ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จากสถานการณ์ “น้ำนมดิบราคาตกต่ำ” กระทบเกษตรกรฟาร์มโคนมเจ๊งยับ เริ่มสะเทือนถึงภาคธุรกิจเกิดปัญหา “ขาดแคลนนมสดพาสเจอร์ไรส์”
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือกรณี “นมเมจิขาดตลาด” หาซื้อยากขึ้น บางแห่งปิดป้ายจำกัดจำนวนการซื้อ ทำให้ผู้ประกอบการร้านกาแฟได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกๆ บ่นอุบแต่ก็ตามหาให้ควัก เพราะผลิตภัณฑ์นมเมจิเป็นสูตรเด็ดของเมนูกาแฟนมที่นิยมเลือกใช้กัน
ทั้งนี้ CP-Meji Thailand โพสต์เฟสบุ๊กชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความว่า “เนื่องด้วยสถานการณ์น้ำนมดิบขาดแคลนอย่างต่อเนื่องและโคนมกำลังเข้าสู่ช่วงพักรีดนม จึงทำให้สินค้ากลุ่มนมสดพาสเจอร์ไรส์มีจำนวนจำกัด บริษัทจึงขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ ทั้งนี้บริษัทจะพยายามสรรหาน้ำนมดิบมาเพื่อผลิตสินค้าอย่างเต็มกำลัง ขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์เมจิมาโดยตลอด”
นายจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มในตลาดมีปริมาณลดลงแต่ไม่ขาดตลาด โดยทางกรมการค้าภายในประชุมหารือกับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นม ห้างค้าปลีกค้าส่งและห้างท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์การจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม พบว่าระหว่าง ก.ค. - ก.ย. ของทุกปี เป็นช่วงชะลอการรีดนมวัด หรือ “พักเต้า” (Dry cow)
กล่าวคือหลังจากที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้รีดนมโคมาจนถึงช่วงที่แม่โคใกล้จะคลอด เพื่อรักษาสุขภาพของแม่โคและความสามารถในการให้น้ำนมโค ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำนมดิบเข้าสู่โรงงานแปรรูปในช่วงนี้ลดลงไปบ้าง ในขณะที่ปริมาณการบริโภคยังคงทรงตัว
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำนมดิบที่ลดลงส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบเฉพาะในส่วนของนมสดพาสเจอร์ไรส์เป็นหลัก ขณะที่นมสดยูเอชที ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 50 % ของการบริโภคผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มทั้งหมด แทบจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังคงสามารถผลิตและจำหน่ายได้ตามปกติ กรมการค้าภายในยืนยันว่าผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มไม่ได้ขาดแคลน และคาดว่าปริมาณน้ำนมดิบจะกลับสู่ภาวะปกติในช่วงเดือน ต.ค. เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สหกรณ์โคนมหลายแห่งประสบปัญหาน้ำนมดิบขาด มีข้อมูลเปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำนมดิบขาดแคลนในรอบหลาย 10 ปี และปี 2566 ราคาน้ำนมดิบตกต่ำมาก ใน ปี2565 สหกรณ์ได้น้ำนมดิบ อยูที่ 3,500 ตันต่อวัน แต่ปัจจุบั เหลืออยู่ที่ 2,600 - 2,700 ตันต่อวัน
สำหรับสถานการณ์นมเมจิขาดตลาดที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้สังคมมองว่าเป็นการส่งสัญญาณการปรับราคานมสดพาสเจอร์ไรหรือไม่? ซึ่งกรมการค้าภายในยังคงไม่มีการอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มในช่วงเวลานี้ แต่หากหลังจากนี้มีการประกาศปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและราคารับซื้อหน้าโรงงานแปรรูป จะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะพิจารณาราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มให้ตามสัดส่วนต้นทุนน้ำนมดิบที่สูงขึ้น เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมสามารถดำเนินการต่อไปได้ สินค้ามีปริมาณเพียงพอ และผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม กรณีที่บริษัทผู้ผลิตนมชื่อดังประกาศว่ากำลังเผชิญกับสถานการณ์น้ำนมดิบขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโคนมกำลังเข้าสู่ช่วงพักรีดนม ส่งผลให้สินค้ากลุ่มนมสดพาสเจอร์ไรส์มีจำนวนจำกัดนั้นสอบถามไปยัง นายนิพนธ์ แก้วจีน สมาชิกผู้เลี้ยงโคนม สมาชิกสหกรณ์โคนมหนองโพ จ.ราชบุรี เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนมขาดแคลน ขณะนี้เฉพาะของหนองโพยังพอผลิตได้ ตามนโยบายของประธานสหกรณ์ฯ มีเท่าไหร่ ผลิตเท่านั้น เนื่องจากในขณะนี้วัวส่วนใหญ่อยู่ในช่วงพักท้อง
ส่วนกระแสที่ว่า วัวพักท้องจะไม่มีนมขาย แต่ในส่วนของหนองโพ เชื่อว่ายังไม่กระทบมากนัก ยังมีนมขายอยู่ แต่ถ้าดูปัญหาที่แท้จริง ช่วงนี้คนเลิกเลี้ยงกันเยอะ เพราะว่าต้นทุนสูง โดยเฉพาะอาหาร สู้กันไม่ไหว จึงมีการขายยกคอกกันเยอะแล้วไปทำอาชีพอื่นกัน แต่นมยังมีส่งกัน แต่น้อยลงไปบ้าง
สอดคล้องกับเฟซบุ๊ก Lean Farming ฟาร์มโคนม สระบุรี โพสต์ถึงกรณีบริษัท CP-Meji Thailand ประกาศว่าน้ำนมดิบขาดแคลนอย่างต่อเนื่องและโคนมกำลังเข้าสู่ช่วงพักรีดนม โดยระบุตอนหนึ่งว่า นมไม่ขาดตลาด แต่เกิดจากการที่เกษตรกรขาดทุน เพราะจากราคาน้ำนมดิบที่ได้นั้น สู้ต้นทุนอาหารสัตว์ที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ได้ ทำให้ฟาร์มเลิกกิจการ หากนมขาดตลาดจริงๆ ราคาน้ำนมหน้าฟาร์มจะต้องแพงขึ้น แต่ปัจจุบันราคาน้ำนมหน้าฟาร์มยังเท่าเดิม
และประเด็นที่ถูกจับตาคือราคาน้ำนมดิบหน้าฟาร์มตกต่ำ แม้รัฐปรับขึ้นราคารับซื้อน้ำนมดิบ แต่ต้นทุนอาหารสัตว์ที่สุดขึ้นต่อเนื่อง เป็นวิกฤตของเกษตรกรฟาร์มโคนมต่างเผชิญกับประสบภาวะขาดทุนกันถ้วนหน้า หลายรายแบกรับปัญหาขาดทุนไม่ไหว จำต้องปิดฟาร์ม ตัดสินใจเลิกเลี้ยง มิหนำซ้ำยังค้างจ่ายหนี้สหกรณ์ แถมมีเสียงโอดครวญทำนองว่า ต่อให้ขายวัวหมดก็จ่ายหนี้สหกรณ์ไม่พอ
สถานการณ์ที่เกษตรกรฟาร์มโคนมเผชิญคือการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่รายได้ขาดทุน ทั้งผลผลิตน้ำนมดิบมีปริมาณน้อยลง คุณภาพน้ำนมต่ำขายไม่ได้ โดยสาเหตุมาจากวัวป่วยด้วยโรคระบาดต่างๆ กระทั่งทำให้เกษตรกรทยอยเลิกเลี้ยงโคนม ส่งผลกระทบกับภาพรวมปริมาณน้ำนมดิบ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรฟาร์มโคนมไทยยังประสบปัญหาขาดทุนเผชิญวิกฤตราคาน้ำนมดิบตกต่ำ กลางปี 2565 ที่ผ่านมา สหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐพิจารณาปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ กระทั่งมีการปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ซึ่งเป็นการปรับราคาในรอบ 8 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk board) ครั้งที่ 1/2566 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk board) ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเรื่องการทบทวนราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และ ณ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ปี 2566 รายละเอียดข้อสำคัญ คือการปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ปี 2566 จากกิโลกรัมละ 19 บาท เป็น 21.25 บาท และปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ปี 2566 จากกิโลกรัมละ 20.25 บาท เป็น 22.75 บาท
นอกจากนี้ มีคำสั่งให้คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอราคาน้ำนมโคและผลิตภัณฑ์นม พิจารณาทบทวนการกำหนดราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และ ณ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ของต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา
และให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแนวทางในการควบคุมราคาปัจจัยการผลิตและราคาอาหารสัตว์ และพิจารณาการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม (นมพาณิชย์) ให้เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งต้นทุนน้ำนมดิบและต้นทุนอื่น ๆ ของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ให้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน พิจารณาการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม (นมโรงเรียน) ให้เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งต้นทุนน้ำนมดิบและต้นทุนอื่น ๆ ของผู้ประกอบการ และเสนองบกลางให้กับหน่วยจัดซื้อ รวมทั้ง ให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมแจ้งมติให้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณาแนวทางแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารสัตว์ รวมทั้งแนวทางอื่นๆ ในการปรับลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเลี้ยงโคนมได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการและผู้บริโภค
สถานการณ์การที่เกิดขึ้นเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของรัฐบาลใหม่ต้องรีบออกมาตรการกระตุ้นสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเลี้ยงวัวนมต่อไป รวมทั้ง การพิจารณาการปรับราคาน้ำนมดิบอย่างเหมาะสม เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด