xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม (ตอนที่ ๔๒)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ภาพการโจมตีพระราชวังตุยเลอรีเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2335
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) กระบวนการการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแบ่งออกได้เป็นสองแบบ แบบแรกคือ จะต้องมีการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน แล้วค่อยทูลเกล้าฯต่อพระมหากษัตริย์ให้แต่งตั้ง อีกแบบหนึ่งคือ ไม่ต้องผ่านการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร
 
ในกรณีของประเทศที่ไม่ต้องผ่านการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ ของสหราชอาณาจักร เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ภูฏาน และมาเลเซีย ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรณีของสหราชอาณาจักร เดนมาร์กและนอร์เวย์ไปแล้ว ในตอนนี้ จะขอกล่าวถึงเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นกัน

คราวที่แล้ว ได้กล่าวถึงกำเนิดรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยมในปี ค.ศ. 1831 ว่าเกิดจากการประนีประนอมระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มเสรีนิยม โดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรปขณะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ขอให้ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลันเกินไป ขณะเดียวกันจะต้องไม่ตัดขาดจากรากฐานความเป็นมาของเบลเยี่ยมไปเสียทั้งหมด
 
รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยมได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ค.ศ. 1791, 1814 และ 1830 และรวมถึงหลักการการปกครองของอังกฤษ แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส แต่รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสทั้งสามฉบับเป็นรัฐธรรมนูญที่ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ อีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับนี้ยังเป็นการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

 รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 ยังเรียกการปกครองว่าเป็นราชาธิปไตย และให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย แต่หลังจากสมัยประชุมสภานิติบัญญัติผ่านไปสองสมัยหลังจากที่มีการเสนอร่างกฎหมายนั้น หากสภานิติบัญญัตินั้นยังคงเสนอร่างกฎหมายเดิมโดยไม่มีการแปรญัตติใดๆ ให้ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบ 

 และพระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมายนี้เองที่กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่พอใจในการใช้พระราชอำนาจดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และเป็นรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายเปลี่ยนแปลงการปกครองจำกัดพระราชอำนาจและให้พระมหากษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นเอง 

 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มีคำสั่งให้ยอมจำนน
ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทำให้รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 มีอายุได้เพียง 341 วัน จากการเกิดจลาจลในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1792 จนเป็นเหตุให้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 สิ้นสภาพไป การจลาจลนั้นเป็นที่รู้จักกันในนาม “the Insurrection of 10 August 1792” 

ความเป็นมาของ  “การจลาจล 10 สิงหาคม 1792”  คือหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกกับสภานิติบัญญัติไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายเห็นว่ามีสามสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพวกเขา

 หนึ่ง คือพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกและพระนางมารี อังตัวเนตและพระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายซ้ายทั้งหมดต้องการยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์และเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้มีจุดยืนเช่นนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม
สอง พวกนักบวชที่ไม่ยอมสาบานตนต่อธรรมนูญสงฆ์ ค.ศ. 1790 ที่มีผลให้ศาสนจักรคาธอลิกอยู่ภายใต้รัฐบาล
สาม คือพวกลี้ภัยออกไปจากฝรั่งเศส ที่พวกฝ่ายซ้ายถือเป็นภัยคุกคามจากต่างแดน เมื่อเกิดการปฏิวัติ บรรดาผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ อภิชนและประชาชนจำนวนหนึ่งได้พากันลี้ภัยไปที่คอบเบลนซ์ (Koblenz) ที่ตั้งอยู่เหนือแม่น้ำไรน์ ห่างจากปารีส 413 กิโลเมตร ในตอนกลางปี ค.ศ. 1791 บรรดาผู้สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ในคอบเบลนซ์ได้เตรียมการที่จะยกทัพไปฝรั่งเศสเพื่อฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะในสายตาของพวกเขาเห็นว่า พระเจ้าหลุยส์ฯและพระราชินีถูกทำให้เป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น

พวกลี้ภัยนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพต่างชาติ และมีการส่งจารชนเดินทางไปมาระหว่างคอบเบลนซ์และพระราชวังทุยเลอรีเพื่อรับการสนับสนุนและการเงินจากพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหก และมีคณะกรรมการลับที่รวบรวมอาวุธและกำลังคนและนายทหารจากปารีส และเมื่อถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1792 มีข้อมูลว่า พวกลี้ภัยสามารถระดมกำลังคนพร้อมอาวุธได้ถึง 60,000 คนและพร้อมที่จะปฏิบัติการ 


พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงตรวจกองทหารที่ภักดี


ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1792 ฝรั่งเศสตัดสินใจทำสงครามกับกองกำลังต่อต้านการปฏิวัติ ซึ่งเกิดจากการรวมกันเป็นพันธมิตรระหว่างพวกลี้ภัย ออสเตรียและปรัสเซียที่สนับสนุนการต่อต้านการปฏิวัติในฝรั่งเศส ทั้งสองฝ่ายต่างคาดหวังที่รบชนะอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยฝ่ายพันธมิตรสามารถไล่กองทัพฝรั่งเศสและรุกเข้าไปในดินแดนของฝรั่งเศสได้

ดังนั้น ในการรับมือกับข้าศึกต่างชาติ ฝรั่งเศสจำต้องปรับปรุงกองทัพ ในช่วงเวลาดังกล่าว สภานิติบัญญัติได้ผ่านร่างกฎหมายสามฉบับ ได้แก่ หนึ่ง เนรเทศพระที่กระด้างกระเดื่อง สอง ยกเลิกกองทหารรักษาพระองค์ สาม เกณฑ์กำลังทหารเป็นจำนวน 100,000 คนและจัดตั้งค่ายทหารใกล้กรุงปารีส

ดังที่ได้กล่าวข้างต้น ตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791หมวดสาม ว่าด้วยพระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย (Royal Sanction) มาตรา 1-6 กำหนดไว้ว่า ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหก หากไม่เห็นชอบ ร่างกฎหมายนั้นจะถูกพักไว้เท่านั้น แต่หลังจากสมัยประชุมสภานิติบัญญัติผ่านไปสองสมัยหลังจากสมัยแรกที่มีการเสนอร่างกฎหมายนั้น หากสภานิติบัญญัตินั้นยังคงเสนอร่างกฎหมายเดิมโดยไม่มีการแปรญัตติใดๆ และให้ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบต่อร่างกฎหมายทั้งสามฉบับนั้น

พระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกทรงให้ความเห็นชอบต่อการยกเลิกกองกำลังรักษาพระองค์ แต่ใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายอีกสองฉบับ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญดังที่กล่าวไปแล้ว

ส่วนสถานการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในขณะนั้น คนฝรั่งเศสจำนวนมากยังคงเคารพพระมหากษัตริย์อยู่ แต่ไม่กล้าแสดงออกอย่างเปิดเผย มีเพียงกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ส่งเสียงออกมาในนามของมติมหาชน แสดงความไม่พอใจการคัดค้านร่างกฎหมายของพระเจ้าหลุยส์ฯ และออกมาประท้วงต่อต้านพระองค์

ในขณะที่สภานิติบัญญัติปฏิเสธที่จะกระทำการใดๆ  กลุ่มจาโคแบง (กลุ่มการเมืองที่ต้องการยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์)  พยายามที่ข่มขู่พระเจ้าหลุยส์ฯ ให้ยอมรับร่างกฎหมายและจะปลดรัฐมนตรีของพระองค์ โดยวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1792 ได้มีกลุ่มประชาชนติดอาวุธบุกเข้าไปในห้องประชุมสภาและพระราชวังทุยเลอรี ทำให้พระมหากษัตริย์และพระราชินีตกอยู่ในภาวะที่อันตรายอย่างยิ่ง แต่กระนั้น พระเจ้าหลุยส์ฯก็ทรงไม่ได้ให้สัญญาอะไรต่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนั้น

เมื่อฝูงชนดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ ก็ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาของกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนพระมหากษัตริย์ขึ้น นั่นคือ มีประชาชนชาวปารีสจำนวนราวสองหมื่นคนได้พากันลงชื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อพระเจ้าหลุยส์ฯ และยังมีจากพื้นที่และจังหวัดอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

 กลุ่มเฟอแยต์ (Feuillant) ที่แตกตัวออกจากกลุ่มจาโคแบง เพราะต้องการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ภายใต้เงื่อนไขที่พระราชอำนาจต้องถูกจำกัด ซึ่งก็คือระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 นั่นเอง และได้ออกเอกสารแผ่นพับประท้วงแผนการของกลุ่มจาโคแบงที่จะเข้าร่วมกับมวลชนในการประท้วงต่อต้านพระเจ้าหลุยส์ฯ และมีผู้นำทางการเมืองบางคนอย่าง  ลาฟาเยต (Lafayette)  พยายามที่จะระดมกลุ่มก้อนในการปกปักรักษารัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 หรืออีกนัยหนึ่งคือ ปกปักรักษาระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสไว้ แต่พระเจ้าหลุยส์ฯ และพระราชินีทรงเลี่ยงที่จะรับการสนับสนุนดังกล่าว เพราะที่ผ่านมา ทั้งสองพระองค์ไม่ไว้วางพระทัยและไม่ทรงโปรดลาฟาเยตและกลุ่มเฟอแยต์ (Feuillant) แต่ทรงคาดหวังความช่วยเหลือจากกองทัพต่างชาติ โดยเฉพาะกองกำลังจากออสเตรีย เพราะพระนางมารี อังตัวเนตเป็นพระราชธิดาของจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา แห่งฮังการีและโบฮีเมีย อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย (ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค)

กลุ่มการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งคือ  กลุ่มจิรองแดง (Girondin)  (ในตอนแรก กลุ่มนี้ก็ต้องการให้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ต่างจากกลุ่มจาโคแบง แต่ต่อมาก็ไม่เห็นด้วยกับกระแสการปฏิวัติและเห็นว่าควรรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้เป็นหุ่นเชิด เพื่อเลี่ยงการลุกฮือของฝ่ายนิยมกษัตริย์ จึงทำให้ขัดแย้งกับกลุ่มจาโคแบง) ได้ยื่นข้อเสนอที่จะให้ความช่วยเหลือต่อพระเจ้าหลุยส์ฯในการปกปักรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์โดยมีเงื่อนไขว่าพระองค์จะต้องยอมแต่งตั้งให้พวกเขาเป็นรัฐมนตรี

 การประชุมใหญ่สโมสรจาโคแบงในปีค.ศ. 1791 5.ลาฟาเยต (Lafayette) ขอบคุณภาพจาก “วิกิพีเดีย”
แต่เมื่อพระองค์ทรงปฏิเสธ ก็ส่งผลให้กลุ่มจิรองแดงเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับกลุ่มจาโคแบงในการใช้กำลังโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้สถานการณ์ความตึงเครียดดังกล่าว ทำให้เกิดกลุ่มปฏิวัติขึ้นใหม่ โดยมีการผนึกกำลังทั้งพลเรือนและทหารในวงกว้างในการโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์และรับมือกับกองกำลังต่างชาติที่รวมกันเป็นพันธมิตรซึ่งนำโดย  ดุ๊กแห่งบรันสวิค (Duke of Brunswick) ที่เขาได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1792 ว่า กองกำลังพันธมิตรจะกรีฑาทัพเข้าฝรั่งเศสเพื่อฟื้นฟูพระราชอำนาจให้กลับคืนมาและจะเดินทางไปยังสภาและปารีสโดยพร้อมจะปฏิบัติการทางการทหารหากมีการก้าวล่วงใดๆ ต่อพระเจ้าหลุยส์ฯ แถลงการณ์ดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาอันรุนแรงที่เป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงฝรั่งเศสให้เป็นสาธารณรัฐ

การก่อการปฏิวัติโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ หรืออีกนัยหนึ่งคือฉีกรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 จึงเกิดขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม กลุ่มปฏิวัติได้จัดตั้งรัฐบาลคณะปฏิวัติแห่งปารีสขึ้น และยื่นกำหนดเส้นตายให้สภานิติบัญญัติประกาศยุติสถานะความเป็นกษัตริย์ของพระเจ้าหลุยส์ฯเป็นการชั่วคราว แต่เมื่อสภาไม่ปฏิบัติตาม กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ใช้กำลังเข้าจู่โจมพระราชวังและได้เกิดการจลาจลขึ้น พระเจ้าหลุยส์ฯและพระราชินีทรงเสด็จไปยังสภาเพื่อความปลอดภัย

 สภาไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องทำตามความต้องการของคณะปฏิวัติออกประกาศยุติสถานะของพระเจ้าหลุยส์ฯ และต่อมา สภาได้ตกอยู่ในสภาพที่หมดอำนาจใดๆ และรัฐบาลคณะปฏิวัติได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสภาแห่งชาติ (National Convention) ที่จะทำการพิพากษาพระเจ้าหลุยส์ฯและทำการร่างรัฐธรรมนูญที่ให้ฝรั่งเศสปกครองในระบอบสาธารณรัฐ และวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792 ถือเป็นการปฏิวัติของฝรั่งเศสครั้งที่สองต่อจากการปฏิวัติ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 และเป็นการสิ้นสุดสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสครั้งที่หนึ่ง ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1814 ได้มีการรื้อฟื้นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญกลับคืนสู่ฝรั่งเศสอีกครั้ง อันนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สองของฝรั่งเศสที่มีต่อรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 


กำลังโหลดความคิดเห็น