xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เทงบ “เติมทรายชายฝั่ง” คุ้มค่าหรือไม่? ฟื้นฟูชายหาดทองคำ - กู้วิกฤตการกัดเซาะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  สำรวจโครงการเติมทรายชายฝั่งโดยกรมเจ้าท่า มาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเเละส่งเสริมการท่องเที่ยว เทงบประมาณพันล้านปักหมุดเติมทรายชายฝั่งทั่วประเทศ ถอดบทเรียนชายหาดทองคำมูลค่าสูงทางเศรษกิจ “หาดพัทยา - หาดจอมเทียน” จ.ชลบุรี เพิ่มพื้นที่หาดทรายสีเหลืองทอง คุ้มค่าเพียงใด 

การพังทลายของชายฝั่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยที่พื้นที่ชายฝั่งจะถูกกดเซาะหดหายไปด้วยปัจจัยจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาวิธีการจัดการปัญหากัดเซาะชายฝั่งขึ้นมามากมาย ทั้งนี้ วิธีการที่ประเทศต่างๆ นิยมนํามาปรับใช้คือ  “การสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรม” เช่น รอดักทราย เขื่อนกันคลื่นและกำแพงกันตลิ่ง โดยที่โครงสร้างดังกล่าวมักส่งผลให้ชายฝั่งมีรูปร่างผิดไปจากธรรมชาติ เนื่องจากเป็นการรบกวนสมดุลตามธรรมชาติก่อให้เกิดการผลกระทบด้านลบกับพื้นที่ชายฝั่ง แม้ว่าจะสามารถรักษาพื้นที่ชายฝั่งที่อยู่ในเขตป้องกันได้ แต่พบว่าโครงสร้างดังกล่าวนั้นมักเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการกดเซาะอย่างรุนแรงในพื้นที่ข้างเคียงเสมอ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา วิธีการที่ใช้เพื่อแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งที่แพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะแถบตะวันตก คือ   “มาตรการเติมทราย”  ซึ่งเป็นวิธีการที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการเพิ่มมวลทรายให้กบชายฝั่ง ส่งผลให้ความกว้างชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับแรงกระทําจากคลื่นได้ ถือเป็นมาตรการป้องกันที่ช่วยรักษาสภาพธรรมชาติของชายฝั่งไว้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบด้านลบเหมือนมาตรการใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม

สำหรับประเทศไทย การเติมทรายชายฝั่งเป็นมาตรการป้องกันชายฝั่ง เป็นแนวทางฟื้นฟูชายหาดท่องเที่ยวที่ “กรมเจ้าท่า”  นำมาแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่มีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจอันเปรียบดังชายหาดทองคำ

การเติมทรายชายหาดนั้นพิสูจน์ให้เห็นว่าเมืองไทยสามารถออกเเบบมาตรการป้องกันชายฝั่งด้วยโครงสร้างอ่อน สำหรับป้องกันชายหาดเเละคงรักษาสภาพชายหาดไว้ได้ จากเดิมที่เกิดโครงการกำแพงกันคลื่นคอนกรีต ซึ่งเกิดกระแสต่อต้านในสังคมเพราะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนเป็นอย่างมาก




ที่ผ่านมาพื้นที่ชายฝั่งของไทยประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนเเรง การกัดเซาะไม่ได้เกิดจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายฝั่ง การขุดทรายชายฝั่ง ฯลฯ โดยเฉพาะการสร้างกำแพงกันคลื่นในพื้นที่ชายฝั่งที่ไม่มีความจำเป็น เพราะมีช่องว่างทางกฎหมายเอื้อไม่ต้องทำ EIA หรือ รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

โดยปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้พิจารณาการเติมทรายเป็นมาตรการหนึ่งแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและฟื้นฟูชายหาด อ้างอิงข้อมูลจาก Beach for life มีพื้นที่ชายฝั่งดำเนินการเติมทราย ยกตัวอย่างชายหาดมูลค่าสูงทางเศรษกิจ อาทิ

 “ชายหาดพัทยา จ.ชลบุรี” ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2562 โดยกรมเจ้าท่าได้มีการดำเนินการเสริมทรายชายฝั่ง ความยาว 2.8 กิโลเมตรตลอดแนวชายหาดพัทยาเหนือถึงหาดพัทยาใต้ ด้วยงบประมาณ 420,000,000 บาท มีการเสริมทรายหน้าหาดกว้าง 35 เมตร (ไม่รวมความลาดชัน) และวางถุงกระสอบทรายใต้การเติมทราย ใช้ทรายนอกฝั่งห่างจากฝั่ง 20 กิโลเมตร โดยการลำเลียงทางเรือ

โดยก่อนหน้านี้ หาดพัทยา จ.ชลบุรี ถูกกัดเซาะจนพื้นที่หากเหลือไม่ถึง 10 เมตร ซึ่งเคยแก้ปัญหาโดยกำเเพงกันคลื่นลักษณะถุงกระสอบทรายมาเรียงป้องกันชายฝั่ง ปรากฎว่าประสบปัญหากัดเซาะเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ทำลายภาพลักษ์หาดท่องเที่ยวกระสอบทรายตะไคร่เกาะ เกิดการทรุดตัวพังทลาย ไม่สามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแถมยังเกิดทัศนอุจาด

สำหรับการเติมทรายชายหาดพัทยาถือเป็นเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการฟื้นฟูชายหาดจากการกัดเซาะชายฝั่งและคงรักษาสภาพชายหาดไว้ได้ รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวมูลค่าหมื่นล้านในพัทยา

โดยรายงานของ Destination2 บริษัทท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร ซึ่งทำการสำรวจผู้คนถึงความชอบชายหาดที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก บนแพลตฟอร์ม TikTok “หาดพัทยา” จ.ชลบุรี ประเทศไทย ขึ้นแท่นความนิยมอันดับ 2 ของโลก มียอดวิวสูงถึง 128.5 ล้านครั้งบน Tiktok โดยชาว TikTok ให้เหตุผลว่า หาดพัทยา ที่มีความโดดเด่นด้านกิจกรรมทางน้ำ และกิจกรรมที่ตื่นเต้นมากมาย อาทิ พาราเซล, เจ็ตสกี, บานาน่าโบ้ท เป็นต้น

 “หาดจอมเทียน จ.ชลบุรี”  อยู่ระหว่างดำเนินการ แบ่งออกเป็น 2 ระยะโครงการ ระยะที่ 1 ความยาว 3,575 เมตร ดำเนินการบริเวณร้านอาหารลุงไสว ถึง ซอยบุญย์กัญจนา งบประมาณ 590,000,000 บาท ระยะที่ 2 ความยาว 2,885 เมตร ดำเนินการบริเวณซอยบุญย์กัญจนาถึงพัทยาปาร์ควอเตอร์เวิล์ด งบประมาณ 400,000,000 บาท ดำเนินการโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมดำเนินการระยะที่ 2 ซึ่งการเติมทรายชายหาดจอมเทียนถือเป็นโปรเจกต์เติมทรายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย


สำหรับหาดจอมเทียนเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนเเรง โดยตลอดเเนวชายหาดจอมเทียนกว่า 6 กิโลเมตร มีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งจำพวกกำแพงกันคลื่น ซึ่งบางช่วงของหาดจอมเทียนสภภาพชายหาดเเทบไม่เหลือสภาพหาดทรายให้ใช้ประโยชน์ มาตรการเติมทรายชายฝั่งจะเพิ่มมวลทรายให้กับชายหาดแก้ปัญหาการกัดเซาะซึ่งเหมาะสมกับหาดที่มีมูลค่าการท่องเที่ยวสูง
 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า เมืองพัทยาถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย กรมเจ้าท่าได้ดำเนินโครงการเสริมทรายชายหาดพัทยา เพื่อแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะระยะยาว ก่อนที่สภาพชายหาดจะหายไป เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคต โดยที่ผ่านมาโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ระยะที่ 1 ดำเนินการเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ก่อนส่งมอบให้เทศบาลนาจอมเทียนเป็นผู้ดูแลต่อไป

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่ามีเเผนศึกษาการเติมทรายชายฝั่งในหลายชายหาดในประเทศไทย อาทิ หาดเเสงจันทร์ จ.ระยอง จ. ชลบุรี จำนวน 5 ชายหาด ได้เเก่ 2.หาดบางเเสน หาดพัทยา หาดจอมเทียน หาดดงตาล เเละหาดบางเสร่ จ.เพชรบุรี บริเวณหาดชะอำ จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณหาดปราณบุรี จ. ชุมพร บริเวณหาดทรายรี จ. พังงา บริเวณหาดเขาหลัก จ. ตรัง หาดหัวหิน และ จ. สงขลา บริเวณหาดสมิหลา เป็นต้น

กระนั้นก็ดี แม้การเติมทรายเป็นมาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโครงสร้างอ่อนส่งผลกระทบน้อย แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพและระบบนิเวศของแหล่งทรายเดิมเช่นกัน อีกทั้งการเติมทรายเป็นวิธีกาที่มีค่าใช้จ่ายที่สูง รวมถึงมีกำหนดระยะเวลาเติมทรายเพื่อทดแทนทรายส่วนที่ถูกกระแสน้ำพัดพา คลื่นซัดทรายไหลตามกระเเสน้ำชายฝั่ง อาจต้องเติมทรายตลอดทุก 10 ปี หรือการเติมทรายเพื่อฟื้นฟูชายหาดเป็นระยะๆ จากเหตุการณ์ธรรมชาตที่ทำหาดทรายได้รับความเสียหาย ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการออกเเบบทางวิศวกรรมชายฝั่งที่รอบคอบ

 นายอภิศักดิ์ ทัศนี 
 กลุ่มอนุรักษ์ชายหาด Beach for life สะท้อนมุมมองว่าเติมทรายชายหาดต้องพิจารณาถึงคุณค่าที่มีความสัมพันธ์กับมูลค่า ยกตัวอย่าง หาดพัทยา หาดจอมเทียน จ. ชลบุรี การเติมทรายช่วยรักษาคุณค่าทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ เพราะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยม สร้างรายได้ให้กับคนในบริเวณนั้นได้มาก หรือชายหาดสมิหลา-ชลาทัศน์ จ. สงขลา แม้ไม่ได้สร้างเม็ดเงินในภาคการท่องเที่ยวมากเท่า แต่เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเรื่องของคุณค่าและมูลค่าเป็นประเด็นที่ทางกรมเจ้าท่าต้องพิจารณารอบคอบ เพราะในชายฝั่งบางแห่งเติมทรายแล้วอาจจะไม่คุ้มค่างบประมาณ ควรปล่อยให้หาดฟื้นฟูตามธรรมชาติแทน

สำหรับปัญหาหลังเติมทรายในพื้นชายฝั่ง ยกตัวอย่างหาดพัทยา กรณีเกิดปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยาที่จะกระทบต่อการเติมทรายชายหาดพัทยาทำให้ชายหาดเป็นเเผล เพราะทางระบายน้ำฝนของเมืองพัทยาที่ปล่อยลงสู่ชายหาด ทำให้โครงการเติมทรายได้รับความเสียหาย เกิดทางน้ำที่ไหลบนชายหาด เป็นเสมือนรอยเเผล ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวแต่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ฝนตกลงมาอย่างนัก ชายหาดพัทยาที่ถูกเติมทรายจะได้รับความเสียหายทุกครั้ง




แน่นอนว่าปัญหาดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับหาดจอดเทียมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผลพวงจากการระบายน้ำที่ไหลจากเมืองลงทะเล ทำให้เกิดทางน้ำผ่านตรงทรายที่เติมได้รับผลกระทบ ต้องมีการเตรียมทรายเพื่อซ่อมแซมกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งต้องมีการมอนิเตอร์ติดตามดูแลรักษาพื้นเติมทราย เป็นประเด็นปัญหาปลีกย่อยที่โจทย์ของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งทางท้องถิ่นและกรมเจ้าท่าที่ต้องจัดการอย่างรอบคอบ

อย่างไรก็ตาม แนวทางการเติมทรายกระแสตอบค่อนข้างรับดีในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยวมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เพราะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการป้องกันชายฝั่งด้วยโครงสร้างแข็งอย่างกำแพงกันคลื่น เป็นการบูรณาการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างละมุนละม่อม ทั้งยังคงชายหาดทัศนีภาพสวยงาม เป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวสร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่

ทั้งนี้ สำหรับหาดที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวและมีการกัดเซาะที่ไม่รุนแรง อาจใช้วิธีอื่น เช่น การปล่อยให้หาดฟื้นฟูกลับมาด้วยตัวเอง การปลูกต้นไม้ที่ยึดเกาะหน้าทราย และ การถอยร่น ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาได้ ส่วนในพื้นที่ที่มีลมแรง การทำรั้วดักทราย (sand fence) ซึ่งเป็นวิธีการที่นำ รั้วตาห่างไปปักตาแนวที่ทรายชายหาดหายไปเพื่อดักตะกอนทรายให้ตกลงหลังแนวรั้ว ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูหาดได้

ส่วนวิธีที่จะไม่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุก็คือ “การกำหนดแนวถอยร่น”  หรือคือการให้รัฐกำหนดมาเลยว่าห้ามให้มีสิ่งปลูกสร้างริมชายฝั่งเป็นระยะทางเท่าไหร่ เพื่อให้ธรรมชาติได้มีระยะทางจัดการตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นถนนหรือบ้านเรือน ซึ่งเมื่อไม่มีระยะทางกำหนด ถ้าเกิดการกัดเซาะขึ้นมาก็จะมีการร้องขอโครงการขึ้นมาอีก ก็จะทำให้เกิดการกัดเซาะทวีความรุนแรงมากขึ้น

 หากถามถึงความคุ้มค่ากับการเทงบประมาณพันล้านเติมทราย เพื่อแก้ปัญหาชายฝั่งซึ่งปักหมุดกระจายทั่วประเทศนั้น ก็ต้องกลับมาพิจารณาถึง “คุณค่า” และ “มูลค่า” เพราะบางแห่งปล่อยให้ฟื้นฟูตามธรรมชาติดีกว่า 



กำลังโหลดความคิดเห็น