ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ชักดาบออกจากฝัก กล่าวโทษ10 ตัวการฉ้อโกง STARK ส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินคดี ขณะที่กรณีปั่นหุ้น – หุ้นกู้ผิดนัดชำระ ยังลุกลามไม่หยุด งานนี้ต้องจับตาดูว่า ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะเอาอยู่หรือไม่
สำหรับผู้ถูกกล่าวโทษ 10 ราย จาก ก.ล.ต. กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในช่วงปี 2564 – 2565 เพื่อลวงบุคคลใดๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง และทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ประกอบด้วย
(1) บริษัท STARK (2) นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (3) นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ (4) นายชินวัฒน์ อัศวโภคี (5) นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ (6) นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม (7) บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) (8) บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) (9) บริษัท อดิสรสงขลา จำกัดและ (10) บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
ก.ล.ต. ระบุว่า ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ว่า บุคคลข้างต้นได้ร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จ ทำบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง ในบัญชีหรือเอกสารของ STARK และบริษัทย่อย ในปี 2564 – 2565 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ อีกทั้ง STARK มีการเปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้และร่างหนังสือชี้ชวน โดยเปิดเผยงบการเงินที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบการเงินดังกล่าว รวมทั้งปกปิดข้อความจริงในข้อมูลในส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (factsheet) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแบบแสดงรายการข้อมูลสำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ STARK ว่าได้มีการเข้าลงทุนในบริษัท LEONI Kabel GmbH และ LEONIsche Holding Inc แล้ว ทั้งที่ยังเข้าลงทุนในกิจการดังกล่าวไม่เสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ ปรากฏว่าหลังจากที่ STARK ได้รับเงินหุ้นกู้และเงินเพิ่มทุน พบการโอนเงินออกจาก STARK และบริษัทย่อยไปยังบริษัทหรือบุคคลอื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการตกแต่งงบการเงินด้วย
การกระทำของบุคคลรวม 10 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 312 และมาตรา 281/2 วรรค 2 ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 89/7 ประกอบมาตรา 89/24 มาตรา 278 มาตรา 281/10 ประกอบมาตรา 300 มาตรา 306 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (แล้วแต่กรณี) ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 10 ราย ต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
นอกจากกรณีที่กล่าวโทษในครั้งนี้ ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบขยายผลไปยังกรณีอื่น ๆ ที่มีข้อสงสัยในเรื่องการทุจริต โดยจะประสานความร่วมมือกับ DSI ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะเปิดเผยให้ทราบต่อไป
การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ
ความเคลื่อนไหวของ ก.ล.ต. ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 เป็นช่วงจังหวะเวลาเดียวกันกับกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เสียหาย 11,000 คน ส่งผู้แทนเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ DSI ให้ดำเนินคดีต่อผู้ต้องสงสัยจำนวน 7 ราย ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และจับกุม ควบคุมตัวกลุ่มบุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดโดยพลัน พร้อมทั้งระงับการเดินทางไปต่างประเทศของกลุ่มบุคคลดังกล่าวภายในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป และให้ DSI ประสานสำนักงานคณะกรรมการป้องปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่ออายัดทรัพย์สิน และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ร่วมขบวนการดังกล่าวทั้งหมดโดยพลัน
การเดินหน้าเอาผิดกลุ่มผู้บริหาร STARK ของกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย เนื่องจากมีข้อกังขาว่า หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคือ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ อดีตกรรมการผู้มีอำนาจใน STARK เป็นผู้มีส่วนได้ประโยชน์จากการตกแต่งบัญชีและปั่นราคาหุ้นหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้นายวนรัชต์ ยืนยันว่า เป็นเพียงผู้ถือหุ้นใหญ่ และกรรมการบริษัทเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจบริหาร เพราะยกสิทธิ์ขาดการบริหารให้กับนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการ และนายวนรัชต์ ในฐานะผู้เสียหาย ยังเป็นผู้กล่าวโทษดำเนินคดีต่อนายชนินทร์ และพวก อีกด้วย
แต่อย่างไรก็ดี กลุ่มนักลงทุนรายย่อย ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อนายวนรัชต์ เข้าข่ายเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการตกแต่งบัญชีและขายหุ้นบิ๊กล็อตมูลค่านับหมื่นล้าน เหตุไฉนเขาจึงเป็นเพียงผู้เสียหาย ไม่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ DSI ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากยังไม่มีใครมาร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อนายวนรัชต์ ทั้งที่เรื่องนี้อดีต CFO ของ STARK ไปให้ข้อมูลหลักฐานกับสำนักงานก.ล.ต.หมดแล้วตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2566 หลักฐานชัดเจนเส้นทางการเงินว่าออกจากบัญชีไหน ไปเข้าบัญชีใคร แต่เวลาล่วงเลยมาถึงขั้นนี้ ก.ล.ต.ยังไม่มาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี ซึ่งหากก.ล.ต.ไม่ทำ ทางผู้เสียหายคือผู้ถือหุ้นรายย่อยจะมาร้องทุกข์กล่าวโทษเองก็ได้
นั่นจึงเป็นที่มาในการออกโรงของ ก.ล.ต. เพราะส่วนหนึ่งมีแรงบีบจากกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย หาก ก.ล.ต.ไม่ทำ กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยก็พร้อมลุยเอง แถมฝั่ง DSI ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ก.ล.ต.รู้ทั้งรู้แล้วทำไมยังไม่ยอมขยับ ทั้งยังมีข้อสังเกตด้วยว่า ก.ล.ต. มีอำนาจที่จะระงับความเสียหายได้ ทั้งการอายัดทรัพย์สิน การห้ามเคลื่อนย้ายหลักฐาน ประสานงานห้ามผู้ต้องสงสัยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยทันท่วงที ไม่ใช่ปล่อยเวลาล่วงเลยมาถึงบัดนี้
ก่อนหน้าที่ ก.ล.ต. จะกล่าวโทษตัวการโกง STARK ข้างต้น อดีต CFO ของบริษัท ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกล่าวโทษจาก ก.ล.ต. ออกมาแฉว่าถูกสั่งให้ตกแต่งบัญชีปั่นราคาหุ้น โดย นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) เผยผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ ไทยแลนด์” ในเช้าของวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ยอมรับว่าเป็นผู้ตกแต่งบัญชีให้กับ STARK และบริษัทในเครือ 4-5 บริษัทจริง เพื่อทำให้ STARK เป็นหุ้นทองคำในตลาดหุ้นไทย โดยได้รับคำสั่งจากนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานคณะกรรมการบริษัท ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ทางตรง และมีผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างตลาดทุนอีกรายหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยข้อมูลทั้งหมดได้เข้าพบและแจ้งกับ ก.ล.ต.ไปแล้ว
“การตกแต่งบัญชีทั้งหมดของ STARK ตามที่ผมเข้าไปชี้แจงกับก.ล.ต.เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. เพื่อผลประโยชน์แก่ราคาหุ้น และยอมรับว่าตนเองเป็นผู้ดำเนินการตกแต่งบัญชีโดยรับคำสั่งจากกลุ่มเจ้านายทั้ง 3 คน ผมไม่ได้ทุจริตแต่อย่างใด ผลประโยชน์ที่ได้มามาจากการบริหารงานของกลุ่มบริษัทในเครือทั้ง STARK และ Non STARK ที่มีประมาณ 30 บริษัท” นายศรัทธา กล่าว
สำหรับรูปแบบการตกแต่งบัญชีของ STARK นายศรัทธา เล่าว่า ได้มีการสร้างยอดขายเทียม ทำให้ยอดขายสูงกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้กำไรสูงขึ้นตาม และมีลูกหนี้เทียมโผล่ขึ้นตามมา จึงต้องนำเงินจากกลุ่ม Non STARK เข้ามาชำระลูกหนี้การค้า ซึ่งตนเองในฐานะผู้ดูแลบัญชีทั้งกลุ่มต้องเกลี่ยเงินโดยเอาเงินจากทั้งในกลุ่มนอกกลุ่ม STARK มาชำระหนี้ที่อยู่ใน Phelps Dodge
นายศรัทธา เล่าว่า ตอนแรกๆ ไม่ได้ทำเยอะ เพื่อที่จะทำให้ราคาหุ้นค่อยๆ ขึ้น แต่ปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นของ STARK มีสาเหตุมาจากคำสั่งที่ให้ตกแต่งบัญชีจำนวนสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุด เพื่อเรียกความเชื่อมั่นสำหรับดีลเสนอขายหุ้นให้รัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง แต่มีการล้มกระดานกันไปในปี 2564 ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา
การตกแต่งบัญชีเพื่อสร้างราคาหุ้นของ STARK ให้สูงขึ้น ก่อให้เกิดผลประโยชน์มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท อย่างกรณีของการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่ซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนด์) ราคาใช้สิทธิ 5 บาทและกำหนดแปลงสิทธิปี 67 และยังมีดีลขายหุ้น Big Lot ราคากว่า 3 บาท ออกมาหลังจากทำ Reverse Takeover รวมถึงรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่งสนใจทำดีล MD&A เข้าซื้อหุ้น STARK แต่ที่สุดดีลนี้ล้มไป ซึ่งเป้าหมายการสร้างราคาหุ้น STARK เพื่อดันหุ้นขึ้นไปที่ 5 บาทได้นั้นจะต้องมีการนำ STARK เข้า SET50 ให้ได้ แต่บริษัทต้องเข้า SET100 ให้ได้ก่อน
ส่วนการออกหุ้นกู้วงเงินรวมกว่า 9 พันล้านบาท เนื่องจากก่อนหน้าในกลุ่ม STARK ใช้เงินของธนาคารทำทุกดีล โดยเฉพาะการซื้อบริษัทที่เวียดนามที่มีขนาดใหญ่มาก แต่กลับมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แผนธุรกิจของเวียดนามไม่ได้เป็นไปตามที่คิด ผลงานขาดทุนแต่เลือกชำระหนี้ตรงตลอดเวลา เงินจากชำระหนี้ของเวียดนามมาจากการบริหารงานของ Phelps Dodge เมื่อ Phelps Dodge จ่ายชำระหนี้แทนเวียดนาม ซึ่งขาดทุน ทำให้เกิดปัญหากระแสเงินสดก็เลยฉุดทั้งหมด
ต่อมา STARK ต้องการขายหุ้นให้กับรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง ตอนนั้นคาดว่าน่าจะผ่านไปได้เรียบร้อย จึงออกหุ้นกู้ล็อตแรก รอลุ้นให้ดีลจบ Cash Flow ก็จะแก้ปัญหาได้ โดยหุ้นกู้ไม่เกี่ยวกับตกแต่งบัญชีแต่เพื่อใช้ชำระคืนหนี้
นายศรัทธา กล่าวว่า ผลประโยชน์ที่ได้จากการสร้างราคาหุ้น STARK ให้สูงขึ้น ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นผู้ถือหุ้นที่ขายหุ้น Big lot ในราคาสูง และการแปลงวอร์แรนต์ เป็นหลักหมื่นล้านบาท ยังไม่รวมหนี้ที่กู้จากสถาบันการเงินมาทำดีลต่างๆ เงินจากการขายเพิ่มทุน และการออกหุ้นกู้ รวมแล้วหลายหมื่นล้านบาท ส่วนนายชนินทร์ และอดีตผู้บริหารคนอื่น ไม่ทราบว่าได้รับผลประโยชน์อย่างไร เพราะไม่ได้ถือหุ้น STARK
เส้นทางการเงินของ STARK ได้ผ่านบัญชีของตนเอง และเข้าไปที่บริษัทลูกๆของ STARK ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คนเดียวกัน ขณะที่ตนเองไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ ในการสร้างราคาหุ้น STARK และไม่มีเส้นทางการเงินผ่านเข้ามาทางบัญชีของภรรยา โดยบัญชีที่ถูกอายัดไปเป็นบัญชีเงินเดือนที่ปกติโอนให้ภรรยาไว้ใช้จ่าย และเสียภาษีปกติ รวมทั้งบัญชีเพื่อผ่อนบ้าน ไม่เกี่ยวข้องกับการตกแต่งบัญชี
“ผมต้องเรียนตรงว่าผมได้สารภาพกับก.ล.ต.แล้ว ถ้ากระบวนการถึงที่สุด ผลเป็นยังไง ผมก็น้อมรับตามนั้น” นายศรัทธา กล่าว
นายสุนันท์ ศรีจันทรา คอลัมนิสต์ชุมชนคนหุ้นในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360 องศา และพิธีกรสถานีโทรทัศน์ News 1 ชี้ว่าอาชญากรรมใน STARK แยกเป็น 2 คดีความผิด ส่วนหนึ่งเป็นการโกง โดยการไซฟ่อน ผ่องถ่าย โยกย้ายเงินออก ซึ่งสังคมให้ความสนใจมากกว่า
อีกส่วนหนึ่งเป็นการปั่นราคาหุ้น โดยการสร้างภาพลวงตาด้านผลประกอบการ จนนักลงทุนทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ทั้งกองทุนทั้งในและต่างประเทศ ขนเงินมาทิ้งใน STARK จำนวนหลายหมื่นล้านบาท รวมทั้งนักลงทุนสถาบัน 12 ราย เหยื่อรายล่าสุดที่ร่วมกันขนเงินจำนวน 5,580 ล้านบาท ใส่พานมาให้ STARK เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ก่อนที่เงินจะถูกผ่องถ่ายออกไปจนเกลี้ยงโดยผู้บริหารบริษัท
ราคาหุ้น STARK เคยถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 5.10 บาท เมื่อช่วงปลายปี 2565 แต่ราคาหุ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เหลือเพียง 3 สตางค์เท่านั้น มีนักลงทุนที่ถือหุ้นติดมืออยู่ประมาณ 1 หมื่นราย ซึ่งอยู่ในสภาพที่หมดตัว
กลุ่มนายวนรัชต์ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ STARK เมื่อปี 2562 โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวนกว่า 20,000 ล้านหุ้น ในสัดส่วนประมาณ 94% ของทุนจดทะเบียน ในราคาหุ้นละ 60 สตางค์ และทยอยขายหุ้นออกต่อเนื่อง จนเหลือสัดส่วนการถือหุ้น STARK อยู่เพียง 26.85% ของทุนจดทะเบียน
นายวนรัชต์ เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากส่วนต่างราคาหุ้น STARK แต่จะมีส่วนร่วมในขบวนการแต่งบัญชี สร้างหนี้เทียม ไซฟ่อน ผ่องถ่ายเงินออกหรือไม่ และมีส่วนร่วมสร้างภาพลวงตา ปั่นราคาหุ้นขึ้นไปหรือไม่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ คงต้องตรวจสอบในรายละเอียดต่อไป
ส่วนนายชนินทร์ เย็นสุขใจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK อาจตกเป็นเป้าถูกเพ่งเล็งว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปั้นผลประกอบการ ตบตานักลงทุน แต่สังคมไม่เชื่อว่า ปฏิบัติการปล้น STARK จะเกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องแบ่งงานกันทำอย่างเป็นกระบวนการมาหลายปี
ก่อนหน้าที่ ก.ล.ต. จะชี้เป้ากล่าวหา 10 ตัวการโกง STARK นั้น มีการเขย่าโครงสร้างกรรมการบริษัท โดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต กรรมการ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2566 มีมติสำคัญรับทราบการลาออกของ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล จากการเป็นกรรมการ ประธานกรรมการและกรรมการอิสระของบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ยังอนุมัติการแต่งตั้งกรรมการเข้าใหม่แทนกรรมการที่ลาออก โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป โดยนายสมชัย สวัสดีผล เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ แทน พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล, นายมนตรี ศรีสกูล เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ แทนนายเสนธิป ศรีไพพรรณ, นายภูมิพัฒน์ สินาเจริญ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการแทนนายสุวัฒน์ เชวงโชติ
นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท จากเดิมนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ และนายอภิชาติ ตั้งเอกจิต ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัท แก้ไขเป็น นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต และนายภูมิพัฒน์ สินาเจริญ ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัท
ส่วนในทางคดีนั้น พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน กล่าวว่า จากการสอบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับความผิดปกติของงบการเงินของ STARK มีมูลเชื่อว่ามีการกระทำผิดของกรรมการ หรือผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นใด เกิดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พฤติการณ์มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ ขณะที่มีกลุ่มผู้เสียหายจำนวนมากจากการลงทุนในหุ้นกู้ของ STARK
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2566 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ DSI ได้ออกหมายเรียก นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ STARK ให้เข้ารับทราบข้อหาวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ส่วนนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) ของบริษัท ให้เข้ารับทราบข้อหาในวันที่ 7 ก.ค.66 น. ที่กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หลังพบหลักฐานและคำให้การของพยานบุคคลที่เชื่อได้ว่าทั้ง 2 คน มีพฤติการณ์ตกแต่งบัญชี และได้รับผลประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว
ต่อมา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ ได้ยื่นขอเลื่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ ) จากวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ไปเป็นวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ส่วนนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ทาง DSI ได้ออกหมายจับ หลังพบการข่าวหนีออกนอกประเทศ
คอลัมนิสต์ชุมชนคนหุ้น ชวนติดตามการปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ไม่เพียงแต่กรณีของ STARK เท่านั้นที่สร้างหายนะให้นักลงทุนรายย่อย เวลานี้ หุ้น บริษัท ไทยพาร์เซิล จำกัด (มหาชน) หรือ TPL เป็นหุ้นน้องใหม่ในตลาด MAI ตัวล่าสุดมีกระแสสังคมในตลาดหลักทรัพย์ เรียกร้องให้ตลาดหลักทรัพย์ ตรวจสอบกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังลากราคาหุ้นขึ้นไปสูงลิ่ว ก่อนถล่มขายลงมา ทำให้นักลงทุนที่แห่เข้าไปเก็งกำไรตายกันเป็นเบือ
TPL นำหุ้นจำนวน 120 ล้านหุ้น เสนอขายนักลงทุนราคาหุ้นละ 3.30 บาท ค่าพี/อี เรโช เฉลี่ย 66 เท่า ระดมทุนเงินของนักลงทุนไปแล้ว 96 ล้านบาท มีกลุ่มนางวิสสา จินะวิจารณะ ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 36.25% ของทุนจดทะเบียน บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA ถือหุ้นในสัดส่วน 26.73% และมีนักลงทุนขาใหญ่หลายคนถือหุ้นด้วย
หุ้น TPL เข้ามาซื้อขายในช่วงเวลาที่มีข่าวฉาวโฉ่ของหุ้น STARK และการตรวจสอบหุ้นบริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO ซึ่งมีการซื้อขายที่ไม่ปกติ สร้างความเสียหายให้นักลงทุนจำนวนมาก ทว่าท่ามกลางกระแสการตรวจสอบหุ้นร้อน หุ้น TPL กลับพุ่งทะยานอย่างร้อนแรง และมีกลุ่มคนที่ต้องสงสัยในการลากราคาโดยไม่เกรงกลัวหน่วยงานที่กำกับดูแลการซื้อขายหุ้น ซึ่งกำลังตื่นตัวในการปราบหุ้นปั่น
TPL เป็นหุ้นน้องใหม่อีกตัวหนึ่งที่มีพฤติกรรมมหาโหด เพราะราคาถูกลากขึ้นไปอย่างร้อนแรง สูงกว่าราคาเกิน 100% แต่ถูกทุบรูดภายในพริบตาจนปิดตลาดต่ำกว่าจอง 32% ถ้าเทียบจากราคาหุ้นที่สูงสุดที่ 7.25 บาท ก่อนถูกทุบรูดลงมาเหลือ 2.22 บาท ราคาหุ้น TPL ปรับตัวลงถึง 72.52% ซึ่งนักลงทุนรายย่อยที่เข้าไปซื้อ และขายไม่ทันถูกเชือดโหด ขาดทุนถึงขั้นหมดตัว งานนี้กลุ่มไอ้โม่งที่ลากนักลงทุนเข้าไปเชือดในหุ้น TPL ต้องถูกกระชากหน้ากากเปิดโปงให้สังคมรับรู้จิตใจที่เหี้ยมโหดและอำมหิต
ไม่เพียงแต่การลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยง การลงทุนในหุ้นกู้ก็มีความเสี่ยงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 นายธนากร ธนวริทธิ์ กรรมการ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL ในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ของหุ้นกู้มีประกันของบริษัท รายงานเหตุผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ ALL230A, ALL235A, ALL242A และ ALL252A โดยหุ้นกู้ ALL ทั้ง 4 รุ่น รวมกันมีมูลค่าคงค้างหุ้นกู้ที่ 1,431.70 ล้านบาท และมีจำนวนดอกเบี้ยที่ผิดนัดชำระที่ 16.89 ล้านบาท (ณ วันที่ 30 มิ.ย.2566)
ต่อมา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ALL รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า หุ้นกู้มีประกันของบริษัทที่ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 21 เม.ย. 2567 หรือหุ้นกู้รุ่น ALL244A มีการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้จำนวน 10,535,719.92 บาท เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ถือหุ้นกู้รวม 573 ราย
หุ้นกู้ ALL ทั้ง 5 รุ่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ขอให้ ALL ชำระเงินต้นคงค้างทั้งหมดรวมทั้งดอกเบี้ย รวม 2,216 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ปัจจุบันบริษัทยังไม่เข้าเงื่อนไขการ Cross Default แต่หากบริษัทไม่ชำระเงินต้นและพร้อมดอกเบี้ยตามที่บอกกล่าวข้างต้นได้ครบถ้วนตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายกับบริษัทต่อไป
คาถาประจำใจนักลงทุนที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” ยังต้องท่องให้ขึ้นใจ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อในตลาดหุ้น