xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดรหัสโจรกรรม “สวมทะเบียน” ลักลอบล๊อกอิน เข้าระบบขนส่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เปิดปฏิบัติการ “พลิกถนนล่า รหัสโจรกรรม” ล่าขบวนการสวมทะเบียนรถคลาสสิค หลังกรมการขนส่งทางบก ตรวจพบความผิดปกติ “เจาะระบบขนส่ง” นำสู่การสืบสวนขยายผลพบการลักลอบใช้รหัสผ่านเจ้าหน้าที่เปลี่ยนแปลงข้อมูล “สวมทะเบียน” รถยนต์และรถจักรยานยนต์อย่างน้อย 65 คัน รวมทั้ง ยึดของกลางรวมมูลค่ากว่า 77 ล้านบาท

อาชญกรรมที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม แต่ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษเพราะปรากฎรายชื่อนักแสดงคนดัง “มาริโอ้ เมาเร่อ” ผู้ชื่นชอบรถเก่ารถคลาสสิค เป็นเจ้าของรถคันที่ถูกสวมทะเบียน รถยนต์ Mercedes-Benz G300 ซึ่งเจ้าตัวได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) เพื่อให้ปากคำชี้แจงข้อมูลในฐานะพยาน ยืนยันไม่มีส่วนรู้เห็นกับขบวนการสวมทะเบียน

สำหรับปฏิบัติการ “พลิกถนนล่า รหัสโจรกรรม” เป็นการขยายผลจากความผิดปกติในการเข้าใช้งานโปรแกรมปรับฐานข้อมูลของผู้ดูแลระบบงานด้านทะเบียนรถยนต์ ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งตรวจพบว่ามีบุคคลภายนอกลักลอบนำยูสเซอร์เนม และพาสเวิร์ดของเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกไปใช้ดำเนินการ แก้ไขปรับปรุงข้อมูลรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ในระบบงานตรวจสภาพรถ เช่น ยี่ห้อรถ หมายเลขตัวรถ เชื่อมโยงข้อมูลที่มีการปรับแก้แล้วมายังระบบงานทะเบียนรถยนต์ โดยมีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลรวมจำนวนทั้งสิ้น 65 คัน มูลค่า 77,350,000 บาท

ทำกันเป็นขบวนการเป็นขั้นตอน เริ่มจากเข้าไปทำการแก้ไขข้อมูลรายการรถในระบบงานตรวจสภาพรถ และเชื่อมโยงข้อมูลมายังระบบงานทะเบียนรถยนต์ ก่อนจะมาขอคัดเล่มทะเบียนรถใหม่ เพื่อให้ข้อมูลในระบบ MDM ของกรมการขนส่งทางบก ตรงกับข้อมูลรถที่ครอบครอง และข้อมูลในเล่มทะเบียนรถ จากนั้นจะนำเล่มทะเบียนไปขาย หรือจำนำให้กับกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบ และสะสมรถเก่า หรือรถโบราณ หรือหากมีลูกค้าต้องการจะทำการแก้ไขข้อมูลรถที่ตัวเองครอบครองอยู่

เล่มทะเบียนรถยนต์จะขายหรือจำนำ ในราคาประมาณ 500,000 -1,500,000 บาท กรณีจ้างเปลี่ยนข้อมูลจะคิดค่าดำเนินการประมาณ 1,400,000 – 2,000,000 บาท และหากขายเล่มทะเบียนพร้อมรถยนต์จะขายในราคาประมาณ 1,000,000 – 3,000,000 บาท

เบื้องหลังปฏิบัติการ “พลิกถนนล่า รหัสโจรกรรม” สืบเนื่องกรณีกรมการขนส่งทางบก ตรวจพบความผิดปกติในการเข้าใช้งานโปรแกรมปรับฐานข้อมูลของผู้ดูแลระบบงานด้านทะเบียนรถยนต์ ในช่วงวันที่ 28 มิ.ย. 2566 จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับทาง ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปจร.ตร.) ก่อนมีการให้ทาง บช.สอท. ดำเนินการตรวจสอบ

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในฐานะผอ.ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปจร.ตร.) กล่าวแถลงผลปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา มีการรวบรวมพยานหลักฐาน กระทั่งนำสู่การจับกุม “นายเสถียร เรืองสมุทร” อายุ 38 ปี และ “นายศริสร สุทธิเจต” อายุ 44 ปี เบื้องต้นแจ้งข้อหาในความผิดตาม ม.7 ม.9 และม.14(1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการแก้ไขข้อมูล นำข้อมูลปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเข้าถึงรหัสโดยมิชอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ ตามข้อมูลระบุว่าผู้ต้องหาได้ขอยื่นประกันตัวในชั้นศาล 25,000 บาท

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทำการยึดของกลางรถยนต์หรูหลายรายการ อาทิ อาวดี้ คิว 8 เมอร์เซเดส เบนซ์ G300 ออสติน มินิ แวน ซากรถยนต์ บีเอ็มดับบิว E3 บีเอ็มดับบิว 3.0 CSL เครื่องปั้มเพลท แผ่นเพลท และเล่มทะเบียนรถจำนวนมาก รวมทั้ง จะออกหมายเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำเพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของรถที่ได้ครอบครองที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม รายงานว่าจากการสอบปากคำผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่าดำเนินการแอบจดจำยูสเซอร์เนม-พาสเวิร์ดของทางเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ก่อนที่จะทำสำเร็จคันแรกปลายปี 2565 และกระทำความผิดเรื่อยมา ซึ่งจากการขยายผลของชุดสืบสวนพบขบวนการนี้มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ชอบสะสมรถเก่า-รถโบราณ

จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า ผู้ต้องหาทำอาชีพรับซื้อเล่มทะเบียนรถยนต์ และเข้า-ออก กรมการขนส่งทางบกมานานกว่า 20 ปี โดยแบ่งกลุ่มงาน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก จะแก้ไขข้อมูลรถยนต์ที่ไม่มีมูลมูลค่า เปลี่ยนเป็นรถยนต์ที่มีมูลค่าสูง ก่อนที่จะนำเล่มทะเบียนไปขายเล่มละประมาณ 1 ล้านบาท, กลุ่มที่ 2 คือ คนซื้อเล่มทะเบียนรถไป เพื่อไปหารถยนต์ที่มีสภาพตรงกับข้อมูลในเล่มทะเบียน จากนั้นก็จะไปเปลี่ยนเลขตัวถังรถยนต์เองเพราะสามารถยึดที่ปั้มเพลตรถยนต์ได้ โดยกลุ่มนี้จะขายรถยนต์ราคาประมาณ 1 ล้านบาท และเล่มทะเบียนรถยนต์อีก 1 ล้านบาท รวม 2 ล้านบาท และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่มีรถยนต์ และเล่มทะเบียนแล้ว แต่จดทะเบียนไม่ได้ (รถที่ลักลอบนำเข้าหลังปี 2557) จึงว่าจ้างให้ไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลรถยนต์กับกรมการขนส่งทางบก โดยประสานผ่านผู้ต้องหา มีราคาเปลี่ยนคันละ 1.4 - 2 ล้านบาท

พ.ต.อ.สุวัฒชัย ศรีทองสุข ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.2 เปิดเผยว่า ระบบของกรมการขนส่งทางบกมีการวางระบบป้องกันอยู่ แต่ทางผู้ต้องหาอาศัยความคุ้นชินกับเจ้าหน้าที่เข้าไปจดจำรหัสผ่าน โดยใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คส่วนตัว เข้าอินเตอร์เน็ตผ่านไวไฟของกรม ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเข้าระบบผ่านระบบนี้ได้เช่นกัน ทำให้บุคคลภายนอกที่ล็อกอินเข้าใช้อินเตอร์เน็ตเข้าไปในระบบได้

ขณะที่ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่ากรณีที่เกิดขึ้นกรมการขนส่งทางบก มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยให้รายงานผลการสอบสวนโดยเร็วหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินคดีในความผิดอาญาและวินัยควบคู่กัน แต่ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกเกี่ยวข้อง และยังไม่พบว่ามีการขายพาสเวิร์ดให้คนอื่น แต่ครั้งนี้เป็นการตรวจพบของเจ้าของพาสเวิร์ด พบความผิดปกติจึงแจ้งให้ตรวจสอบ โดยผู้ที่รู้พาสเวิร์ดการเข้าระบบนี้มี 7 คน และมีการแก้ไขข้อมูลรถของเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียว

อย่างไรก็ตาม สำหรับการจดจำรหัสผ่านของผู้ต้องหา ก่อนหน้าจะสามารถเข้าระบบอินเตอร์เน็ตด้วยระบบ LAN แต่เมื่ออำนวยความสะดวกใช้เจ้าหน้าที่ใช้แท็บเล็ตในการเข้าระบบตรวจสอบรถยนต์ได้ก็สามารถล็อกอินเข้าระบบด้วยไวไฟได้ และตรวจสอบในพื้นที่เปิดทำให้บุคคลภายนอกอาจเห็นเวลาที่เจ้าหน้าที่เข้าระบบได้ แต่พาสเวิร์ดนี้จะต้องเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือน

ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดทำระบบ ศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบและเฝ้าระวังรถต้องสงสัย หรือ Suspect Vehicle Command Center (SVCC) เพื่อจับกุมรถสวมทะเบียน ทำให้จับรถกระทำความผิดได้มากขึ้น

กล่าวสำหรับแผ่นป้ายทะเบียนรถ เป็นเอกสารที่ทางราชการออกให้ใช้เฉพาะสำหรับรถคันที่แจ้งจดทะเบียนไว้ 1 คัน ต่อ 1 หมายเลขทะเบียนเท่านั้น โดยข้อมูลหมวดอักษร หมายเลขทะเบียน จังหวัดที่ปรากฏในใบคู่มือจดทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี (ป้ายวงกลม) ต้องถูกต้องและตรงกัน กรณีการทำแผ่นป้ายทะเบียนรถขึ้นเอง โดยไม่มีสิทธิใช้หมายเลขทะเบียนนั้น เจ้าของรถและผู้ที่ทำแผ่นป้ายนั้นขึ้นจะมีความผิดตามกฎหมายอาญาฯ

ทั้งนั้น การสวมทะเบียน หรือ ใช้ป้ายทะเบียนปลอมมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 265 ประกอบมาตรา 268 ฐานปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท และมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ มาตรา 11 ฐานติดแผ่นป้ายทะเบียนรถไม่ถูกต้องตามที่ทางราชการกำหนด ปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท และอาจจะมีความผิดอื่นตามพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น หรืออาจถูกยึดรถเพื่อส่งตรวจพิสูจน์หลักฐานหาที่มาของตัวรถ

แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดปฏิบัติการ “พลิกถนนล่า รหัสโจรกรรม” ไปแล้ว แต่เชื่อได้ว่ายังไม่ใช่ภารกิจสุดท้าย ในการจัดการสถานการณ์ปัญหาสวมทะเบียน

และสำหรับกรณีที่เกิดขึ้นย้อนกลับไปที่ “กรมการขนส่งทางบก” ช่องโหว่ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญ สู่การโจรกรรมเข้าระบบทำการเปลี่ยนข้อมูลรถ “สวมทะเบียน” เกิดความเสียหายมูลค่าหลายสิบล้านบาท ซึ่งนับเป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก!


กำลังโหลดความคิดเห็น