"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยเดินสายรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อให้ได้เสียง ส.ส. เกิน 250 ในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก และได้เสียงอย่างน้อย 375 เสียงในรัฐสภาสำหรับการโหวตนายกรัฐมนตรี แผนการต่าง ๆ ถูกวางไว้อย่างเป็นขั้นตอน รวมทั้งการพยายามสร้างความชอบธรรมในการดึงพรรคที่มีจุดยืนทางการเมืองต่างขั้วเข้ามาสนับสนุน ยุทธการ “โอบหนู กอดงูเห่า ใต้เงาอำนาจนิยม” จึงเกิดขึ้น
พรรคเพื่อไทยเริ่มต้นจัดตั้งรัฐบาลด้วยการจับมืออย่างเป็นทางการกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่เคยขับเคี่ยวกันมาอย่างหนักในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ในอดีต พรรคเพื่อไทยเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจแกนนำพรรคภูมิใจไทยหลายครั้ง และในการหาเสียงเลือกตั้งก็ได้วิพากษ์วิจารณ์และโจมตีพรรคภูมิใจไทยอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์หาเสียงที่เรียกว่า “ไล่หนู ตีงูเห่า”
หนูในที่นี้คือชื่อเล่นของนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ส่วนงูเห่าคือ ส.ส. ที่ย้ายพรรคไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย
เมื่อถูกถามว่า ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงไปจับมือกับพรรคภูมิใจไทย ทั้งที่เคยโจมตีพรรคภูมิใจไทยอย่างหนักหน่วงมาก่อน คำตอบจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคือ คำพูดและการรณรงค์ช่วงก่อนการเลือกตั้งเป็นเพียงเทคนิคการหาเสียงเพื่อให้ได้คะแนนนิยม การตอบเช่นนี้ นัยระหว่างบรรดทัดที่ต้องการสื่อสารคือ การหาเสียงเป็นเพียงละครฉากหนึ่ง ที่พรรคการเมืองสร้างบทขึ้นมาเพื่อความบันเทิงแก่ประชาชนเท่านั้น อย่าไปจริงจังอะไรกับมันมากนักเลย เมื่อผ่านไปแล้วก็ขอให้ลืม ๆ กันไปเสียเถิด
แบบแผนการตอบในลักษณะที่ว่า “อย่าให้ความสำคัญกับถ้อยแถลงหรือคำประกาศระหว่างหาเสียง” สะท้อนความคิดและความเชื่อของผู้พูดว่า มองประชาชนผู้เลือกตั้งเป็นเพียงเครื่องมือในการก้าวสู่อำนาจรัฐของพรรคตนเอง ขณะเดียวกันผู้พูดก็ไม่ได้คิดว่า คำประกาศที่แสดงจุดยืนทางการเมืองหรือถ้อยแถลงเชิงนโยบายกล่าวในช่วงการหาเสียงคือ สัญญาประชาคมที่ต้องยึดถือเป็นพันธะกับประชาชนอย่างมั่นคงและจริงจัง
โดยนัยนี้วลี “เทคนิคการหาเสียง” จึงเท่ากับ “การหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ ”นั่นเอง
การรวมกันของพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทยทำให้มีเสียงตั้งต้นในการจัดตั้งรัฐบาล 212 เสียง ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ผลพวงจากการดึงพรรคภูมิใจไทยเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ประชาชนที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยจำนวนมากไม่พอใจ บางคนก็ทำการเผาเสื้อผ้าและสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทยทิ้งไป แต่ก็มีมวลชนอีกส่วนหนึ่งที่ยังภักดีกับพรรคเพื่อไทยออกมาสนับสนุนการตัดสินใจของพรรค
แม้จะมีเสียงต่อต้าน แต่พรรคเพื่อไทยก็เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลต่อไป ในวันที่ 9 สิงหาคม มีการจัดแถลงข่าวร่วมกับพรรคการเมืองเล็กจำนวน 5 พรรค เช่น ประชาชาติ เสรีรวมไทย และในวันถัดมาแถลงร่วมพรรคชาติไทยพัฒนา การชักชวนพรรคเล็ก ๆ เหล่านี้มาร่วมรัฐบาลทำให้พรรคเพื่อไทยมีเสียงเพิ่มขึ้นเป็น 238 เสียง แต่ก็ยังคงไม่ถึง 250 เสียงอยู่ดี หากพรรคเพื่อไทยต้องการเสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งในสามพรรคนี้มาร่วมรัฐบาล อันได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี 25 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง และพรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง ส่วนพรรคก้าวไกลนั้น พรรคเพื่อไทยไม่นำมาร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอนแล้ว แต่สิ่งที่สร้างความประหลาดใจแต่ประชาชนทั้งประเทศคือ พรรคเพื่อไทยประกาศว่า ต้องการให้พรรคก้าวไกลลงมติสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
ถ้อยแถลงสำคัญในวันที่ 9 ส.ค. 2566 ออกมาจากปากของ นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งกล่าวในทำนองที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะขอหารือกับพรรคก้าวไกล เพื่อให้ช่วยโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรมยังเสนอว่าให้จัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาประเทศ “ไม่ใช่การเปลี่ยนขั้ว แต่เป็นการสลายขั้วทั้งหมด” ทั้งยังอ้างว่า ต้องการให้ทุกคนร่วมกันหาทางออก เพราะนี่คือโอกาสในการทำให้ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่มีอยู่ 20 กว่าปีสลายไป และเป็นโอกาสที่จะแก้ไขวิกฤตรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศขยับไม่ได้ รวมถึงแก้ไขปัญหาของประชาชน การที่จะสำเร็จได้สิ่งสำคัญคือต้องดึงทุกพรรค ทุกฝ่ายมาลงคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทย
ทำไมต้องใช้คำว่า “สลายขั้ว” แต่ปฏิเสธคำว่า “เปลี่ยนขั้ว”
นั่นอาจเป็นเพราะว่า คำว่าเปลี่ยนขั้วเป็นคำที่มีความหมายในเชิงลบ บ่งบอกถึงการไม่ยึดมั่นในจุดยืนทางการเมืองที่ประกาศไว้ต่อสาธารณะ ซึ่งมีการตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาในการหาเสียง เช่น ไม่ร่วมกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจรัฐประหาร ไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ หลังจากพรรคเพื่อไทยรับภารกิจในการจัดตั้งรัฐบาลต่อจากพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยใช้เวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้นใจการตัดสินใจละทิ้งขั้วการเมืองเดิมที่ร่วมมือกันมาหลายปี และเปลี่ยนขั้วไปร่วมมือกับพรรคการเมืองที่เคยเป็นปรปักษ์มาอย่างยาวนานในการจัดตั้งรัฐบาล การสลายขั้วจึงเท่ากับเป็น “การทิ้งมิตรไปสมคบกับปรปักษ์”
นายภูมิธรรมคงคิดว่าหากใช้คำว่าการสลายขั้วจะทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคดูดีกว่าการใช้คำว่าเปลี่ยนขั้ว แต่นั่นเป็นความคิดที่ออกจะเข้าข้างตนเองมากทีเดียว เพราะประชาชนทั่วไปมองทะลุว่า การเปลี่ยนคำเป็นเพียงวาทศิลป์ หรือเทคนิคการโฆษณาชวนเชื่อแบบหนึ่งเท่านั้นเอง การสลายขั้วเป็นเพียงภาพลวงตา เพื่ออำพราง “การแบ่งขั้วแบบใหม่” ที่กำลังเกิดขึ้นในการเมืองไทยยุคปัจจุบัน นั่นคือ “ขั้วอนุรักษ์อำนาจนิยมจารีต” ซึ่งประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย กลุ่มพรรคสืบทอดและนั่งร้านของคณะรัฐประหาร และกลุ่มอำนาจจารีต กับ “ขั้วเสรีนิยมสังคมประชาธิปไตย” ซึ่งประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเป็นธรรม และกลุ่มภาคประชาสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พรรคเพื่อไทยได้ขจัดเศษเสี้ยวของความเป็นเสรีนิยมที่ยังพอหลงเหลืออยู่บ้างออกจากตัวตนอย่างสิ้นเชิง และไปสมาทานความเป็นอนุรักษ์อำนาจนิยมเชิงจารีตเข้ามาสวมใส่อย่างเต็มตัว
แม้แกนนำพรรคเพื่อไทยต้องการข้ามขั้วด้วยการดึง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เข้าร่วมรัฐบาล แต่ก็ตระหนักดีว่า การกระทำอย่างเปิดเผยและเป็นทางการจะสร้างความขุ่นเคืองอย่างมหาศาลแก่ผู้สนับสนุนพรรคตนเอง และแม้กระทั่ง สส.ของพรรคจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนั้น ในช่วงแรกจึงมีความพยายามไปชักชวน สส.ของพรรคทั้งสอง (รวมทั้ง สส. พรรคประชาธิปัตย์ด้วย) เป็นรายบุคคลหรือกลุ่มเพื่อให้มาสนับสนุน
พฤติกรรมแบบนี้ของพรรคเพื่อไทยจึงเท่ากับเป็นการรื้อฟื้นคืนชีพ “งูเห่า” ขึ้นมาอีกครั้ง “งูเห่า” ซึ่งครั้งหนึ่งพรรคเพื่อไทยเคยประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า “จะตีให้ด่าวดิ้นสิ้นกำลัง มอดม้วยชีวังปลดปลง” แต่ในครั้งนี้กลับ “โอบกอดฟูมฟักเลี้ยงดูงูเห่า” เสียเอง
แต่แผนการแอบเลี้ยงงูเห่าของพรรคเพื่อไทยล่วงรู้ถึงเจ้าของฟาร์ม จึงมีการพยายามสกัดกั้นไม่ให้ สส. ในพรรคตนเองแปลงสภาพเป็นงูเห่า แกนนำของพรรคทั้งสองจึงออกมาประกาศว่า ถ้าจะร่วมรัฐบาลต้องไปทั้งพรรค เมื่อต้องไปทั้งพรรค ปฏิบัติการสร้างความชอบธรรมก็จำเป็นจึงเพิ่มระดับความเข้มข้นมากขึ้น
วาทศิลป์สลายขั้วเป็นเสมือนสะพานที่พรรคเพื่อไทยสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมไปสู่การนำพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐเข้ามาร่วมรัฐบาล แต่พรรคเพื่อไทยคงประเมินว่ายังไม่เพียงพอในการสร้างความชอบธรรมที่จะนำมาอ้างกับประชาชน ดังนั้น จึงสร้างบทเพื่อเพิ่มน้ำหนัก ด้วยการไปขอโทษ ขอขมา และขอคะแนนเสียงจากพรรคก้าวไกลในการโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ฉากการเดินอบ่างอลังการของแกนนำพรรคเพื่อไทยที่นำโดยน.ส. แพทองธาร ชินวัตร จากที่ทำการพรรคเพื่อไทยไปสู่ที่ทำการพรรคก้าวไกลจึงเกิดขึ้น ฉากนี้เป็นเสมือนสปริงบอร์ดให้แก่พรรคเพื่อไทย ในการกระโดดข้ามขั้วไปหาพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐต่อไป
พรรคเพื่อไทยคงประเมินอยู่แล้วจากข้อมูลที่ปรากฏในสื่อมวลชนว่า อย่างไรเสียพรรคก้าวไกลคงไม่โหวตให้แก่พรรคตนเองแน่นอน แต่การได้รับคำตอบจากปากของพรรคก้าวไกลโดยตรงว่าจะไม่โหวตให้ แกนนำพรรคเพื่อไทยคงคิดว่า เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะนำไปอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการดึงพรรคพลังประชารัฐ และ/หรือพรรครวมไทยสร้างชาติร่วมรัฐบาลได้แล้ว
การผสมข้ามขั้วหรือการสลายขั้วแดง-เหลืองแบบเดิมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับกลุ่มอำนาจนิยมจารีต ซึ่งขัดแย้งกันมาอย่างยาวนานร่วมสองทศวรรษ ก็จบลงด้วยกลยุทธ์ “โอบหนู กอดงูเห่า และอยู่ใต้เงาอำนาจนิยมจารีต” ของพรรคเพื่อไทย ขณะที่ขั้วการเมืองแบบใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานของความแตกต่างในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองก็ปรากฎชัดเจนยิ่งขึ้น และจะกลายเป็นปมขัดแย้งหลักของสังคมไทยในช่วงทศวรรษถัดไป