคำถามตามมาว่า จริงๆ แล้ว ครูกายแก้วเป็นครูบาหรือซาตานกันแน่

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงเรื่องการบูชายัญลูกสัตว์ถวายครูกายแก้วนั้น นายณัฐวุฒิ รัตนสุข ผู้ก่อตั้งเทวาลัยพระพิฆเนศบางใหญ่ ซึ่งภายในเทวลัยแห่งนี้มีรูปปั้นครูกายแก้วขนาดเท่าคนจริง ประทับอยู่มานานกว่า 4 ปี รวมทั้งเป็นทายาทผู้สร้างครูกายแก้วคือ อาจารย์สุชาติ รัตนสุข และถือเป็นต้นสายของการบูชาครูกายแก้ว เปิดเผยว่า “ครูกายแก้วไม่ชอบของสด” ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด

“เริ่มต้นก็ไปทำกรรมแล้วจะไปรับสิ่งที่เป็นมงคลได้อย่างไร”

ทายาทผู้สร้าง “ครูกายแก้ว” อธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นที่ทราบกันดีในกลุ่มผู้นับถือครูกายแก้วที่มีอยู่ประมาณ 300 - 400 คนว่า ครูกายแก้วไม่ชอบของสด การตั้งโต๊ะทำพิธีจึงใช้วิธีจำลองขนมหรือถั่วต่างๆ ให้เป็นรูปของสดต่างๆ แทน ทั้งหัวหมู ไก่ เป็ด กุ้ง เป็นต้น

“การบูชาครูกายแก้วต้องบูชาให้ถูกต้อง มากราบไหว้ท่านด้วยความศรัทธา และท่านก็ไม่ใช่เทพและไม่ใช่อสูร เพราะชื่อของท่านก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นครู และยังเป็นครูที่ อ.สุชาติ ท่านนับถือเป็นครูของท่านอีกองค์ ซึ่งในแต่ละปี อ.สุชาติ เองก็จะทำการปั้นรูปบูชาครูต่าง ๆ ของท่านออกมาปีละองค์ ดังนั้นเมื่อต้นสายยังไม่ไหว้ของสด ก็อย่าไปพิเรนทร์คิดอะไรเองขึ้นมา ให้ทำตามแบบที่เขาปฎิบัติกันมาเท่านั้น” นายณัฐวุฒิ รัตนสุข ทายาทผู้สร้างครูกายแก้ว ต้นสายของการบูชาครูกายแก้ว ระบุ

และในประเด็นนี้ Watchdog Thailand Foundation องค์กรผู้ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังด้วยการประสานงานและการดำเนินคดีกับผู้กระทำการทารุณกรรมต่อสัตว์ ได้ออกมาระบุหลังการตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นผู้โพสต์ล้วนแล้วเป็นเฟซอวตาร ยังไม่มีการซื้อขายลูกสัตว์เพื่อบูชายัญแด่ครูกายแก้ว

“มูลนิธิขอให้ประชาชนตระหนักและใช้วิจารณญาณ ในการที่จะบูชาสิ่งใดๆ ตามความเชื่อไม่ให้ผิดกฎหมายทารุณกรรมสัตว์”

กล่าวสำหรับอาจารย์สุชาติ รัตนสุข นั้น จากการสืบค้นประวัติความเป็นมาพบว่า แต่เดิมเป็นเด็กวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร จนเมื่ออายุ 13 ปี อาจารย์สุชาติได้ติดตามลูกพี่ลูกน้องไปยังจังหวัดอยุธยา และเข้าฝากตัวเป็นศิษย์พระวิสุทธาจารเถร หรือ หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราชวรวิหาร ทำให้ได้ศาสตร์และความรู้จากหลวงพ่อมามากมาย จากนั้น อาจารย์สุชาติเริ่มมีความสนใจด้านโหราศาตร์ และได้รู้จักกับพระครูปลัดเสริม วัดบูรณะสิริอมาตย์ นักโหราศาสตร์ที่มีความสามารถ จึงศึกษาค้นคว้าตำราต่าง ๆ จนชำนาญ และได้เป็นหนึ่งในโหราจารย์ที่เขียนลงคอลัมน์พยากรณ์ หนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์

ต่อมา อาจารย์สุชาติได้มีโอกาสศึกษาคัมภีร์ไสยเวทย์ของหลวงปู่แฉ่ง วัดบางพัง จังหวัดนนทบุรี โดยได้รับมาจากหลวงพ่อแพ้ว วัดแดง ผู้เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่แฉ่ง โดยคัมภีร์ดังกล่าวเต็มไปด้วยศาสตร์ความรู้ด้านไสยเวทย์อาคม ซึ่งหาได้ยาก กระทั้งกลายเป็นเชี่ยวชาญและรู้วิธีในการตั้งศาลเทพ

ทั้งนี้ อาจารย์สุชาติ รัตนสุข ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560

ความแปลกของครูกายแก้วก็คือรูปลักษณ์อันน่าสะพรึง โดยมีเขี้ยวสีเหลือง เล็บสีแดงและมีปีกที่ด้านหลัง




 ครูบาหรือซาตาน”
แต่ไม่ใช่ “อาจารย์” ของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7”

นอกจากประเด็นเรื่องการบูชาที่ร้อนแรงแล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือเกิดการถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นมาของครูกายแก้ว เพราะมีการอ้างว่า เป็นครูของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7” โดยมีการอ้างอิงว่ารูปลักษณ์ของครูกายแก้วนั้น จัดสร้างตามหลักฐานที่ปรากฎอยู่บนกำแพงบายน

อย่างไรก็ดี “ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา” อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกเขมรโบราณ ยืนยันว่าไม่มีจารึกใดปรากฏชื่อครูกายแก้วเป็นครูบาอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่อย่างใด ทั้งนี้ บรมครูของเขมรโบราณมีการบันทึกไว้อย่างชัดเจน โดยครูแต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญด้านการปกครอง ภาษาสันสกฤต และต้องมีความรู้ด้านพิธีกรรมอย่างรอบด้าน

นอกจากนี้ “กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร” ยังได้โพสต์ให้ความรู้ด้วยว่า ตามจารึกปราสาทตาพรหม กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ให้ประดิษฐานรูปเหมือนของ “ครู 2 คน” คือ  “ศรีชยมังคลารถเทวะ” และ “ศรีชยกีรติเทวะ”  โดยพระองค์มีความศรัทธาและกตัญญูต่อครูของพระองค์มาก ทั้งนี้ ในจารึกยังระบุว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงอุทิศสิ่งของเป็นทักษิณาทานแก่ครูของพระองค์ทั้งวอทองคำ ทอง ไม้เท้า ธงรูปนกยูง ดอกบัวและผ้าไหม พระราชทานชื่อ ที่อยู่อาศัยและหมู่บ้านให้แก่ครู แม้มารดาและพี่ชายของครูก็ได้รับพระราชทานสิ่งของต่างๆ มากมาย ส่วนพระกระยาหารของพระเจ้าชัยวรมันก็ได้แบ่งเป็น 4 ส่วน เพื่อพระราชทานแก่ครู มารดาและพระเชษฐา ส่วนที่เหลือ 1 ส่วนจึงให้พระองค์เอง

นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์ด้วยว่า “ครูกายแก้ว” มาจาก “การ์กอยส์” สัตว์ผสมที่เป็นมารกึ่งอมนุษย์-มังกร โดย นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักประวัติศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Thepmontri Limpaphayorm เปิดเผยว่า “ครูกายแก้ว มาจาก การ์กอยส์” โดยระบุว่า

“ที่แท้ กายแก้ว มาจาก การ์กอยส์ แปลกแต่จริงที่มีคนหลงเชื่องมงายได้เพียงนี้ โดยไม่ไปศึกษาหาความรู้ก่อนที่จะเชื่อสิ่งใด จึงอาจกลายเป็นเหยื่อถูกล่อลวง มอมเมาเข้าสู่ความมีอคติต่อความเชื่อความดีในทางศาสนา

“กายแก้ว อาจมีที่มาคือ การ์กอยส์ ซึ่งเป็นสัตว์ผสมหากินกลางคืน เป็นมารกึ่งอมนุษย์ - มังกร ที่ปกปักรักษาผู้คนตามความเชื่อของชาวยุโรป เป็นเครื่องประดับอาคารสถานต่างๆ บริเวณที่เรียกว่า ปนาลี ช่องรางน้ำทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส แน่นอนว่า ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชกัมพูชาในอดีต และย่อมไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยที่พยายามทำรูปลักษณ์ให้เป็นยักษามีปีก สังคมไทยไปไกลสุดกู่ เอาทุกอย่างมาบูชาปะปนกันโดยความไม่รู้เรื่องจริง”

“ไสยพาณิชย์” กระแสแรงไม่หยุด”
ถ้าจะว่ากันด้วยเรื่องของศรัทธาความเชื่อก็ต้องบอกว่า ณ ปัจจุบันธุรกิจสายมูสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นจำนวนมหาศาล นับเฉพาะ “เครื่องราง ของขลัง” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ของไทย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจได้ประเมินมูลค่าของธุรกิจจากความเชื่อและความศรัทธาว่า สร้างรายได้ปีละเป็นหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “ครูกายแก้ว” ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า คือหนึ่งในรูปแบบของ “ไสยพาณิชย์” ซึ่งทำเงินจากศรัทธาประชาชนทุกยุคสมัย ล่าสุด มีการนำเหรียญครูกายแก้ว รุ่นแรก มาปล่อยเช่าบูชาแก่ผู้ที่มีความเชื่อ จากเดิมในตอนแรกมีราคา 50 บาท ก็มีการปั่นราคาไปจนถึง 1,000 และ 5,000 บาท ซึ่งต่อมาเพจ @RedSkullxxx เปิดเเผยว่าราคาสูงสุดเหรียญรุ่นแรกครูกายแก้วพุ่งสูงถึง 46,900 บาท ขณะที่เหรียญที่แจกฟรีในวันทำพิธีบรวงสรวงเบิกเนตร จากปล่อยกันในราคา 50 บาท ราคาพุ่งไป 2,500 บาท

อย่างไรก็ดี ในประเด็นการคุมราคาเครื่องรางของขลังนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เตรียมร่างกฎมายเข้ามาควบคุมการโฆษณาขายเครื่องรางของขลัง เตรียมทำคลอดร่างกฎกระทรวงกำหนดข้อความโฆษณาเครื่องราง ของขลัง หรือบริการที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม พ.ศ. .... ซึ่งยังคงต้องรอความคืบหน้าต่อไป

นอกจากนี้ ภาครัฐส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ ความศรัทธา หรือที่นิยมเรียกว่าเที่ยวแบบมูเตลูซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในระยะหลายปีที่ผ่านมา แนวโน้มดังกล่าวได้สนับสนุนท่องเที่ยวโดยเฉพาะในท้องถิ่น ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศมีความคึกคักสร้างโอกาสในการหารายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ที่พัก อาหาร บริการนำเที่ยว การขายของที่ระลึกต่างๆ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเกี่ยวกับความเชื่อหรือเลือกนับถือศรัทธาสิ่งใดนั้นถือเป็นสิทธิของประชาชนทุกท่าน ประเทศไทยม่มีกฎหมายห้ามตราบเท่าที่ไม่มีการกระทำที่เกินขอบเขตกฎหมาย เช่น การหลอกลวง ฉ้อโกงต่างๆ แต่ในกรณีสิ่งใดที่เกิดเป็นกระแสใหม่ๆ ในสื่อโซเชียลมีเดียนั้นอยากขอให้ประชาชนพิจารณาถึงประวัติความเป็นมา ความน่าเชื่อถือ วัฒนธรรมอันดีงามของไทย การไม่เบียดเบียนชีวิตอื่น หรือหากเชื่อในสิ่งใดของให้เชื่ออย่างมีสติ ไม่ลุ่มหลงจนอาจตกเป็นเหยื่อและถูกหลอกลวงจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้

ทั้งนี้ ทั้งนั้น ต้องยอมว่า ผลพวงของกระแสที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลทำให้ผู้คนที่มีความเชื่อในทำนองนี้ให้แห่แหนไปไหว้บูชา “ศาลครูกายแก้วองค์ใหญ่” บริเวณลานโรงแรม เดอะ บาซาร์ แบงค็อก รัชดาภิเษก ที่มีการทำพิธีบวงสรวงเบิกเนตรไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2566 รวมทั้งปลุกตลาดสายมูไสยพาณิชย์ให้คึกคัก

แต่อย่างไรก็ตาม น่าจับตาว่าจะมีการจัดอย่างไรนับจากนี้ เพราะเกิดกระแสต่อต้านรูปเคารพครูกายแก้วองค์ใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณโรงแรงเดอะบาซาร์ฯ โดยตัวแทนกลุ่มพุทธศาสนิกชน พระเถระ-ศิลปิน-บุคคลในสังคม ยื่นหนังสือให้ผู้บริหารโรงแรมไนท์บาร์ซ่า กทม. พิจารณาย้ายรูปปั้น (กายแก้ว) ออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด ระบุข้อความในหนังสือความว่า

“ในการที่โรงแรมไนท์บาร์ซ่า ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กทม. ได้นำ รูปปั้น ที่มีลักษณะแปลกประหลาด และส่อไปในทางน่ากลัว มา ตั้ง(มีชื่อว่ากายแก้ว) ให้คนได้สักการะขอพร ที่ดูเป็นเรื่องผิดกาละเทศะทางพระพุทธศาสนาและเทววิทยา และทางผู้รู้ทางพระพุทธศาสนา และ โหราศาสตร์ หลายคน ในโซเชียล ได้ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์ ในทางที่ไม่ควร อย่างยิ่ง

“ตามหลัก ความเชื่อ ทั้งทางพระพุทธศาสนา และทางเทววิทยา ซึ่งนำมาให้เกิดความเสียขวัญกำลังใจของประชาชนในเขต กทม. และในพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยมีความเชื่อส่วนใหญ่ว่าจะไม่เป็นสิริมงคล และทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่ดีต่อการดำรงชีวิตอยู่สืบต่อไป อีกทั้งยังเป็นทางเผยแพร่ความเชื่อที่ผิด (มิจฉาทิฐิ ในทางพระพุทธศาสนา ที่ได้กล่าวไว้ว่า การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นอุดมงคล)

“ถึงแม้จะเป็นความเชื่อสิทธิ์ส่วนบุคคล และเป็นสิทธิ์ของเอกชนก็ตาม แต่เมื่อเกิดการเผยแพร่ในทางที่ไม่ดีไม่งามไม่เป็นสิริมงคล อย่างกว้างขวางและมีการนำมาตั้งในทางสัญจรไปมาได้พบได้เห็นได้ชัดเจน อาจทำให้เกิดความวิตกกังวล และความหวาดกลัวเกิดขึ้นแก่ต่อขวัญและกำลังใจ ของประชาชนจำนวนมากได้”

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์  อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันกลุ่มคนที่เชื่อถือศรัทธาสิ่งเหนือธรรมชาติแบบอื่นๆ พอมีรูปแบบใหม่ๆ มา คนกลุ่มเดิมได้เปลี่ยนมาศรัทธาสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาแทนที่ได้ อย่างไรก็ตามกระแสที่ดูเหมือนมีจำนวนมากนั้น อาจเป็นเพราะโซเชียลมีเดียไปเร็วมาก ประกอบกับถ้าเราเสพข้อมูลอะไรในโซเชียล สิ่งนั้นก็จะป้อนเข้ามาให้เราได้รับรู้เพิ่มขึ้น

สิ่งที่สังคมต้องตระหนักคือความศรัทธางมงายยอมเสียเงินเสียทองซื้อวัตถุมงคล หรือทำพิธีกรรมต่างๆ เกินพอดี ความศรัทธาที่นำไปสู่ความสูญเสียโดยปราศจากเหตุผลจะไม่ใช่ศรัทธา แต่เป็นความงมงาย

ขณะที่ นพ.ยงยุทธ วงค์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต มองว่าเรื่องของครูกายแก้วก็เหมือนกับความเชื่อทั่วไป ที่เกิดขึ้นในคนที่มีความไม่มั่นคงทางจิตใจ ต้องนำเรื่องของความเชื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนความคิดและการกระทำ และเทคนิคที่จะทำให้ความเชื่อนั้นน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น คือการสร้างสตอรีหรือเรื่องราวมาผนวกกัน สูตรเดิมที่เคยมีมาก่อนเหมือนกับจตุคามรามเทพ หรือกุมารทอง หรือตุ๊กตาลูกเทพ โดยคราวนี้จะเห็นว่ามีการอ้างว่าครูกายแก้วมาจากเขมรหรือเป็นอาจารย์ของท่านใดก็ตาม เรื่องนี้ต้องแยกออกจากกันว่า สตอรีคือการสร้างเรื่องราว อาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพียงแต่เสริมเติมแต่งให้คนเกิดความเชื่อ และศรัทธา ดังนั้น ต้องนำหลักคิดนี้ไปใช้ เพื่อไตร่ตรองก่อนจะเชื่อสิ่งใด

สุดท้าย ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเตือนสติให้สังคมได้ตระหนักคิดว่า เรื่องของศรัทธานั้นต้องควบคู่กับการมีสติไตร่ตรอง ด้วยปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฎการณ์สายมูบูชาผีบูชาอสูรกายหรือลัทธิทรงเจ้าเข้าผีต่างๆ ส่วนหนึ่งมาจากความเปราะบางทางจิตใจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนเลื่อมใสไม่ต่างอะไรกับที่พึ่งทางใจ เป็นทางเลือกเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจท่ามกลางความไม่แน่นอนของชีวิต จึงไม่แปลกอะไรกับการที่ “ครูกายแก้ว” ผู้ได้รับการกล่าวขานเป็นอสูรกายเทพประทานความร่ำรวย ความสำเร็จ และโชคลาภ จะได้รับความสนใจจากสังคมและมีผู้คนแห่แหนไปกราบไหว้บูชาจำนวนมาก




กำลังโหลดความคิดเห็น