ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ธุรกิจประกันภัยสัตว์เลี้ยงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ยิ่งในปัจจุบันซื้อง่ายผ่านช่องทางออนไลน์ง่ายขึ้น นับว่าเป็นธุรกิจที่โตรับกระแสการเลี้ยงสัตว์แบบ Pet Humanization หรือการดูแลเสทือนสมาชิกในครอบครัว แต่พบว่าการทำธุรกรรมประกันภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์มีช่องโหว่ละเมิดกฎหมาย ซึ่งส่งกระทบต่อผู้บริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้
การทำประกันภัยนับเป็นกระจายความเสี่ยงทางการเงินหากสัตว์เลี้ยงที่รักเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ ประกันภัยสัตว์เลี้ยง เพราะค่ารักษาพยาบาลต่อครั้งค่อนข้างสูง ธุรกิจกิจประกันภัยสัตว์เลี้ยงจึงได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับการโฆษณาชวนเชื่อกระแสในโลกออนไลน์ทำให้ประกันภัยสัตว์เลี้ยงได้รับความนิยมจากผู้เลี้ยงสัตว์จำนวนมาก
ประกันภัยสัตว์เลี้ยงนับเป็นโอกาสทางธุรกิจในตลาด Pet Economy อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ เผยว่าการเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนเป็นครอบครัวเข้ามามีบทบาทสำคัญและมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงอาทิเช่นบริการดูแลสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตต่อเนื่อง
ยกตัวอย่าง ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย (ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565) มีจำนวน 562 ราย คิดเป็น 0.06% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 1,359.60 ล้านบาท คิดเป็น 0.006% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย และในจำนวนนี้มีมูลค่าการลงทุนของคนไทย 1,334.93 ล้านบาท คิดเป็น 98.19 % ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุดคือ จีน มูลค่า 5.15 ล้านบาท ( 0.38%) รองลงมาคือ ญี่ปุ่น มูลค่า 5.02 ล้านบาท ( 0.37%) อังกฤษ มูลค่า 3.88 ล้านบาท ( 0.29%) และอื่นๆ มูลค่า 10.62 ล้านบาท ( 0.77%)
การเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยไปเป็นในทิศทางเดียวกับตลาดโลก ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์หน่วยงานเก็บข้อมูลสถิติระดับโลก คาดการณ์ว่า ปี 2569 ตลาดสัตว์เลี้ยงทั่วโลก จะมีมูลค่าสูงถึง 217,615 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2% ซึ่งตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยก็เติบโตสอดคล้องไปกับตลาดโลกเช่นกัน
ข้อมูลจาก Kantar Worldpanel ในประเทศไทย พบว่าไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 เทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2021 จํานวนครัวเรือนที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยจํานวนครัวเรือนที่มีสัตว์เลี้ยงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เติบโตเร็วกว่าในพื้นที่อื่นๆ
สำหรับในเมืองไทยมีประชากรสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมวจำนวนกว่า 10 ล้านตัว แถมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นโอกาสของธุรกิจประกันภัยสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีข้อมูลเปิดเผยว่าตลาดประกันภัยสัตว์เลี้ยงตลาดทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 276,000 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าตลาดจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 11%
ปัจจุบันในประเทศไทยประกันภัยสัตว์เลี้ยงมีอยู่หลายบริษัท จ่ายเบี้ยประกันเริ่มตั้งแต่หลักร้อยบาทจนถึงหลักหมื่นบาทต่อปี มีแผนคุ้มครองที่หลากหลายให้เลือกตามความพึงพอใจ
แต่ประเด็นที่ถูกจับตา ล่าสุด เกิดการรวมตัวของผู้เสียหายผู้ซื้อประกันภัยสัตว์เลี้ยง โดยสมาชิกล่าสุดนับพันรายผ่านเฟสบุ๊กกลุ่มเฉพาะกิจ “รวมกลุ่มผู้เสียหายจาก Insurepaws” เป็นศูนย์กลางดำเนินการขอคืนเงินและยกเลิกกรมธรรม์ เรียกร้องความเป็นธรรมต่อกรณีที่เกิดขึ้น หลังจากมีการแชร์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับบริษัทผู้ให้บริการด้านการตลาดแห่งหนึ่ง กระทำการในลักษณะเป็นตัวกลางในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับสัตว์เลี้ยงผ่านทางเว็บไซต์ หรือออนไลน์ รวมถึงให้บริการประชาชนผู้เอาประกันภัยในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน โดยมีประชาชนจำนวนมากซื้อประกันภัยนั้น ซึ่งมีประเด็นสงสัยว่าว่าบริษัทดังกล่าวมีใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยหรือไม่?
ต่อมา ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้สั่งการให้สายกฎหมายและคดี สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยแก่ประชาชน
จากการตรวจสอบเบื้องต้น “ไม่พบว่า บริษัทฯ ดังกล่าวมีใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัย” จึงได้สั่งการให้สายกฎหมายและคดี สำนักงาน คปภ. ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. อย่างเด็ดขาด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการซื้อประกันภัยออนไลน์ มีความมั่นคงปลอดภัยและทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมประกันภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์
ต่อมา บริษัทโบรกเกอร์ InsurePaws ประกาศหยุดขายประกันสัตว์เลี้ยงของ WRLIFE เป็นการชั่วคราว โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องสินไหมทดแทน ขณะเดียวกัน InsurePaws ได้ออกแถลงการณ์เผยข้อมูล “สัญญานายหน้าร่วม” ระหว่าง “ผู้รับประกันภัย” WRLIFE ผู้รับประกันภัย เลขที่ใบอนญาตุ 51230 นายหนาประกันภัยและประกันภัยต่อ เลขที่ใบอนญาตุ 16000457 ที่อยู่ WRLIFE LLP 44 บรอดเวย์สแตรทฟอรด์ ลอนดอน อี15 1เอกซเอช์ สหราชอาณาจักร กับ “ผู้ให้บริการ” InsurePaws
โดยชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กของ InsurePaws ความว่า “เนื่องจาก WRLIFE ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย WRLIFE สำหรับสัตว์เลี้ยง ได้มีคำสั่งให้เราหยุดทำการตลาดผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับสัตว์เลี้ยง WRLIFE ดังนั้น จึงไม่สามารถซื้อประกันภัยสำหรับสัตว์เลี้ยง WRLIFE จาก InsurePaws ได้อีกต่อไป
“เราตระหนักถึงความสำคัญของการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยสัตว์เลี้ยงของท่านเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม InsurePaws ในฐานะผู้ให้บริการด้านการตลาด ไม่มีอำนาจตัดสินใจใด ๆ ในกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ทั้งนี้ InsurePaws ดำเนินการในฐานะตัวกลางให้แก่ WRLIFE เท่านั้น และไม่ได้มีฐานะเป็นผู้รับประกันภัยแต่อย่างใด
“โปรดส่งคำขอให้ชดเชยค่าสินไหมทดแทนของท่านไปยังบริษัท แอสซิส อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์วิสเซส จำกัด ที่ pet_claims@assistinter.com เนื่องจากบริษัท แอสซิส อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้ที่ WRLIFE ได้แต่งตั้งให้เป็น “ผู้ดำเนินการ” อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการและจัดการเกี่ยวกับกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด”
ในประเด็นที่เกิดขึ้นนั้นในส่วนของความรับผิดชอบต่างๆ ทั้งเรื่องชดเชยค่าสินไหมของผู้เสียหายที่ซื้อกรมธรรม์สัตว์เลี้ยงที่ได้รับผลกระทบจาก บริษัทโบรกเกอร์ InsurePaws ยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจน
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. กำหนดให้บริษัทประกันภัย นายหน้าประกันภัยและธนาคารพาณิชย์ ที่ทำการเสนอขายประกันภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (Online) ต้องขึ้นทะเบียนกิจกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่ขายกรมธรรม์ทางอิเล็กทรอนิกส์จากเว็บไซต์ “กูรูประกันภัย” และสามารถเข้าไปตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ คปภ. โดยกด link เข้าไปใน banner กูรูประกันภัยได้อีกทางหนึ่งด้วยซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ทั้งนี้ บุคคลใดก็ตามกระทำการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยต้องได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันวินาศภัย หรือนายหน้าประกันวินาศภัยจากนายทะเบียน หรือสำนักงาน คปภ. หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 15,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“สำนักงาน คปภ. จะดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด และเพื่อป้องกันมิให้ถูกหลอกลวงจากผู้ขายประกันเถื่อน พี่น้องประชาชนที่ประสงค์จะซื้อประกันภัยออนไลน์ ควรจะตรวจสอบว่าผู้เสนอขายประกันภัยได้ขึ้นทะเบียนกิจกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จากสำนักงาน คปภ. แล้วหรือไม่” ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าว
โดยสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์กูรูประกันภัยและศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านระบบ Online หรือสามารถสอบถามข้อมูลจากสายด่วน คปภ. 1186 ทั้งนี้ หากพบเห็นพฤติกรรมการหลอกลวงด้านประกันภัยกรุณารีบแจ้งข้อมูลที่สำนักงาน คปภ. ทั่วประเทศ หรือที่สายด่วน คปภ. 1186
สำหรับประกันสัตว์เลี้ยงที่กำลังเป็นปัญหา นอกจาก คปภ. มีคำสั่งระงับการขายกรมธรรม์เป็นการชั่วคราวแล้ว ในส่วนของการดำเนินการคุ้มครองประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการซื้อประกันดังกล่าว ยังคงประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง การดำเนินการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถือกรมธรรม์สัตว์เลี้ยงของ WRLIFE จาก InsurePaws จะยุติข้อปัญหาอย่างไร