ป้อมพระสุเมรุ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์- สถานการณ์ความวุ่นวายภายใน “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่ต่างอะไรกับเกมตั้งนายกฯคนที่ 30-รัฐบาลใหม่ ที่ยังฝุ่นตลบ และเอาเข้าจริงเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ ดูจะหาจุดลงตัวยากกว่าเสียด้วยซ้ำ เมื่อผู้มีอำนาจยุคเก่า-ยุคปัจจุบัน ต่างไม่ลดราวาศอก ห้ำหั่นกันจนไม่สนใจว่า พรรคที่อยู่ในช่วงตกต่ำสุดขีดอยู่แล้วจะบอบช้ำไปมากกว่าเดิม
ตามคิวที่ต้องมีการประชุมใหญ่ของ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ วาระสำคัญ เลือกหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ก็ต้องล่มสองครั้งสองครา จากเกมการเมืองภายใน
ถึงขั้นที่ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค งัดคำแรงๆ มาด่าซึ่งหน้าว่า “สันดาน… สามัญสำนึก… เลวทราม” ทั้งที่รู้กันอยู่ว่าใครเป็นใคร ใครอยู่เบื้องหลังวางเกมล้มการประชุม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ
ด้วย “ฝ่ายล้มประชุม” รู้ดีว่าหากปล่อยเข้าสู่วาระการประชุม ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับอีกฝ่ายแบบไร้ทางสู้ ตามข้อบังคับพรรคที่กำหนดน้ำหนักคะแนนขององค์ประชุมในการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค ที่ให้ สส.ปัจจุบัน มีน้ำหนักอยู่ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนองค์ประชุมที่เหลือแค่ 30 เปอร์เซ็นต์
เป็นกติกาเขียนไว้สมัย “จารย์มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งวันนั้นมี สส.หลักร้อย กลุ่มก๊วนสารพัด พอคานเสียงกันได้ พอกติกาเดียวกันมาใช้วันนี้ สส.จากหนก่อน 52 เสียงว่าแย่แล้ว หนนี้สาละวันเตี้ยลงๆเหลือแค่ 25 เสียง แถมพวกที่หลุดเข้ามากเกือบทั้งหมดก็อยู่ใต้อาณัติ “เสี่ยต่อ” ที่แม้ประกาศวางมือการเมือง รับผิดชอบความล้มเหลวในสนามเลือกตั้ง
ทว่า ด้วยความเป็น “เดอะแบก” ดูแลพรรคมาตลอดระยะหลัง ทำให้อิทธิพลยังปกคลุม “ค่ายสะตอ” โดยเฉพาะในหมู่มวล สส.ที่ฝ่าฟันเข้าสภาฯมาได้ด้วยการสนับสนุนของ เสี่ยต่อ” ตามรูปการณ์ใครคิดสู้เสียงโหวต “ทีมเพื่อนเฉลิมชัย” ก็แพ้ตั้งแต่ในมุ้ง
ฉายภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ เป็นการชิงอำนาจกันระหว่าง “รุ่นใหญ่-รุ่นใหม่” โดย “ก๊วนรุ่นใหญ่” เป็นกลุ่ม 4 อดีตหัวหน้าพรรค คือ “นายหัวตรัง” ชวน หลีกภัย, “น้าหยัด” บัญญัติ บรรทัดฐาน, “จารย์มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ “เสี่ยอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์
ส่วน “รุ่นใหม่” หรือเรียกขานกันว่า “กลุ่มเพื่อนต่อ” มี “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” รักษาการเลขาธิการพรรค เป็นหัวขบวน ขนาบด้วยมือขวา-มือซ้าย อย่าง “นายกชาย” เดชอิศว์ ขาวทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรค - “เสี่ยแทน” ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และแว่วว่า เพิ่งได้ นิพนธ์ บุญญามณี อดีตเลขาธิการพรรค มาผนึกกำลังอีกคน
ขณะที่ “ก๊วนนายหัว” ยังคงมีอิทธิพลกับตัวแทน-สมาชิกพรรค ที่เป็นส่วนใหญ่ขององค์ประชุมใหญ่พรรค ส่วน “แก๊งเพื่อนต่อ” ก็ถือไพ่ สส. 22 จาก 25 คนอยู่ ที่เป็นส่วนใหญ่ของน้ำหนักในการลงมติ จึงปรากฎการณ์พิลึกพิลั่น ฝ่ายหนึ่งถือตัวแทนพรรค ฝ่ายหนึ่งถือ สส. ฟาดฟันกันตั้งแต่องค์ประชุม ที่นับ 1 ต่อ 1 ก็เลยไปต่อไม่ได้
การห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตายภายใน “ค่ายสะตอ” ตามหน้าฉากอาจดูเหมือนการต่อสู้ในแง่จิตวิญญาณสถาบันการเมืองของ พรรคประชาธิปัตย์ จะขับเคลื่อนในทิศทางใด จะเป็น “การเมืองสุจริต” ที่ “ชวน” ท่องเป็นคาถา หรือ “การเมืองแบบนายหัว” ที่เป็นสไตล์ของ “เฉลิมชัย”
ตามข่าวว่า “ทีมชวน” หนุนให้ “มาร์ค-อภิสิทธิ์” หวนคืนบัลลังก์ผู้นำพรรค เพื่อกอบกู้พรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ “ทีมเฉลิมชัย” วางตัว “เสี่ยตุ้ม” นราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรค ภาคเหนือ ดีกรี สส. 3 สมัย เป็นหัวหน้าพรรค และให้ “เดชอิศม์” เป็นเลขาธิการพรรค
ตามชื่อชั้น “อภิสิทธิ์” ดูเหนือกว่าหลายขุม แต่หากวัดกันที่เสียงโหวต ที่น้ำหนักอยู่ที่ สส.ปัจจุบัน ต้องบอกว่า “เฉลิมชัย” วางตัวใครก็คงเข้าวินไม่ยาก
สำคัญที่ผลพวงของการวางตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ยังมีไปถึงทิศทางของพรรคในห้วงที่มีกำลังมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่ง “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย ถือสิทธิ์ความเป็นแกนนำอยู่ และตามเนื้อผ้า พรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกในการเข้าไปเติมเต็ม “รัฐบาลเพื่อไทย”
การเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค จึงผูกโยงกับการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งยังเป็นแคมเปญหาเสียงชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์กลายๆ ของทั้ง 2 กลุ่มด้วย
โดยซีก “ชวน” ชัดเจนว่า ไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับ พรรคเพื่อไทย ด้วยถือเป็นคู่ขัดแย้ง และโจมตีในเรื่องทุจริตคอร์รัปชันมาโดยตลอด ส่วนซีก “เฉลิมชัย” แม้วางท่าทีคล้ายกับไม่ต้องการเข้าร่วม แต่ก็มีกระแสข่าว “ดีลพิสดาร” เจรจาตกลงกับ “บิ๊กเพื่อไทย” แล้วว่า พร้อมยก 22 สส.ไปเข้าเติมเสียงให้
ทั้งยังมีร่องรอย “นายกฯชาย-เดชอิศม์” มือขวาของ “เฉลิมชัย” พาเมียบินไปแก้บนที่เกาะฮ่องกง ช่วงเดียวกับที่ “นายใหญ่เพื่อไทย” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จัดงานฉลองวันคล้ายวันเกิดพอดิบพอดี ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่ยอมรับหรือปฏิเสธว่า ได้เจอตัว “ทักษิณ” หรือไม่
เมื่อแนวทางขัดแย้งคนละขั้ว ทำให้ต้องประลองกำลังกัน แล้วกลายเป็นว่าเสียงข้างมากไม่อาจเอาชนะเสียงข้างน้อยได้ง่ายๆ เมื่อเจอกระบวนการท่า “ปรมาจารย์การเมือง” ของ “ชวน” ที่วางเกมเขี้ยวขวางไม่ให้ “ทีมเพื่อนต่อ” ยึดพรรคได้
หนแรกว่า ดูไม่เป็นธรรมชาติ ที่จู่ๆองค์ประชุมหายออกไปจากห้องประชุมแล้ว ประชุมหนสองกลัวไม่ชัด จัดทริปพาตัวแทนสายอีสานไปเที่ยว สปป.ลาว ช่วงวันประชุมใหญ่พอดี ทำให้การเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต้องเลื่อนออกไปอีก จนทำท่าว่าจะไม่ทันขึ้นรถ “รัฐบาลใหม่”
ทำเอา “ก๊วนเสี่ยต่อ” ออกอาการเซ็งจัด เพราะยังยึดพรรค เพื่อออกมติเข้าร่วมรัฐบาลไม่ได้ ทำให้ “ดีลพิสดาร” ที่ว่ากันว่า ต่อสายกับ “คนแดนไกล” ไว้แล้ว พร้อมกระโดดค้ำถ่อข้ามสายพันธุ์ไปเติมสมการรัฐบาลใหม่ ยังไม่อาจเกิดขึ้นไปได้
เพิ่มดีกรีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่หนนี้ชุลมุนวุ่นวายเป็นเท่าทวีคูณ ทั้งที่ปกติการล้างไพ่ ปรับโครงสร้างการบริหารพรรคใหม่ เป็นโอกาสเหมาะที่จะกู้วิกฤตองค์กร หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างหลุดลุ่ยแบบไม่คาดคิดมาก่อน แต่ต้องทำกันภายใต้ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
กลับกลายเป็นว่า พร้อมใจกันทำโอกาสให้เป็นวิกฤต โดยงัดข้อกันทุกดอก ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ “ค่ายสะตอ” ตกต่ำลงไปอีก
ทั้งที่แค่ปกติ ประเมินด้วยสายตา เชื่อไม่ว่า เทวดาองค์ไหนจะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ยากที่จะนำพรรคกลับไปเป็น “พรรคใหญ่” ได้อีกครั้ง ยังเล่นเกมการเมืองแบบไม่เหลือคราบเค้าความเป็นพรรคเก่าแก่ระดับ “สถาบัน”
ไม่ว่าจะซีก “ปูชนียบุคคล” ในพรรค ที่ควรวางตัวเป็น “หลัก” ให้พรรค แต่กลับโดดลงมาวางเกมอยู่ในวังวนความขัดแย้งด้วยตัวเอง จนเกิดความระส่ำระสายอย่างหนัก โดยลืมมองตัวเองว่า “สิ้นมนต์ขลัง” นานแล้ว ฟ้องผ่านผลการเลือกตั้งในพื้นที่ของ “ผู้อาวุโส” ที่พ่ายแพ้อย่างยับเยิน
หรืออีกฝ่ายที่ก็ดูจะขาดตัวเลือกในการชูมาเป็นผู้นำพรรค แต่ละรายชื่อที่ออกมาล้วนแล้วแต่ ชื่นชั้นไม่ถึง จนยากจะเชื่อว่าจะมาเป็นผู้บริหารพรรคเก่าแก่ชุดใหม่
แล้วยังกล้าคิดเหนือจินตนาการในการเข้าไปร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่เป็นไม่เบื่อไม่เมากันมาตลอด ซึ่งถูกมองว่า หากยอมไปเป็นนั่งร้านให้พรรคเพื่อไทยจริง ก็ถือเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นทางการ
ตามรูปการณ์ไม่ว่า “ค่ายสะตอ” จะตกไปอยู่ในมือฝ่ายไหนก็ยากจะไปต่อ จนว่ากันว่าเป็นการนับถอยหลังสู่วาระสุดท้าย ของพรรคการเมืองที่เคยขนานนามตัวเองว่า “พรรคแมลงสาบ”
เค้าลางยุค “กลุ่ม 10 มกราฯ” เริ่มถูกยกขึ้นมาพูดถึง ด้วยฝ่ายที่กุมเสียง สส.พร้อมโบกมือลา ไปหาสีเสื้อใหม่สวมกันแล้ว ตามข่าวมีการเจรจาเบื้องต้นกับ “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย ที่ดูจะเคมีตรงกันมากกว่าอยู่กับ “ผู้อาวุโส” ของพรรคตอนนี้
แล้วเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด พรรคประชาธิปัตย์ ที่จู่ๆ มี “ไฟต์บังคับ” ต้องลงสนามเลือกตั้ง สส.เขต 3 จ.ระยอง จากเหตุที่ “สส.ไอซ์” นครชัย ขุนณรงค์ อดีต สส.เขตนี้ ของพรรคก้าวไกล ประกาศลาออกจากตำแหน่ง สส. เนื่องจากขาดคุณสมบัติในการเป็น สส. เพราะเคยเป็นถูกจำคุกในคดีลักทรัพย์ พื้นที่ จ.ชลบุรี ปี 2542-2543
ล่าสุด มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สส.เขต 3 จ.ระยอง แทนตำแหน่งที่ว่าง ในวันที่ 10 ก.ย.66
ด้วยความที่ จ.ระยอง เป็นพื้นที่ครองครองเดิมของพรรคประชาธิปัตย์จึงมีฉันทามติจาก “ขั้วรัฐบาลเดิม” เปิดทางให้ “ค่ายสะตอ” ส่งผู้สมัครลงทำศึกเพียงพรรคเดียว ซึ่งแน่นอนต้องดวลกับ “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล เจ้าของเก้าอี้เดิม
ทั้งนี้ ผลเลือกตั้ง สส.เขตนี้ เมื่อการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 ในกลุ่มหัวตารางปรากฎว่า อันดับ 1 นายนครชัย ขุนณรงค์ จากพรรคก้าวไกล ได้ 29,034 คะแนน, อันดับ 2 พายัพ ผ่องใส จากพรรคพลังประชารัฐ ได้ 21,726 คะแนน, อันดับ 3 บัญญัติ เจตนจันทร์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 14,668 คะแนน และ อันดับ 4 ชัยณรงค์ สันทัสนะโชค จากพรรคเพื่อไทย ได้ 11,647 คะแนน,
เอาเข้าจริงการลงเลือกตั้งซ่อมช่วงนี้ ไม่เป็นที่ปรารถนาของ “ผู้แพ้” หากคะแนนไม่ได้เบียดกันมาก ก็คงไม่มีใครอยากลงไปแก้มือ เพราะบาดแผลจากการเลือกตั้งใหญ่ยังไม่สมานดี อีกทั้งคู่ต่อสู้ยังเป็น พรรคก้าวไกล ที่ยังมีกระแสอย่างต่อเนื่อง
น่าสนใจอีกว่า “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ ที่คว้าอันดับ 2 ครั้งเลือกตั้งใหญ่ ก็ไม่ได้สนใจที่จะลงแก้มือ ยอมเปิดทาง หรือพูดให้ตรงคือ “ผลักภาระ” ให้พรรคประชาธิปัตย์ ลงแข่ง เพราะรู้ดีว่า “หมอตี๋” สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าภาคกลางพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีพื้นที่ประจำการที่ จ.ระยอง ต้องลงรักษาพื้นที่แบบเสียไม่ได้อยู่แล้ว
แม้ฟอร์มจะเป็นรอง แต่หากเป็นยามปกติ พรรคประชาธิปัตย์ ก็คงกัดฟันสู้สุดใจ เพราะถือเป็นอีกโอกาสในการกอบกู้วิกฤตศรัทธาพรรค ยิ่งหากโค่น พรรคก้าวไกล ที่ร้อนแรงลงได้ ก็ยิ่งจะเคลมผลงานคุยได้ทั่วคุ้งทั่วแคว
แต่ความไม่เป็นเอกภาพภายใน “ค่ายสะตอ” ขณะนี้ก็อาจทำให้ต้องเตรียมรับความพ่ายแพ้ตั้งแต่ยังไม่ลงสนาม ตัว “หมอตี๋” เจ้าของพื้นที่ ก็ออกตัวสนับสนุน “อภิสิทธิ์” และไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ก็ชัดเจนว่า ยืนคนละสายกับ “ขาใหญ่พรรค” ปัจจุบัน จนทำท่าว่า “หมอตี๋” อาจต้องสู้อย่างโดดเดี่ยวไร้กำลังบำรุงจาก “หัวจ่าย” ในพรรค
ยิ่งน่าเป็นห่วง เมื่อดูจากผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 ในพื้นที่ จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลที่ “บ้านใหญ่ปิตุเตชะ” ยึดครองมาอย่างยาวนาน แต่ปรากฎว่า ทั้ง 5 เขตของ จ.ระยอง ถูกยึดพื้นที่ใหม่ด้วยผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลทั้งหมด
ไม่ใช่แค่แพ้ยกจังหวัดให้กับ “สึนามิส้ม” แต่ 4 ใน 5 เขต ยังเป็นคนในตระกูล "ปิตุเตชะ" ลงสมัครเองเสียด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “สาธิต” ที่แพ้ให้กับก้าวไกลในเขต 2 โดนทิ้งห่างคะแนนเกินกว่า 1 หมื่นคะแนน หมอฟอร์มรัฐมนตรี ส่วน “หมอบัญญัติ” ที่ลงเขต 3 ในสีเสื้อประชาธิปัตย์ เข้าป้ายเพียงอันดับ 3 ตามหลังผู้ชนะจากพรรคก้าวไกลเกินเท่าตัว
กระแส “สีส้ม” ในพื้นที่ภาคตะวันออกก็ยังถือว่าเชื่อขนมกินได้ ย้อนดูภาพที่ “แด๊ดดี้ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี ไม่กี่สัปดาห์ก่อน ก็คงทำให้ “หมอตี๋” ขนลุกเกรียวแล้ว
ฟังมาว่ารอบนี้ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ คงไม่ใช่ “หมอบัญญัติ” ที่แม้มีดีกรี สส.หลายสมัย แต่ท่าทางจะขุนไม่ขึ้น และต้องหาผู้สมัครรายใหม่ลงสู้ศึก
อาจจะเป็นโอกาสดีของ “สาธิต” ที่ เพราะเดิมลงสมัครแล้วแพ้ในพื้นที่เขต 2 ถ้าไม่มีตัวจริงๆ แล้วเจ้าตัวอยากลุ้นกลับเข้าสภาฯ ก็สามารถสไลด์มาลงที่เขต 3 ได้ ดีไม่ดีหากพลิกชนะขึ้นมา ก็จะกลายเป็น “ฮีโร่” ไม่เฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ แต่กับทุกพรรคที่วันนี้ถือว่า มีคู่แข่งเดียวกัน คือ พรรคก้าวไกล
ถึงตอนนั้นถ้ายังไม่ได้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เข้าคอนเซปต์ “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ดัน “หมอตี๋” ที่เป็นรองหัวหน้าพรรคมานาน ขึ้นชั้นหัวหน้าพรรคไปเลย ปูนบำเหน็จที่ไปชนะศึกใหญ่มา ส่วนถ้าแพ้ ก็แยกย้ายตัวใครตัวมัน
เจอทั้งศึกในที่ไม่ว่าบทสรุปแบบไหนก็ไม่สวย ยังต้องมาเจอศึกนอกที่แทบไม่เห็นแววชนะ
คงพูดได้ไม่ผิดว่า เป็นสถานการณ์นับถอยหลังเข้าสู่วาระสุดท้าย เตรียมปิดตำนาน “ค่ายแมลงสาบ” ได้เลย.