ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีโกดังเก็บพลุดอกไม้ไฟระเบิด ในพื้นที่ตลาดมูโนะ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา แรงระเบิดทำให้พื้นที่ชุมชุมโดยรอบกว่า 500 เมตร เสียหายอย่างหนัก ทั้งบ้านเรือนร้านค้าประชาชนกว่า 200 หลัง มีผู้บาดเจ็บกว่า 100 คน และมีผู้เสียชีวิต 12 คน นับเป็นโศกนาฎกกรรมที่นอกจากจะสร้างความสะเทือนใจให้กับคนทั้งประเทศแล้ว ยังสะท้อนความเน่าเฟะของตำรวจเรียกรับส่วย ตลอดจนความหล่ะหลวมของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
สำหรับประเด็นที่แรกต้องตั้งคำถามคือ โรงงานพลุดอกไม้ไฟตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนได้อย่างไร เพราะเป็นตรรกะขั้นพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนว่า หากเกิดอุบัติไม่คาดคิดจะส่งผลกระทบต่อชุมชนในวงกว้างเพียงไร จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมากน้อยแค่ไหน
ที่สำคัญและร้ายไปกว่านั้นก็คือ โกดังพลุแห่งนี้เคยเกิดเหตุระเบิดมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ 6 - 7 ปีก่อน โดยทางชุมชนได้เปล่งเสียงร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐถึงความไม่ปลอดภัย กรณีการตั้งโกดังเก็บวัตถุไวไฟกลางชุมชน แต่ที่ผ่านมาภาครัฐกลับนิ่งเฉยไม่มีการเข้ามาจัดการใดๆ ราวกับเสียงของชาวบ้านไม่ดังพอไปถึงผู้มีอำนาจ กระทั่งเกิดเหตุภาคส่วนต่างๆ ถึงลงมาแก้ปัญหาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ หลังเกิดอุบัติเหตุโกดังพลุระเบิดในมูโนะ เฟซบุ๊กเพจ Golok Spotlight โพสต์แฉตัวละครหลัก “จ่าฟาโร” ในการเก็บ “ส่วยมูโนะ” ซึ่งตลาดมูโนะนับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญชายแดนใต้ มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหลากหลาย ทั้งที่สินค้าถูกกฎหมาย และสินค้าผิดกฎหมาย จึงเป็นพื้นเรียกรับผลประโยชน์ มีการเรียกเก็บส่วยจากสินค้าแทบทุกชนิด มิหนำซ้ำยังหลายหน่วยงานที่เข้ามาเรียกเก็บส่วย
-1-
โศกนาฏกรรมโกดังพลุระเบิดเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ในอดีตที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุโรงงานพลุระเบิดสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรณีล่าสุดอุบัติภัยจากสารเคมีกรณีโกดังเก็บพลุระเบิดในพื้นที่ตลาดมูโนะ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งสาเหตุระเบิดเกิดจากการต่อเติมโกดัง การเชื่อมเหล็กทำให้มีประกายไฟกระเด็นใส่พลุดอกไม้เพลิงที่ตั้งกองสุมไว้กองใหญ่ภายในโกดังจนระเบิดขึ้น ทำให้คนงานเสียชีวิตทันที 5 คน
อุบัติเหตุดังกล่าวสร้างความสูญเสียอย่างหนัก แรงระเบิดกระทบพื้นที่ชุมชุมโดยรอบกว่า 500 เมตร ส่งผลให้บ้านเรือนร้านค้าประชาชนเสียหายอย่างหนักกว่า 200 หลัง มีผู้บาดเจ็บกว่า 100 คน ซึ่งพบว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 12 คน
รายงานจากเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบวัตถุระเบิดว่าจากการประเมินหลุมระเบิดใหญ่ 2 หลุม รวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น พบส่วนผสมดินดำหรือดินเทาของดอกไม้เพลิงที่เก็บไว้ในโกดังมีปริมาณมาก 2 ถึง 3 คันรถสิบล้อ คาดว่าจะมีน้ำหนักมากถึง 5 ตัน หรือ 5,000 กก. มีรัศมีในการทำลายล้างไกลถึง 2 กิโลเมตร
สถานที่เกิดเหตุเป็นที่ตั้งโกดังเก็บพลุและดอกไม้เพลิง ขออนุญาตมีการจดทะเบียนชื่อ “ร้านวิรวัฒน์พาณิชย์” โดยมี น.ส.ปิยะนุช พึ่งวิรวัฒน์ และ นายสมปอง ณะกุล คู่สามีภรรยาเป็นเจ้าของ ขอจำหน่ายสินค้าทางด้านการเกษตร อย่างไรก็ตาม ในส่วนความคืบหน้าทางคดีมีการออกหมายจับเจ้าของโกดัง 2 สามีภรรยา ซึ่งขณะเกิดเหตุเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศมาเลเซีย
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างตรวจสอบว่ามีการลักลอบเก็บดอกไม้เพลิงและประทัดยักษ์ต่างๆ ในโกดังแห่งนี้หรือไม่ ขณะเดียวกันมีการตรวจค้นตึกและบ้านของเจ้าของโกดังที่ตั้งอยู่ใกล้เคยเคียง พบพลุและดอกไม้ไฟอีกกว่า 1 ตัน ทั้งหมดอยู่หากจากจุดระเบิดเพียง 150 เมตร โดยข้อมูลเบื้องต้นเผยว่าจะมีการขนเข้ามาเก็บไว้เพื่อเตรียมส่งออกประเทศมาเลเซีย
รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าอุบัติเหตุครั้งนี้ คือบทเรียนของหน่วยงานที่ต้องเข้มงวดตรวจสอบให้รัดกุมให้มากขึ้นเพื่อลดความสูญเสีย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช้ครั้งแรก เพราะเคยเกิดมาแล้วทั้งที่ลำพูน เชียงใหม่ และจังหวัดทางภาคตะวันออก หลักๆ คือ พลุหรือดอกไม้ไฟมีความซับซ้อนกว่าประทัดเล็กน้อย เพราะพวกมันถูกอัดด้วยดินปืน ซึ่งก็คือ ดินประสิว (โพแทสเซียมไนเตรต, KNO3) ผสมกับกำมะถัน และยังมีส่วนประกอบเพิ่มเติมอื่นๆ ด้วย และส่วนประกอบเหล่านี้เองที่ทำให้พลุมีประกายไฟที่มีสีสันแตกต่างออกไปจากประทัด ซึ่งพวกนี้จะอันตรายมาก โดยเฉพาะโพแทสเซียมไนเตรต, KNO3 จะเป็นส่วนผสมของวัถุระเบิดด้วย
เหตุการณ์พลุดอกไม้ไฟระเบิดเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายจังหวัด เช่น ที่เพิ่งเคยเกิดที่ จ. เชียงใหม่ และมาเกิดอีกที่ จ. นราธิวาส ในประเด็นนี้ นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย เสนอแนะว่าสิ่งที่รัฐต้องเร่งดำเนินการคือการสำรวจการตั้งโรงงานพลุดอกไม้ไฟอย่างละเอียด เพื่อการตรวจสอบว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ต้องรีบย้ายออก
หนึ่งบทเรียนกรณีโกดังพลุมูโนะระเบิดในครั้งนี้ ต้องเสริมความรู้ต่อการปฎิบัติตัวในชุมชนหากมีโรงงานประเภทนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ หร้อมเสนอว่าต้องทำประชาพิจารณ์สอบถามชุมชนก่อนมีการจัดตั้งโรงงานในอนาคต เพราะโรงงานประเภทนี้มีความอันตรายสูง ประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร ควรรับรู้ถึงความเสี่ยง เป็นต้น
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 กำหนดให้ “พลุ” “ดอกไม้ไฟ” หรือ “ดอกไม้เพลิง” เป็นวัตถุอันตรายโดยจัดเป็นวัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีดินปืนเป็นส่วนประกอบหลัก สถานประกอบการหรือโรงงานผลิตจึงต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชม และได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยทุกขั้นตอน ที่สำคัญไม่อนุญาตให้ดัดแปลงที่พักอาศัยเป็นโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟ
ขณะที่ประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์การควบคุมและการกำกับ ดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิงพ.ศ. 2547 ซึ่งในส่วนของการผลิตมีข้อบังคับคือ กำหนดลักษณะของอาคาร สถานที่หรือบริเวณที่ผลิตดอกไม้ไฟต้องไม่ตั้งอยู่ในชุมชน กำหนดระยะห่างจากอาคารอื่นๆ และห่างจากแนวรั้วอย่างน้อย 20 เมตรโดยรอบ ต้องเป็นอาคารเอกเทศชั้นเดียว ต้องติดสายล่อฟ้าที่มีประสิทธิภาพ อาคารต้องสร้างด้วยวัสดุไม่ติดไฟ มั่นคง แข็งแรง ป้องกันไฟจากภายนอกลุกลามเข้าภายในได้ พื้นต้องเป็นวัสดุที่ไม่ก่อประกายไฟ ราบเรียบ ไม่ลื่น ไม่แตก ทำความสะอาดง่าย ไม่ดูดซับของเหลวหรือสารเคมี ต้องถ่ายเทอากาศได้ดีและกำหนด
“ห้ามทำการใดๆ หรือกิจการใดๆที่อาจทำให้เกิดประกายไฟหรือความร้อน เช่น การปรุงอาหาร การจุดธูปเทียน การเจาะ การเชื่อมและประสานโลหะหรือสิ่งอื่นใด เป็นต้น หากดำนินการดังกล่าวต้องอยู่ห่างจากอาคารหรือสถานที่ใช้ผลิตดอกไม้อย่างน้อย 15 เมตร”
-2-
สำหรับตลาดมูโนะที่ตั้งโกดังพลุมรณะ ถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญชายแดนใต้ มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหลากหลาย โดยมีรายงานว่า มีการค้าทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย หรือกล่าวได้ว่า เป็นพื้นเรียกรับผลประโยชน์ มีการเรียกเก็บส่วยจากสินค้าแทบทุกชนิด มิหนำซ้ำยังหลายหน่วยงานที่เข้ามาเรียกเก็บส่วยอีกต่างหาก
ทั้งนี้ ได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการในตลาดมูโนะ เปิดเผยผ่านสื่อว่าที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่เข้ามาเรียกรับผลประโยชน์หรือเก็บส่วยหลายหน่วยงาน โดยจะเรียกเก็บเงินจากผู้ประกอบการที่ลักลอบขายสินค้าหนีภาษี หรือขายสินค้าผิดกฎหมาย ในจำนวนนี้รวมถึงพลุ ประทัดและดอกไม้ไฟ เพื่อแลกกับการไม่ถูกจับดำเนินคดี
อ้างอิงข้อมูลสำนักข่าวอิศรา ระบุเรทการเรียกเก็บค่าขนส่งสินค้าข้ามไปประเทศมาเลเชียว่า มี 2 แบบด้วยกันคือ “ส่วยพื้นฐาน” มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 30,000-50,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะขนส่งได้จำกัดจำนวนเที่ยว และต้องมีสินค้าอื่นปะปนมาด้วยเพื่อไม่ให้มีพิรุธ และ “ส่วยพิเศษ” จ่ายกันอยู่ที่ 100,000 บาทต่อเดือน ส่วนแบบนี้ขนส่งได้ไม่จำกัดเที่ยวไม่จำกัดเวลาไม่จำกัดประเภทสินค้า
หนึ่งในสินค้าที่สร้างรายได้ในพื้นที่มูโนะคือ พลุ ประทัดและดอกไม้ไฟ เนื่องจากเป็นที่นิยมในประเทศมาเลเซีย แต่ทางมาเลเซียไม่อนุญาตให้นำเข้าโดยตรงจึงจำเป็นต้องผ่านประเทศไทย โดยเส้นทางของสินค้าประเภท พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ตามข้อมูลของตำรวจภูธรภาค 9 ระบุว่าส่วนใหญ่จะมาจากประเทศจีน เข้ามาทางภาคเหนือ และภาคกลางของไทย แล้วนำมาพักอยู่ที่ศูนย์กลางคือ อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา ก่อนจะส่งออกไปประเทศมาเลเซีย
สำหรับพื้นที่มูโนะจะขนส่งพลุดอกไม้ไฟไปมาเลเซียจะใช้วิธีส่งข้ามแม่น้ำโก-ลก ซึ่งท่าข้ามอยู่ไม่ไกลจากโกดังที่ระเบิด ซึ่งก็จะมีการเรียกเก็บค่าขนส่งในส่วนนี้อัตราที่ต้องจ่ายกล่องละ 5-10 บาทแล้วแต่ขนาด หรือขนส่งเยอะเหมาจ่ายเป็นวัน วันละ 1,000 บาท
เฟซบุ๊กเพจ Golok Spotlight โพสต์แฉตัวละครหลักในการเก็บ “ส่วยมูโนะ” คือ “จ่าฟาโร” ซึ่งเป็นชุดข้อมูลสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ระบุว่า “จ่าฟาโร คือมือเก็บส่วยในพื้นที่มูโนะ ทำหน้าที่ตะเวนเก็บส่วยกลุ่มธุรกิจสีเทาในพื้นที่ ทั้งน้ำมันเถื่อน ของหนีภาษี ยาเสพติด และของผิดกฎหมาย
จากข้อมูลที่ได้มาโกดังที่เกิดเหตุคือ “ร้านวิรวัฒน์พาณิชย์” ต้องจ่ายส่วยให้ตำรวจ เดือนละ 50,000 บาทแน่นอนว่า “จ่าฟาโร” จะทำหน้าที่เก็บส่วยเป็นค่าดูแล แล้วส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชา
สำหรับพื้นที่นราธิวาส ถือเป็นพื้นที่ความมั่นคง สินค้าประเภทพลุ ดอกไม้ไฟ ถือเป็นสินค้าควบคุมที่ต้องขออนุญาตนำเข้า เคลื่อนย้ายหรือจัดเก็บ โดยขั้นตอนแรกต้องผ่านการขออนุญาตจาก 5 หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล คือกระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนจะมาถึงการดูแลของตำรวจในพื้นที่ เป็นขั้นตอนสุดท้าย
การเก็บส่วยไม่ได้มีแต่ส่วนของตำรวจท้องที่เท่านั้น ยังต้องจ่ายส่วยในส่วนของ ตำรวจตระเวนชายแดน ด้วย เพราะผู้ประกอบการจะต้องนำเข้าพลุมาจากเมืองจีน และขนย้ายส่งไปขายยังประเทศมาเลเซีย ปีละ 2 ครั้ง คือช่วงวันชาติมาเลเซีย และวันฮารีรายอ เพื่อเป็นค่าดูแลหรือค่าผ่านทางซึ่งจะลักลอบขนส่งผ่านทางเรือ
ทั้งนี้ นอกจากโกดังเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ในตลาดมูโนะ ยังมีอีกอย่างน้อย 6 แห่งใน 3 อำเภอริมชายแดนไทย-มาเลย์ เฉพาะริมแม่น้ำโก-ลก คือ โกดังใน ต.บูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส 1 แห่ง โกดังใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อย่างน้อย 4 แห่ง (ไม่รวมที่ ต.มูโนะ) และโกดังใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 1 แห่ง ซึ่งทั้ง 3 อำเภอนี้ เป็นเขตติดต่อกันอยู่ติดชายแดนไทย-มาเลเซีย
ทั้งนี้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและมอบหมายให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ทำหน้าที่ตรวจสอบ 5 หน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลเรื่องพลุ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงตำรวจในพื้นที่
พร้อมกำชับให้เร่งทำความจริงให้ปรากฎ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ เรียกรับผลประโยชน์ รู้เห็นเป็นใจ ปล่อยปละละเลย ให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง ให้ดำเนินการเด็ดขาดทั้งอาญา วินัย และปกครอง
จากอุบัติเหตุใหญ่ที่เกิดขึ้น จะมีการตรวจสอบทุกหน่วยงานที่กำกับดูแลรับผิดชอบได้ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของตนหรือไม่ หรือละเลยหน้าที่หรือไม่
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ขณะเดินทางลงพื้นที่ตลาดมูโนะ จ.นราธิวาส ความว่าจุดที่ตั้งโกดังพลุดอกไม้ไฟดูจากสายตาเป็นแหล่งชุมชนทั้งหมดมันไม่สามารถตั้งได้ดังนั้น ต้องไล่ตรวจสอบดูกันตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นธรรม และให้สังคมเกิดความเชื่อมั่น พล.ต.ต.อนุรุธ อิ่มอาบ ผบก.ภ.จว.นราธิวาส ได้มี “คำสั่งย้ายข้าราชการตำรวจ” สภ.มูโนะ จำนวน 4 รายประกอบด้วย ผกก., รอง ผกก.ป , สว.ป.และ สว.สส. ส่วนอีก 1 ตำแหน่ง รอง ผกก.สส.ได้เสียชีวิตไปแล้ว เป็นตำแหน่งว่าง โดยให้มาช่วยราชการที่ ศปก.ภ.จว.นราธิวาส
เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 4 รายคือ พ.ต.อ.สุธาเวชช์ ธารีไทย ผกก.สภ.มูโนะ, พ.ต.ท.อาลี วาเด็ง รอง ผกก.ป., พ.ต.ท.จรัญ อินทรา สว.สส. และ พ.ต.ต.นเชษฐ์ มณีโรจน์ สวป. ไปช่วยราชการที่ ศปก.ภ.จว.นราธิวาส ต่อมาได้มีคำสั่งย้าย จ.ส.ต.มาหามัดฟาโร ตันยีนายู ผบ.หมู่ งานจราจร สภ.มูโนะ เพิ่มเติมอีก 1 นาย ไปช่วยราชการที่ ศปก.ภ.จว.นราธิวาส
อย่างไรก็ตาม **พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค** แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่าก่อนช่วงเดือนรอมฎอนสั่งการไปแล้วครั้งหนึ่งว่าร้านค้าที่ขายพลุประทัดและดอกไม้เพลิงต่างๆในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา ขอให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบในทุกพื้นที่ แต่อาจมีหลงเหลือหรือแอบลักลอบกันอยู่บ้าง
ในส่วนของ จ.นราธิวาสจากการตรวจสอบพบว่ามีทั้งหมด 52 แห่ง มีการตรวจสอบว่าดำเนินการตามระเบียบการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ รวมถึงให้นำไปเป็นกรณีศึกษาตรวจสอบทุกจังหวัดทุกโกดังร้านค้าว่าถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งการครอบครองเคลื่อนย้ายหรือการจำหน่าย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยอีก
บทสรุปอุบัติเหตุโกดังพลุระเบิดในพื้นที่ตลาดมูโนะ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส นับเป็นบทเรียนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องถอดบทเรียนร่วมกัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาเกิดขึ้นซ้ำรอย หรืออย่างน้อยๆ เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุพลุระเบิดให้สร้างผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะการจัดการปัญหาเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณี “ส่วยมูโนะ” ซึ่งนับเป็นสารตั้งต้นปะทุเหตุระเบิดโกดังพลุมรณะในครั้งนี้