xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จาก “มีลุง ไม่มีเรา” สู่ “มีเรา ต้องมีลุง” คำตอบสุดท้ายจาก “เพื่อไทยการละคร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เท้าจากอาคารโอเอไอ ทาวเวอร์ (ที่ทำการพรรคเพื่อไทย) ไปยังอาคารไทยซัมมิท ทาวเวอร์ เพื่อเข้าเจรจากับพรรคก้าวไกล คาดหารือถึงแนวทางการขอเสียงสนับสนุนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อฝ่าวิกฤตประเทศ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว สำหรับ “รัฐบาลเพื่อไทย” ที่หลังสลัด “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล ออกจากสมการ และถีบให้ไปเป็นฝ่ายค้าน เพื่อให้มีอิสระในการแสวงหาแนวร่วมใหม่อย่างเป็นทางการ

มีการไล่เปิดตัวว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่ รวม 9 พรรค 238 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง, พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง, พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง, พรรคประชาชาติ 9 เสียง, พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง, พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง, พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง, พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง และพรรคพลังท้องที่ไทย 1 เสียง

ซึ่งจำนวน 238 เสียง แน่นอนว่า ยังไม่เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาล ที่ต้องการอย่างน้อย 250 เสียงขึ้นไปเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และห่างไกลเสียงโหวตผ่านนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภาอีกด้วย

เอาเข้าจริง มีการวางคิวเปิดคัวพรรคร่วมรัฐบาลชุดใหม่ ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ก่อน ตามคาดการณ์ว่า ที่ประชุมรัฐสภาจะมีการลงมติเพื่อเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 ส.ค.66

แต่มาสะดุด “โรคเลื่อน” เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาคำร้องของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีให้วินิจฉัยมติ รัฐสภา ห้ามเสนอชื่อ “แด๊ดดี้ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้า และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ซ้ำในการเสนอชื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบเป็นนายกฯครั้งที่ 2 ว่าเป็นญัตติหรือไม่ ไปเป็นวันที่ 16 ส.ค.66

ทำให้ต้องมีการสั่งเลื่อนวาระการโหวตนายกฯออกไปก่อนอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งยังไม่รู้ วัน ว. เวลา น. ที่ชัดเจน มีเพียงการคาดการณ์ว่า จะเป็นวันที่ 22 ส.ค.66

แม้จะเป็นช่วงสุญญากาศที่โหวตนายกฯยังไม่ได้ แต่ พรรคเพื่อไทย ก็ไม่คอยท่า เปิดเกมเร็วฟอร์มรัฐบาลทันที เพื่อแก้กระแสที่ต้องการให้ดึงเช็งอย่างน้อย 10 เดือน เพื่อรอให้ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดนี้หมดวาระ แล้วค่อยเลือกนายกฯ แบบไม่มี สว.

ในฐานะถือสิทธิ์แกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยย่อมไม่เห็นด้วยกับการทอดเวลาไปอีก 10 เดือน หรือหากนับจริงเหลือราว 9 เดือนอย่างแน่นอน เพราะหลังได้รับการส่งมอบสิทธิ์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ถือว่าอยู่ในจุดที่ใกล้เข้ากุมอำนาจแค่เอื้อมแล้ว โดยยกข้ออ้างที่ว่า ประเทศรอ 10 เดือนไม่ได้ เศรษฐกิจต้องเดินหน้า ปัญหาประชาชนรอการแก้ไข

ทว่า จุดเริ่มต้นการฟอร์มรัฐบาลเพื่อไทย ค่อนข้างทุลักทุเล เพราะต้องเสียเวลาเขี่ยพรรคก้าวไกลออกจากสมการเสียก่อน จึงต้องกระมิดกระเมี้ยนจัดฉากเชิญพรรคการเมืองต่างๆใน “ขั้วรัฐบาลเก่า” มาทำท่าหารือที่พรรคเพื่อไทย เพื่อต้องการส่งสัญญาณเข้มๆ ว่า “ไม่เอาก้าวไกล”

ก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้เอ่ยปากขอบอกเลิก “ค่ายสีส้ม” พร้อมฉีกเอ็มโอยู 2 ฉบับ โดยมีท่อนสำคัญระบุด้วยว่า “พรรคก้าวไกล จะไปทำหน้าที่ฝ่ายค้าน”

ตะเพิดกันซึ่งหน้า ไร้เยื่อใยความสัมพันธ์ที่เดินเคียงกันมาตลอดร่วม 2 เดือนหลังเลือกตั้ง

พลันที่หย่าร้างกับพรรคก้าวไกล พร้อมฉีกเอ็มโอยู 8 พรรคเสียงข้างมาก เส้นทางการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ราบรื่น จากที่แพ็คกันแน่น 2 พรรค เป็น 292 เสียง หรือกับ 8 พรรคเสียงข้างมากเดิม 312 เสียง

กลายเป็นพรรคเพื่อไทยหัวเดียวกระเทียมลีบ 141 เสียง ก่อนจะไปผูกเสี่ยวกับ “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย อีก 71 เสียง รวมเป็น 212 เสียง พร้อมประกาศเป็น “สารตั้งต้น” ในการจัดตั้งรัฐบาล และได้มาเพิ่มเติมเป็น 238 เสียง

ยังคงเหลือ พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง, พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง, พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง, พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง และพรรคใหม่ 1 เสียง ที่อยู่ใน Waiting List รอการทาบทามมาเติมเต็มเสียงรัฐบาล

แต่ที่ไม่เอาด้วยแน่นกับการสลับขั้วข้ามสายพันธุ์ และพร้อมเป็นฝ่ายค้าน คือพรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง และพรรคเป็นธรรม 1 เสียง รวมไปถึงพรรคก้าวไกล

ตามหลักคณิตศาสตร์แล้ว หากต้องการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากก็จำเป็นต้องมีเสียงจาก พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคใดพรรคหนึ่งเข้าร่วมรัฐบาล

อีกทั้งยังต้องอ่านต่อด้วยว่า ดึงพรรคไหนเข้าร่วมแล้ว จะช่วยเพิ่มเสียง สว.ในการโหวตหนุนนายกฯจากพรรคเพื่อไทย

และต้องไม่ลืมว่า พรรคเพื่อไทยเองก็มีมอตโต้ “มีเรา ไม่มีลุง” ค้ำคออยู่ การดึง “ค่ายลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ และ “ค่ายลุงตู่” พรรครวมไทยสร้างชาติ มาเข้าร่วมรัฐบาล ไม่ง่ายอย่างที่คิด

เชื่อว่า ที่สุดมอตโต้ที่ว่า “มีเรา ไม่มีลุง” ก็คงไม่ต่างจาก “ไล่หนู ตีงูเห่า” กรณีพรรคภูมิใจไทย ที่ยอมรับว่า เป็นเพียงวาทกรรมหาเสียง แต่ก็ต้องมีการวางสตตอรี่เพื่อลดเสียงก่นด่าที่ดังระงมขึ้นทุกขณะบ้าง

จึงเริ่มได้ยินเสียง “คีย์แมนเพื่อไทย” อย่าง “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค ที่ส่งสัญญาณผ่าทางตัน ด้วยสูตรการจัดตั้ง “รัฐบาลพิเศษ” สลายขั้วการเมือง เปิดทางร่วมงานกับทุกฝ่าย โดยยกเงื่อนไขสำคัญเรื่องวิกฤตต่างๆ ที่ประเทศและประชาชนกำลังเผชิญ แบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลักๆ 1.วิกฤตรัฐธรรมนูญ, 2.วิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง และ 3. วิกฤติความขัดแย้งที่สะสมมานาน

แล้วยัง “แบไต๋” ด้วยว่า มีการเจรจาทั้งในรูปแบบพรรค กลุ่ม และตัวบุคคล ไม่แคร์ครหา “งูเห่า” เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลลุล่วงให้ได้

เพื่อให้สตอรี่ดูมีน้ำหนัก การจัดตั้งรัฐบาลสูตรพิเศษ หรือสูตรผสมพันธุ์ข้ามขั้ว จึง ต้องย้อนกลับสร้างบรรยากาศความชอบธรรม ด้วยการบุกไปเจรจาขอเสียงสนับสนุนจากพรรคก้าวไกล

เป็น “ละครฉากใหญ่” เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่นำแสดงโดย “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวนายใหญ่ และหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เดินนำหน้าแกนนำเพื่อไทย โดยระบุว่า ไปเจรจา และขอขมาพรรคก้าวไกล เพื่อขอเสียงสนับสนุนโหวตเลือกนายกฯ แบบ “ปิดสวิตซ์ สว.”

ทั้งที่ครั้งขอหย่าร้างกัน ก็เป็น “ภูมิธรรม” เองที่บอกกับ พรรคก้าวไกลว่า มีเสียงสนับสนุนเพียงพอไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียงของ พรรคก้าวไกล และไม่ต้องการให้ พรรคก้าวไกล โหวตให้ เพราะอาจจะสร้างความหวาดระแวงให้กับพรรคร่วมรัฐบาล และกลุ่ม สว.ที่ไม่เอาพรรคก้าวไกล

ก่อนจะมากลืนน้ำลาย และทำทีสำนึกผิด จัดฉากยกบายศรีไปขอขมา พร้อมขอเสียงสนับสนุน แต่มีเงื่อนไขไม่ดึงมาร่วมรัฐบาล

แม้จะรู้คำตอบอยู่แล้วว่า พรรคก้าวไกล ไม่มีทางโหวตให้อย่างแน่นอน

โดย “ภูมิธรรม” ได้ย้ำประโยคสำคัญว่า “หากเพื่อไทยทำสุดความสามารถ แล้วยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยคนเดียวที่จะรับผิดชอบ สังคมและประชาชนทั้งหมดจะต้องรับผิดชอบช่วยกันคิดช่วยกันแก้ปัญหาด้วย”

สอดรับกับ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า “ถ้าโหวตให้ก็ขอบคุณ แต่ถ้าไม่โหวตให้ก็ไม่เป็นไร ถ้าพูดด้วยความสุภาพ ไม่กดดันกัน ก็เป็นสิทธิ ที่เพิ่มหรือลดคะแนนให้ เราก็ได้พูดตรงไปตรงมาที่สุด ไม่มีอะไรเคลือบแฝง”

ซึ่งก็ถูกอ่านออกว่า พรรคเพื่อไทยเดิมหมากนี้ให้พรรคก้าวไกลปฏิเสธ เพื่อเบิกทางไปจับมือกับ “เครือข่ายลุง” ไม่ว่าจะเป็น พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ

และเป็นที่รู้กันว่า “เครือข่ายลุง” ที่ว่า พ่วงมาด้วยเสียง สว.ที่เพียงพอส่งแคนดิเดตนายกฯ ที่นาทีนี้คือ “เศรษฐา” ขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทยได้

เป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ว่า หากไม่มีพรรคก้าวไกล กจำเป็นต้อง “เครือข่ายลุง” ซัก 1 พรรคมาร่วมรัฐบาล หากแต่ต้องทำทีบ่ายเบี่ยงเพื่อเลี่ยงกระแสโจมตี

จนถูกค่อนขอดว่าเป็น “เพื่อไทยการละคร” ที่จัดฉากเพื่อกาความชอบธรรม

พรรคเพื่อไทยรู้ดีว่ายิ่งทอดเวลาออกไป จะยิ่งสูญเสียดุลอำนาจต่อรองไปให้กับ “เครือข่ายลุง” ที่ว่ากันว่า ไม่ได้หวังแค่ร่วมรัฐบาล แต่มองไปถึงเก้าอี้นายกฯ เลยทีเดียว จึงเร่งเกมอย่างต่อเนื่อง เพื่อโชว์ภาพการฟอร์มรัฐบาลให้สำเร็จโดยเร็ว และรอเพียงวันโหวตนายกฯเพื่อปิดเกมเท่านั้น

หมากนี้ “คนก้าวไกล” ก็อ่านออก แต่ก็ต้องรับนัดแบบเสียไม่ได้ เพื่อแสดงความความมี “วุฒิภาวะ” พร้อมออกตัวว่า รู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร ฟังได้จากท่าที วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่โพสต์ร่ายยาวชำแหละแผนพรรคเพื่อไทยว่า ถึงพรรคก้าวไกลโหวตนายกฯ ให้ก็ดึง “2 ลุง” มาอยู่ดี พร้อมคำนวณเสียงในสภาฯ ให้เสร็จสรรพ

ก็เป็นจริงตามที่ดักคอไว้ ยังไม่ทันได้รับคำตอบอย่างเป็นทางการจากพรรคก้าวไกล ก็มีกระแสข่าวว่า พรรคเพื่อไทยทาบทามพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วมรัฐบาลแล้ว

ตรงตามกระแสข่าวก่อนหน้าว่า จะมีการดึงพรรคลุงเพียง 1 พรรคเข้าร่วมรัฐบาล ให้เพียงต่อการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากเท่านั้น เพื่อไม่ให้การเกลี่ยโควตาตำแหน่งต่างๆ มีปัญหา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ถูกตีตกไปก่อนแล้ว เพราะเป็นคู่ขัดแย้งกันมานาน

โดยที่พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่างพูดตรงกันต้องไปทั้งพรรค ห้ามแยกกลุ่ม เพราะจะทำให้การเมืองบิดเบี้ยว สยบข่าวก่อนหน้านี้ว่า พรรคเพื่อไทยอาจได้เสียงขอกลุ่ม “ผู้กองนัส” ธรรมนัส พรหมเผ่า จากพรรคพลังประชารัฐ และกลุ่ม เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น จากพรรครวมไทยสร้างชาติ มาเสริมเท่านั้น

พรรคเพื่อไทยจึงต้องชั่ง ตวง วัด ว่าจะชวนพรรคไหนมาร่วมรัฐบาล โดยมีโจทย์ว่า ต้องไม่ถูกต่อรองจนสูญเสียดุลอำนาจแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทั้งกระทรวงทบวงกรมต่างๆ สำคัญสุดเรื่องเก้าอี้นายกฯ ไม่ยอมต่อรองกับใครเด็ดขาด

ซึ่งระยะหลัง แนวโน้มเทไปทางพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ไม่มี “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ซึ่งประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้วมากกว่า พรรคพลังประชารัฐ ที่ยังมี “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค นั่งบัญชาการอยู่

เพราะอยากเลี่ยงครหา “มีลุง ไม่มีเรา” หวยจึงน่ามาออกที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ไม่มี “ลุงตู่” มากกว่า

จึงได้เห็น “เสี่ยไผ่” ไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นมือขวาของ “ผู้กองนัส” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ออกมาประกาศว่า 40 เสียงของพรรคพลังประชารัฐ จะลงมติสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ประเทศเดินต่อได้

พร้อมหมายเหตุเล็กว่า ขณะนี้ยังไม่มีการทาบทามจากพรรคเพื่อไทยให้เข้าร่วมรัฐบาล และพร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้าน

แต่ก็มีข่าวอีกทางว่า ดีล “เพื่อไทย-พลังประชารัฐ” นั้นจบแล้ว และมีการแบ่งโควตารัฐมนตรีเสร็จสรรพแล้วด้วย

พอข่าว “ค่ายลุงตู่” หนาหู กลายเป็นว่า “ค่ายพลังป้อม” ชิงเล่นบท “พระเอก” แบบไม่ไว้ฟอร์ม ทั้งที่ก่อนนี้มีข่าวบดบี้หวังถึงเก้าอี้นายกฯ ก็หวังปาดหน้า “ค่ายลุงตู่” ด้วยข่าวคราวว่า มีโควตาให้เพียง 1 พรรคลุงร่วมรัฐบาลเท่านั้น

ก็น่าลุ้นว่า “ค่ายลุงป้อม” หรือ “ค่ายลุงตู่” จะเข้าป้ายได้ร่วมรัฐบาล หรือเพื่อตัดปัญหารับไว้ทั้ง 2 พรรค ก็อาจเป็นทางออก และเสริมเสถียรภาพ สูตร “รัฐบาลพิเศษ”

ทางพรรคเพื่อไทยแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็มีเป้าหมายเดียวในการเป็นรัฐบาล หวนคืนสู่อำนาจให้ได้ เพราะมีภารกิจสำคัญในการต้อนรับ “นายใหญ่ทักษิณ” กลับประเทศ ที่จำเป็นต้องดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสวัสดิภาพของ “นายใหญ่”

เป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทยต้องยอมแทบทุกเงื่อนไข แม้แต่การผสมพันธุ์ข้ามขั้วกับ “พรรคลุง” ก็ตาม

จากศัตรูกลายเป็นมิตร

จาก “มีเรา ไม่มีลุง” สู่ “มีเรา ต้องมีลุง”

แลกกับราคาค่างวดที่พรรคเพื่อไทยต้องจ่ายเพื่อการเป็นรัฐบาลครั้งนี้ที่ว่ากันว่าสูงลิบ.


กำลังโหลดความคิดเห็น