ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เกิดคำถามหลัง “กรมศุลกากร” พลาดท่าขายทอดตลาดสินค้าเลี่ยงภาษีนาฬิกาหรูมูลค่านับล้าน จนเป็นประเด็นร้อนต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวน้อมรับความผิดพลาด พร้อมสั่งยกเลิกการประมูลและให้คืนเงินแก่ผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมด รวมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความชัดเจนแก่สังคมว่า นาฬิกาหรูนั้นปลอมตั้งแต่แรกที่ยึดมาจากร้าน หรือมีการสับเปลี่ยนของปลอมแทนที่ของแท้จากคนใน ก่อนกรมศุลฯ จะดำเนินการประมูลขายทอดตลาด
อย่างไรดี กรมศุลกากรเป็นหนึ่งในสามกรมภาษีขึ้นหม้อในการดำเนินการจัดเก็บรายได้เข้าคลัง ล่าสุด แถลงผลงานในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2566 มีผลการจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการณ์ ซึ่งรายได้ส่วนนึงมาจากการขายทอดตลาดของกลางที่มีการตรวจยึดลักลอบนำเข้าหลีกเลี่ยงภาษี เช่น รถยนต์หรู นาฬิกาหรู เป็นต้น
แน่นอนว่า กรณีประมูลนาฬิกาหรูปลอมที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นประเด็นใหญ่สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นกรมศุลกากรอย่างยิ่ง หลังจากชายรายหนึ่งร้องเรียนสื่อในประเด็นเข้าร่วมการประมูลสินค้าของกลางที่กรมศุลกากรตรวจยึดมาได้เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2566 โดยสามารถประมูลนาฬิกา Richard Mille ตัวเรือนสีดำ 1 เรือน ในราคา 2.2 ล้าน ส่วนเพื่อนประมูล Patek Philippe สายสีแดง ขณะที่ผู้ประมูลอีกรายก็ประมูล Richard Mille สายแดง 1 เรือน และนาฬิกา search Rolex อีก 1 เรือน
นายกิจธนชัย ฉิมสุทธิ ผู้เสียหาย กล่าวว่า มีผู้เสียหาย 3 คนจากการประมูลนาฬิกาหรู 4 เรือน รวมมูลค่ากว่า 9 ล้านบาท ตามประกาศขายทอดตลาดของกลางของกรมศุลกากรเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีกล่องสินค้า และหนังสือรับรอง เมื่อเดินทางไปรับสินค้ากลับพบความผิดปกติของนาฬิกาที่ได้รับ จึงนำสินค้าเข้าไปตรวจสอบกับทางร้านขายที่สามารถเชื่อถือได้ โดยผู้ตรวจเช็กระบุว่า ตัวเรือนของ Richard Mille สีดำออกแบบไม่เนียน ระบบภายในมีการวางซ้อนทับกันอยู่อย่างชัดเจน สามารถยืนยันว่าเป็นเครื่องปลอมแน่นอน ส่วนเพื่อนนำ Patek Philippe สายแดงไปตรวจสอบด้วยพบว่าเป็นของปลอมอีก ผู้ตรวจบอกว่าระบบภายในมีการวางซ้อนทับกันและพบพิรุธหลายจุด หลังจากนั้นมีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานในการประมูลสินค้าทันที
กระทั่ง วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 กรมศุลกากรได้ตั้งโต๊ะแถลงถึงประเด็น “ประมูลนาฬิกาปลอม” นำโดย นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จกรณีประมูลนาฬิกาจากกรมศุลกากร พบเป็นนาฬิกาปลอมเครื่องหมายการค้า
สำหรับแหล่งที่มาของนาฬิกาหรูปลอม ย้อนกลับไปมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรได้เข้าตรวจค้นร้านขายนาฬิกาบริเวณศูนย์การค้า Siam Square One พบนาฬิกามีเครื่องหมายการค้า จำนวน 14 รายการ ได้เชิญเจ้าของสิทธิ์มาตรวจสอบ พบว่ามีจำนวน 1 เรือน เป็นสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า และอีก 13 เรือน เป็นของที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์
ต่อมากรมศุลกากรจึงนำ 13 เรือนประกาศขายทอดตลาด ในวันที่ 28 มิถุนายน 2566 โดยเปิดให้เข้าชมของกลาง วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 และเปิดซองการประมูล วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 มีผู้เข้าร่วมการประมูลทั้งสิ้น 18 ราย
หลังจากนั้นกรมศุลกากรได้รับข้อมูลจากผู้ประมูลว่านาฬิกาว่าเป็นสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้า ซึ่งทั้ง 13 เรือนมีสินค้าปลอม 4 เรือน การดำเนินการเบื้องต้นออกคำสั่งยกเลิกการประมูลและให้คืนเงินแก่ผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมด และจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนโดยให้ทราบผลภายใน 15 วัน
อย่างไรก็ดี ประเด็นใหญ่ที่ต้องติดตามกันต่อไปก็คือ ต้องพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงว่านาฬิกาหรูนั้นปลอมตั้งแต่แรกที่ยึดมาจากร้าน หรือมีการสับเปลี่ยนของปลอมแทนที่ของแท้จากคนในกรมศุลกากรก่อนจะดำเนินการประมูลขายทอดตลาด เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนส่งผลกระทบด้านความเชื่อมั่นกระทบต่อความรู้สึกประชาชน
อย่างไรก็ดี จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกรมศุลกากรมีการพิจารณาให้ผู้ประมูลสามารถพาผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบได้ในวันที่เปิดให้เข้าชมของกลาง ต้องยอมรับแม้กรมศุลกากรจะตรวจสอบสินค้าก่อนนำออกประมูลนั้น แต่ก็เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ในซึ่งต้องยอมรับว่าความเชี่ยวชาญของผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่กรมศุลกากรให้คำมั่นว่าจะดำเนินการอย่างรอบคอบในการประมูลสินค้าครั้งต่อไป ในส่วนของบทสรุปความผิดพลาดที่เกิดขึ้นยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
สำหรับกรมศุลกากรเป็นหนึ่งในสามกรมภาษีขึ้นหม้อในการดำเนินการจัดเก็บรายได้เข้าคลัง นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ให้ข้อมูลว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – มีนาคม2566) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,163,599 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 95,084 ล้านบาท หรือ 8.9% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.9%
โดยหน่วยงานที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ 1.กรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงิน ได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ขยายตัวได้ดีตามเศรษฐกิจ 2. ส่วนราชการอื่น เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการนำส่งทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน รายได้จากสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่วิทยุระบบ FM 3. รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีการนำส่งรายได้เหลื่อมจากปีงบประมาณก่อนหน้า และ 4.กรมศุลกากร เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าขยายตัวได้ดีประกอบกับมีการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี
โดยภาพรวมการดำเนินงานของกรมศุลกากร ผลงานในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2566 การจัดเก็บรายได้กรมศุลกากรในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - มีนาคม 2566) โดยการจัดเก็บรายได้ศุลกากร เดือนมีนาคม 2566 ในเดือนมีนาคม 2566 กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 60,416 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 274 ล้านบาท (ปีก่อน 60,141 ล้านบาท) หรือร้อยละ 0.5 สำหรับการจัดเก็บรายได้ศุลกากร 11,187 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,411 ล้านบาท (ปีก่อน 9,775 ล้านบาท) หรือร้อยละ 14.4 และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,987 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 21.6
โดยการจัดเก็บรายได้ศุลกากร ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 มีนาคม 2566)ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - มีนาคม 2566) กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวม 346,577 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 26,294 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2 สำหรับการจัดเก็บรายได้ศุลกากร 67,322 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 14,282 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.9 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าขยายตัว ประกอบกับมีการชำระอากรตามคำพิพากษาคดี และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 14,622 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 27.7
นอกจากนี้ กรมศุลกากรมีนโยบายในการเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ยาเสพติด สินค้าเกษตร น้ำมัน IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES
โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้า นอกจากนี้ มีการบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคม 2565 - มีนาคม 2566 มีการจับกุมจำนวน 16,529 คดี คิดเป็นมูลค่ารวม 1,777,600,000 บาท
ท้ายที่สุดกรณีกรมศุลกากรหลุดประมูลขายทอดตลาดนาฬิกาปลอม อาจสร้างความสั่นสะเทือนความเชื่อมั่นประชาชนไม่น้อย หลังเรียนรู้ความผิดพลาดเชื่อว่านับจากนี้ทางกรมจะมีแนวทางรอบคอบขึ้น และยังคงเป็นหนึ่งกรมภาษีตัวตึง สร้างผลงานจัดเก็บรายได้เข้าคลังสูงเป็นลำดับแรกๆ