เหตุการณ์รัฐประหารที่ประเทศไนเจอร์ (อ่านเป็นฝรั่งเศสคือ นีแชร์) ไม่เพียงสร้างความประหลาดใจให้กับเหล่าประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก รวมทั้งประเทศประชาธิปไตยในทวีปแอฟริกาเอง...แต่เปิดให้เห็นอย่างล่อนจ้อนถึงการต่อสู้เพื่อขยายอิทธิพลระหว่างประเทศมหาอำนาจใหม่และเก่า เพื่อเข้าครอบครองทรัพยากรมหาศาลในประเทศและภูมิภาคแห่งนี้
ประเทศไนเจอร์เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยผู้คนจะพูดแต่ภาษาฝรั่งเศสกลายเป็นภาษาแม่และเป็นหนึ่งในประเทศอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอีก 2 แห่งคือ มาลีและบูร์กินาฟาโซที่ได้มีการทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งก่อนหน้านี้
ทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นสมาชิกของกลุ่มเศรษฐกิจ ECOWAS (Economic Community of West African States) ที่รวมตัวกันมี 15 ประเทศตั้งอยู่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา โดยมีประธานแบบหมุนเวียน ซึ่งช่วงนี้มีผู้นำประเทศมั่งคั่งน้ำมันคือ ไนจีเรีย เป็นประธานกลุ่ม
ขณะที่สมาชิกกลุ่มใหญ่ของอีโควาสมีประชากรที่ยากจนข้นแค้นที่สุดในโลก โดยเฉพาะทั้งมาลี, บูร์กินาฟาโซ และไนเจอร์...ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของไนเจอร์อยู่ในฐานะที่ยากจนที่สุดในโลกทีเดียว ทั้งๆ ที่มีแร่ยูเรเนียมสำรองมากมาย และส่งออกแร่ยูเรเนียมสู่ตลาดโลก (เพื่อไปใช้ในโรงงานไฟฟ้าปรมาณู) มากเป็นลำดับที่ 7 และส่วนใหญ่ส่งไปยังอดีตเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งพึ่งพิงพลังงานจากโรงงานไฟฟ้าปรมาณู และเป็นหนึ่งในประเทศที่ขายโรงงานไฟฟ้าปรมาณูในตลาดโลกด้วย
นอกจากมีเหมืองแร่ยูเรเนียมแล้ว ก็ยังมีเหมืองทองคำที่ส่งออกจำนวนมากเช่นกัน
แน่นอนที่อดีตเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสจะคุมเศรษฐกิจและการเงินสำคัญของทั้งมาลี, บูร์กินาฟาโซ, และไนเจอร์ ซึ่งล่าสุดคณะรัฐประหารไนเจอร์ก็ได้มีคำสั่งระงับการส่งออกแร่ธาตุทั้งสองไว้ก่อน
หลังการเข้ายึดอำนาจรัฐประหารโดยผบ.หน่วยอารักขาท่านประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูม-ชาติตะวันตก รวมทั้งอีโควาสได้ประณามการยึดอำนาจอย่างรุนแรง
อีโควาสภายใต้ผู้นำไนจีเรีย (ที่มีจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร-และโน้มเอียงใกล้ชิดกับตะวันตก) ได้ประกาศอย่างเข้มข้นให้คณะรัฐประหารรีบคืนอำนาจกลับสู่ปธน.บาซูม โดยเร็ววัน...โดยให้เวลา 7 วันเพื่อปฏิบัติตามมติของอีโควาส...มิฉะนั้นอีโควาสอาจจะใช้กำลังทหารเพื่อเข้าไปจัดการโค่นล้มคณะรัฐประหารที่ไนเจอร์
อีโควาสเคยใช้มาตรการกดดันการทำรัฐประหารที่มาลีและบูร์กินาฟาโซ โดยทำการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่ก็ดูจะไร้ผลโดยสิ้นเชิง และทั้งผู้นำรัฐประหารที่มาลีและบูร์กินาฟาโซกลับให้การสนับสนุนคณะรัฐประหารที่ไนเจอร์ด้วยซ้ำ
7 วันผ่านไปตามคำขาดของอีโควาส ท่ามกลางการเจรจาเข้มข้นระหว่างตัวแทนของฝรั่งเศส, สหรัฐฯ แต่อีโควาสก็ยังให้โอกาสแก่การเจรจามากกว่าจะยกกองทัพเข้ามาปราบคณะรัฐประหารที่ไนเจอร์ดังที่ประกาศไว้ เพราะเสียงแตกในอีโควาส
คณะรัฐประหารได้จับตัวปธน.บาซูมไว้เป็นตัวประกันด้วย โดยแถลงว่าเหตุผลที่ทำรัฐประหารเพราะคณะรัฐบาลของปธน.บาซูมล้มเหลวในการบริหารมีความไม่โปร่งใส และทำให้บ้านเมืองไร้เสถียรภาพ
ล่าสุดได้ประกาศตั้งข้อหาฉกาจฉกรรจ์กับปธน.บาซูม ว่า ทรยศต่อชาติ โดยร่วมมือกับฝ่ายต่างชาติมาทำลายความมั่นคงของไนเจอร์
โดยปธน.บาซูมได้หาทางเขียนบทความไปลงในนสพ.วอชิงตัน โพสต์ โดยประณามการทำรัฐประหารและเรียกร้องให้ประเทศประชาธิปไตยเข้ามาช่วยจัดการล้มล้างการทำรัฐประหารที่มิชอบธรรมในครั้งนี้
อีโควาสได้คว่ำบาตรต่อคณะรัฐประหารไนเจอร์ (ซึ่งได้นำอดีตรมต.คลังขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล) และได้ตัดไฟฟ้าที่ส่งขายให้กับไนเจอร์ด้วย
ปธน.บาซูมพำนักอยู่ที่บ้านพักร่วมกับภรรยาและบุตรชายวัย 20 ปี โดยบุตรสาวกำลังเดินทางอยู่ในยุโรป (เมื่อเกิดยึดอำนาจ) เธอจึงทำหน้าที่ส่งข่าวถึงสถานการณ์ของบิดาของเธอขณะถูกกักบริเวณว่า มีความเป็นอยู่ลำบากมาก เพราะไม่มีไฟฟ้า ทำให้อาหารที่เก็บในตู้เย็นเกิดเน่าบูด จึงรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ (ฝ่ายยึดอำนาจไม่ได้ส่งอาหารให้)
ท่ามกลางแรงกดดันจากฝ่ายอีโควาสและตะวันตก คณะรัฐประหารได้ยอมส่งแพทย์ประจำตัวปธน.บาซูมไปตรวจสุขภาพ ปรากฏว่า ท่านปธน.บาซูมได้ลดน้ำหนักลงไปมาก แต่ยังมีสุขภาพไม่เลวร้ายนัก
ปธน.มาครงแห่งฝรั่งเศสมีจุดยืนเดียวกับหลายประเทศในอีโควาส คือให้คณะรัฐประหารคืนอำนาจทันทีกลับไปยังปธน.บาซูมที่มาจากการเลือกตั้ง และขู่จะตัดความช่วยเหลือทั้งหมด
ฝ่ายสหรัฐฯ ดูจะรีรอไม่ยอมเรียกคณะรัฐประหารว่าเป็นการยึดอำนาจ เพราะถ้าเป็นการยึดอำนาจสหรัฐฯ จะต้องตัดความช่วยเหลือแก่คณะรัฐประหารของไนเจอร์ทันที
ทันทีก็ปรากฏกายของนางวิคตอเรีย นูแลนด์ รมช.ตปท.ของสหรัฐฯ ซึ่งได้เดินทางมาเจรจากับคณะรัฐประหารของไนเจอร์ และได้มีการเสนอทางออกให้คณะรัฐประหารว่าควรกลับคืนสู่ประชาธิปไตย โดยเร็วสุด (คือจัดการเลือกตั้งเฉกเช่นที่รัฐบาลปธน.โอบามาได้เคยเสนอทางออกเช่นนี้กับประเทศพม่า ได้นำมาซึ่งรัฐบาลของอองซาน ซูจี ที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง)
ฝรั่งเศสไม่พอใจอย่างยิ่งกับข้อเสนอนี้ของฝ่ายสหรัฐฯ โดยมองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ ช่วงชิงจังหวะโดยเพิ่มอิทธิพล จะเป็นอำนาจใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่อำนาจเก่าของฝรั่งเศส…เพราะนางวิคตอเรีย ได้มีข้อเสนอแลกเปลี่ยนว่า ขอให้กองกำลังของสหรัฐฯ 1,300 นายยังดำรงอยู่ในไนเจอร์ เพื่อเป็นกองกำลังที่คอยดูแลไนเจอร์จากการขยายอิทธิพลของฝ่ายก่อการร้ายของฝ่ายไอซิสนั่นเอง
ขณะที่ฝ่ายฝรั่งเศสก็มีกองกำลังอยู่ในไนเจอร์ประมาณ 1,500 นาย ที่ได้เข้ามาดูแลเป็นหลักประกันต่อกรกับฝ่ายก่อการร้ายที่มีปฏิบัติการอยู่ในมาลีและบูร์กินาฟาโซ
มีประชาชนกลุ่มใหญ่เดินทางไปชุมนุมหน้าสถานทูตฝรั่งเศส และทำการเผาธงชาติฝรั่งเศส พร้อมร้องตะโกนขับไล่ฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคมให้ออกไปจากไนเจอร์ โดยเฉพาะผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของฝรั่งเศสมีอยู่มากในไนเจอร์เช่น เหมืองแร่ยูเรเนียมและเหมืองทองคำ ซึ่งท่าทีของฝ่ายคณะรัฐประหารก็กำลังจำกัดบทบาทของเจ้าอาณานิคมเหล่านี้อำนาจถึงขนาดยึดเหมืองของฝรั่งเศสก็เป็นได้
ผู้ชุมนุมได้เผาธงชาติฝรั่งเศส ขณะเดียวกัน ก็ชูธงชาติรัสเซียเรียกร้องให้กองกำลังทหารรับจ้างของรัสเซียคือ กลุ่มวากเนอร์ได้เข้ามาร่วมมือกับฝ่ายรัฐประหาร
ขณะที่นายพริโกซินผู้บริหารทหารรับจ้างวากเนอร์ ก็ออกมาส่งสัญญาณขับไล่ธุรกิจฝรั่งเศสในไนเจอร์ เพราะได้สูบเลือดสูบเนื้อของไนเจอร์มาเป็นเวลานานแล้ว
นางวิคตอเรีย นูแลนด์ ยังได้ตกลงกับคณะรัฐประหาร ที่จะไม่รับการช่วยเหลือจากกลุ่มวากเนอร์ โดยสหรัฐฯ จะช่วยคุ้มครองคณะรัฐประหารจากกลุ่มก่อการร้ายให้นั่นเอง
ฝรั่งเศสเรียกการกระทำของสหรัฐฯ ว่าเป็นการหักหลังโดยสหรัฐฯ กลับมาเลือกเจรจากับฝ่ายกลุ่มรัฐประหาร แทนที่จะร่วมประณามและกดดันเพื่อให้อดีตปธน.บาซูมกลับคืนมา...เสมือนต่อรองเพื่อให้คณะรัฐประหารยังอยู่ในอำนาจต่อไป และขับไล่หรือลดอำนาจของอิทธิพลฝรั่งเศส ขณะเดียวกันก็เพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายสหรัฐฯ ด้วย
เสมือนหนึ่งนางวิคตอเรียได้กลับมาเล่นบทบาทหมอตำแยในการทำคลอดรัฐบาลใหม่ของไนเจอร์นั่นเอง
ซึ่งเธอเคยทำสำเร็จมาแล้วกรณีสนับสนุนการชุมนุมของปชช.ที่ยูเครนในปี 2013-2014 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลยูเครนขณะนั้น (ที่วางตำแหน่งของยูเครนให้เป็นกลาง-ไม่เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป-หรือสมาชิกของนาโต-แต่เป็นรัฐบาลยูเครนที่สามารถพูดจากับรัสเซียได้เป็นอย่างดี)
ครั้งนั้น การทำคลอดของเธอคือโค่นรัฐบาลที่เป็นมิตรกับมอสโกได้สำเร็จ แล้วทำให้รัฐบาลที่สนับสนุนตะวันตกได้ชนะการเลือกตั้งเข้ามาบริหาร อันได้เปลี่ยนยูเครนที่ฝักใฝ่จะเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปและนาโตนั่นเอง