ค่ำวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม หลังการประชุมครม.ของอิตาลี ได้มีมติจากครม.สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วยุโรป
หุ้นกลุ่มธนาคารในยุโรปมีการเทขายกันระเนนระนาด เพื่อตอบรับต่อมติสำคัญของอิตาลีในครั้งนี้ (เพราะอาจกำลังเป็นแนวโน้มไฟลามทุ่ง-จะเกิดขึ้นตามๆ กันในยุโรป)
นั่นคือ ครม.อิตาลีภายใต้การนำของนายกฯ หญิงคนแรกของอิตาลีนางจอร์เจีย เมโลนี ได้ประกาศจะคิดภาษีลาภลอยสูงถึง 40% จากกำไรมโหฬารของธนาคารอิตาลี ในช่วง 2021-23
นั่นคือ ช่วงเวลาที่เกิดการล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด ซึ่งมีการลดดอกเบี้ยมโหฬารช่วง 2019-21 (เพื่อลดภาระทางการเงินต่อธุรกิจ) พร้อมๆ กับนโยบายการคลังที่ช่วยพยุงรายได้ของภาคธุรกิจและของประชาชน
พอปี 2022 ก็ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาตลอด เพื่อปราบเงินเฟ้อ (ที่พุ่งสูงมากช่วง 2022) จนเป็นเลข 2 หลักในกลุ่มยูโรโซน
ปรากฏว่า เหล่าธนาคารในอิตาลี (รวมทั้งแทบทุกธนาคารในเขตยูโรโซน) ได้พร้อมใจกันผลักภาระของดอกเบี้ย (ที่ธนาคารกลางยูโรโซนได้ทยอยประกาศปรับสูงขึ้น เพื่อสยบเงินเฟ้อที่สูงลิ่ว) ไปยังเหล่าลูกหนี้ของธนาคาร และยังคาดการณ์กำไรที่จะสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นประวัติการณ์ (เพื่อเอาใจผู้ถือหุ้น)
แน่นอนว่า ลูกหนี้ธนาคารในยุโรปจะโดนหนักที่สุด น่าจะหนักหนากว่าที่สหรัฐฯ เพราะการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของอีซีบี (ธนาคารกลางของกลุ่มยูโรโซน) ถึง 9 ครั้งเพิ่มภาระให้กับประชาชนผู้จ่ายค่าผ่อนบ้าน, ใช้เครดิตการ์ดในการจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่อาหารจนถึงการเดินทาง, ค่าน้ำ, ค่าไฟ จิปาถะ รวมทั้งค่าซื้อขายรถยนต์แบบผ่อน รวมทั้งค่าเช่าที่ปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยด้วย (เวลาจะต่อสัญญาเช่ารายปีหรือปรับราคาเมื่อเจอผู้เช่ารายใหม่)
และภาระของภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก, กลาง, ใหญ่ ก็จะโดนดอกเบี้ยสูงขึ้นทั่วหน้า โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อาจกระทบถึงต้องลดขนาดกิจการหรือต้องปิดกิจการทีเดียว
สำหรับยุโรปจะหนักกว่าสหรัฐฯ เพราะสงครามยูเครนทำให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องทำตามแรงกดดันของสหรัฐฯ ให้คว่ำบาตรซื้อพลังงาน (ทั้งก๊าซเอ็นจีวี และน้ำมัน) ราคาถูกจากรัสเซีย ขนาดท่อส่งก๊าซ 2 ท่อยักษ์ยังถูกวางระเบิดให้รู้แล้วรู้รอดไปว่ายุโรปจะตัดขาดการใช้พลังงานราคาถูกจากรัสเซีย!!
มีการสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของชาวยุโรปหลังการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียมีปรากฏการณ์ อดมื้อกินมื้อ แบบที่อังกฤษทีเดียว (นี่อาจเป็นคำตอบว่า ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวแบบ Backpack มากันเยอะจากยุโรปเพื่อหนีความหนาวเย็นที่ต้องจ่ายค่าก๊าซทำความอบอุ่นในบ้าน รวมทั้งค่าอาหารที่แพงหูฉี่ มาใช้จ่ายค่าอาหารและที่พักที่ไทยซึ่งเหมือนสวรรค์ เมื่อเทียบกับการจับจ่ายใช้สอยที่ยุโรป) บางคนต้องปรับมากินอาหารวันละ 1 มื้อ และเป็นอาหารที่ขาดคุณภาพคือ เส้นสปาเกตตี้ราดซอส (มะเขือเทศ) เท่านั้น จะขาดสารอาหารอย่างรุนแรง เมื่อกินทุกๆ วันติดต่อกันเป็นเดือนๆ
นายกฯ หญิงเมโลนีแห่งอิตาลี จึงมองเห็นว่า จะต้องเอาเงินรัฐบาลไปช่วยประชาชนระดับรายได้น้อย รวมทั้งธุรกิจขนาดเล็กที่กำลังประสบปัญหาหนักอึ้ง
ภาษีลาภลอยนี้ คิดจากกำไรของธนาคารที่กำลังทำกำไรสูงมากในครึ่งปีแรกนั้น รวมทั้งในปีที่เพิ่งผ่านมา
จะเป็นการเก็บภาษีลาภลอยเพียงครั้งเดียว เพื่อนำเงินที่ได้ (คาดว่าจะเป็นเกือบ 5,000 ล้านยูโร) ไปช่วยสวัสดิการแก่กลุ่มรายได้น้อย และตั้งกองทุนช่วยธุรกิจขนาดเล็ก
อิตาลีไม่ใช่ประเทศเดียวในอียู ที่อาจหาญฟื้นภาษีจากกำไรมหาศาลของฝ่ายธนาคารที่อ้วนพีได้ประโยชน์จากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป
ปลายปีที่แล้ว (2022) ก็มีอีก 2 ประเทศได้นำร่องไปแล้วคือ สเปน (ภายใต้รัฐบาลพรรคสังคมใหม่) และที่ฮังการี (ที่ผู้นำเป็นมหามิตรของปูติน)
ขณะที่ร่างกฎหมายกำลังรอเข้าสภาฯ ผ่านเป็นกฎหมาย...ที่สเปนนั้นฝ่ายธนาคารแข็งขืนฮึดสู้กับครม. โดยฟ้องศาลเพื่อไม่ยอมจ่ายภาษีลาภลอย
ก่อนนั้นเกือบ 10 ประเทศในสหภาพยุโรปก็ได้เก็บภาษีลาภลอยจากบริษัทน้ำมันยักษ์ ที่กำไรมหาศาลทำลายสถิติจากราคาน้ำมันที่พุ่งทะยาน หลังสงครามยูเครนระเบิดขึ้นทำให้ได้กำไรเหนาะๆ โดยไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น กับน้ำมันที่อยู่ในถังยักษ์ของบริษัท
ตอนนี้ ก็ยังมีบางบริษัทน้ำมันยักษ์ที่กำลังฟ้องร้องกับรัฐบาล (ที่อังกฤษ) จะไม่ยอมจ่ายภาษีลาภลอยนี้ (ต้องจ่ายไปก่อน แต่พยายามจะขอคืนถ้าชนะคดี)
อิตาลีก็เป็น 1 ใน 10 ประเทศ (รวมทั้งสเปน, กรีซ, โปรตุเกส ฯลฯ) ที่ได้เรียกเก็บภาษีลาภลอยจากบริษัทน้ำมันของตนเอง ในยุคที่ราคาน้ำมันพุ่ง เนื่องจากสงครามยูเครน
เงินจากภาษีลาภลอยกำไรจากน้ำมันก็นำมาช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันไม่ให้ต้องจ่ายราคาสูง รวมทั้งค่าไฟฟ้า, น้ำประปาที่มีต้นทุนสูงจากราคาน้ำมันนั่นเอง
สูตรกำไรมหาศาล (ทำลายสถิติ all time high) ของบริษัทน้ำมันและธนาคาร เป็นสูตรที่ประเทศไทยไม่ได้ใช้…เพื่อสร้างนักธุรกิจระดับแสนล้านติดใน Forbes List ให้เป็นมหาเศรษฐกิจระดับโลก บนน้ำตาของประชาชน
หมายเหตุ : หลังหุ้นธนาคารดิ่งทั่วยุโรปเกือบ 10% ครม.อิตาลีออกมาขยายความในคืนวันอังคารที่ 8 สิงหาคม โดยใส่เพดานภาษีลาภลอยนี้ไม่ให้เกิน 0.1% ของสินทรัพย์ธนาคาร