“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุไม่ควรเสพ (ไม่พึงยึด) ทางสุดโต่ง 2 ทางคือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค” นี่คือคำสอนครั้งแรกหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้หรือที่เรียกว่า ปฐมเทศนา ซึ่งพระองค์ได้แสดงแก่ปัจจวัคคีย์
โดยนัยแห่งคำสอนข้อนี้ ได้ปฏิเสธแนวทางปฏิบัติของนักพรตทั้งหลายในขณะนั้น เริ่มจากทางสายแรกคือ กามสุขัลลิกานุโยคได้แก่ การทำตนเองให้หมกมุ่นอยู่ในกาม ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ทำให้ปุถุชนคนมีกิเลสยึดติด และดิ้นรนขวนขวายแสวงหามาเพื่อตน
แนวทางนี้เป็นของลัทธิจารวาก ซึ่งสอนให้มนุษย์แสวงความสุขจากวัตถุ โดยเฉพาะเนื้อหนังมังสา และปฏิเสธการบูชาสิ่งต่างๆ จะเห็นได้จากคำสอนที่ว่า ความสุขที่เกิดจากการเสพกามเป็นนิพพาน เนื่องจากค้นคว้าอยากได้ และการบูชาขี้เถ้าเป็นที่สุด คือไม่ได้อะไรเลยนอกจากขี้เถ้าอันเกิดจากการเผาสิ่งต่างๆ ทั้งยังสอนว่าเด็กที่เกิดมาจากการที่หญิงชายมีเพศสัมพันธ์กันเป็นผลพลอยได้จากการแสวงหาความสุขของหญิงชาย ดังนั้น พ่อแม่จึงไม่มีบุญคุณต่อลูก ซึ่งตรงกับคำสอนของพุทธที่ว่า พ่อแม่เป็นเทวดา เป็นครูคนแรกของบุตรธิดา ดังนั้น พ่อแม่จึงอยู่ในฐานะเป็นบุพการีของบุตร ธิดา ดังนั้น คำสอนของจารวากจึงน่าจะเป็นที่มาของลัทธิที่ปฏิเสธการทำบุญ ตามนัยแห่งคำสอนของศาสนา และในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธการเวียนว่ายตายเกิดด้วยเชื่อว่ามนุษย์เริ่มต้นด้วยการเกิด และสิ้นสุดด้วยการตายแล้วไม่มีการกลับมาเกิดอีก จึงเท่ากับปฏิเสธคำสอนของศาสนาที่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และปฏิเสธกฎแห่งกรรมซึ่งมีวิบากหรือผลของกรรมที่เป็นตัวนำไปสู่ภพใหม่
ส่วนอัตตกิลมถานุโยคคือ การทำตนให้ได้รับความทุกข์ทรมานด้วยเชื่อว่าจะทำให้กิเลสหมดไป และเข้าถึงโมกขธรรมหรือความหลุดพ้นนั้น เป็นแนวทางการปฏิบัติของผู้บำเพ็ญพรตกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความเชื่อว่าการทรมานตนในรูปแบบต่างๆ เช่น อดอาหาร ยืนเพ่งดวงอาทิตย์ เป็นต้น ดังที่ได้เห็นนักบวชในศาสนาเชนปฏิบัติอยู่ โดยเฉพาะในนิกายทิคัมพรคือ นุ่งลมห่มฟ้า
การทรมานตนเองให้ลำบากในทำนองนี้เรียกว่า การบำเพ็ญตบะคือ การเผาผลาญกิเลส
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงองค์ประกอบของอริยมรรคมีองค์ 8 ประการคือ
1. สัมมาทิฏฐิคือ ความเห็นที่ถูกต้องว่า เหตุแห่งความทุกข์ที่สำคัญคือตัณหา และตัณหาก็มิได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ต้องมีกระบวนการเกิดตัณหา
2. สัมมาสังกัปปะ ดำริในสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ดำริในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
3. สัมมาวาจาคือ พูดในสิ่งที่ถูกต้อง และงดเว้นไม่พูดในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
4. สัมมากัมมันตะได้แก่ การกระทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยยึดหลักแห่งเหตุและผลเป็นหลักในการตัดสินใจในการทำและไม่กระทำ
5. สัมมาอาชีวะคือ การเลี้ยงชีพตามทำนองคลองธรรม ไม่ก่อบาปกรรมให้แก่ตนเองและผู้อื่น
6. สัมมาวายามะคือ การพยายามในการพูด และทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่พยายามในสิ่งที่ผิด
7. สัมมาสติคือ การระลึกถึงสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ระลึกถึงสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
8. สัมมาสมาธิคือ การทำจิตให้สงบ เพื่อทำให้พ้นจากกิเลส มิให้เกิดอภินิหารต่างๆ และนำไปใช้ในทางที่ผิดศีล และผิดธรรม
ดังนั้น ทางสายกลางตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าก็คือ ทางแห่งการพ้นทุกข์ และเป็นทางที่เป็นกลางระหว่างทางสุดโต่ง 2 ทางดังกล่าวแล้วข้างต้น
ส่วนที่มีการนำคำว่า ทางสายกลางมาใช้กับกิจกรรมของปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป ก็พออนุโลมได้ว่าเป็นแนวทางที่ไม่ผิดศีลและผิดธรรมในขั้นโลกีย์คือ ศีล 5 และธรรมขั้นต้น ซึ่งคฤหัสถ์พึงปฏิบัติเช่น กตัญญูกตเวที และหิริโอตตัปปะ เป็นต้น มิได้หมายความว่าเป็นกลางระหว่างความผิดกับความถูก โดยไม่เข้าข้างฝ่ายใด เช่นคำว่า คนกลางและประเทศเป็นกลาง เป็นต้น
ถึงอย่างไรก็ตาม คำสอนดังกล่าวข้างต้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตในทุกด้าน แม้กระทั่งในกิจกรรมทางการเมือง ถ้าคนใดหรือกลุ่มใดมีความเห็นสุดโต่ง ไม่เดินสายกลาง ก็ยากที่จะก้าวไปถึงจุดหมายปลายทางที่คาดหวังไว้ และดูเหมือนว่าพรรคก้าวไกลจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน และเป็นรูปธรรมเดียวกับธรรมข้อนี้
ดังนั้น พรรคนี้จึงไม่ได้รับการยอมรับจากคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่เคร่งครัดในคำสอนของพุทธศาสนา และจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของประเทศ
สุดท้ายขอฝากข้อคิดจากคำพูดของเจ้าคุณอุบาลีที่ว่า “โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก”