xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ผ่าปม “ณพ” แพ้คดีโกงค่าหุ้น “WEH” ไม่ใช่แค่ต้องชดใช้ “นพพร” 3 หมื่นล้าน แต่สะท้านศึกสายเลือด “ณรงค์เดช”?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มหากาพย์โกงค่าซื้อขายหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ซึ่งนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ฟ้องร้องนายณพ ณรงค์เดช และพวก จบศึกยกแรกเมื่อศาลอังกฤษตัดสินให้นายนพพรชนะคดี ผลสะเทือนจากคดีนี้ยังมีอีกหลายยกเพราะยังไม่แน่ว่าจะบังคับคดีในไทยได้หรือไม่ ไม่นับศึกสายเลือดตระกูลณรงค์เดช ที่ฟ้องร้องกันอีรุงตุงนังจากผลพวงอันเนื่องมาจากการซื้อหุ้นดังกล่าว โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการปลอมแปลงเอกสารและอื่นๆ 

สำนักข่าวบีบีซีรายงานเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ว่าศาลอังกฤษตัดสินเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ให้ “นายณพ ณรงค์เดช” และพวกรวม 14 คน จ่ายค่าเสียหายรวมราว 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท แก่นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีต CEO ของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) หลังจากนายนพ และพวก ถูกนายนพพรฟ้องในข้อหาสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จำเลยที่ 10 และนายอาทิตย์ นันทวิทยา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ SCB จำเลยที่ 11 รวมทั้งนางคาดีจา บิลาล ซิดดีกี จำเลยที่ 5 รอด

ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคนสำคัญในคดีนี้ ได้แก่ นายณพ ณรงค์เดช ลูกชายคนกลางของ นายเกษม ณรงค์เดช เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนนายเกษม ผู้เป็นบิดา ตกเป็นจำเลยที่ 14 และจำเลยที่ 15 คือ คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา แม่ภรรยาของนายณพ และภรรยาของ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจผู้ล่วงลับ นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ กรรมการของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของ SCB และเจ้าของสำนักงานกฎหมายชั้นนำของประเทศ Weerawong, Chinnavat & Partners (WCP) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของนายณพ เป็นจำเลยที่ 13 และนายประเดช กิตติอิสรานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการของ WEH เป็นจำเลยที่ 16

นีล แคลเวอร์ (Neil Calver) ผู้พิพากษาแห่งศาลพาณิชย์ (Commercial Court) ของอังกฤษ อ่านคำตัดสินของศาลว่านายณพและพวก (ยกเว้น จำเลยที่ 5, 10, และ 11) ร่วมกันกระทำละเมิดโดยมิชอบและต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา 432 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย และสั่งให้ชดใช้ความเสียหายรวมกันทั้งเงินค้างชำระและดอกเบี้ยรวมกันเป็นมูลค่าราว 900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากที่นายนพพรฟ้องเรียกไป 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เรื่องนี้นายนพพรเคยเปิดเผยว่า ตั้งแต่ตกลงซื้อขายหุ้นกัน นายณพยังชำระค่าหุ้นไม่ครบตามสัญญา จากมูลค่าหุ้น 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 2.1 หมื่นล้านบาทในขณะนั้น ที่ผ่านมานายณพได้ชำระเงินเพียง 2 งวด รวมเป็นเงิน 175.51 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับว่านายณพยังค้างชำระรวมดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่นๆ กระทั่งทำให้นายนพพรต้องยื่นฟ้องนายณพให้ชดใช้

 ในตอนหนึ่งของคำตัดสินความยาว 419 หน้า ผู้พิพากษาแคลเวอร์ ระบุว่า ไม่เชื่อในสิ่งที่นายณพ จำเลยที่ 1 ให้การที่ศาลในกรุงลอนดอนระหว่างวันที่ 21-24 พฤศจิกายน 2565 ว่า “มีความหวังและตั้งใจทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับนายนพพร ในการชำระหนี้ “เขาอ้างว่าเขาหวังว่ามรดกที่วาดหวังว่าจะได้รับ และอีกแหล่งรายได้จะเพียงพอ ศาลไม่ถือว่าสิ่งนี้เป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้” 

 นพพร ศุภพิพัฒน์

 ณพ ณรงค์เดช
คำตัดสินดังกล่าวเป็นความคืบหน้าสำคัญในข้อพิพาททางธุรกิจที่กินเวลา 9 ปี นับจากที่นายนพพร นักธุรกิจหนุ่มดาวรุ่ง เศรษฐีด้านโรงไฟฟ้าพลังงานลม หนีออกนอกประเทศหลังตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในช่วงปลายปี 2557 แล้วหาตัวแทนอำพราง (nominee) มาถือหุ้นในบริษัทที่เขาร่วมก่อตั้ง จนนำมาสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากนายณพ ณรงค์เดช ผู้ซื้อหุ้น, ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ปล่อยกู้ให้นายณพ และการฟ้องร้องระหว่างครอบครัวณรงค์เดชกับนายณพ ในเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และเรื่องอื่นๆ

ข้อพิพาทนี้ทำให้ WEH ต้องเลื่อนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ไปจนกว่าคดีความจะสิ้นสุด โดยนายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ CEO คนปัจจุบันของ WEH ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอินโฟเควสท์ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 คาดว่าคดีความทั้งหมดจะคลี่คลายได้ภายในปลายปี 2566 และทำ IPO ได้ภายในปี 2567-2568

 “วินด์ฯ” ยันไม่กระทบการทำธุรกิจ
“จำเลย” พร้อมพิสูจน์ความจริงในศาลไทย 

 นายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ 
 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ให้ความเห็นว่า กรณีการฟ้องร้องนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งไม่ว่าผลการตัดสินจะออกเป็นเช่นไรเป็นเรื่องของตัวบุคคลที่มีข้อพิพาทเรื่องการชำระค่าซื้อขายหุ้น คำตัดสินคดีหุ้นวินด์ฯ ของศาลอังกฤษข้างต้น ไม่มีความเกี่ยวข้องและไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันของวินด์ฯ ซึ่งเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ โดยผลประกอบการของบริษัทฯ ในครึ่งปีแรก 2566 มีรายได้ 5,806 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,866 ล้านบาท จากการดำเนินงานโรงไฟฟ้าทั้ง 717 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังได้โปรเจกต์ใหม่จากหน่วยงานรัฐฯ อีก 2 โครงการ มีกำลังการผลิตรวมราว 170 เมกะวัตต์ นับเป็นสัญญาณการเติบโตของธุรกิจที่ดียิ่ง

อย่างไรก็ดี ภายหลังข่าวคราวการตัดสินคดีของศาลอังกฤษเผยแพร่ออกไป  นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ  จำเลยลำดับที่ 13 ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหลายแห่ง เช่น บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC, บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS และ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIG C อยู่ระหว่างการยื่นลาออกจากกรรมการบริษัทหลายแห่ง

 นายวีระวงค์ เป็นทนายความผู้ก่อตั้ง บริษัท วีระวงค์ ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส จำกัด หรือ WCP ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในนักกฎหมายที่มีประสบการณ์มากที่สุดในประเทศไทยในด้านการธนาคารและการเงิน ตลาดทุน การกำกับดูแลกิจการ การควบรวมและซื้อกิจการ การปรับโครงสร้างและการล้มละลาย และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสำหรับการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในประเทศไทย และเป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภาแห่งรัฐนิวยอร์ก หรือ Member of New York State Bar Association 


 คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา

 ประเดช กิตติอิสรานนท์

 วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ
ทางด้าน นายประเดช กิตติอิสรานนท์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA และบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (มหาชน) หรือ WEH ชี้แจงข้อเท็จจริงในการเข้าไปลงทุนในหุ้น WEH หลังจากตกเป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกศาลอังกฤษตัดสินให้เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดคดีลวงให้เจ้าของเดิม WEH ขายหุ้นให้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2560 นายณพ ณรงค์เดช และนายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ ได้ขอให้ช่วยซื้อหุ้น WEH จาก บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด (GML) ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใน WEH เพราะนายณพ ต้องการนำเงินไปจ่ายค่าซื้อหุ้น WEH ให้นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ไม่เช่นนั้นธนาคารไทยพาณิชย์จะไม่ปล่อยสินเชื่อเงินกู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม 5 โครงการ (T5) ให้แก่ WEH รวมถึงโครงการพลังงานลมวะตะแบก ก็จะไม่สามารถเบิกเงินกู้จาก SCB มาใช้ในการก่อสร้างต่อไปได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายเป็นอย่างมากให้กับ WEH
สำหรับราคาหุ้น WEH ที่นายณพ ณรงค์เดช เสนอขายรวมเป็นเงินทั้งหมด 5.9 พันล้านบาท ในราคาหุ้นละ 410 บาท โดยมีข้อตกลงให้ชำระเงินจำนวนครึ่งหนึ่งในวันโอนหุ้น ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งให้ชำระเมื่อ WEH ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ได้ ตนเองและนักลงทุนอีก 32 คน จึงรวมเงินกันมาซื้อหุ้น WEH และจ่ายเงินตามที่ตกลงไว้ครบถ้วน

นายประเดชกล่าวว่า การตัดสินใจซื้อหุ้น WEH ในตอนนั้นไม่เคยรู้มาก่อนว่านายณพซื้อหุ้นมาในราคาเท่าไหร่ แต่มารู้ในภายหลังว่านายณพซื้อหุ้นจากนายนพพรในราคาหุ้นละประมาณ 370 บาทต่อหุ้น ดังนั้น หุ้น WEH ที่ตนเองและกลุ่มนักลงทุนซื้อมาจึงมีราคาที่สูงกว่าหุ้นที่นายณพได้ซื้อมาจากนายนพพร

เขายังระบุว่า กรณีที่ศาลอังกฤษ มีคำพิพากษาใดก็ตามไม่มีผลผูกพันกับศาลไทยที่จะต้องปฏิบัติตามศาลอังกฤษที่มีคำพิพากษาไว้ หากจะให้มีผลผูกพันตามกฎหมายไทย ต้องยื่นฟ้องกันใหม่ในประเทศไทยเท่านั้น และพร้อมจะพิสูจน์ความจริงที่ศาลไทย

ขณะที่  “นายวิษณุ เทพเจริญ”  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า “บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ขอเรียนให้ทราบว่าบริษัทฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นใน WEH ในสัดส่วนร้อยละ 7.12 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ WEH ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ต่อคำตัดสินดังกล่าว เนื่องจากเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นฝ่ายหนึ่งกับผู้ถือหุ้นอีกฝ่ายหนึ่งของ WEH โดยบริษัทฯ ได้รับการยืนยันจากผู้บริหารของ WEH ว่าข้อพิพาทดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับตัวบริษัท WEH อีกทั้งหุ้นที่บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อจำนวนร้อยละ 7.12 ไม่ได้อยู่ในข้อพิพาทดังกล่าวแต่อย่างใด”

ด้าน “นายอนุรักษ์ นิยมเวช” กรรมการผู้จัดการบริษัท กฎหมายธุรกิจอนุรักษ์ จำกัด ให้ความเห็นว่า การบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมีแนวปฏิบัติในทางสากลว่า ประเทศหนึ่งอาจยอมรับและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศโดยหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติตอบแทนระหว่างกัน หรือโดยความตกลงระหว่างประเทศ เช่น ความตกลงระหว่างประเทศอังกฤษกับกลุ่มประเทศในอาณานิคมของอังกฤษ

สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีความตกลงระหว่างประเทศเช่นว่า และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการยอมรับและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศแต่อย่างใด ดังนั้น ปัจจุบันอาจถือเป็นหลักทั่วไปได้ว่า ศาลไทยจะไม่ยอมรับและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม คู่ความตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศอาจนำมูลหนี้เดิมตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศที่ตนชนะคดีมาฟ้องเป็นคดีแพ่งใหม่ในประเทศไทยได้ โดยอาศัยคำพิพากษาศาลต่างประเทศมานำสืบต่อศาลไทยในฐานะพยานหลักฐานหรือหลักฐานแห่งหนี้ที่น่าเชื่อถืออย่างหนึ่งในคดีก็ได้

 ย้อนรอยปมฟ้องร้องคดีหุ้นวินด์ฯ 

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2552-2557 นายนพพร ถือหุ้น WEH เป็นจำนวน 59.46% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ผ่านบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น จํากัด (REC) โดยบริษัท REC มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด, บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด และบริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส จํากัด ซึ่งทั้ง 3 บริษัท เป็นบริษัทของนายนพพร ซึ่งถือหุ้น REC รวม 97.94% ของทั้งหมด

ปลายปี 2557 นายนพพรถูกกล่าวหาด้วยคดีอาญาหลายคดี รวมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมีการกดดันจาก SCB และกรรมการของ WEH ให้นายนพพรขายหุ้น WEH เพื่อรับการสนับสนุนทางการเงินจาก SCB สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้า

ต่อมาในปี 2558 นายณพ ได้เข้าซื้อหุ้นจากนายนพพร โดยนายณพได้จัดตั้ง 2 บริษัทขึ้นมาทำสัญญาซื้อหุ้นจากกลุ่มบริษัทของนายนพพร คือ บริษัท ฟูลเลอร์ตัน เบย์ อิน เวสต์เมนต์ ลิมิเต็ด ซึ่งนายณพ มีชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์เพียงผู้เดียว และบริษัท เคพีเอ็นเอนเนอยี โฮลดิ้ง จํากัด (KPNEH) ซึ่งนายณพถือหุ้น 40%, บริษัทฟูลเลอร์ตัน ถือ 20% โดยหุ้นส่วนที่เหลือมี นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ และ นายธันว์ เหรียญสุวรรณ อดีตผู้บริหารและกรรมการของบริษัท WEH ถือคนละ 20%


การทำสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท REC ของนายนพพร ซึ่งเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ใน WEH ให้นายณพ แบ่งเป็นสัญญา 2 ฉบับ ได้แก่ สัญญาซื้อขายหุ้น REC ที่บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด ขายหุ้น 49% ของจํานวนหุ้นทั้งหมด ให้กับบริษัท ฟูลเลอร์ตัน ของนายณพ

ต่อมา นายนพพรได้ยื่นฟ้อง SCB ผู้บริหาร SCB และผู้บริหารและกรรมการของ WEH รวม 17 ราย เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะไม่ได้รับการชำระเงินส่วนที่เหลือจากนายณพ และหุ้นที่ได้ขายไปนั้น ได้มีการโอนไปให้ผู้อื่น จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลอังกฤษ กระทั่งนำมาซึ่งคำตัดสินของศาลดังกล่าวข้างต้น

 ศึกสายเลือด “ณรงค์เดช” ยังไม่จบ

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากประเด็นเรื่องแพ้ชนะคดีระหว่าง “นพพร และ ณพ” ผู้ขายและผู้ซื้อหุ้นวินด์เอนเนอร์ยี่แล้ว มหากาพย์นี้ยังมีเรื่องของศึกภายในตระกูลณรงค์เดช ที่ “ณพ” และ แม่ยาย “คุณหญิงกอแก้ว” ถูกกล่าวหาปลอมลายเซ็น “ดร.เกษม” พ่วงรวมอยู่ด้วย โดยความขัดแย้งภายในครอบครัวเกิดขึ้นเมื่อครอบครัวณรงค์เดช และบริษัทต่างๆ ในเครือถูกนายนพพรฟ้องร้องในข้อหาโกงเจ้าหนี้ในช่วงต้นปี 2561 ทำให้ครอบครัวเพิ่งรับรู้เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการซื้อหุ้น WEH มาจากนายนพพร และนายเกษมเพิ่งรู้ว่านายณพได้โอนหุ้น WEH เป็นทอดๆ มาถึงบริษัท โกลเด้น มิวสิค จํากัด (GML) ซึ่งจดทะเบียนในฮ่องกง ตอนที่ได้รับหนังสือจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายว่าถูกฟ้องร้อง

ครอบครัวณรงค์เดช กล่าวหาว่านายณพใช้เอกสารที่มาจากการ “ปลอมลายมือชื่อ” ของนายเกษม เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในบริษัท GML ให้ คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา แม่ภรรยาของนายณพ มาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ GML แทนนายเกษม เกิดเป็นศึกระหว่างตระกูลณรงค์เดช และบุณยะจินดา ถึงขั้นครอบครัวณรงค์เดช ออกแถลงการณ์ตัดขาดความสัมพันธ์กับนายณพ ณรงค์เดช รวมทั้งทำให้เกิดการฟ้องร้องกันตามมาหลายคดี

ด้วยเหตุดังกล่าว การที่ศาลอังกฤษมีข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาว่า “คำอธิบายของคุณหญิงกอแก้วถูกหักล้างทันทีด้วยข้อเท็จจริงที่นายณพยอมรับในศาล ระหว่างการซักค้านว่า เขาไม่ได้แม้แต่แจ้งบรรดาทนายของเขาว่าคุณหญิงกอแก้วเป็นผู้ถือหุ้นตัวจริงในการโอนหุ้นให้นายเกษม” และระบุด้วยว่า “ข้อตกลงตัวแทนเกษม ซึ่งนายวีรวงค์เป็นผู้ร่าง ศาลเห็นว่ามันถูกร่างขึ้นมาจากเหตุผลที่ไม่สุจริต” จึงนับเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องติดตามกันต่อไปว่า จะมีผลต่อคดีความต่างๆ หรือไม่ อย่างไร

และแน่นอนว่า เรื่องนี้เป็น “มหากาพย์” ที่ยากจะจบลงได้ง่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น