คอลัมน์...ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
กุลีกับเจ้าสัว
ว่ากันว่า สุสานวัดดอนอันเป็นที่ฝังศพชาวจีนโพ้นทะเลที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในไทยนั้น มีข้อความที่เป็นคำจารึกภาษาจีนสลักเอาไว้ และมีผู้แปลเป็นไทยว่า
“เคยล่องผ่านน้ำดำ เคยกินน้ำขม ความในใจอันเต็มอุระไหลไปกับสายน้ำ หวังจะเป็นเจ้าสัว ไม่สามารถกลับสู่แผ่นดินเกิด เมื่อแก่ลงก็ฝังกระดูกที่งี่ซัว”
ข้อความดังกล่าวทำให้เห็นว่า ชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพเข้ามายังไทยโดยส่วนใหญ่มิได้มีชีวิตที่ดีมากนัก ส่วนใหญ่เข้ามาเป็นแรงงานกุลี เมื่อเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งก็กลับไปยังบ้านเกิด แต่ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ส่งเงินกลับไป ส่วนตัวเองก็อยู่ในไทยเพื่อทำงานหาเงินต่อไป
ชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มหลังนี้มีบ้างที่หาเงินจนอายุมากแล้วจึงกลับไปยังจีน คนกลุ่มนี้มีเป้าหมายที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือ ขอกลับไปตายยังบ้านเกิดที่เมืองจีน
ส่วนที่ปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ในไทยถาวรนั้น คือชาวจีนที่ยากจนมากๆ และมองไม่เห็นทางว่าที่จีนแผ่นดินใหญ่ยังจะมีความหวังอะไรอยู่อีก ยิ่งในช่วงที่จีนเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายจากขบวนการกบฏต่างๆ บวกกับปัญหาการเมืองภายในกับภายนอกในปลายสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ด้วยแล้ว ที่คิดจะกลับไปจีนก็ริบหรี่ลง คนเหล่านี้จำต้องใช้ชีวิตอยู่ในไทยไปจนตาย
คนจีนกลุ่มนี้บ้างก็ประสบความสำเร็จมากจนร่ำรวย บ้างก็ประสบความสำเร็จแต่น้อย บ้างก็ยังคงยากจนไปจนตาย
สองกลุ่มหลังนี้มิได้หมายความว่าอยู่อย่างอดๆ อยากๆ เพียงแต่ไม่ได้ร่ำรวยมีอาหารดีๆ กินทุกมื้อ ถือเป็นกลุ่มคนต่อสู้ดิ้นรนปากกัดตีนถีบ บางคนก็เขยิบฐานะขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง และจำนวนไม่น้อยของคนจีนกลุ่มนี้ที่มีลูกหลานที่ประสบความสำเร็จในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม จากคำจารึกข้างต้นมีคำสำคัญอยู่สามคำคือ เจ้าสัว แผ่นดินเกิด และงี่ซัว ผมไม่รู้ว่าคำว่า แผ่นดินเกิด ในภาษาจีนเขียนว่าอย่างไร เพราะไม่เคยไปเห็นด้วยตาตนเอง ได้แต่ว่าตามๆ กันมา แต่ถ้าถามชาวจีนโพ้นทะเลว่าตัวเองมาจากไหนหรือเป็นคนที่ไหนแล้วก็จะได้คำตอบว่า ตึ่งซัว
คำว่า ตึ่งซัว เจ้าสัว และงี่ซัว เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลางอ่านว่า ถังซัน จว้อซัน และอี้ซัน ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้สรุปคำทั้งสามว่า ซาซัว หรือที่ภาษาจีนกลางอ่านว่า ซันซัน หมายถึง ภูเขาสามลูก เพราะคำว่าในพยางค์แรกแปลว่า สาม และพยางค์ที่สองแปลว่า ภูเขา
ทั้งสามคำนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งกินใจมาก
คือถ้าถอดเป็นคำพูดแล้วก็เหมือนกับชาวจีนเหล่านี้จะบอกเราว่า ตนนั้นเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่หรือตึ่งซัว ได้มาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในไทยด้วยหวังว่าจะได้เป็นเศรษฐี (เจ้าสัว) แต่ก็ยังคงยากจนจนไม่อาจกลับไปยังบ้านเกิดได้ และต้องเอาชีวิตมาฝังไว้ที่สุสาน (งี่ซัว) ในแผ่นดินไทย
จากความหมายของทั้งสามคำ นักวิจัยจีนได้ทำให้ผมได้เห็นภาพต่อไปด้วยการนำเราไปเยือนสถานที่สองแห่ง แห่งหนึ่งคือ ศาลเจ้ามาจู่ (妈祖) หรือที่คนไทยเรียกว่า เจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้านี้มีหลายแห่งในจีน เพราะเป็นศาลเจ้าที่ชาวจีนกราบไหว้บูชาให้ตนปลอดภัยจากการเดินเรือ ชาวจีนแต้จิ๋วที่จะเดินทางมาไทยต่างก็มาขอพรจากเจ้าแม่ของศาลเจ้านี้กันทุกคน
ตอนที่ได้เห็นศาลเจ้านี้ก็ให้รู้สึกประหลาดใจว่า เหตุใดโบราณสถานที่มีอายุนับร้อยปีแห่งนี้จึงดูทรุดโทรมยิ่งนัก ซ้ำยังปล่อยให้เป็ดไก่ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้มาเดินเพ่นพ่านร้องเสียงดังเซ็งแซ่ แถมบนพื้นยังมีมูลสัตว์เหล่านี้เรี่ยราดอีกด้วย บางจุดก็มีน้ำเจิ่งนอง บางจุดก็ชื้นแฉะ จากฝนที่เพิ่งตกลงมา
เกี่ยวกับเรื่องนี้เราได้รับคำตอบจากนักวิจัยจีนว่า ศาลเจ้านี้เพิ่งฟื้นฟูกลับมาให้ชาวบ้านได้กราบไหว้เมื่อไม่นานมานี้เอง เนื่องจากช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) ศาลเจ้าแห่งนี้ถูกประทับตราให้เป็น “สิ่งเก่า” ที่ทำให้คนหลงงมงายจนถูกปิดลง ชาวบ้านในแถบนั้นจึงไม่กล้าที่จะมากราบไหว้ด้วยเกรงว่าจะมีความผิดและอาจถูกลงโทษเอาได้
ตอนที่เราไปเยือนนั้นการปฏิวัติวัฒนธรรมเพิ่งสิ้นสุดไปกว่าสิบปี อีกทั้งจีนก็เพิ่งเปิดประเทศได้ราวสิบปี (ค.ศ.1979-1989) เศรษฐกิจจีนก็ยังไม่สู้ดีนัก แม้การปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลงแล้ว และจีนก็ไม่มีข้อห้ามในการกราบไหว้บูชาศาสนสถานแล้วก็ตาม แต่งบประมาณที่จะมาดูแลโบราณสถานมีจำกัด
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงต้องนำงบประมาณที่ได้มาไปดูแลโบราณสถานที่เก่าแก่กว่าที่แห่งนี้ก่อน ซึ่งผมก็เห็นว่าจริง เพราะจีนมีโบราณสถานเก่าแก่ตั้งแต่อายุนับร้อยปีจนถึงนับพันปีอยู่มากมาย การบูรณะในแต่ละแห่งจึงต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง โบราณสถานที่ได้รับการบูรณะจึงเป็นโบราณสถานที่มีอายุนับพันปี ศาลเจ้าแห่งนี้จึงยังไม่ถูกบูรณะ
ผิดกับปัจจุบันที่เศรษฐกิจจีนดีมากแล้ว งบประมาณที่ทุ่มให้กับการบูรณะโบราณสถานจึงเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ และดูเหมือนรัฐบาลจีนเองก็ให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะต้องการให้ประชาชนของตนได้รู้สึกภูมิใจในประวัติศาสตร์ของตน จนผมเข้าใจว่าเอาเองว่า ตอนนี้ศาลเจ้าแห่งนี้น่าที่จะได้รับการบูรณะไปแล้ว
นอกจากศาลเจ้าแล้ว เราก็ยังได้ไปเยือนบ้านเก่าของเจ้าสัวที่ร่ำรวยอยู่ในไทยสองแห่งจากสองตระกูล เจ้าสัวคนหนึ่งเกิดมาก็มีฐานะดีอยู่แล้ว บ้านพักจึงดูกว้างขวางใหญ่โต ใหญ่ขนาดที่ว่ามีเครือญาติในตระกูลอยู่ในกำแพงเดียวกันกว่า 3,000 คน
ส่วนเจ้าสัวอีกคนหนึ่งตอนไปเมืองไทยยังยากจนอยู่ พอไปถึงใหม่ๆ ก็เป็นแรงงานกุลีแบกหามในแบบแรงงานเข้มข้น จากนั้นก็ค่อยๆ สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยไหวพริบปฏิภาณจนร่ำรวยขึ้นมา เมื่อได้เป็นเจ้าสัวแล้วก็ส่งเงินมาช่วยญาติพี่น้องที่จีน
เนื่องจากเป็นเจ้าสัวตามหลังเจ้าสัวรายแรก อีกทั้งเครือญาติก็มีไม่มากเท่า บ้านพักจึงใหญ่ไม่เท่ารายแรก แต่ก็ถือว่าใหญ่มากในสายตาของคนที่อยู่นอกกำแพงออกไปที่ไม่ใช่เครือญาติ
หลังจากที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นแล้ว บ้านพักของเจ้าสัวทั้งสองรายถูกทางการท้องถิ่นยึดเอาไป ด้วยข้อหาว่าเป็นบ้านพักของพวกชนชั้นนายทุน ซึ่งเวลานั้นไม่ว่าใครก็ตามหากถูกกล่าวหาเช่นนี้แล้วเป็นต้องถูกลงโทษ
ทางการได้ใช้บ้านพักของเจ้าสัวทั้งสองมาเป็นที่ทำการของคณะกรรมการปฏิวัติวัฒนธรรม อันเป็นคณะบุคคลที่มีอยู่ทุกหน่วยปกครองในเวลานั้น ด้วยเหตุนี้ ตรงเหนือประตูใหญ่ที่เป็นทางเข้าบ้านพักจึงมีรูปเขียนสีของเหมาเจ๋อตง (ค.ศ.1893-1976) ซึ่งเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเป็นผู้นำการปฏิวัติวัฒนธรรมในขณะนั้นอีกด้วย
หรือที่คนจีนมักเรียกสั้นๆ ว่า ประธานเหมา
ภาพของประธานเหมาที่ผมไปเห็นในขณะนั้นได้หลุดร่อนไปบางส่วนแล้ว แต่ก็ดูออกว่าเป็นภาพใคร นี่ถ้ายังอยู่ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมแล้ว ใครที่ปล่อยให้ภาพชำรุดเช่นนี้มีหวังโดนลงโทษแน่ๆ เพราะตอนนั้นประธานเหมามีฐานะไม่ต่างกับเทพ
หลังจากที่จีนเปิดประเทศและปฏิรูป รัฐบาลจีนได้คืนบ้านพักนี้ให้แก่เจ้าสัวทั้งสองรายที่เป็นเจ้าของเดิม และผู้อยู่อาศัยก็ยังคงเป็นเครือญาติของเจ้าสัวทั้งสองรายนี้ ถึงตอนนั้นเครือญาติของเจ้าสัวรายแรกได้แตกหน่อไปจนล้นบ้านพัก และทำให้ต้องขยับขยายที่พักไปอยู่นอกกำแพงออกไป