xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ใต้เงาจีน (7)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เสาทำด้วยหินแกรนิตสีชมพู เขียนว่าท่าเรือโบราณจังหลิน จากหนังสือ “คืนถิ่นจีนใหญ่”
คอลัมน์...ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล



 ชีวิตที่คูคลองและโกดัง 

ว่าที่จริงแล้วการอพยพของชาวจีนแต้จิ๋วหรือจีนอื่นๆ ใช่ว่าจะราบรื่นในแบบที่ว่า คิดจะอพยพก็อพยพได้ทันทีทันใดแบบปัจจุบัน

การอพยพของชาวจีนโพ้นทะเลในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนมีอุปสรรคทั้งสิ้น สาเหตุสำคัญมาจากนโยบายของรัฐบาลจีนในแต่ละยุคแต่ละสมัย และในกรณีที่อพยพมาไทยนั้นตรงกับราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ดังนั้น เราจึงต้องดูว่านโยบายในยุคนั้นเป็นอย่างไร

 จากงานศึกษาของฝ่ายจีนทำให้รู้ว่า การอพยพของชาวจีนโพ้นทะเล (ที่มีจีนแต้จิ๋วเป็นส่วนหนึ่งของผู้อพยพ) ถูกแบ่งเป็นช่วงๆ เริ่มจากช่วงแรก เป็นช่วงการห้ามออกทะเลและย้ายเขต (ค.ศ.1640-1683) หากใครถูกจับได้จะถูกลงโทษ

ช่วงที่สอง เป็นช่วงที่เริ่มผ่อนคลายการห้ามออกทะเล (ค.ศ.1683-1717) ในช่วงนี้ได้นำมาซึ่งการค้าทางทะเลที่เป็นไปอย่างคึกคัก

ช่วงที่สาม เป็นช่วงที่ห้ามเดินทางไปทะเลใต้ แต่ให้เปิดการค้าทางทะเลตะวันออก (ค.ศ.1717-1727) ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะราชวงศ์ชิงหวั่นเกรงว่าจะมีชาวจีน (ฮั่น) ที่ตกค้างอยู่ที่ทะเลใต้คิดจะกอบกู้ราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ด้วยการไม่ยอมจำนนต่อราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นชนชาติแมนจู  

แต่ช่วงนี้ดำรงอยู่ไม่นานก็ยกเลิกข้อห้ามดังกล่าว ทำให้ชาวจีนสามารถเดินทางออกนอกประเทศไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ในขณะที่บางประเทศก็ต้องการแรงงานจีนมาพัฒนาประเทศของตนมากขึ้น

จากนั้นการอพยพของชาวจีนโพ้นทะเลก็เข้าสู่ยุคใหม่ เมื่อตะวันตกเข้ามาคุกคามจีนโดยเริ่มจาก สงครามฝิ่น (ค.ศ.1840-1842)  ระหว่างจีนกับอังกฤษ แล้วจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่นั้นมาจีนก็ถูกตะวันตกบังคับให้เปิดประเทศมากขึ้นๆ เรื่อยมา

จากนั้นการอพยพของชาวจีนก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไรอีก จะเรียกว่าเป็นภาพที่ชินตาก็คงไม่ผิด

แต่ภาพที่ชินตานี้ไม่ได้หมายความว่า ชาวจีนอพยพจะเดินทางในแบบคนปกติทั่วไป ตรงกันข้ามกลับถูกปฏิบัติอย่างไร้ความเป็นมนุษย์ โดยแรงงานจีนเหล่านี้จะถูกต้อนลงไปอยู่ใต้ท้องเรืออย่างแออัดยัดเยียด ไม่ต่างกับการลำเลียงหมูดังที่เราเห็นในทุกวันนี้

จากเหตุนี้ ชาวจีนเหล่านี้จึงถูกเรียกว่า แรงงานจีนลูกหมู 

ที่สำคัญ แรงงานจีนลูกหมูเหล่านี้หากไม่ถูกหลอกให้ไปขายแรงงานก็จะถูกลักพาตัว ฐานะเช่นนี้ก็บอกอยู่ในตัวอยู่แล้วว่าถูกปฏิบัติอย่างไร เหตุฉะนั้น ในขณะที่แรงงานจีนลูกหมูลอยเรืออยู่กลางทะเลนั้น เรือที่ใช้ลำเลียงจึงถูกเรียกว่า นรกลอยน้ำกลางทะเล

ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะมีชาวจีนเสียชีวิตในนรกลอยน้ำกลางทะเลนี้ไปไม่น้อย ส่วนคนที่ไปถึงสุดที่หมายปลายทางก็ต้องเข้าสู่กระบวนการใช้แรงงานเข้มข้น ในขณะที่บางแห่งคือแรงงานทาส

อย่างไรก็ตาม นับแต่ช่วงปลายราชวงศ์ชิงเรื่อยมา จีนซึ่งอ่อนแอลงทุกขณะก็ไม่อาจเป็นที่พึ่งพาของราษฎรได้อีก การถูกต่างชาติข่มเหงรังแกแล่เนื้อเถือหนัง และการปกครองที่ล้มเหลวของราชวงศ์ชิง ล้วนเป็นเชื้อที่ดีที่ทำให้ชาวจีนพากันอพยพมากขึ้น

ถึงตอนนี้การเดินทางออกนอกประเทศก็ไม่ได้มีสภาพที่ย่ำแย่อีกต่อไป ชาวจีนที่อพยพออกนอกประเทศในช่วงนี้ก็คือชาวจีนโพ้นทะเลที่เรารู้จักในทุกวันนี้นั้นเอง ซึ่งตรงกับช่วงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ของไทยเรื่อยมา จนถึงช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง

 ช่วงที่ว่านี้มีประเด็นที่พึงกล่าวด้วยก็คือว่า ทางจีนเองก็มีการย้ายท่าเรือจากเมืองจังหลิน หรือที่ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า จึงลิ้ม มาที่ซัวเถา จึงลิ้มนี้เคยเป็นเมืองที่อยู่ติดทะเล แต่ตอนที่เราไปสำรวจพื้นที่ของเมืองนี้ได้ตื้นเขินมากแล้ว ตื้นจนมีแผ่นดินงอกออกไปในทะเลถึง 8 กิโลเมตร 

การค้าไทย-จีนในช่วงปลายอยุธยา ช่วงธนบุรี จนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ล้วนกระทำผ่านท่าเรือจังหลินทั้งสิ้น ตอนที่ไปเห็นนั้น ท่าเรือนี้ได้ร้างไปแล้ว คลองที่เคยนำเรือสินค้าขนาดใหญ่จากปากน้ำเข้ามาถึงพื้นที่นี้ตื้นเขินจนเกือบจะเป็นน้ำเน่า และแทบไม่เหลือสภาพของคลองเลยก็ว่าได้

จะเรียกว่าเป็นคูก็คงไม่ผิด เพราะทั้งแคบทั้งเล็กและมีขยะมูลฝอยในบางช่วง ถ้าไม่บอกว่าที่แห่งนี้เคยเป็นคลองที่เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่แล่นไปมาสะดวกแล้วก็คงไม่มีใครเชื่อ สภาพคลองในอดีตที่เห็นนี้จึงไม่ต่างกับคลองหลายสายในกรุงเทพฯ เวลาที่ผมนั่งรถผ่านหรือเดินผ่านทีไร ก็พยายามมองให้เป็นคลอง

ชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางเข้าไปใช้แรงงานในประเทศสหรัฐฯ ช่วงปี ค.ศ. 1800 เป็นกำลังหลักสร้างบ้านแปงเมืองและทำงานที่อันตราย ทุรกันดาร เช่น งานเหมืองแร่ และสร้างทางรถไฟข้ามทวีปฯ โดยหลังจากที่ได้สร้างทางรถไฟเสร็จแล้ว สหรัฐฯ ก็ออกรัฐบัญญัติกีดกันในปี ค.ศ. 1882 ซึ่งทำให้ชาวจีนโพ้นทะเลต้องประสบปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ และถูกกีดกันไม่ให้โอนสัญชาติ รวมทั้งสิทธิพลเมืองอื่นๆ(ภาพเอเยนซี)
แต่มองอย่างไรก็มองไม่ออกว่ามันเป็นคลองตรงไหน

 แต่ที่ผมประทับใจมากก็คือ อาคารร้างก่ออิฐถือปูนอายุนับร้อยปี อาคารนี้อยู่ริมคลองและตั้งเรียงรายตลอดแนวคลอง แต่ที่ไปเห็นนั้นเหลืออยู่ไม่มาก ถึงกระนั้นก็นึกภาพออกว่าในอดีตคงคึกคักน่าดู 


กล่าวคือ อาคารเหล่านี้แม้จะเป็นตึกชั้นเดียวแบ่งเป็นห้องๆ และภายในมีชั้นลอย ชั้นลอยนี้คือที่พักของคนงานขนสินค้าจากเรือ โดยเหนือชั้นลอยขึ้นไปเล็กน้อยจะช่องลมที่ทำหน้าที่เป็นหน้าต่างไปในตัว ช่องลมนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นช่องที่สามารถมองออกไปยังแนวคลองได้

เวลาที่เรือสินค้าแล่นจากปากน้ำเข้ามายังคลอง คนงานที่พักในแต่ละอาคารจะมองเห็นเรือที่แล่นเข้ามาได้อย่างชัดเจน และจะรู้ว่าเรือจะมาถึงท่าที่ตนพักแล้วหรือยัง เมื่อมาถึงแล้วคนงานก็จะออกไปขนสินค้าจากเรือมาพักไว้ในตัวอาคาร ก่อนที่จะกระจายสินค้าเหล่านี้ไปยังที่ต่างๆ ในเมืองต่อไป

อาคารเหล่านี้จึงเป็นโกดังเก็บสินค้า แต่ก็เป็นที่พักของคนงานไปด้วยในตัว

ผมกวาดสายตามองไปรอบๆ ภายในตัวอาคาร ภาพที่เห็นไม่ว่าจะเป็นประตูเข้าออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง กระไดไม้สำหรับขึ้นลงชั้นลอย ตัวชั้นลอยที่สร้างด้วยไม้ ฝุ่นที่หนาเขรอะ และข้าวของที่วางระเกะระกะที่ถูกฝุ่นจับเช่นกันแล้วก็ให้นึกสะท้อนใจยิ่งนัก

 นึกสะท้อนใจแล้วก็จินตนาการต่อไปว่า ครั้งหนึ่งที่แห่งนี้เคยมีชีวิตชีวาขนาดไหน ผมเห็นภาพการขนถ่ายสินค้าของคนงาน ได้ยินเสียงตะโกนโหวกเหวกของคนงานเวลาที่เห็นเรือจากช่องลม เสียงที่คนงานสนทนา เสียงโกรธ เสียงหัวเราะทั้งในยามทำงานและพักผ่อน 

นึกแล้วก็ขนลุกซู่

มันเหมือนกับว่า คนงานเหล่านี้กำลังมองเราอยู่รอบๆ ตัวเรา และคงยิ้มต้อนรับเราด้วยความปีติยินดีที่จู่ๆ ก็มาศึกษาเรื่องราวที่มีพวกเขาเกี่ยวข้องด้วย พวกเขาคงอยากจะรู้ว่า สินค้าจีนที่ส่งไปยังสยามเป็นอย่างไรบ้าง และชาวสยามกินหรือใช้มันอย่างไร ชอบอะไรและไม่ชอบอะไร

ผมเองก็อยากจะรู้ว่า แล้วสินค้าจากสยามล่ะเป็นอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะพริกไทยกับน้ำตาลที่จีนสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก หรือข้าวจากสยามมีรสชาติแตกต่างกับข้าวจีนอย่างไร ชาวจีนถึงได้ชอบนัก

 แล้วพวกเขามีญาติสนิทมิตรสหายไปทำงานที่สยามบ้างหรือไม่ ถ้ามีแล้วพวกเขายังคงได้ติดต่อพบเห็นกันอีกหรือเปล่า หรือว่าเอาชีวิตไปทิ้งที่สยามไม่กลับมาจีนอีกเลย 



กำลังโหลดความคิดเห็น