xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ธุรกิจร้านอาหารโตแรงแต่แผ่วปลาย Food Delivery ดันเปิดใหม่ทะลุแสนร้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ธุรกิจร้านอาหารเนื้อหอมได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง Insight จาก ไลน์แมน วงใน (LINE MAN Wongnai) พบว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ร้านอาหารเปิดใหม่พุ่งทะลุ 1 แสนร้าน แต่อยู่รอดเพียง 50% หรือครึ่งหนึ่งของร้านเปิดใหม่ทั้งหมดเท่านั้น 

ภาพรวมตลาดร้านอาหารในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 – มิถุนายน 2566 ว่า มีร้านอาหารเปิดใหม่เพิ่มขึ้นจาก 598,693 ร้าน เป็น 680,190 ร้าน เติบโตขึ้น 13.6% แสดงให้เห็นว่าหลัววิกฤตโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย คนไทยหันมาเปิดร้านอาหารกันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแม้ร้านอาหารเปิดใหม่จะมีเยอะ แต่จำนวนร้านที่ปิดตัวก็มีจำนวนมาก โดยจากสถิติพบว่ามีร้านอาหารถึง 50% ที่ต้องปิดตัวลงภายในปีแรก และ 65% ปิดตัวลงภายใน 3 ปี

“ส่วนใหญ่ร้านอาหารที่เปิดใหม่จะเป็นร้านเล็กๆ ยิ่งเมื่อมีบริการเดลิเวอรี ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านยิ่งทำให้เปิดร้านอาหารได้ง่าย ทำให้การแข่งขันมันสูง พอเขาลองเปิดแล้วพบว่าขายไม่ดีก็ปิดตัวลง อัตราการปิดกิจการในช่วงปีแรกจึงสูงอย่างที่เห็น” นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai ระบุ

 ภายในงาน Restaurant 2023: Future’s Recipe เปิดภาพรวมธุรกิจร้านอาหารไทย ปี 2566 พบมีจำนวนร้านเปิดใหม่เพิ่มขึ้นถึง 13.6% หรือจำนวนกว่า 1 แสนร้าน โดยประเภทร้านอาหารเปิดใหม่ที่เติบโตสูงสุด ได้แก่ ร้านอาหารเช้า (แซนด์วิช) ร้านอาหารจีน และร้านสุกี้ยากี้ ชาบู ตามลำดับ ขณะที่ประเภทร้านอาหารเปิดใหม่ที่เติบโตชะลอลง ได้แก่ ฟู้ดทรัก ร้านข้าวต้มมื้อดึก และร้านพิซซ่า 

อย่างไรก็ดี  แพลตฟอร์ม Food Delivery เป็นช่องทางการขายสำหรับร้านอาหารเปิดใหม่ ใครก็ได้สามารถเปิดร้านอาหารได้โดยไม่ต้องมีหน้าร้าน สำหรับ LINE MAN เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ร้านสามารถเพิ่มยอดขายและลดต้นทุน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักให้ร้านอยู่รอดและเติบโตในสภาวะตลาดแข่งขันสูง ผ่านเทคโนโลยี POS (Point of Sale) ที่เหมาะกับการใช้งานของร้านอาหารทุกประเภทในเมืองไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับออเดอร์หน้าร้าน และบริหารระบบหลังร้าน มีโซลูชันรองรับจัดการร้านอาหารขนาดใหญ่ที่มีสาขา และโซลูชันจัดการร้านอาหารขนาดกลางถึงเล็ก

 นายฐากูร ชาติสุทธิผล ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบจัดการร้านอาหาร FoodStory POS ของ LINE MAN Wongnai อธิบายว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ต้นทุนร้านอาหาร 25-30% จะมาจาก วัตถุดิบ มากที่สุด ตามด้วย ค่าแรง (20-25%), ค่าเช่าที่ (20-30%), ต้นทุนอื่น ๆ (10%) ที่เหลืออีก 10-20% คือ กำไร
อิงข้อมูลจากร้านอาหารที่ใช้ Wongnai POS พบว่ามูลค่าการซื้อขายรวม (GMV) ของยอดขายประเภทนั่งรับประทานที่ร้าน (Dine-in) กลับมามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์โควิด - 19 คลี่คลาย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ LINE MAN Wongnai ตัดสินใจที่ควบรวมกิจการกับ Food Story สตาร์ทอัพด้านโซลูชัน POS (Point of Sale) และจากการควบรวมของ LINE MAN Wongnai กับ Food Story ทำให้กลายเป็นเบอร์ 1 ของตลาด POS ผ่านการมีส่วนแบ่งตลาด 40% ด้วยจำนวนการใช้งานกว่า 55,000 ร้านค้า มีมูลค่าการซื้อขายผ่านระบบราว 1.8 แสนล้านบาท ผ่านออร์เดอร์ที่สำเร็จ 636 ออร์เดอร์

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก LINE MAN Wongnai เผยเทรนด์การกินของคนไทยที่น่าจับตาในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา พบว่า เมนูมาแรงที่จำนวนค้นหาเติบโตสูงสุด ได้แก่ หมูกรอบ ไอศกรีม เค้ก สุกี้ และหม่าล่า ส่วนเมนูที่มียอดขายเดลิเวอรีเติบโตสูงสุดบน LINE MAN แบ่งเป็นอาหาร ได้แก่ ส้มตำปูปลาร้า กะเพราหมูกรอบ ไก่ย่าง และเมนูเครื่องดื่ม ได้แก่ ชาเขียวนม ช็อกโกแลต ชาไทย

 สำหรับภาพรวมตลาดรวมธุรกิจร้านอาหารในไทยมีมูลค่าประมาณ 410,000 ล้านบาท อัตราเติบโตสูงมาก 14% ในปี 2565 แบ่งออกเป็น 17 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1. กาแฟเครื่องดื่ม 30,000 ล้านบาท 2. ส้มตำ 16,000 ล้านบาท 3. พิซซา 8,500 ล้านบาท 4. อาหารญี่ปุ่น 25, 000 ล้านบาท 5. อาหารไทย 12,000 ล้านบาท 6. อาหารย่าง 8,000 ล้านบาท 7. โดนัท 4,100 ล้านบาท 8. คิวเอสอาร์ ไก่ทอด 25,000 ล้านบาท 9. เบอร์เกอร์ 10,000 ล้านบาท 10. ไอศกรีม 7,500 ล้านบาท 11. อาหารจีน 3,000 ล้านบาท 12. หม้อร้อน 20,000 ล้านบาท 13. เบเกอรี 10,000 ล้านบาท 14. อาหารตะวันตก 7,500 ล้านบาท 15. อาหารเกาหลี 3,000 ล้านบาท 16. อาหารสุขภาพและสลัด 5,000 ล้านบาท และ 17. สตรีทฟูด 




คาดการณ์ว่าในปี 2566 นี้มูลค่าตลาดรวมจะเติบโต 4 - 5% แต่น้อยกว่าปีที่แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2566 รายได้ธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่เป็นการเติบโตที่ชะลอลง และการฟื้นตัวจะมีปัจจัยเฉพาะของประเภทการให้บริการและเฉพาะพื้นที่ โดยกลุ่มร้านอาหารที่ให้บริการจำกัด (Limited Service) ร้านอาหารในพื้นที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารในศูนย์การค้า มีโอกาสฟื้นตัวได้ดี

โดยมีปัจจัยบวกจากกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่ขับเคลื่อนได้ตามปกติและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ประกอบกับการทำตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารร่วมกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารไปยังที่พัก รวมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่มีการขยายสาขาปรับรูปแบบการให้บริการเป็น Limited Service เพื่อลดต้นทุนและรองรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการนำเชนร้านอาหารใหม่จากต่างประเทศเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารโดยรวมยังมีความเปราะบาง จากกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้มและค่าไฟในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานโลก

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ประเมินว่า ปี 2565 ต้นทุนการทำธุรกิจร้านอาหารเพิ่มขึ้นโดยรวมเฉลี่ยกว่า 14% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 2564 ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายรายต้องปรับขึ้นราคาอาหาร โดยราคาอาหารเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 10% จากปี 2564 นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารที่สูง พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลาย ทำให้ผู้ที่จะลงทุนใหม่ต้องระมัดระวังในการลงทุน และต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนธุรกิจ

 สรุปความว่าการเติบโตของธุรกิจยังอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง โดยปี 2566 มูลค่ารวมของธุรกิจร้านอาหารน่าจะอยู่ที่ราว 4.18-4.25 แสนล้านบาท ขยายตัว 2.7%-4.5% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 12.9% ในปี 2565 ทั้งนี้ มูลค่าร้านอาหารยังต่ำช่วงก่อนโควิด ซึ่งเป็นผลจากความท้าทายในการฟื้นตัวของร้านอาหารประเภท Full Service ขณะที่แม้การฟื้นตัวของรายได้ Street Food ที่มีหน้าร้าน และ Limited Service อาจกลับไปสูงกว่าก่อนโควิดได้ แต่การรักษาความสามารถในการทำกำไรยังเป็นโจทย์ต่อเนื่องที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง 
โดยการขยายตัวของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารมาจากปัจจัยสนับสนุน อาทิ ภาคการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลในเชิงบวกต่อธุรกิจร้านอาหารในพื้นที่ท่องเที่ยว ในปี 2566 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ 13-20 ล้านคน ซึ่งช่วยสนับสนุนให้เกิดเม็ดเงินกระจายลงสู่ธุรกิจร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยว อย่างร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น และร้านอาหารข้างทางหรือ Street Food ตามตลาดนัดหรือถนนคนเดินที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเดินซื้อสินค้า

ขณะที่การกลับมาขยายสาขาของผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยปรับรูปแบบการให้บริการมาเป็นแบบ Limited Service เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจและรองรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด โดยให้ความสำคัญกับตลาดในกลุ่มลูกค้าซื้อกลับ (Takeaway) รวมถึงการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ในภาวะที่ต้นทุนทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การขาดแคลนแรงงาน และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีในการสั่งอาหาร ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงของธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารปรับรูปแบบการให้บริการเป็นการลงทุนในร้านอาหารขนาดเล็ก โดยปรับลดพื้นที่นั่งในร้าน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จึงช่วยหนุนรายได้ร้านอาหารกลุ่มนี้

รวมทั้ง กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศที่ขับเคลื่อนได้ตามปกติ ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับมาทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ ทำให้มีการใช้บริการร้านอาหารนอกบ้าน และการจัดกิจกรรมสังสรรค์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อร้านอาหารอย่างร้านอาหารในศูนย์การค้า

แต่อย่างไรก็ดี ในปี 2566 ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารยังเผชิญหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังเปราะบางซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดการเติบโตฝั่งรายได้ แรงกดดันด้านต้นทุนที่สูง และการแข่งขันที่เข้มข้น

 จะเห็นว่าการเข้าสู่ธุรกิจอาหารไม่ใช่เรื่องยาก ในช่วงครึ่งปีแรกแนวโน้มร้านอาหารเปิดใหม่พุ่งสูงทะลุกว่าแสนร้าน แต่อยู่รอดในสังเวียนเพียงครึ่งเดียว นับเป็นความท้าท้ายของผู้ประกอบการ 



กำลังโหลดความคิดเห็น