คอลัมน์...ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
เรื่องงานใหญ่กว่าเรื่องกิน
พูดถึงเรื่องกินที่เป็นเรื่องใหญ่ของชาวจีนแล้วยังมีให้เล่าอีกมากมาย แต่ขอเก็บไว้ค่อยเล่าอีกทีเมื่อไปถึงบางท้องถิ่นของจีนที่มีเรื่องกินที่น่าสนใจ ในเบื้องต้นนี้จึงขอสรุปแต่เพียงว่า อาหารจีนที่เล่ามานี้เป็นเฉพาะอาหารแต้จิ๋ว โดยหลังจากนั้นต่อมาเมื่อผมได้ไปยังท้องถิ่นอื่นของจีนอีกก็พบว่า ไม่เพียงจะแตกต่างอาหารแต้จิ๋วเท่านั้น หากแม้แต่วิธีคิดในการกินก็ยังต่างกันในรายละเอียดอีกด้วย
เช่น จีนถิ่นอื่นที่ผมได้สัมผัสหลังจากนั้น ผมไม่พบเลยว่าจะมีถิ่นไหนที่ปิดท้ายการกินด้วยอาหารเบาท้องประเภทข้าวต้มอย่างจีนแต้จิ๋ว เป็นต้น
ทีนี้เมื่ออิ่มกันแล้วก็มาเข้าเรื่องงานกันบ้าง อย่างน้อยผมก็ไม่ลืมว่าที่ไปจีนเที่ยวนี้ไปทำงาน มิได้ไปเที่ยวเล่นเที่ยวกินแต่อย่างไร และงานที่ไปทำนั้นก็คือ ไปศึกษาภูมิลำเนาเดิมของชาวจีนโพ้นทะเลในไทย ซึ่งผมได้บอกไปแล้วว่า จะศึกษาเฉพาะชาวจีนแต้จิ๋ว เนื่องจากเป็นชาวจีนส่วนใหญ่ในไทย
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เราร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของมหาวิทยาลัยจงซัน หรือที่มักจะเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น
ก่อนหน้าที่เราจะเดินทางไปนั้น ทางฝ่ายจีนได้เดินทางมาเยือนไทยก่อนแล้ว คราวนี้ก็ถึงคราวที่เราฝ่ายไทยไปเยือนบ้าง และด้วยเหตุที่ฝ่ายจีนเป็นเจ้าของพื้นที่ กำหนดการต่างๆ จึงถูกวางโดยฝ่ายจีนไปด้วย
กำหนดการที่ฝ่ายจีนวางไว้ก็คือ แทนที่จะให้เราเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในเมืองกว่างโจว (หรือที่คนไทยมักเรียกกันติดปากว่า กวางเจา) ก่อน ก็ให้เราเดินทางไปยังซัวเถาก่อน กำหนดการนี้ทำให้เราต้องนั่งเรือจากฮ่องกงไปยังซัวเถาดังที่ผมได้เล่าไปแล้ว
เมื่อไปถึงนักวิจัยฝ่ายจีนได้มาต้อนรับอยู่ที่ซัวเถาก่อนแล้ว หลังจากนั้นเราก็ใช้เวลา 3-4 วันอยู่ที่ซัวเถาเพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลภาคสนาม เพื่อนำกลับมาเขียนเป็นรายงานวิจัยต่อไป ดังนั้น สิ่งที่ผมจะได้เล่าต่อไปก็คือ เรื่องราวของชาวจีนแต้จิ๋วในซัวเถา ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีอยู่มากมายหลายประเด็น
ก่อนอื่นผมควรให้ข้อมูลพื้นฐานก่อนว่า ปัจจุบันซัวเถากายภาพอย่างไร เพื่อปูทางเอาไว้ก่อนที่จะย้อนเวลาไปสู่อดีตที่แตกต่างจากปัจจุบัน หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ กว่าที่ซัวเถาจะเป็นซัวเถาในวันนี้นั้น ซัวเถาได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างไรบ้าง
ที่ผ่านมานั้นได้หล่อหลอมให้ชาวจีนในซัวเถามีชีวิตความเป็นอยู่ และความรู้สึกนึกคิดอย่างไรบ้าง
ซัวเถาที่ชาวไทยเชื้อสายจีนเรียกกันนั้นเป็นเสียงในภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาจีนกลางออกว่า ซั่นโถว (汕头, Shantou) เมืองนี้ตั้งอยู่ตรงชายฝั่งตะวันออกของจีน โดยขึ้นอยู่กับมณฑลกว่างตง และหากกล่าวในแง่ที่เป็นหน่วยปกครองแล้ว ซัวเถาจัดเป็นเมืองระดับจังหวัด (ตี้จี๋ซื่อ, 地级市, prefecture level cities) มีพื้นที่ 2,248.39 ตารางกิโลเมตร และมีจำนวนประชากรเมื่อปี 2020 คือ 5,502,031 คน
และหากไม่นับตัวเมืองซัวเถาที่เปรียบได้กับอำเภอเมืองของไทยแล้ว ก็ยังมีหน่วยปกครองที่เป็นเขต (ชีว์, 区, district) อีกหกเขต และอำเภอ (เสี้ยน, 县, county) อีกหนึ่งอำเภออีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ซัวเถาก็ไม่ต่างจากเมืองอื่นของจีน ที่ต่างก็มีสำเนียงพูดเป็นของตนเอง สำเนียงพูดของซัวเถาที่เราคนไทยรู้กันก็คือ สำเนียงจีนแต้จิ๋วหรือเรียกว่า ภาษาแต้จิ๋ว ซึ่งถ้าหากกล่าวในทางภาษาศาสตร์แล้ว ภาษาแต้จิ๋วจัดอยู่ในกลุ่มภาษาที่เรียกว่า เฉาซั่นหมิ่น (潮汕闽,Chaoshan Min) หรือเฉาซั่นฮว่า (潮汕話, Chaoshanhua) ซึ่งต่างจากอีกภาษาหนึ่งที่เรียกว่า หมิ่นหนัน (闽南, Min Nan) ที่ผสมผสานกันระหว่างภาษาจีนไต้หวันกับจีนฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) อันเป็นภาษาที่ใช้พูดกันทางตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยนและไต้หวัน
ที่สำคัญ ความต่างนี้ยังทำให้บางเขตของซัวเถายังมีภาษาฮากกา (จีนแคะ) อีกด้วย แต่เป็นครึ่งฮากกา (Half Hakka) หรือที่จีนเรียกว่า ปั้นซันเค่อ (半山客) และไทยเราเรียกกันว่า ภาษาแคะตื้น ที่ต่างจากภาษาแคะลึกที่ชาวจีนที่เมืองเหมยโจว ( 梅州, Meizhou) พูดกัน และเป็นเมืองระดับจังหวัดที่ขึ้นต่อมณฑลกว่างตงเช่นเดียวกับซัวเถา
ถึงตรงนี้ผมควรบอกกล่าวด้วยว่า เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล อีกทั้งประชากรก็หนาแน่น หน่วยปกครองของจีนจึงมีอยู่หลายระดับ ถ้าเปรียบเทียบกับไทยแล้วจีนยังมีหน่วยปกครองที่มากกว่าจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน อย่างที่เราเห็นในไทย
และเหตุที่จีนมีมากกว่า คำเรียกหน่วยปกครองของจีนจึงมีมากกว่าของไทยไปด้วย
อย่างเช่น จีนยังมีมหานคร มีเมืองอนุมณฑล เมืองระดับอำเภอ ฯลฯ แต่ละหน่วยจะมีเกณฑ์ชี้วัดว่า หน่วยใดควรจะเป็นแบบใด เมื่อเป็นแล้วก็อาจได้รับการยกระดับให้เป็นหน่วยปกครองที่สูงขึ้นไปอีกก็ได้ หากหน่วยปกครองนั้นได้พัฒนาตัวเองมาถึงจุดหนึ่งที่ควรยกระดับให้สูงขึ้น เป็นต้น
อย่างกรณีเมืองซัวเถานี้จะอยู่นอกเหนือมหานครและเมืองอนุมณฑล เกณฑ์โดยทั่วไปจะดูจากจำนวนประชากรที่มิได้มีอาชีพทางการเกษตรตั้งแต่ 250,000 คนขึ้นไป และในจำนวนนี้พึงมีอยู่ประมาณ 200,000 คนที่มีนิวาสสถานตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่ทำการของรัฐบาลที่ตั้งอยู่ในเมืองนั้น
นอกจากนี้ ยังต้องมีมูลค่าทางการผลิตในภาคอุตสาหกรรม 2,000 ล้านหยวนขึ้นไป โดยมูลค่านี้จะต้องมาจากภาคอุตสาหกรรมขั้นที่สาม (tertiary industry) มากกว่าอุตสาหกรรมขั้นปฐม (primary industry) และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติร้อยละ 35 ขึ้นไป และมีรายได้จากภาษีท้องถิ่นกว่า 200 ล้านหยวน
ที่สำคัญ เมืองระดับจังหวัดจะต้องมีคุณลักษณะที่เป็นศูนย์กลางให้แก่เมืองหรืออำเภออื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย
จะเห็นได้ว่า เกณฑ์ข้างต้นบอกเราได้เป็นอย่างดีว่า ซัวเถาในปัจจุบันนี้ถือเป็นเมืองที่ไม่ธรรมดาจริงๆ ซึ่งเรื่องนี้ต้องยกให้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนที่เริ่มในปี 1978-79 แต่ในขณะเดียวกันหากย้อนกลับไปสู่อดีตแล้ว ซัวเถามิได้เจริญดังทุกวันนี้ ตรงกันข้ามกลับเป็นเมืองที่ผู้คนยากจนข้นแค้นยิ่งนัก
หาไม่แล้วก็คงไม่อพยพหนีความทุกข์ยากมายังแผ่นดินไทยเป็นแน่
เหตุดังนั้น การย้อนกลับไปยังอดีตของซัวเถาจึงเป็นสิ่งที่พึงศึกษา ทั้งนี้มิใช่เพราะจะทำให้เราได้รู้จักซัวเถาในยามทุกข์ยากก่อนที่จะมาเจริญรุ่งเรืองในวันนี้เท่านั้น หากลึกลงไปกว่านั้นยังทำให้เรารู้ด้วยว่า ผู้คนที่หนีความทุกข์ยากมายังไทยเหล่านั้น ได้ฝ่าฟันอุปสรรคอะไรมาบ้าง ก่อนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในวันนี้
ถึงตรงนี้ผมก็อยากจะบอกว่า ที่ผมเล่าว่าเรื่องกินเรื่องใหญ่สำหรับชาวจีนนั้น ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่จริงแท้แน่นอน แต่กว่าที่จะมาถึงจุดนี้ได้ชาวจีนก็ต้องดิ้นรนเลือดตาแทบกระเด็น และที่ดิ้นรนนั้นก็ไม่ใช่อะไรอื่น หากแต่คือ งาน
งานจึงเป็นเรื่องใหญ่ของชาวจีน เมื่องานสำเร็จแล้ว เรื่องกินจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่จะตามมาทีหลัง