ป้อมพระสุเมรุ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่มีเซอร์ไพร์สให้ตื่นเต้น คิวเลือก “อาจารย์วันนอร์” วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ ที่เป็นการเสนอชื่อโดยไม่มีคู่แข่ง และไม่ต้องลงมติ
เท่ากับว่าที่ประชุมสภาฯ เห็นเป็น “เอกฉันท์” ให้ “อาจารย์วันนอร์” ดีกรี ส.ส. 11 สมัย ขึ้นรั้งตำแหน่ง “ประมุขนิติบัญญัติ” อีกคำรบ หลังเคยทำกน้าที่นี้มาแล้วเมื่อช่วงปี 2539-2543
กลายเป็นรายการ “ส้มหล่น” จากความไม่ลงตัวของ 2 พรรคใหญ่ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ที่ยื้อยุดฉุดกระชากกันมาร่วมเดือน กระทั่งเก้าอี้สำคัญมาตกอยู่กับพรรคที่มีเพียง 9 เสียง อย่างพรรคประชาชาติ
เอาเข้าจริงชื่อของ “วันนอร์” ถูกโยนหินถามทางมาตั้งช่วงแรกที่ 8 พรรคเสียงข้างมากรวมรวมเสียงได้ 312 เสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า ส.ส.ก้าวไกล ในฐานะพรรคอันดับ 1 ล้วนแล้วแต่ “อ่อนพรรษา” นับอาวุโสสูงสุดก็เป็นเพียง ส.ส. 2 สมัย เท่านั้น ยังไม่เหมาะที่จะขึ้นบัลลังก์คุมเกมการเมืองในสภาฯ
จึงเป็นทีของ “รุ่นพี่” อย่างพรรคเพื่อไทยที่สบช่องขอจองเก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติ ด้วยเหตุผลว่า มีบุคคลที่เหมาะสมทั้งวัยวุฒิ-คุณวุฒิ มากกว่า จึงขอโควตานี้ไว้ตามสูตร 14+1 หรือรัฐมนตรี 14 ที่นั่ง บวก 1 ประธานสภาฯ
กลับกันพรรคก้าวไกล ก็จะได้ 14+1 หรือรัฐมนตรี 14 ที่นั่ง บวก 1 นายกรัฐมนตรี
ทว่า พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคอันดับ 1 ก็ไม่ยอมลดราวาศอก ยืนกรานว่า ต้องการให้คนของพรรคทำหน้าที่ประธานสภาฯ ด้วยใรวาระในการผลักดันกฎหมายสำคัญๆ ที่ต้องทำให้สำเร็จตามที่ได้หาเสียงไว้
สถานการณ์เริ่มคุกรุ่นเมื่อฝั่งพรรคเพื่อไทยเริ่มเปิดเกมแรง ส่งขุนพลฝีปากกล้าออกมาถล่มพรรคก้าวไกลไม่หยุดในเรื่องนี้ โดยระบุว่า ได้มาเพียง 151 เสียง ห่างจากพรรคเพื่อไทยเพียง 10 เสียง อย่าคิดจะ “กินรวบ”
แถมยังปรามาสว่าเป็นเพียง “พระบวชใหม่-สามเณร” อย่าริอาจจะขึ้นชั้น “เจ้าอาวาส”
พร้อมๆ กับท่าทีที่ “ไม่ชัดเจน” ของระดับแกนนำที่เดิมมีการแถลงว่า เห็นควรให้พรรคอันดับ 1 เป็นประธานสภาฯ ส่วนพรรคเพื่อไทยขอเพียง 2 เก้าอี้รองวประธานสภาฯแทน
ก่อนจะ “พลิกลิ้น” ว่าที่ประชุม ส.ส. และกรรมการบริหารพรรค มอบหมายให้คณะเจรจาไปยืนยันหลักการเรื่องสูตร 14+1 ที่ พรรคเพื่อไทย จะต้องได้เก้าอี้ประธานสภาฯ มิเช่นนั้นอาจจะต้องพิจารณา “ทบทวน” โดยไม่ระบุว่า ทบทวนในเรื่องใด
ซึ่งพรรคก้าวไกลเองก็ไม่ยอมลงง่ายๆ และดึงการเจรจาในเรื่องนี้ไปก่อนถึงวันประชุมสภาฯครั้งแรกเพื่อเลือกประธานสภาฯในวันที่ 4 ก.ค.66 เพียงวันเดียว ท่ามกลางกระแสที่ต่างฝ่ายต่างปล่อยชิงไหวชิงพริบกันตลอดเวลา
กระทั่งต้องย้อนกลับมาหยิบชื่อ “อาจารย์วันนอร์” ขึ้นมาอีกครั้ง
เบื้องลึกเบื้องหลังการเสนอชื่อ “วันนอร์” เพื่อผ่านทางตันความขัดแย้งของ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ก็ถูกฉายโดย “เฮียอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะหนึ่งในคณะเจรจาจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลที่เล่าว่า ไอเดียการทาบทาม “วันนอร์” กลับมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 ก.ค.66 โดยเป็นการเสนอของฝ่ายพรรคเพื่อไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า “คุม ส.ส.ไม่อยู่”
ทั้งที่ก่อนหน้านั้น คณะเจรจาของพรรคเพื่อไทย ยอม “อ่อนข้อ” ตกลงให้พรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งประธานสภาฯไปแล้ว โดยเงื่อนไขขอไป “เคลียร์” กับทางพรรคก่อน
ทว่า ก็เป็นฝ่ายพรรคก้าวไกลที่ออกมาให้ข่าวว่า ต้องได้ประธานสภาฯ เท่านั้น และโยนชื่อ “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ออกมาว่าจะเป็นแคนดิเดตประธานสภาฯ ของพรรค
จนเกิดวิวาทะกับทางพรรคเพื่อไทย นำมาซึ่งวาทกรรม “พระบวชใหม่-สามเณร” และทำให้คณะเจรจาพรรคเพื่อไทยโดนรุมถล่มอย่างหนักกลางที่ประชุมพรรค และจำต้องนำข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ในการ “ขอ” เก้าอี้ประธานสภาฯ มาแจ้งกับพรรคก้าวไกล
ทั้งๆ ที่รู้เต็มอกว่า พรรคก้าวไกลไม่ยอมอย่างแน่นอน
เมื่อการเจรจาไม่คืบหน้าไปไหน ฝ่ายพรรคเพื่อไทย โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค จึงเสนอไอเดียให้ “คนกลาง” อย่าง “วันนอร์” หัวหน้าพรรคประชาชาติขณะนั้น ที่มีความอาวุโสและมีประสบการณ์ ขึ้นมาทำหน้าที่
“มันไม่มีทางเลือกจริงๆ” ภูมิธรรมเปรยไว้เช่นนั้น
“ภูมิธรรม” เปิดเผยด้วยว่า ในระหว่างแถลงข่าวประชุม 8 พรรคเสียงข้างมาก ได้กระซิบถาม “อาจารย์วันนอร์” ว่า พร้อมที่จะรับตำแหน่งประธานสภาฯ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่ลงตัวของ 2 พรรคหรือไม่ เพราะห่วงเรื่องสุขภาพ
ซึ่งตัว “อาจารย์วันนอร์” เองก็ตอบรับข้อเสนอ แต่ขอไปปรึกษาในพรรคก่อน
ขณะเดียวกันก็แจ้งไปยังพรรคก้าวไกล และประเมินสถานการณ์ให้เห็นภาพว่า หากมีการเสนอชื่อ “ปดิพัทธ์” ที่ไม่ได้รับการยอมรับทั้งในพรรคเพื่อไทย รวมถึงในฝ่ายค้าน อาจเกิดการเสนอชื่อแข่ง ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐ เตรียมเสนอชื่อ “พ่อมดดำ” สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขึ้นมาแข่ง
ฝ่าย พรรคเพื่อไทย มองว่า หากเสนอชื่อ “หมออ๋อง” แล้วมีคู่แข่ง ภายใต้กติกาที่เป็นการลง “คะแนนลับ” จะยิ่งคุมเสียงไม่ได้ แม้อาจจะชนะ แต่เสียงที่ขาดหายไปจาก 312 เสียง ก็นำมาซึ่งความระส่ำระสายภายใน 8 พรรคเสียงข้างมากอย่างแน่นอน
จึงทำให้พรรคก้าวไกลคล้อยตาม และเห็นด้วยกับการเสนอชื่อ “วันนอร์” และได้เริ่มกระบวนการทาบทาม
เป็น “โกต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ที่รับหน้าที่ไปพูดคุยกับ “อาจารย์วันนอร์” ถึงบ้านพักในช่วงกลางดึกคืนวันที่ 2 ก.ค.66 จนเริ่มมีความชัดเจน
ต่อมาวันที่ 3 ก.ค.66 ในระหว่างการเตรียมตัวเข้าร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ทางพรรคเพื่อไทยได้มีการประชุม ส.ส. และคณะกรรมการบริการพรรค เพื่อเห็นชอบการเสนอชอื่ “วันนอร์”
ก่อนที่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย, “ภูมิธรรม” และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำพรรค จะข้ามตึกจากที่ทำการพรรคเพื่อไทยไปที่ตึกไทยซัมมิท ที่อยู่ติดกัน และ ส.ส.พรรคก้าวไกล มาเตรียมตัวกันที่นั่น เพื่อแจ้งข้อสรุปของพรรคเพื่อไทย
และมีการหารืออีกครั้ง ก่อนแถลงข่าวร่วมกันในช่วงค่ำวันเดียวกัน ที่ รร.แลงคาสเตอร์ ในเครือเอสซี แอสเสท ที่ “อุ๊งอิ๊ง” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
โดยมีการออกแถลงการณื 4 ข้อร่วมกัน คือ
1. เสนอชื่อ “อาจารย์วันนอร์” เป็นประธานสภาฯ ส.ส.ก้าวไกล เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ ส.ส.เพื่อไทย เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2
2. บุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ พร้อมผลักดันวาระที่ทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน
3. ข้อตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพระหว่าง 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เสนอและสนับสนุน “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างสุดความสามารถ
และ 4. พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ
ที่ว่าไปเป็นเบื้องลึกเบื้องหลัง ซึ่งตรงกันทั้งปากคำของ “ภูมิธรรม เพื่อไทย” และ “ชัยธวัชก้าวไกล” ก่อนที่จะส่ง “วันนอร์” เข้าป้าย
แม้ผลที่ออกมาจะเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง พร้อมๆ กับการโพนทะนาถึงความเป็น “เอกภาพ” ของฝ่ายพรรคเสียงข้างมาก แต่สำหรับ “แฟนคลับ-แฟนด้อม” ของ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ไม่มองเช่นนั้น ด้วยต่างรู้สึกว่าพรรคที่ตัวเองถือหางควรจะเป็นประธานสภาฯ
โดยเฉพาะ “ด้อมส้ม” ที่มองว่า ในฐานะพรรคอันดับ 1 ไม่จำเป็นต้องอ่อนข้อ และยืนยันหลักการ-ธรรมเนียมปฏิบัติ ในการเสนอชื่อคนของพรรคก้าวไกลเป็นประธานสภาฯ
ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า แกนนำพรรคก้าวไกลคงมองเป้าที่ใหญ่กว่าอย่าง “เก้าอี้นายกฯ” จึงยอม “ถอย” ตามหลัก “รุกได้ ถอยเป็น” อย่างที่ “หัวหน้าทิม” ว่าไว้
ขณะเดียวกัน “ติ่งเพื่อไทย” เองก็ผิดหวังที่พรรคซึ่ง “เก๋ากว่า” ไม่สามารถเจรจาให้ได้เก้าอี้ประธานสภาฯ อย่างที่คิด บางส่วนก็คิดถึงขั้น “กินรวบ” เพราะมั่นใจว่า จะได้นายกฯ เป็นคนของพรรคเพื่อไทย
แต่ลึกๆ แล้ว “ติ่งเพื่อไทย” ก็มองว่าเกมนี้ “ได้” มากกว่า “เสีย” ตามอารมณ์ “กูไม่ได้ มึงก็ไม่ได้”
ที่สำคัญชื่อของ “วันนอร์” ก็หาใช่อื่นไกล เป็น “อดีตคนในบ้าน” มาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย, พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย
โดยเส้นทางของ “วันนอร์” มาบรรจบกับ “ค่ายทักษิณ” พรรคไทยรักไทย เมื่อครั้งที่ “ค่ายลุงจิ๋ว” พรรคความหวังใหม่ เข้ามายุบรวมกับพรรคไทยรักไทย หลังการเลือกตั้งปี 2544 และได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ ตลอด
ทั้ง รมว.คมนาคม, รมว.มหาดไทย, รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรองนายกฯ ยุค “ทักษิณ 1-2” ก่อนถูกรัฐประหารปี 2549 และในฐานะรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก็ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ร่วมกับเพื่อนๆ “บ้านเลขที่ 111” ยุค “ทักษิณ 1-2”
นอกจากนี้ชื่อของ “วันนอร์” ยังผูกพันธ์กับ “นายใหญ่เพื่อไทย” ทักษิณ ชินวัตร โดยตรง เพราะมีส่วนในคดีที่ “ทักษิณ” ถูกยึดทรัพย์ อย่างการเป็นผู้อนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์โดยมิชอบ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ “วันนอร์” เป็น รมว.คมนาคมเมื่อปี 2545 ด้วย
ระหว่างถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง “วันนอร์” ก็ยังมีบทบาทให้คำแนะนำ ส.ส.กลุ่มวาดะห์ ซึ่งย้ายจาก พรรคไทยรักไทย ไปสังกัดพรรคประชาราช ระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับไปร่วม พรรคพลังประชาชน เครือข่ายของ “ทักษิณ” อีกครั้ง
และหลังพ้นโทษตัดสิทธิ์ทางการเมืองเมื่อปี 2555 “วันนอร์” ก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และลงสมัครรับเลือกตั้งปี 2557 ในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 13 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ซึ่งระหว่างที่อยู่ร่วมกับ “ค่ายทักษิณ” ในการเลือกตั้ง 4 ครั้ง คือปี 2538, 2550, 2554 และ 2557 ปรากฏว่า “กลุ่มวาดะห์” ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เลย โดยไม่มีผู้สมัครของทางกลุ่มได้รับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตแม้แต่คนเดียว ทั้งที่เคยครองพื้นที่อย่างเหนียวแน่นมากว่า 20 ปี
อันเป็นบทสรุปว่า ชื่อ “ทักษิณ” ขายไม่ได้ในชายแดนใต้ ยิ่งเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ “วันนอร์” ก่อตั้งพรรคประชาชาติ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการพรรค
โดยภาพของพรรคประชาชาติก็ถูกมองว่าอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” ของ “เครือข่ายทักษิณ” ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร ครั้งลงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คว้าชัยชนะ ส.ส.เขตในจังหวัดชายแดนใต้ได้ 6 ที่นั่ง รวมกับบัญชีรายชื่ออีก 1 เป็น 7 คน และยืนหยัดทำหน้าที่ฝ่ายค้านร่วมกับ พรรคเพื่อไทย อย่างแข็งขัน
ก่อนที่ในการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 พรรคประชาชาติที่เน้นส่งผู้สมัครเพียง 19 เขตเท่านั้น จำนวนนี้เป็น 13 เขตในจังหวัดชายแดนใต้ และคว้าชัยชนะ ได้ ส.ส.เขต 7 ที่นั่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 2 ที่นั่ง คือ “หัวหน้าวันนอร์” และ “เลขาฯทวี” รวมมี ส.ส. 9 เสียง เป็นพรรคอันดับ 3 ในฝั่งพรรคเสียงข้างมาก
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีร่างเงา “คนเบื้องหลัง” อย่าง “เจ้าสัวบีทีเอส” คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่ถูกมองเป็น “นายทุนหลัก” ของพรรคประชาชาติ รวมทั้งยังเป็น “นายทุนใหญ่” ของพรรคเพื่อไทย เป็นอีกข้อต่อความสัมพันธ์ของ “วันนอร์-ทักษิณ”
ขณะเดียวกันก็ต้องมองไปถึง “พ.ต.อ.ทวี” ที่เป็นอดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ว่ากันว่าเป็น “เด็กในบ้าน” ของ “ทักษิณ” จนเคยมีชื่อจะได้เป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทยเลยด้วยซ้ำ
ที่ว่าไปเป็นภาพที่ฉายให้เห็นว่าความสัมพันธ์ “วันนอร์-ทักษิณ” รวมไปถึง “ทวี” คีย์แมนของพรรคประชาชาติ นั้นลึกซึ้งขนาดไหน
ดั่งเสียง “เสี้ยม” ของ วิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่พลาดในการชิงเก้าอี้รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเลือกประธานสภาฯว่า “อาจารย์วันนอร์ก็คือเพื่อไทย เป็นคนของเพื่อไทย เพราะท่านแยกมาจากที่นั่น และผมคิดว่ายังมีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อไทย ดีกว่าก้าวไกล ในความรู้สึกผม ผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะเริ่มก้าวที่หนึ่ง ดังนั้นก้าวที่สอง ที่สาม ก็พอดูออกกันแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น”
หากสรุปว่า การส่ง “วันนอร์” ขึ้นประธานสภาฯ นั้น “ค่ายทักษิณ” วิน “ค่ายสีส้ม” เฟล ก็คงไม่ผิดนัก.