กติกา ซึ่งผู้นำทางสังคมตั้งขึ้น และได้รับจากคนส่วนใหญ่ของสังคมนั้น เปรียบเสมือนเส้นด้ายที่ใช้ร้อยดอกไม้หลากหลายสีเข้าด้วยกันเป็นพวงมาลัยอันสวยงาม ถ้ามีใครมาทำลายเส้นด้ายขาด ดอกไม้ก็จะหลุดออกและร่วงหล่นกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ทำให้ความเป็นพวงมาลัยหมดไปกลายเป็นกองดอกไม้ไร้ระเบียบไม่สวยงามฉันใด กติกาของสังคมที่ถูกทำลายก็ฉันนั้น
กติกาสังคมมีตั้งแต่จารีตประเพณี วัฒนธรรม กฎระเบียบคำสอนของศาสนาไปจนถึงกฎหมาย ซึ่งใช้ปกครองบ้านเมือง และคนส่วนใหญ่ยอมรับถือปฏิบัติ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Social Animal) ตามนัยแห่งวิชาสังคมวิทยา เนื่องจากมนุษย์อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ในทำนองเดียวกันกับสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นฝูง
การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มของมนุษย์อยู่ภายใต้กติกาที่ชนชั้นปกครองกำหนดขึ้น เพื่อให้การอยู่ร่วมกันมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความสงบสุขโดยเสมอภาคกัน ส่วนสัตว์อยู่รวมกันเป็นฝูง โดยอาศัยสัญชาตญาณในการรวมกลุ่ม และสัญชาตญาณในการหนีภัยภายใต้การควบคุมของจ่าฝูง ซึ่งมีความแข็งแรงและใช้กำลังจัดการกับตัวที่แตกฝูง คนในยุคดึกดำบรรพ์ก็ทำนองเดียวกับสัตว์ แต่ในปัจจุบันมนุษย์เจริญแล้ว อาศัยเหตุผลและกติกาแก้ปัญหาความขัดแย้ง
ดังนั้น คนกับสัตว์จึงแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน และเริ่มดำเนินชีวิตมาคล้ายๆ กัน
ความแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์ ตามนัยแห่งวิชาจริยศาสตร์มีอยู่ 2 ด้านคือ
1. ด้านโครงสร้างของร่างกาย คนมีโครงสร้างร่างกายเป็นแนวตั้งกับพื้นโลก ส่วนของสัตว์เป็นแนวนอนขนานไปกับพื้นโลก จึงได้ชื่อว่าเดรัจฉานคือ มีร่างกายไปทางขวาง
2. ด้านจิตใจหรือด้านความรู้สึกนึกคิด คนมีเหตุผลในการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมสัตว์อาศัยเพียงสัญชาตญาณ ดังนั้น คนจึงได้ชื่อมนุษย์คือผู้มีจิตใจสูง (มน (ใจ) และอุสฺส (สูง)
ด้วยเหตุแห่งความแตกต่าง 2 ด้านข้างต้นนี้เอง ในคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงเรียกคนที่มีจิตใจต่ำกว่าความเป็นมนุษย์ว่า มนุสฺสติรัจฉาโนคือ มนุษย์ที่ร่างกายเป็นคน แต่จิตใจเป็นสัตว์ และเรียกคนที่มีจิตใจสูงกว่าคนธรรมดาทั่วไปว่า มนุสฺสเทโวหรือมนุษย์เทวดา
ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่ป็นพุทธมามกะคือ เป็นผู้นับถือพุทธ และคำสอนของพุทธ ทั้งในระดับสมมติสัจจะคือ ความจริงในขั้นสมมติตามความเชื่อของคนทั่วไป และขั้นปรมัตถสัจจะคือ ความจริงในขั้นสูงกว่าการสมมติหรืออันติมสัจ คำสอนทั้งสองระดับนี้ได้รับการยอมรับจากผู้รู้ทั้งหลายว่าเข้ากันได้กับหลักวิทยาศาสตร์ และหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่คนไทยส่วนหนึ่งที่เรียกตนเองว่าคนรุ่นใหม่ปฏิเสธไม่ยอมรับ ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ค้นคว้า และทำความเข้าใจแล้วนำไปปฏิบัติ จึงเท่ากับปิดหูปิดตาตนเองแล้วบอกว่าไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ทั้งๆ ที่มีสิ่งของอยู่ข้างหน้าตนเอง และที่ยิ่งกว่านี้คนกลุ่มนี้ดูถูก ดูแคลนคนที่เคร่งครัดในการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาว่าล้าสมัย
ดังนั้น คนกลุ่มนี้เองที่ก่อความวุ่นวาย ทำตัวเป็นคนขวางโลก เพียงเพื่อให้ตนเองได้เป็นในสิ่งที่ตนเองอยากเป็น และได้มีสิ่งที่ตนเองอยากมี จะเห็นได้ชัดเจนจากพฤติกรรมหมู่ของม็อบ 3 นิ้ว และที่ชัดเจนเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ก็คือ กรณีของน้องหยกซึ่งกำลังมีปัญหากับโรงเรียนที่ตนเองสอบเข้าเรียนได้ แต่ไม่ยอมทำตามกติกาที่โรงเรียนกำหนดไว้ และได้ออกมาตีโพยตีพายว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากคนกลุ่มหนึ่งด้วย
จากกรณีนี้ ผู้เขียนใคร่ขอถามทั้งน้องหยก และกลุ่มคนที่สนับสนุนดังต่อไปนี้
1. คนกลุ่มน้อยที่เห็นต่างจากคนกลุ่มใหญ่ แล้วต้องการให้คนกลุ่มใหญ่ยอมรับว่าตนเองถูกต้อง และอยู่ร่วมกันโดยไม่ขัดแย้งทางความคิด จะเรียกได้ว่าเป็นเผด็จการทางความคิดได้หรือไม่?
2. ถ้าตนเองเป็นครูและลูกของตนเองเป็นนักเรียนที่ไม่ยอมรับกติกาของโรงเรียน ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ยอมรับ ตนเองจะทำอย่างไรใน 2 ประเด็นคือให้ลูกตนเองออกไปจากโรงเรียนหรือให้เด็กส่วนใหญ่ยอมรับนักเรียนที่ไม่ทำตามกติกาของโรงเรียน