ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เวลานี้ โลกของ “ทักษิณ ชินวัตร” คงจะมีแต่สี “ชมพู้ ชมพู” เฉกเช่นเดียวกับโทนสีของภาพยนตร์เรื่อง “Barbie” ภาพยนตร์ฉบับ Live-Action ที่ใช้คนแสดงจริงโดยได้แรงบันดาลใจมาจากตุ๊กตาบาร์บี้ที่อยู่ในความทรงจำของเด็กผู้หญิงมายาวนานกว่า 60 ปี เพราะใครจะไปเชื่อว่า “นักโทษชาย” ผู้ต้องโทษคดีสำคัญๆ มากมาย จะกลายเป็น “นักโทษผู้มากบารมี” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ เนื่องเพราะบรรดาแกนนำที่มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นแกนนำจากพรรคเพื่อไทย แกนนำจากพรรคขั้วอำนาจเดิม หรือแม้กระทั่งผู้ที่ได้รับฉายาว่าเป็น “ศาสดาของพรรคก้าวไกล” พากันบินไปพบ “นายใหญ่คนเสื้อแดง” ที่ฮ่องกง แม้จะอ้างว่าเป็นการพบเพื่ออวยพรวันคล้ายวันเกิด แต่ข่าวสารที่ออกมาสู่สายตาของสาธารณชนดำเนินไปในทิศทางเดียวกันว่าคือ “ซูเปอร์ดีล” พร้อมๆ กับ “สูตร” ที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลที่เวลานี้มี “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำประสบความสำเร็จ
บางสูตรมี “พรรคก้าวไกล” ร่วมอยู่ด้วย โดยมีข้อแม้ “ไม่แตะมาตรา 112” และ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลายคนมองว่าเป็น “สูตรปั่น” เสียมากกว่า
บางสูตรถีบ “พรรคก้าวไกล” ไปเป็นฝ่ายค้าน แล้วดึง “พรรคขั้วรัฐบาลเดิม” เข้ามาร่วมด้วย
ส่วน “สูตรจริง” จะเป็นอย่างไร จะสลับขั้ว สลับร่าง ในรูปลักษณ์ไหน อีกไม่นานคงรู้กัน แต่ที่แน่ๆ คือมีการฟันธงกันว่า การจัดตั้งรัฐบาลจะเรียบร้อยก่อน “วันที่ 10 สิงหาคม 2566” ซึ่งเป็นวันที่ “ทักษิณ” ประกาศจะเดินทางกลับไทยโดยบินมาลงที่สนามบินดอนเมือง
นี่คือประวัติศาสตร์อันน่าเหลือเชื่อของการเมืองไทย
ใครจะไปเชื่อว่า “นักโทษชายหนีคดี” จะกลายเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล”
ใครจะไปเชื่อว่าอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลจะย้ายไปอยู่ในมือ “ทักษิณ” ได้
และแน่นอนว่า เบื้องหน้าเบื้องหลังที่ทำให้ “โลกของนักโทษโทนี่เป็นสีชมพู” นั้น มีความน่าสนใจ ด้วยถือเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญ
15 ปีที่เป้าหมายกลับไทยล้มเหลว
ระหว่างที่เกมการเมือง ชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี-จัดตั้งรัฐบาล ยังฝุ่นตลบ ก็มี “ซีนใหญ่” มาแทรก
กับคิวกลับประเทศไทยของ “นายห้างดูไบ” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านการเปิดเผยโดย “ลูกอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว ที่วันนี้รั้งตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งระบุว่า “พ่อจะกลับมาบ้านแล้ว วันที่ 10 สิงหาคม 2566 ที่สนามบินดอนเมือง”
เป็นการประกาศเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 74 ปี ของ “แดดดี้ษิณ” เมื่อ 26 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
เมื่อกล้าให้ “อุ๊งอิ๊งค์” บุตรสาวคนเล็กที่วันนี้เป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว เป็นผู้คอนเฟิร์มกำหนดการด้วยตัวเอง ลงรายละเอียดถึงขั้นว่าเครื่องบินแลนด์ดิ้งที่สนามบินดอนเมือง ก็เชื่อว่างวดนี้ “ทักษิณ” จะกลับมาจริง ไม่บิดพลิ้ว หรือโยนหินถามทางเหมือนที่ผ่านมา
สอดรับกับรายงานข่าวจาก “ทางการ” ที่มีการตระเตรียมการรับตัว “ทักษิณ” ในฐานะ “นักโทษหนีคดี” กันบ้างแล้ว ซึ่งเชื่อว่าเพราะมีการประสานงานล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว
โดยมีการจดสถิติว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา “ทักษิณ” เคยประกาศผ่านทางสาธารณะไม่ต่ำกว่า 18 ครั้งว่า จะกลับประเทศ แต่ก็ไม่เคยมาจริงๆ เสียที
ทั้งนี้ หาก “ทักษิณ” เดินทางกลับไทยในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 นี้จริง ก็จะถือเป็นการกลับมาเหยียบแผ่นดินเกิดเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีเต็มพอดิบพอดี หลังจากที่ครั้งสุดท้ายคือ เมื่อปี 2551 “ทักษิณ” ขออนุญาตศาลฎีกาฯ เดินทางออกนอกประเทศ โดย “อ้าง” เหตุผลไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศจีน และญี่ปุ่น โดยระบุวันเดินทางระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 10 สิงหาคม 2551 หนึ่งในภารกิจคือการร่วมพิธีเปิดงานกีฬาโอลิมปิก ที่ประเทศจีน ระหว่างในวันที่ 5-10 สิงหาคม 2551
ทว่า เมื่อถึงวันนัดให้ไปรายงานตัวต่อศาล วันที่ 11 สิงหาคม 2551 “ทักษิณ” ไม่ไปรายงานตัวต่อศาล และปรากฎตัวพร้อมครอบครัวต่อสาธารณะอีกครั้งที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในอีกราว 2 เดือนต่อมา ที่เสมือนเป็นการประกาศ “หนีคดี” อย่างเป็นทางการ
เข้าใจว่า 15 ปีที่ผ่านมา “ทักษิณ” ปรารถนาที่จะกลับประเทศไทยมาโดยตลอด โดยมีโจทย์สำคัญคือต้องกลับแบบ “เท่ๆ” ซึ่งตีความเป็นอื่นไม่ได้ นอกจาก “ไม่ต้องเข้าคุก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังได้ “หลานคนแรก” จนถึงปัจจุบันที่มีหลานรวม 7 คนเข้าให้แล้ว ทำให้ “ทักษิณ” ที่วันนี้มีฐานะเป็น “ปู่ปู่-ตาตา” ยิ่งอยากจะกลับประเทศมากยิ่งขึ้น
ย้อนไป “เครือข่ายทักษิณ” เคยพยายามอย่างจริงจังในการดัน “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย” สมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ที่ทำให้ “น้องปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องระหกระเหินตามสมทบใช้ชีวิตในต่างแดนกับพี่ชาย ในฐานะนักโทษหนีคดีเหมือนกัน
ยิ่งในช่วงการบริหารประเทศของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงการเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถชิงธงเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ไม่เป็นใจกับการกลับบ้านของ “ทักษิณ”
จนมาถึงการเลือกตั้ง 2566 ที่ “ทักษิณ” โดยพรรคเพื่อไทย หมายมั่นปั้นมือกับแผน “แลนด์สไลด์” และมั่นใจมากว่า จะได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ทำให้ “นายใหญ่เพื่อไทย” เริ่มส่งสัญญาณกลับบ้านเข้มขึ้นเรื่อยๆ
โดยมีการประเมินภายในว่า จะทำให้แผนการกลับประเทศของ “ทักษิณ” ส่งผลบวกกับคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยอย่างไรได้บ้าง
ความเป็นจริงกำหนดการ 10 สิงหาคม 2566 ที่เพิ่งกำหนดไม่ได้เร็วกว่าที่คาด และ “ล่า” ไปจากกำหนดการเดิมที่ประกาศจะกลับภายในเดือนกรกฎาคม 2566 และที่สำคัญเอาเข้าจริง “ทักษิณ” ตั้งใจจะกลับ “พ.ศ.นี้” มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ก่อนจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง เพื่อให้สอดรับกับการสร้างคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย ที่ดัน “ลูกอิ๊งค์” ขึ้นมาเป็นผู้นำ ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และวางตัวให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ
แต่ก็ถูกทัดทานไว้ เพราะหากเกรงว่า “ทักษิณ” อาจเป็นปัจจัยให้เกิดกระแสตีกลับ หรือหากกระแสดี ก็สุ่มเสี่ยง “พาล” ให้ไม่มีการเลือกตั้งด้วยซ้ำ
จนถึงช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง เดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม 2566 ขณะที่ “กระแส” เริ่มไม่เป็นบวกกับการแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดินของ พรรคเพื่อไทย ก็มีไอเดียให้ “นายใหญ่เพื่อไทย” กลับประเทศมาเพื่อกู้คะแนนนิยม ก่อนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ราว 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นกำหนดการคลอดลูกของ “อุ๊งอิ๊งค์” พอดี
แต่ก็ถูก “เบรก” ไว้อีกเช่นกัน เพราะยังเชื่อลึกๆว่า อย่างน้อยๆ พรรคเพื่อไทย ก็จะชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 แม้จะไม่ชนะขาด แต่ก็จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
“ตาตาษิณ” จึงทำได้เพียงโพสต์ทวิตเตอร์ส่วนตัวระบุว่า “ผมคงต้องขออนุญาตกลับไปเลี้ยงหลาน” เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ซึ่ง “ลูกอิ๊งค์” เพิ่งให้กำหนด “หลานธาษิณ" ที่เป็นหลานคนที่ 7 ของ “ตาตาษิณ” นั่นเอง
ก่อนที่ไม่กี่วันถัดมา จะโพสต์อีกครั้งว่า “ผมขออนุญาตอีกครั้ง ผมตัดสินใจแล้วว่าจะกลับบ้านไปเลี้ยงหลานภายในเดือน ก.ค.นี้ก่อนวันเกิดผมครับ ขออนุญาตนะครับ เกือบ 17 ปีแล้วที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ … ทั้งหมดคือการตัดสินใจของผมเองด้วยความรักผูกพันธ์กับครอบครัว/แผ่นดินเกิด และเจ้านายของเรา” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ “ทักษิณ” ระบุช่วงเวลาที่จะกลับอย่างชัดเจนว่า “ภายในเดือนกรกฎาคมนี้” หลังจากที่ก่อนนี้จะระบุกว้างๆ มาโดยตลอด
แต่พลันที่ผลการเลือกตั้งออกมา ทำเอา “ทักษิณ” แทบตกเก้าอี้ ที่ถูกพรรคก้าวไกลปาดหน้าได้เป็นอันกับ 1 ในสนามเลือกตั้ง พร้อมสิทธิ์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
อย่างไรก็ดี สถานะของพรรคเพื่อไทย หลังเลือกตั้งก็ยังพอถูไถไปได้ เมื่อจับขั้วกับพรรคก้าวไกล ร่วมเป็น 8 พรรคเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล
ในช่วงการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลที่คาบเกี่ยวมาถึงเดือนกรกฎาคม ประเด็นการกลับบ้านของ “ทักษิณ” ก็ถูกติดตามอย่างใกล้ชิดคู่ขนานกันไป โดย “อุ๊งอิ๊งค์” ซึ่งได้รับสิทธิ์จากคนในครอบครัวให้เป็นผู้ให้ข่าวเรื่องนี้ก็ระบุว่า คุณพ่อจะกลับมาก็ต่อเมื่อ “การเมืองนิ่ง” เพราะไม่อยากถูกมองว่าเป็นปัจจัยให้เกิดแรงกระเพื่อมใดๆ
พร้อมทั้งระบุว่า กำหนดการกลับประเทศของ “พ่อษิณ” อาจต้องเลื่อนๆ ออกไปเล็กน้อย เพราะการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่เรียบร้อย
โดยมีการเปิดเผยด้วยว่า “คุณหญิงอ้อ” คุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ อดีตภริยานายทักษิณ ถือเป็นคนสำคัญที่ “แตะเบรก” การกลับประเทศของอดีตสามี ที่อยู่ในอารมณ์ “ใจร้อน”
ตามกระแสข่าวว่า “ทักษิณ” เตรียมตัวกลับตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ไม่นาน โดยเฉพาะการเดินทางมาที่ประเทศสิงคโปร์ก่อนหน้านี้ 2 ครั้งติดๆ กัน ก็เพื่อที่จะเตรียมจับเครื่องเข้าเมืองไทย แต่ก็ตัดสินใจชะลอไว้ก่อนตามคำทัดทานของอดีตภริยา จนต้องส่งกระเป๋าสัมภาระที่เตรียมไว้กลับประเทศไทยมาก่อน
นักโทษผู้มากบารมี
การเมืองไทยในมือ“ทักษิณ”
เข้าใจว่า คนในครอบครัวชินวัตร โดยเฉพาะ “ลุกอิ๊งค์” พยายามไม่ให้เชื่อมโยงประเด็นการกลับประเทศของ “พ่อษิณ” กับการจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ฟังได้ยาก
เพราะมีการพูดกันว่า “เหตุ” ที่การจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคเสียงข้างมากที่นำโดย พรรคก้าวไกล ไม่สำเร็จ ไม่เพียงเพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจาก “พรรค ส.ว.” ที่ไม่ลงมติเห็นชอบ “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังเจอ “เหลี่ยม” ของพรรคเพื่อไทย ที่ไม่ต้องการให้การจัดตั้ง “รัฐบาลก้าวไกล” สำเร็จอีกด้วย เพราะในฐานะพรรคอันดับ 2 ก็มองโอกาสการได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเสนอชื่อนายกฯแทน พรรคก้าวไกล
และลึกๆ แล้ว “ทักษิณ” ที่ได้ชื่อว่าเป็น “นายใหญ่เพื่อไทย”ยังเล็งเห็นโอกาสในการใช้เกมจัดตั้งรัฐบาล “ต่อรอง” ในเรื่องการกลับประเทศของตัวเองได้ด้วย
ภายใต้ความเชื่ออว่า “กระบวนการ”กลับประเทศ ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของตัวเองนั้น มี “ปัจจัยอื่น” ที่ต้องคำนึงถึง มากกว่าการได้เป็นรัฐบาล มีบทเรียนมาแล้วสมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ที่กระแสความนิยมไม่ธรรมดา ยังต้องพังพาบไปต่อหน้าต่อตา
เป็น “ปัจจัยอื่น” ที่ “รัฐบาลก้าวไกล”หรือ “รัฐบาลเพื่อไทย” ก็ทำเองไม่ได้
เป็นที่มาของท่าทีแปร่งๆ เหลี่ยมๆ ของ พรรคเพื่อไทย ตลอดเส้นทางการร่วมฟอร์มรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล กระทั่งมา “ลายออก” เมื่อได้รับสิทธิ์แกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพียงวันเดียว ก็เปิดอาคารโอเอไอ ที่ทำการพรรค ต้อนรับพรรคซีกเสียงข้างน้อย โดยอ้างว่ามาหารือเพื่อหาทางออกวิกฤตของประเทศ
ทั้งที่ 5 พรรคการเมืองที่ได้รับเทียบเชิญ และมีการแถลงข่าวร่วมเป็นเรื่องเป็นราว อันประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชารัฐ ประกาศชัดเจนแบบ “ตามสคริปต์” ว่า “ไม่เอาก้าวไกล”
ไม่ต่างจากการที่ พรรคเพื่อไทย เปิดบ้านตั้งโต๊ะให้ 5 พรรคมาขยายแผลว่า พรรคก้าวไกล เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาล
จนถูกมองว่าเป็นการยืมปากเพื่อ “บอกเลิก” ทางอ้อม ท่ามกลางกระแสข่าว “ทักษิณ” เตรียมกดปุ่มให้ฉีกเอ็มโอยู 8 พรรคเสียงข้างมาก และเปิดลิ้นชักหยิบ “ดีลลับ” ที่เคยพับแผนไว้ชั่วคราวกลับมาพูดคุยกับ “ขั้วรัฐบาลเดิม”อีกครั้ง
เป็นดีลลับดีลเดิมที่แม้จะถูกปฏิเสธ แต่ก็ยังมีการพูดถึงมาโดยตลอด กับการตั้ง “รัฐบาลข้ามขั้ว” และโดดเดี่ยวพรรคก้าวไกล แชมป์เลือกตั้ง ไปเป็นฝ่ายค้าน
เป็น “ดีลลับ” ที่พูดกันหนาหูตลอดช่วงหลังการเลือกตั้ง ทั้ง “ดีลลับลอนดอน” ช่วงที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ บินไปพักผ่อนไม่กี่สัปดาห์ก่อน หรือ “ดีลลับฮ่องกง” ก่อนหน้านั้นที่มีข่าวว่า “ดีลเมกเกอร์” ของ “ค่ายลุงตู่” พรรครวมไทยสร้างชาติ ไปหารือกับ “ทักษิณ” ที่เกาะฮ่องกง
หรือล่าสุดที่ “ทักษิณ” เลือกบินมาฉลองวันคล้ายวันเกิดครบ 74 ปี 26 กรกฎาคม 2566 ที่เกาะฮ่องกง ก็มีรายงานข่าวว่า “ดีลเมกเกอร์” หลากค่ายการเมือง ทั้งที่ออกหน้ามีตำแหน่ง และที่ซุ่มอยู่หลังฉาก ต่างพร้อมใจกันตีตั๋วไปโซ้ยติ่มซำถึง “เกาะฮ่องกง” ช่วงสัปดาห์นี้อย่างไม่ได้นัดหมาย
ด้วยความที่ พรรคเพื่อไทยถือไพ่ “แกนนำรัฐบาล” และทุกคนก็รู้กันดีว่า จะเจรจากับพรรคเพื่อไทยต้องไปคุยกับใคร
เป็นเหตุให้ “ทักษิณ” เลือกบินมาฉลองวันคล้ายวันเกิดครบ 74 ปี 26 กรกฎาคม 2566 ที่ “เกาะฮ่องกง” ที่ไม่เพียงแต่เรื่องอาหารการกิน หรือความสะดวกสบาย แต่ยังเป็น “โลเกชัน” ที่เหมาะสม แขกไปใครมาไม่ยาก เพราะรู้ดีว่า วันนี้ถนนทุกสายต้องวิ่งมาคุยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล
ไม่เว้นกระทั่ง “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าอนาคตใหม่ ที่ว่ากันว่าเป็นผู้มีอำนาจตัวจริงของพรรคก้าวไกล ก็มีชื่อว่าเดินทางไปพบ “ทักษิณ” ถึงเกาะฮ่องกงด้วย
เรื่องนี้ “โกต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ก็ตอบคำถามสื่อแบบไม่ปฏิเสธ โดยระบุว่า “ไม่น่าจะมีการคุยกันตามที่เป็นข่าว” ส่วน “สาวช่อ” พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ คนสนิทของธนาธร ที่พยายามแก้เกี้ยวให้แบบ “พูดครึ่งเดียว” ว่า “ธนาธร” อยู่ที่เมืองไทย
ก่อนจะเจอขุดเที่ยวบิน กทม.-ฮ่องกง มายืนยันว่า “ธนาธร” เดินทางไปที่เกาะฮ่องกง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 และกลับมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ก่อนมาปรากฎตัวเข้าที่ทำการพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 แต่เจ้าตัวก็ไม่ได้ปฏิเสธข่าวการไปพบ “ทักษิณ”
ตามมาด้วย “สูตรรัฐบาล” ที่มีการพูดคุยกันที่เกาะฮ่องกงหลากหลายสูตร ทั้งสูตรที่ว่ากันว่า “ธนาธร” เสนอ โดยจะให้ พรรคก้าวไกล โหวตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ก่อนจะถอยไปเป็นฝ่ายค้าน โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลเพื่อไทย ต้องไม่มี “ค่าย 2 ลุง” คือ พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ
โดยสูตรนี้ฝ่ายรัฐบาลจะประกอบไปด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคประชาชาติ, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคชาติพัฒนากล้า และกลุ่มพรรคเล็ก โดยมีบางส่วนของ พรรคพลังประชารัฐ อาทิ กลุ่มของ “ผู้กองนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และบางส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ อาทิ กลุ่มของ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น มาร่วมรัฐบาล เพื่อเสริมเสถียรภาพรัฐบาล
เหลือพรรคก้าวไกล, พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นฝ่ายค้าน
คำนวณตามสูตรนี้ ก็จะมีเสียง สส.ทะลุ 375 เสียง โดยไม่ต้องพึ่งเสียงของ สว.ในการลงมติเห็นชอบนายกฯในที่ประชุมรัฐสภา
หรืออีกสูตรเป็นสูตรไขว้-ข้ามขั้ว โดยใช้ 312 เสียงของ 8 พรรคเสียงข้างมากเดิม เสนอชื่อ “ชัยเกษม นิติสิริ” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ก็คาดการณ์ว่าจะไม่ผ่าน เพราะยังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล
ก่อนที่พรรคเพื่อไทยในฐานะผู้ถือสิทธิ์แกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะส่งไม้ต่อให้พรรคภูมิใจไทย พรรคอันดับ 3 ลองจัดตั้งรัฐบาล และรวบรวมเสียงพรรคที่เหลือทั้งหมดมาเข้าร่วมรัฐบาล และเชิญ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย มาเป็นนายกรัฐมนตตี โดยสูตรนี้ พรรคก้าวไกล และบางพรรค อาทิ พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเป็นธรรม จะไปเป็นฝ่ายค้าน
คำนวณตามสูตรนี้เสียง สส.ฝ่ายรัฐบาลจะยังไม่ถึง 375 เสียง และยังต้องพึ่งเสียงของ สว.บางส่วน ซึ่งเชื่อว่าจะผ่านได้ไม่ยาก เพราะไม่มีพรรคก้าวไกลในสมการรัฐบาล และยังมี “พรรค 2 ลุง” ที่เชื่อกันว่า กดปุ่ม สว.บางส่วนได้มาเข้าร่วม
เป็น 2 สูตรใหม่ ที่เชื่อว่ายังปรับเปลี่ยนได้ตลอด ก่อนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2566ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภานัดประชุมรัฐสภา และคาดว่าจะมีการลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติเกี่ยวกับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีให้วินิจฉัยการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 (การเสนอญัตติซ้ำ กรณีเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบเป็นนายกฯ) เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้สั่งชะลอการสรรหานายกรัฐมนตรีไว้ก่อน
ซึ่งก็ต้องลุ้นกันอีกที วันที่ 4 สิงหาคม 2566 ว่าจะได้ตัวนายกรัฐมนตรีที่ 30 ของประเทศไทยจริงหรือไม่ และใครจะได้เป็น รวมไปถึงผลการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาว่า รัฐบาลผสมจะออกมาหน้าตาแบบไหน
เหนือสิ่งอื่นใด ปรากฎการณ์การฟอร์มรัฐบบาลที่ “เกาะฮ่องกง” งวดนี้ ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของ “ทักษิณ ชินวัตร” ในทางการเมือง
ถือเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ “นักโทษหนีคดี” ที่ไม่ได้อยู่ในประเทศมากว่า 17 ปี ยัง “มากบารมี” ถึงขนาดที่ทุกฝักฝ่าย ทุกค่ายการเมือง ต้องแห่ไปขอเจรจาด้วย
แน่นอนว่า การกลับประเทศไทยของ “ทักษิณ” ย่อมเป็นที่สนใจระดับ “พาดหัว” และทำให้อุณหภูมิการเมืองไทย “ร้อนฉ่า” ขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะไทม์มิ่งในช่วงที่การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่สะเด็ดน้ำ
เพราะแม้ว่า “นายห้างดูไบ” จะอำนาจหลุดมือมาแล้วกว่า 17 ปี หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเหยียบแผ่นดินไทยครั้งสุดท้ายเมื่อราว 15 ปีก่อน ครั้งเดินทางไปร่วมพิธีเปิดมหกรรมโอลิมปิกเกมส์ที่ประเทศจีน เมื่อปี 2551
แต่ต้องยอมรับว่ากว่า 3 ทศวรรษ ที่ “ทักษิณ” ก้าวเข้าสู่การมเมือง กระทั่งให้กำเนิดพรรคไทยรักไทย กลายมาเป็นพรรคพลังประชาชน มาจนถึงพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ชื่อของ “ทักษิณ ชินวัตร” ตัดไม่ขาดจากการเมืองไทย ที่สำคัญยังมีอิทธิพลในระดับกำหนดทิศทางได้ด้วย
ที่สุดการเมืองไทยก็วนลูป ก้าวไม่พ้น “ทักษิณ” เหมือนเดิม
ที่สำคัญคือ ณ พ.ศ.นี้ โอกาสและความหวังในการกลับไทยของเขามีมากกว่าทุกครั้ง แถมกลับมาในระดับ “ผู้มากบารมี” กลับมาในฐานะเสมือนเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล”
ดังนั้น คงไม่เกินเลยที่จะกล่าวย้ำอีกครั้งว่า “เวลาโลกของทักษิณมีแต่สีชมพู้ ชมพู”