xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม (ตอนที่ ๔๓)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”

ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) กระบวนการการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแบ่งออกได้เป็นสองแบบ แบบแรกคือ จะต้องมีการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน แล้วค่อยทูลเกล้าฯต่อพระมหากษัตริย์ให้แต่งตั้ง อีกแบบหนึ่งคือ ไม่ต้องผ่านการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีของประเทศที่ไม่ต้องผ่านการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ ของสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ภูฏาน และมาเลเซีย ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรณีของสหราชอาณาจักร เดนมาร์กและนอร์เวย์ไปแล้ว ในตอนนี้ จะขอกล่าวถึงเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นกัน

คราวที่แล้ว ได้กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยมได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสสามฉบับและหลักการการปกครองของอังกฤษ

รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสสามฉบับที่ว่านี้คือ ฉบับ ค.ศ. 1791, 1814 และ 1830 แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส เวลากล่าวถึงฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ. 1789 คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 และการล้มเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสทั้งสามฉบับเป็นรัฐธรรมนูญที่ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ อีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับนี้เป็นการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 ยังเรียกการปกครองว่าเป็นราชาธิปไตย และให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย แต่หลังจากสมัยประชุมสภานิติบัญญัติผ่านไปสองสมัยหลังจากที่มีการเสนอร่างกฎหมายนั้น หากสภานิติบัญญัตินั้นยังคงเสนอร่างกฎหมายเดิมโดยไม่มีการแปรญัตติใดๆ ให้ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบ


แต่รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 มีอันต้องสิ้นสุดลง ต่อมาได้มีการร่างรัฐธรรมนูญที่ให้ฝรั่งเศสปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ถือเป็นการปฏิวัติของฝรั่งเศสครั้งที่สองต่อจากการปฏิวัติ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 และเป็นการสิ้นสุดสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสครั้งที่หนึ่ง ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1814 ได้มีการรื้อฟื้นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญกลับคืนสู่ฝรั่งเศสอีกครั้ง อันนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สองของฝรั่งเศสที่มีอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831

รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1814 (เป็นปีเดียวกันกับที่นอร์เวย์มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกด้วย) เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหลังจากที่นโปเลียนพ่ายแพ้สงครามต่อคู่ขัดแย้งที่ประกอบไปด้วย ออสเตรีย ปรัสเซีย รัสเซีย อังกฤษ ปอร์ตุเกส สวีเดน สเปน และรัฐเยอรมนีจำนวนหนึ่ง หลังจากที่นโปเลียนพ่ายแพ้ก็ได้ลี้ภัยจากฝรั่งเศส อังกฤษได้เข้าไปมีอิทธิพลในการรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมา และให้ฝรั่งเศสมีการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

รูปแบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับ ค.ศ. 1814 ยังมีพระมหากษัตริย์เหมือนรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 แต่มีข้อความที่แตกต่างไปจากฉบับ ค.ศ. 1791 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1814 ประกาศว่า รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 เป็นรัฐธรรมนูญที่เสรีและเป็นราชาธิปไตย (free and monarchical constitution) และกำหนดให้รัฐธรรมนูญจำเป็นที่จะต้องดำเนินตาม มาตรฐานตามยุโรปในยุคเรืองปัญญา (the Enlightened Europe) นั่นคือ การให้ความสำคัญกับความรู้สมัยใหม่และการใช้เหตุผลแทนความเชื่อในทางศาสนา ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ประกาศให้การรักษาพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นหน้าที่ของพลเมือง และการรักษาดังกล่าวนั้นก็เพื่อผลประโยชน์ของพลเมืองเอง

รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1814 มีหมวดที่ว่าด้วย “รูปแบบการปกครองของกษัตริย์”  (Form of the Government of the King และในภาษาฝรั่งเศสคือ Formes du gouvernement du Roi) โดยบัญญัติเป็นมาตราต่างๆ ไว้ดังนี้คือ

 นายพลมองค์
มาตรา 13 องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่สักการะและละเมิดมิได้ ความรับผิดชอบเป็นของรัฐมนตรีของพระองค์ อำนาจบริหารเป็นของพระมหากษัตริย์เท่านั้น

มาตรา 14 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสูงสุดของรัฐ ทรงบังคับบัญชากองทัพบกและกองทัพเรือ และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม ทำสนธิสัญญาสันติภาพ พันธมิตรและการค้า ทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้งตำแหน่งทั้งหมดในการบริหารราชการแผ่นดิน และทรงตรากฎระเบียบที่จำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคงของรัฐ

มาตรา 15 อำนาจนิติบัญญัติใช้ร่วมกันโดยพระมหากษัตริย์ สภาสูงและสภาล่าง

มาตรา 16 พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการเสนอกฎหมาย

มาตรา 17 การเสนอกฎหมายจะเสนอไปยังสภาสูงหรือสภาล่างตามพระราชอัธยาศัย ยกเว้นกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี ที่จะต้องส่งไปยังสภาล่างก่อน

มาตรา 18 กฎหมายทุกฉบับจะต้องได้รับการอภิปรายและลงคะแนนอย่างเสรีโดยเสียงข้างมารกของแต่ละสภา

มาตรา 19 สภาทั้งสองมีอำนาจที่จะลงชื่อร้องขอให้พระมหากษัตริย์เสนอกฎหมายในเรื่องใดๆ และชี้แจงถึงเนื้อหาที่เหมาะสมที่กฎหมายนั้นๆ ควรจะมี 

มาตรา 20 การร้องขอนี้กระทำโดยสภาใดสภาหนึ่งในสองสภา แต่ต้องหลังได้มีการอภิปรายแล้วในคณะกรรมาธิการลับ และจะถูกส่งไปยังอีกสภาหนึ่งที่เป็นสภาที่จะทำหน้าที่เสนอกฎหมายนี้ และต้องเว้นช่วงเวลาสิบวัน

มาตรา 21 ถ้าสภาใดรับข้อเสนอ จะต้องนำมาทูลเกล้าต่อพระมหากษัตริย์ แต่ถ้าข้อเสนอถูกปฏิเสธ ไม่สามารถเสนอซ้ำอีกได้ภายในสมัยประชุมเดียวกันนั้น

มาตรา 22 พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่มีอำนาจในการยับยั้งและประการใช้กฎหมาย


มาตรา 23 สำหรับช่วงเวลาตลอดรัชกาล เงินปี (civil list) จะถูกกำหนดไว้ตายตัวโดยสภานิติบัญญัติที่ประชุมครั้งแรกหลังจากพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นครองราชย์ 


เมื่อเปรียบเทียบพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1814 กับฉบับ ค.ศ. 1791 จะพบประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้คือ

หนึ่ง ว่าด้วยที่มาของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 กล่าวถึงที่มาของรัฐธรรมนูญว่ามาจากที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ The National Assembly, wishing to establish the French Constitution upon the principles it has just recognized and declared, abolishes irrevocably the institutions which were injurious to liberty and equality of rights. ส่วนรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 กล่าวถึงที่มาของรัฐธรรมนูญว่ามาจากพระมหากษัตริย์ Louis, by the grace of God, King of France and Navarre, to all those to whom these presents come, greeting.

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสได้ถูกยกเลิกไปตั้งแต่ ค.ศ. 1791 ดังนั้น การที่ฝรั่งเศสกลับมามีสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1814 จึงไม่ต่างจากกรณีของอังกฤษในปี ค.ศ. 1660 ที่มีการรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมาอีกครั้งหลังจากที่ยุบเลิกไปเมื่อปี ค.ศ. 1649

การรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมาของอังกฤษเป็นช่วงเวลาที่รู้จักกันในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ว่าเป็น  “ยุคฟื้นฟู” หรือ the Restoration  ซึ่งในการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมานี้ ได้มีการตรากฎหมายเพื่อรับรองการกลับมาของสถาบันพระมหากษัตริย์

  พระราชหัตถเลขาตอบหนังสือของนายพลมองคลฃ
ดังนั้น ก่อนที่จะกล่าวถึงการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศสกลับมาในปี ค.ศ. 1814 พร้อมกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ผู้เขียนอยากจะขอกล่าวถึงกระบวนการการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษในปี ค.ศ. 1660
ในช่วงที่อังกฤษปกครองโดยไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ระหว่าง ค.ศ. 1649-1660 กล่าวได้ว่า อังกฤษเป็นสาธารณรัฐ แต่แม้นว่าอังกฤษจะอยู่ในช่วงเวลาที่เป็นสาธารณรัฐเป็นเวลา 11 ปี แต่ความเป็นสาธารณรัฐยังไม่สามารถลงหลักปักฐานได้ การเมืองอังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1658-1660 จึงเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายใกล้สภาวะอนาธิปไตย และผู้ที่นำความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่สังคมอังกฤษก็คือ นายพลมองค์ (Monck) ผู้บัญชาการกองกำลังในสก๊อตแลนด์

กระบวนการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษเริ่มขึ้นหลังจากที่นายพลมองค์ได้เขียน “จดหมายลับ” ลงวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1659 ไปถึงพระเจ้าชาร์ลสที่สอง (พระราชโอรสของพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งที่เสด็จลี้ภัยไปฝรั่งเศสในช่วงที่อังกฤษเป็นสาธารณรัฐ) ต่อมาวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1660 เขาได้ยาตราทัพเข้าอังกฤษ และมุ่งหน้าสู่กรุงลอนดอนในเดือนกุมภาพันธ์ และสั่งให้มีการยุบสภาเพื่อปูทางไปสู่การจัดให้มีการประชุมใหญ่ขึ้นในเดือนเมษายน ซึ่งประชาชนทุกคนรู้ดีว่าที่ประชุมใหญ่นั้นจะมีการลงมติขอให้พระมหากษัตริย์กลับมา

กล่าวได้ว่า ทั้งเจตนาของนายพลมองค์ก็ดี และของประชาชนทั่วไปก็ดี ต่างต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมา และต่างต้องการให้สาธารณรัฐอังกฤษสิ้นสุดลง

 ในตอนหน้า เราจะกล่าวถึงใจความของ “จดหมายลับ” ฉบับนั้นของนายพลมองค์ 



กำลังโหลดความคิดเห็น