xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชมดาวพร่างพราว “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” ท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ หนุนไทยเที่ยวไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  เดินหน้าขึ้นทะเบียน “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด” พื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ายามค่ำคืน ปักหมุดเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ สัมผัสความสวยงามเหนือท้องฟ้าเมืองไทย อีกนัยหนึ่งเป็นการรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง 

สำหรับ  “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky in Thailand)”  เกิดจากความร่วมมือของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2563 จนกระทั่งในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้จัดพิธีมอบโล่และขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยขึ้นเป็นปีแรก โดยมีเงื่อนไขว่าสถานที่นั้นต้องสามารถสังเกตเห็นดวงดาวในเวลากลางคืนได้อย่างชัดเจน อาจเป็นอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ส่วนตัว

ตัวอย่างเช่น เขตสงวนท้องฟ้ามืดอาโอรากิ แมคเคนซี ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นเขตสงวนท้องฟ้ามืดที่ประสบความสำเร็จ สามารถจัดบริการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กิจกรรมดูดาว/ถ่ายภาพในเวลากลางคืน ห้องพัก โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก เทศกาลชมดาว และการบรรยายพิเศษ ทำให้เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างมาก

สำหรับเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดของไทยถือเป็นพื้นที่นำร่องที่ปลุกกระแสการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ ใช้เป็นจุดขายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และเป็นสถานที่ถ่ายภาพสำหรับกลุ่มนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ชวนให้ออกมาดูดาวท่ามกลางธรรมชาติ ชมปรากฏบนท้องฟ้าแต่ละเดือน ตลอดจนเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ อุทยานท้องฟ้ามืด ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล และเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง สถานที่ที่ขึ้นทะเบียนแต่ละประเภทจะต้องมีความมืดของท้องฟ้าที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการแสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากแสงรบกวน มีพื้นที่เปิดโล่งสังเกตท้องฟ้าได้โดยรอบ มองเห็นดาวเหนือ และวัตถุท้องฟ้าเด่นๆ ได้ด้วยตาเปล่า มีบุคลากรในพื้นที่ที่สามารถให้ความรู้ทางดาราศาสตร์เบื้องต้นแก่นักท่องเที่ยวได้ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่ผู้มาใช้บริการ เช่น เส้นทางคมนาคม ห้องน้ำ ที่พัก ร้านอาหาร เป็นต้น

ช่วงปี 2565 มีการกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์กว่า 150 ครั้ง มีผู้สนใจเข้าร่วมไม่ต่ำกว่าแสนคน จากกระแสตอบรับการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ในปีที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้มีสถานที่จากทั่วประเทศสมัครขอรับการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2566 จำนวน 26 แห่ง แต่ผ่านการพิจารณาจำนวนทั้งสิ้น 18 แห่ง

สำหรับเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดมีทั้งหมด 18 แห่ง โดยเป็น  พื้นที่อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (ลานชมดาว) จังหวัดจังหวัดกำแพงเพชร อุทยานแห่งชาติตาพระยา (ลานกางเต็นท์กลางดง) จังหวัดสระแก้ว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา อุทยานแห่งชาติศรีน่าน (ดอยเสมอดาว) จังหวัดน่าน และวนอุทยานน้ำตกผาหลวง จังหวัดอุบลราชธานี

นอกจากนี้ ยังมี  เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties)  จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ Mela Garden Retreat Cottage จังหวัดสระบุรี Khirimala Eco Camp จังหวัดราชบุรี ฟาร์มแสงสุข จังหวัดระยอง ไร่เขาน้อยสุวณา จังหวัดนครราชสีมา ต้นข้าวหอมบ้านอ้อมดอย จังหวัดเชียงใหม่ Villa De View – Boutique Residence at Chiang Dao จังหวัดเชียงใหม่ เชียงดาวฟาร์มสเตย์ จังหวัดเชียงใหม่ บ้านสวนป่าโป่งดอย จังหวัดเชียงใหม่ The Teak Resort จังหวัดเชียงใหม่ พูโตะ จังหวัดเชียงใหม่ และอ่าวโต๊ะหลี จังหวัดพังงา และ ขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สวนสัตว์ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และ Summit Green Valley Chiangmai Country Club จังหวัดเชียงใหม่

นับเป็นหนึ่งในแคมเปญสนับสนุนการท่องเที่ยว ที่มี “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” หรือ “ททท.” เป็นเจ้าภาพหลัก ดำเนินการผ่าน โครงการ “AMAZING DARK SKY IN THAILAND #Season 2” หรือ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด”  ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อผลักดันการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience-based-Tourism) โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ (Dark Sky Tourism) เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวมิติใหม่ ผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความสนใจของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มได้อย่างครอบคลุม สอดรับกับแนวทางการขับเคลื่อนปีท่องเที่ยวไทย 2566

 นายยุทธศักดิ์ สุภสร  ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่าโครงการดังกล่าว มุ่งสนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience-based-Tourism) โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ (Dark Sky Tourism) ให้เป็นหนึ่งในสินค้าการท่องเที่ยวที่สามารถส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวมิติใหม่ สอดรับกับแนวทางการขับเคลื่อนปีท่องเที่ยวไทย 2566

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่าโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดจะช่วยกระตุ้นให้พื้นที่และชุมชนใกล้เคียง รวมถึงในอีกหลายแห่งทั่วประเทศไทยเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ร่วมกันสงวนรักษาความมืดของท้องฟ้าเวลายามค่ำคืน ให้เหมาะกับการเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ และเชิงดาราศาสตร์ ทั้งยังช่วยลดผลกระทบจากมลภาวะทางแสงที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงลดการสิ้นเปลืองพลังงานอีกด้วย โดยทาง สดร. ตั้งเป้าผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

อย่างไรก็ดี โครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND #Season 2 หรือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สดร. และ ททท. เชื่อว่าจะกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นไปตามนโนบายของหนุนตลาดในประเทศของ ททท.

โดย  น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. ซึ่งมารับตำแหน่ง ผู้ว่าการ ททท. ในวันที่ 1 กันยายน 2566 กล่าวถึงแผนรุกตลาดท่องเที่ยวในประเทศจะให้น้ำหนักไปที่การกระตุ้นให้เดินทางท่องเที่ยวทันที เพิ่มความถี่ และการกระจายตัวท่องเที่ยวหลากหลายพื้นที่มากขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน ตลอดทั้งปี เพื่อสร้างรายได้ให้ทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม ควบคู่กับการนำเสนอจุดแข็งสู่จุดขายของ soft power (5F) และนำเสนอสินค้าเชิงประสบการณ์ผ่านอัตลักษณ์ของ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศนอกจากนี้ ยังได้ตั้งเป้าหมายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 2567 บนพื้นฐานของสถานการณ์ท่องเที่ยว ที่มีปัจจัยเอื้ออำนวยในทุกด้าน (Best Case Scenario)

โดยตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ททท. เดินเกมรุกกระตุ้นความต้องการเดินทางของคนไทย สอดรับกับแคมเปญสื่อสาร “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” กำหนดกลยุทธ์ REAL ประกอบด้วย Responsible Tourism, Extra-ordinary Experience, Avantgarde Marketing และ Less for more Economy ต่อยอดทิศทางส่งเสริมตลาด 5 ภาค เน้นพาเที่ยวเมืองไทยอย่างอบอุ่น เสนอแคมเปญ “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย...เที่ยวได้ทุกวัน” ชูความแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ของแต่ละภาค เช่น ภาคเหนือ เสิร์ฟประสบการณ์ท่องเที่ยวสัมผัส “เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ” กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงภายในภูมิภาค เจาะกลุ่มครอบครัวที่มีหลายช่วงวัย (Multi-Gen Family) ภาคกลาง พาอินเทรนด์กระแสท่องเที่ยวภาคกลางด้วยเมนูประสบการณ์ใหม่ “Trendy C2” เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen-Y และ Gen-Z ภาคตะวันออก พาชิลล์ๆ ซึมซับประสบการณ์ “Story สาย สบาย” ด้วยสินค้าท่องเที่ยวเชิงอาหารควบคู่สินค้า Luxury ดึงนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen-Y กลุ่มผู้มีรายได้สูง และ กลุ่มครอบครัวคนรุ่นใหม่ (Millennials family เป็นต้น

เดินหน้าประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยตลาดในประเทศด้วยแคมเปญ “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” โดยสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวด้วยมุมมองใหม่ เติมความหมายของการเดินทางท่องเที่ยว ชดเชยช่วงเวลาที่พลาดโอกาสได้เดินทางจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอนนี้จึงได้เวลที่จะออกไปท่องเที่ยว สร้างความสุขให้กับตัวเองและคนที่เรารัก ออกไปเที่ยวพร้อมดูแลธรรมชาติ นำไปสู่ช่วงเวลาที่แสนพิเศษ เพราะโมเมนต์ที่ใช่ สร้างได้ไม่ต้องรอ

ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างมูลค่ารายได้จากการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้า 3 ล้านล้านบาทหากพิจารณาตามที่ ททท. ประเมินตลาดต่างประเทศจะฟื้น 94% หรือมีรายได้ 1.92 ล้านล้านบาท ดังนั้น จึงต้องเสริมด้วยกลยุทธ์กระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศหรือไทยเที่ยวไทย เพื่อหนุนรายได้อีก 1.08 ล้านล้านบาท ให้เข้าเป้าที่วางเอาไว้ เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น