xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

งานใหญ่! บ่งฝี “หนี้ครัวเรือน” แตก เพิ่มแบงก์แข่งกดดอกเบี้ยต่ำ จะไหวไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  โจทย์ใหญ่ท้าทายทุกรัฐบาลหนีไม่พ้นเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ไต่ระดับสู่วิกฤตสุด ซึ่งตอนนี้พุ่งเฉียด16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพี และยังคลำหาทางออกไม่เจอ ข้อเสนอที่ขอให้ตั้งศูนย์รวมหนี้ ดึง “เครดิตบูโร” เป็นเจ้าภาพ รวมทั้งการเพิ่มจำนวนแบงก์เพื่อกระตุ้นแข่งลดดอกเบี้ย จะใช่คำตอบหรือไม่ อยู่ที่รัฐบาลใหม่จะมีฝีมือจัดการกับปัญหาเรื้อรังนี้อย่างไร 

ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาใหญ่ ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ล่าสุด  นายผยง ศรีวณิช  ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า หนึ่งในแนวทางที่เป็นรูปธรรมซึ่งแบงก์ชาติหารือกับสมาคมฯ คือแนวทางลดดอกเบี้ย 8-12% ให้ลูกหนี้เรื้อรัง เป็นเครื่องมือหนึ่งแต่ต้องทำให้ลูกหนี้มีรายได้เพิ่ม และให้มีรายได้ประคองชีพได้ การมีรายได้เข้ามาแต่ละเดือน นำไปลดเงินต้นอย่างเหมาะสมและจ่ายดอกเบี้ยไม่ให้เกิดหนี้คงค้างจนไม่สามารถลดภาระหนี้ได้ เรื่องนี้สมาคมฯอยู่ระหว่างคุยกันแต่ไม่ได้บอกว่าเกิน 4 ปีแล้วจะเป็นหนี้เรื้อรังหรือไม่ แต่หวังว่ากลไกนี้จะช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม มาตรการของธปท.ที่ออกมายังไม่ครอบคลุมกลุ่มลูกหนี้อีก 30% ที่ไม่ได้อยู่ในระบบภายใต้การกำกับของ ธปท. ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหายิ่งกว่าหนี้ในระบบแบงก์พาณิชย์ และเร็วๆ นี้ ธปท.จะมีแนวทางแก้หนี้ครัวเรือนออกมาเพิ่มเติม

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกรายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทยอยลดลงจากที่เร่งตัวสูงในช่วงโควิด-19 โดย ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากการปรับข้อมูลให้ครอบคลุมผู้ให้กู้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่แล้วไม่ใช่หนี้ที่เพิ่งเกิดใหม่ ในจำนวนนี้ 73% อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. โดยแบ่งเป็นสินเชื่อบ้าน 34% สินเชื่อรถยนต์ 11% สินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคล 27% และ อื่น ๆ เช่น กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 28% โดยจากข้อมูลชุดใหม่ หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 91.4%

ในส่วนของหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน จากผลกระทบของโควิด-19 (ลูกหนี้รหัส 21) นับจากวันที่ 1 ม.ค.2563 โดยเริ่มปรับลดลงจากจุดสูงสุดในเดือน ต.ค.2565 จาก 4.7 ล้านบัญชี เหลือ 4.4 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 4.1 แสนล้านบาท เหลือ 3.1 แสนล้านบาท โดยหนี้เสียดังกล่าว เป็นของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 60% Non Bank 30% และธนาคารพาณิชย์ 10%

แต่ระยะต่อไปตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL อาจทยอยปรับขึ้นบ้างจากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อย หรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีภาระหนี้สูง และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเคยได้รับความช่วยเหลือแล้ว แต่ยังกลับมาชำระหนี้ไม่ได้

 สำหรับสัดส่วน NPL ล่าสุดอยู่ที่ 7.2% จาก 6.9% และสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) อยู่ที่ 3.2% เพิ่มขึ้นจาก 3.1% โดยNPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในส่วนของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 3.2% ธนาคารรัฐอยู่ที่ 3.9%, NPL ของสินเชื่อรถยนต์ทรงตัว โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 1.9% แต่ SM อยู่ที่ 13.8% และ Non Bank อยู่ที่ 2.1% และ SM อยู่ที่ 11.4% ขณะที่หนี้บัตรเครดิตอยู่ที่ 3.1% เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี ตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดข้างต้น ธปท.ได้ปรับปรุงข้อมูลให้ครอบคลุมผู้ให้กู้เพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนสภาพจริงของปัญหา โดยให้ครอบคลุมหนี้จาก 4 กลุ่ม ยอดหนี้รวม 7.7 แสนล้านบาท ได้แก่ กลุ่มหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งมียอดหนี้ 4.83 แสนล้านบาท, กลุ่มหนี้สหกรณ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ เช่น สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สหกรณ์การเกษตร เป็นต้น ซึ่งมียอดหนี้ 2.65 แสนล้านบาท จากเดิมที่เก็บสถิติเฉพาะหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์เท่านั้น, กลุ่มหนี้ที่เกี่ยวกับการเคหะแห่งชาติ ซึ่งมียอดหนี้ 1.1 หมื่นล้านบาท และกลุ่มหนี้พิโกไฟแนนซ์ ยอดหนี้ 6,000 ล้านบาท

 นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. เผยว่า การปรับปรุงข้อมูล (สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนชุดใหม่) จะมีความครอบคลุมมากกว่าทั้งในมิติผู้ให้กู้และเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ซึ่งหลังจากปรับปรุงข้อมูลแล้ว หนี้ครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากข้อมูลก่อนปรับปรุงแต่อย่างใด โดยหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์จะมีสัดส่วนคิดเป็น 34% ของหนี้ทั้งหมด, หนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วน 27%, หนี้เพื่อการประกอบการอาชีพมีสัดส่วน 18%, หนี้ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์มีสัดส่วน 11%, หนี้เพื่อการศึกษามีสัดส่วน 4% และหนี้อื่นๆ มีสัดส่วน 6%

หากจำแนกดูหนี้ครัวเรือนตามประเภทของสินเชื่อ ณ ไตรมาสแรก 2566 มูลหนี้รวม 15.96 ล้านล้านบาท แยกได้ ดังนี้ สถาบันรับฝากเงิน รวม 12.89 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ 6.32 ล้านล้านบาท สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน 4.26 ล้านล้านบาท สหกรณ์ออมทรัพย์ 2.24 ล้านล้านบาท สถาบันรับฝากเงินอื่นๆ 58,276 ล้านบาท

สถาบันการเงินอื่น รวม 2.36 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล 1.84 ล้านล้านบาท บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต 179,401 ล้านบาท บริษัทหลักทรัพย์ 116,460 ล้านบาท ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน 87,955 ล้านบาท โรงรับจำนำ 82,264 ล้านบาท สถาบันการเงินอื่นๆ (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และพิโกไฟแนนซ์) 51,625 ล้านบาท และอื่นๆ ประกอบด้วย กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา การเคหะแห่งชาติ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์บริการ สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง และสหกรณ์ร้านค้า 703,741 ล้านบาท

 น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. เผยว่า หนี้ครัวเรือนที่ ธปท. ห่วงมากที่สุดคือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เพราะเป็นหนี้ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นเพื่อขยายผลไปยังอีก 30% ของหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ด้วย เช่น การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีความรู้และวินัยทางการเงิน การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของเจ้าหนี้ทั้งระบบ การพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ประเมินและติดตามหนี้ และการสร้างรายได้ 

ส่วนการเพิ่มจำนวนแบงก์พาณิชย์นั้น นางสาวสุวรรณี เผยว่า จะเห็นความชัดเจนหลังจากที่มีการจัดตั้งทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยธปท.จะเข้าไปหารือโดยเอาข้อมูลมาพิจารณา ซึ่งแนวนโยบายการเพิ่มจำนวนของธนาคารที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินการเรื่องธนาคารไร้สาขาโดยเปิดรับฟังความเห็นในรอบสองไปแล้ว

ขณะเดียวกัน  นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต ซึ่งรับหน้าที่เป็น “หัวหน้าทีมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน”  ของสมาคมธนาคารไทย มีข้อเสนอหลังการประชุมร่วมสมาคมฯ ว่า การแก้ไขหนี้ครัวเรือนจะเริ่มจากการรวมข้อมูลลูกหนี้ที่ปล่อยสินเชื่อทั้งหมดมาอยู่ศูนย์เดียวกัน และใช้การคำนวณความเสี่ยงการปล่อยสินเชื่อลูกหนี้โดยใช้คะแนนเครดิตลูกหนี้รายบุคคลเป็นตัวกำหนด

การตั้งศูนย์รวมหนี้ สามารถทำได้โดยผ่านบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ไม่จำเป็นต้องทำระบบใหม่ เพราะระบบเดิมมีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่สามารถบังคับให้นอนแบงก์และผู้ให้กู้อื่นๆ เข้ามาสู่ระบบได้ ต้องถาม ธปท.ว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลใหม่แก้ปัญหานี้อย่างไรเพื่อให้เกิดสิ่งนี้ ระบบนี้ต้องทำผ่านศูนย์เดียวที่คำนึงถึงมาตรฐานความเป็นกลางที่ออกโดยผู้กำกับดูแล และต้องใช้ข้อมูลในชุดเดียวกันเพื่อพิจารณา

ดังนั้น สิ่งที่ ธปท.ควรทำคือการเอากลุ่มสหกรณ์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ นอนแบงก์ หรือกลุ่มข้อมูลหนี้ทั้งหมดส่งเข้าเครดิตบูโร แล้วคำนวณออกมาเป็นเครดิตลูกหนี้รายบุคคล ซึ่งเวลานี้การให้สินเชื่อทำได้ยากในบางกลุ่มเพราะผู้ให้เงินกู้มองไม่เห็นว่าภาระลูกหนี้เป็นอย่างไร มีเพียงรายที่กู้จากสถาบันการเงินเท่านั้นถึงมีข้อมูล หากมีข้อมูลมากขึ้นจะเป็นเรื่องดีต่อการให้สินเชื่อและการคิดอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรม สอดรับกับมาตรการของ ธปท.ที่จะนำกลไกล Risk-based pricing (RBP) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลง ส่วนลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น

 “กระดุมเม็ดแรกคือ individual credit score ต้องทำให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนถึงจะหาย”นายปิติ กล่าว 

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของระบบนี้ “หัวหน้าทีมแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน” มองว่า คีย์สำคัญอยู่ตรงที่   “มุมมองทางการเมือง”  เนื่องจากเครดิตบูโร มีระบบพร้อมอยู่แล้ว เรื่องข้อมูลการชำระเงินของประชาชน ปัจจุบันใช้จ่ายผ่านดิจิทัลเกือบทั้งหมด ทุกสิ่งอยากอยู่ตรงนั้นหมดแล้วก็ขอให้หยิบมาใส่ โดยการออกกฎหมายฉบับเดียว หนี้ครัวเรือนประเทศไทยจะเปลี่ยน และเรื่องนี้ควรจะเป็นวาระแห่งชาติ

 ความฝันแก้ไขหนี้ครัวเรือนให้ทุเลาเบาบางลง จะมีความเป็นไปได้สักกี่มากน้อย อีกไม่นานก็คงได้เห็นผลงานของ “รัฐบาลใหม่” ว่าจะปังปุริเย่หรือแค่คำคุยโต 


กำลังโหลดความคิดเห็น