xs
xsm
sm
md
lg

เกมอำนาจแบบเพื่อไทยจะทำลายตนเอง / Phichai Ratnatilaka na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


พรรคเพื่อไทยบอกเลิก MOU ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องที่อยู่ในการคาดหมายของผู้ที่ติดตามการเมืองอยู่แล้ว นัยของเรื่องนี้คือ พรรคเพื่อไทยเล่นเกมอำนาจ วางอุบายมาโดยตลอดในการเข้าสู่อำนาจรัฐ เพื่อจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของพรรค นั่นคือการนำนายทักษิณ ชินวัตรกลับประเทศไทย โดยไม่ต้องถูกจำขังในเรือนจำ

แกนนำพรรคเพื่อไทยคิดว่าการละทิ้งพรรคก้าวไกล และไปจับมือกับพรรคขั้วอำนาจเก่าเป็นทางเลือกที่พึงประสงค์ที่สุดสำหรับแผนการของพวกเขา เพราะพวกเขาประเมินว่าสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับบงการของขั้วอำนาจเก่าจะยกมือลงมติให้แก่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค แต่ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยคิดง่ายเกินไป

เส้นทางการเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยนั้นจะไม่ง่ายดังที่วางแผนเอาไว้ เพราะการเล่นเกมกับกลุ่มอำนาจเก่าที่มีเล่ห์เหลี่ยมซับซ้อนไม่แพ้กัน ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกับการเล่นเกมกับพรรคก้าวไกลและประชาชน ที่มีแต่ความจริงใจและตรงไปตรงมา ที่สำคัญคือขณะนี้คงไม่มีฝ่ายใดไว้วางใจพรรคเพื่อไทยอีกต่อไป พรรคขั้วอำนาจเดิม ไม่ว่าจะเป็นภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา พลังประชารัฐ และพรรคอื่น ๆ ที่พรรคเพื่อไทยชักชวนมาร่วมรัฐบาลคงเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ขณะเดียวกัน สว. ที่พรรคเพื่อไทยคาดหวังให้มายกมือช่วยหนุนก็คงมีความกังวลและหวาดระแวงไม่แพ้กัน

พรรคเพื่อไทยจึงออกแถลงการณ์ในลักษณะเอาใจพรรคขั้วอำนาจเดิมและ สว. ความตอนหนึ่งระบุว่า

  “ในสถานการณ์เช่นนี้ พรรคเพื่อไทย ได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกลขอถอนตัวจากการร่วมมือกันและ เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อ "นายเศรษฐา ทวีสิน " แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ทวีสิน ขอยืนยันชัดเจนว่า เราจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม พรรคเพื่อไทยจะใช้ความพยายามรวบรวมเสียง ให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม และพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านและยืนยันจะทำงานการเมืองในมิติใหม่”

 สาระของแถลงการณ์ท่อนนี้เป็นการส่งสารถึงขั้วอำนาจเก่าอย่างชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และยืนยันว่ารัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกล ทั้งยังกล่าวย้ำอีกว่า พรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เรียกได้ว่า พรรคเพื่อไทยเอาใจกลุ่มอำนาจเก่าอย่างสุดกำลัง เพื่อให้กลุ่มอำนาจเก่าเชื่อว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่นำพรรคก้าวไกลมาร่วมรัฐบาลในภายหลัง ดังที่ สว. บางคนตั้งเป็นประเด็นเอาไว้ก่อนหน้านี้
นอกเหนือจากเอาใจขั้วอำนาจเก่าแล้ว พรรคเพื่อไทยก็พยายามสัญญากับสาธารณะว่า “จะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง สสร. หลังแก้เสร็จก็จะให้มีการเลือกตั้งทันที”

ทว่า มีความเป็นไปได้สูงว่า คำประกาศนี้จะกลายเป็นสัญญาที่ว่างเปล่าอีกเช่นเคย เพราะว่า มีคำสัญญาหลายประการที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้ก่อนการเลือกตั้ง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่จะต้องตัดสินใจ ก็กลับตัดสินใจไปอีกทางที่แตกต่างจากสิ่งที่เคยพูดหรือประกาศเอาไว้อย่างสิ้นเชิง อย่างเช่น การที่นายเศรษฐา เคยกล่าวไว้ก่อนเลือกตั้งว่าจะแก้ไขมาตรา 112 แต่เมื่อถึงจุดต้องแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการจัดตั้งรัฐบาล ก็กลับคำพูดได้ทันที ราวกับคำประกาศในเชิงสัญญาประชาคมไม่เคยดำรงอยู่

สิ่งที่น่าขบขันอย่างยิ่งในแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย คือการประกาศว่า “นโยบายที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมได้นำเสนอต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน อาทิ กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายสุราก้าวหน้า การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ ฯลฯ ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม”

ความย้อนแย้งคือ พรรคเพื่อไทยบีบให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน แต่กลับประกาศว่าจะนำนโยบายของพรรคก้าวไกลมาผลักดัน หากมองในด้านบวกคือ พรรคเพื่อไทยต้องการตอบสนองความต้องการของประชาชน เพราะรู้ว่านโยบายเหล่านี้ทำให้ประชาชนนิยมพรรคก้าวไกลในช่วงเลือกตั้ง ดังนั้นจึงเอาใจประชาชน โดยแสดงให้เห็นว่า แม้จะบีบพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านแล้ว ก็ยังมีเยื่อใยอยู่ โดยการนำนโยบายของพรรคก้าวไกลไปผลักดันให้เป็นจริง

แต่ดูเหมือนว่ามุมมองในเชิงลบจะมีมากกว่า อย่างแรกคือ การลอกเลียนนโยบายของพรรคก้าวไกล ซึ่งแสดงว่า พรรคเพื่อไทยมีข้อจำกัดทางความคิด คิดอะไรไม่เป็น จึงต้องนำนโยบายพรรคอื่นที่ประชาชนนิยมมาทำ โดยหวังจะแย่งชิงคะแนนนิยมมาเป็นของตนเอง อย่างที่สอง มีความเป็นไปได้ยากมากที่พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการนโยบายที่กระทบโครงสร้างอำนาจทางการเมือง การทหาร และการผูกขาดทางธุรกิจ เพราะพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่น ๆ ที่จะดึงมาร่วมรัฐบาลล้วนแล้วแต่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันแทบทั้งสิ้น ดังนั้นการประกาศว่า จะผลักดันนโยบายเหล่านั้นจึงเป็นการประกาศเชิงยุทธศาสตร์เสียมากกว่า ไม่ได้คิดทำจริง แต่น่าจะเป็นอุบายเฉพาะกิจที่ใช้เพื่อบรรเทาอารมณ์ความขุ่นเคืองของประชาชนที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล
 
ปฏิกิริยาของประชาชนหลังจากพรรคเพื่อไทยประกาศแถลงการณ์แยกทางกับพรรคก้าวไกลเป็นไปอย่างเข้มข้น มีการชุมนุมของประชาชนที่หน้าพรรคเพื่อไทย เสียงตะโกนด่าทอดังลั่นสนั่นที่ทำการพรรค และมีการจุดไฟเผาหุ่น โดยนำเลือดสุกรมาราดตัวหุ่นก่อนเผา อันมีนัยว่าพรรคเพื่อไทยเหยียบย่ำศพประชาชนกลุ่มเสื้อแดงเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ โดยการไปจับมือกับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชาชนเสื้อแดงในอดีต ด้านโลกออนไลน์ ก็มีประชาชนจำนวนมากเขียนด่าทอ ประณาม และวิจารณ์การกระทำของพรรคเพื่อไทยอย่างดุเดือดเข้มข้นด้วยอารมณ์โกรธเคือง บางคนโทรศัพท์มาแสดงความคิดเห็นในรายการโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดสด พร้อมส่งเสียงร่ำไห้ระงม เสียใจกับการกระทำของพรรคเพื่อไทย

จากไม้ขีดไฟก้านแรกที่เริ่มต้นจุดโดย กกต. ที่รีบร้อนยื่นเรื่องคดีถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนวันเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเพียงวันเดียว ตามมาด้วยก้านที่สอง อันได้แก่ การ ที่ สว. ลงมติแบบไม่เคารพมติมหาชน ปฏิเสธไม่เห็นชอบแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ จากนั้นก้านที่สามก็ถูกโยนเข้าไป ด้วยคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นายพิธา ยุติการปฏิบัติหน้าที่ สส. พร้อม ๆ กับก้านที่สี่ ซึ่งตามมาในเวลาใกล้เคียงกัน ด้วยการที่ สส. และ สว. มีมติให้ข้อบังคับการประชุมของรัฐสภามีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ในสมัยประชุมเดียวกันได้ ซึ่งทำให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญของนายพิธา ถูกละเมิด

ล่าสุดไม้ขีดไฟก้านที่ห้าก็ถูกจุดขึ้นมาโดยพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศแยกทางในการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล และบีบให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน พร้อมกับนำพรรคการเมืองที่อยู่ในขั้วอนุรักษ์นิยมแบบจารีตและอำนาจนิยมเข้ามาร่วมรัฐบาลแทน เพื่อสร้างโอกาสให้ตนเองเป็นรัฐบาล และนำนายทักษิณ กลับประเทศไทย

การประกาศของพรรคเพื่อไทยทำก่อนกำหนดการเลือกนายกรัฐมนตรีเพียงสองวัน และแกนนำของพรรคคาดหวังว่านายเศรษฐา จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างท้วมท้นด้วยการสนับสนุนจาก สว. ในวันที่ 4 สิงหาคม แต่ทว่าการคิดแบบดีดลูกคิดในรางแก้วของพรรคเพื่อไทยไม่อาจบรรลุความจริงได้ เพราะในวันที่ 3 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้เลื่อนการพิจารณาวินิจฉัยในการรับคำร้อง เรื่อง มติอัปยศ 19 กรกฎาคม ที่ สมาชิกรัฐสภาลงมติให้ข้อบังคับมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญออกไป ส่งผลให้ประธานรัฐสภาต้องเลื่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปอย่างไม่มีกำหนด พรรคเพื่อไทยจึงฝันสลายอย่างฉับพลัน

การเลื่อนวันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปไม่มีกำหนด ทำให้เส้นทางการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา และการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยตกอยู่ในความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น และความเสี่ยงที่จะสูญเสียตำแหน่งและพลาดจากการเป็นแกนนำรัฐบาลก็มีมากขึ้นเมื่อต้องประสบกับปัจจัยแทรกซ้อนจากขั้วอำนาจเก่า เพราะ สว. บางคนซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่าได้ออกมากล่าวในที่สาธารณะว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกุล หรือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ เป็นคนนอก เท่านั้น

 สถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญคือความเสี่ยง ความยากลำบาก และความไม่แน่นอน อันเป็นผลจากการกระทำของตนเอง เมื่อทิ้งมิตรทิ้งประชาชนไปหากลุ่มอดีตศัตรูก็ต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยว และตกอยู่ในวงล้อมที่น่ากลัวของอดีตปรปักษ์ จะคาดหวังให้อดีตศัตรูปรานีก็เป็นความเพ้อฝัน ในที่สุดก็คงต้องถูกบีบให้ยอมจำนน หรือไม่ก็อาจต้องซมซานกลับมาหาเพื่อนเก่าในที่สุด เมื่อเล่นเกมอำนาจมาก ในที่สุดก็ถูกอำนาจย้อนกลับมาทำลายตนเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น