xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทยจะผ่านวิกฤติไปได้หรือไม่ (จบ) / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

 วิกฤติการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรผ่านพ้นไปอย่างหวุดหวิด เมื่อพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยอมถอยคนละก้าว ยุติความขัดแย้งในวันที่ 3 กรกฎาคม ก่อนวันเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 4 กรกฎาคม เพียงวันเดียว ทั้งสองพรรคยอมรับร่วมกันในการเสนอนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 1 และพรรคเพื่อไทยได้ตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 2 แม้ว่าสองพรรคร่วมฝ่าวิกฤติครั้งแรกไปได้ แต่วิกฤติที่ยิ่งใหญ่กว่ากำลังรออยู่เบื้องหน้าในการเลือกนายกรัฐมนตรี


นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยปราศจากคู่แข่ง เช่นเดียวกันกับตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 2 จากพรรคเพื่อไทย แต่ตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 1 จากพรรคก้าวไกลต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ การเดินหมากส่งบุคคลเข้าแข่งขันของพรรครวมไทยสร้างชาติอาจมีเหตุผลเพื่อทดสอบความเป็นเอกภาพของว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล เมื่อผลการลงมติปรากฏออกมา ส.ส. พรรคก้าวไกลได้ 312 คะแนน ส่วน ส.ส. จากพรรครวมไทยสร้างชาติได้เพียง 105 คะแนน ขณะที่มีผู้งดออกเสียง 77 เสียง

นั่นหมายความว่า พันธมิตรระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคอื่น ๆ มีความเป็นเอกภาพสูง ขณะที่อดีตพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเกิดความแตกแยกภายใน เพราะแทนที่จะได้ 180 เสียง อย่างที่ควรจะเป็นตามจำนวน ส.ส.ทั้งหมดของพรรคเหล่านั้น กลับมีผู้งดออกเสียงจำนวนมาก กลุ่มที่งดออกเสียงเกือบทั้งหมดมาจากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งอาจตีความได้ว่า พรรคภูมิใจไทยต้องการความยืดหยุ่นในการเดินเกมการเมือง ไม่ยึดติดกับพันธมิตรเดิมของตนเอง และพร้อมที่จะจับขั้วสร้างพันธมิตรใหม่กับพรรคขั้วตรงข้าม โดยเฉพาะกับพรรคเพื่อไทย เพื่อสร้างทางเลือกในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต หากพันธมิตรระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยเกิดการแตกหักขึ้นมา

แม้กลุ่มอำนาจเก่าประสบความพ่ายแพ้ในเกมการเลือกรองประธานสภาคนที่ 1 ไม่อาจสกัด ส.ส. จากพรรคก้าวไกลในการดำรงตำแหน่งได้ แต่พวกเขาหาได้ยอมแพ้ในสนามการเลือกนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด การวางแผนเพื่อช่วงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังคงเดินหน้าต่อไป ด้วยการร่วมมือกับสมาชิกวุฒิสภาขวาจัดบางกลุ่ม และมีความเป็นไปได้ว่า จะได้รับการสนับสนุนจากนายทุนผูกขาดบางคน ที่อาจเสียประโยชน์มหาศาลจากนโยบายการขจัดการผูกขาดของพรรคก้าวไกล

ปฏิบัติการสกัดกั้นมิให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง อันได้แก่การร้องเรียนเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หลายเรื่องหลายประเด็น ทว่า เมื่อข้อมูลความจริงเปิดเผยออกมา เรื่องร้องเรียนเหล่านั้นก็ไร้น้ำหนัก และหายไปจากสื่อสาธารณะไปในเวลาไม่นานนัก เมื่อการปฏิบัติการขัดขวางนายพิธา ล้มเหลว กลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มทุนผูกขาดก็ได้ปรับแผนในการแย่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการเตรียมการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

ลักษณะการจัดตั้งรัฐบาลกับวิกฤติทางการเมืองมีความสัมพันธ์กัน ผมจะประเมินว่าการจัดตั้งรัฐบาลแบบใดบ้าง ที่จะส่งผลให้เกิดวิกฤติทางการเมืองตามมา อย่างไรก็ตามก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น มาทบทวนแนววิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นเบื้องแรกก่อน

 แนววิเคราะห์แรก คือการวางแผนระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐในการจัดตั้งรัฐบาล  ซึ่งเป็นแนววิเคราะห์ที่มีมาก่อนเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้งแนววิเคราะห์นี้ได้รับการตอกย้ำด้วยนักวิเคราะห์การเมืองบางคนที่เป็นอดีตแกนนำกลุ่มเสื้อแดง สื่อมวลชนจำนวนมากให้ความสนใจแนววิเคราะห์นี้ และนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ฐานคิดของแนววิเคราะห์นี้คือ การกำหนดให้นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และพลเอกประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อแลกเปลี่ยนกับการกลับประเทศไทยของนายทักษิณ ชินวัตร หลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อของแนววิเคราะห์นี้คือ การแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทยที่เข้มข้นมาก ผิดแผกไปจากวิถีการจัดตั้งรัฐบาลผสมตามบรรทัดฐานทั่วไปของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา การกระทำทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาจึงไม่อาจอธิบายด้วยเหตุผลปกติได้

 แม้ว่าในที่สุด พรรคเพื่อไทยยอมถอย ไม่ส่ง ส.ส. ของพรรคช่วงชิงตำแหน่งประธานสภา แต่ก็ไม่ยอมให้ ส.ส.พรรคก้าวไกลดำรงตำแหน่งนี้เช่นกัน กลับเสนอชื่อคนกลางอย่าง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แทน นั่นไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกว่าแผนนี้ไม่ดำรงอยู่ ตรงกันข้าม กลับทำให้คิดได้ว่าแผนนี้อาจมีอยู่จริง แต่ด้วยแรงกดดันทางสังคมที่ถาโถมกระหน่ำพรรคเพื่อไทยอย่างหนักหน่วงในช่วงก่อนการเลือกประธานสภา จึงทำให้พรรคเพื่อไทยจำยอมต้องปรับแผน ถึงกระนั้นก็บรรลุเป้าหมายได้ส่วนหนึ่ง นั่นคือสามารถสกัดกั้น ส.ส. พรรคก้าวไกลไม่ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาได้สำเร็จ  

อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์มิได้เป็นไปตามแผนเดิม ทำให้การดำเนินการตามแผนขั้นต่อไปก็พลอยมีอุปสรรคไปด้วย โอกาสที่ร่วมมือกับพลเอกประวิตร เพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่างขั้วก็น้อยลงและเป็นไปได้ยากขึ้น สถานการณ์กดดันให้พรรคเพื่อไทยต้องร่วมมือและสนับสนุนพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป อย่างน้อยก็คือ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาแล้วในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566

เมื่อถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรี ในทางทฤษฎี การเสนอพลเอกประวิตร ขึ้นมาเป็นคู่แข่งนายพิธา ก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่ โดย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ แต่คาดว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่สนับสนุนแนวทางนี้อีกต่อไป ดังนั้น ถึงแม้ว่าพลเอกประวิตรได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. บางส่วน ก็ยากที่จะทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงได้ แนวทางวิเคราะห์นี้จึงยากจะเป็นจริงได้ และอาจต้องปิดฉากลงไป

 แนววิเคราะห์ที่สอง คือการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย  แนวทางนี้เกิดจากฐานคิดที่ว่า ส.ว. ทั้ง 250 คน จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคการเมืองเสียงข้างน้อยในสภาคนใดคนหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อที่ถูกหยิบยกขึ้นมามีสองชื่อ คือ  พลเอกประวิตร กับ นายพีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ พลเอกประวิตร นั้นมี ส.ว. สนับสนุนบางส่วน ขณะที่นายพีรพันธุ์ ก็ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. ที่เป็นฐานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไรก็ตาม หากมีการเสนอชื่อบุคคลทั้งสองพร้อมกัน โอกาสที่จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาก็เป็นไปไม่ได้

แต่หากทางพรรคร่วมรัฐบาลเดิมทั้งหมดยังมีความเหนียวแน่น และเห็นพ้องต้องกันว่าจะส่งคนใดคนหนึ่งในสองคนนี้ลงแข่งขัน โอกาสที่จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาก็มีความเป็นไปได้สูง ทว่า อุปสรรคสำคัญของแนวทางนี้คือ มีพรรคการเมืองสองพรรคที่ประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลเสียงข้างน้อย อันได้แก่ พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่งผลให้แนวทางการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยต้องล่มสลายไปโดยปริยาย

 แนววิเคราะห์ที่สาม การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม  แนววิเคราะห์นี้ มีฐานคิดว่า การเลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีประสบความล้มเหลว เพราะจำนวน ส.ว. ที่เลือกนายพิธามีน้อย จนทำให้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หลักฐานที่บ่งบอกถึงแผนการนี้คือ การที่ ส.ว. กลุ่มหนึ่งออกมาประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่เลือกนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี และจะไม่เลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยด้วย หากยังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล

การประกาศเช่นนี้ของ ส.ว. เป็นการบีบบังคับพรรคเพื่อไทยให้เลือกระหว่าง การทรยศพรรคก้าวไกลเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จโดยเร็ว หรือการร่วมมือกับพรรคก้าวไกลจนถึงที่สุดจนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม ทางเลือกทรยศพรรคก้าวไกลเป็นทางเลือกที่ยากลำบากของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะหากพรรคเพื่อไทยยังต้องการรักษาภาพลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตยเอาไว้ พรรคเพื่อไทยคงตัดสินใจไม่เลือกทางเลือกนี้ แต่หากพรรคเพื่อไทยต้องการเพียงอำนาจรัฐ โดยไม่สนใจไยดีกับภาพลักษณ์ ทางเลือกนี้ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน ประเมิน ณ เวลาปัจจุบัน คาดว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มจะเลือกรักษาภาพลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตยเอาไว้ เพื่อทำงานทางการเมืองระยะยาวมากกว่าแสวงหาอำนาจในระยะสั้น

 แนววิเคราะห์ที่สี่ การจัดตั้งรัฐบาลสลับแกน กรณีนี้เกิดขึ้นจากเงื่อนไขที่ว่า นายพิธาไม่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคก้าวไกลยอมให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายเศรษฐา ทวีสินเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายใต้สองเงื่อนไข อย่างแรกคือ ส.ว. ให้การสนับสนุนมากเพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างที่สอง ส.ว. สนับสนุนไม่เพียงพอ แต่จะมีการดึงพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคการเมืองอื่น ๆ มาสนับสนุนและร่วมจัดตั้งรัฐบาล

 แนววิเคราะห์ที่ห้า การจัดตั้งรัฐบาลพิธาประสบความสำเร็จ  ฐานคิดของแนววิเคราะห์นี้ อย่างแรกคือ ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคมีเอกภาพ โดยลงคะแนนเสียงไปในทิศทางเดียวกัน หลักฐานจากการลงคะแนนเลือกรองประธานสภาคนที่ 1 ของพรรคก้าวไกล ทำให้อนุมานได้ว่า 8 พรรคมีความเป็นเอกภาพสูง
อย่างที่สองคือ มี ส.ว. จำนวนมากเพียงพอลงมติเลือกนายพิธา จนได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ส.ว. ในปัจจุบันมีความคิดหลากหลาย แต่สามารถจำแนกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ไม่เลือกนายพิธา อย่างแน่นอน ซึ่งมีแกนนำเป็น ส.ว.ที่มีความคิดทางการเมืองแบบอำนาจนิยมขวาจัด กลุ่มนี้ไม่ยึดหลักการเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนและไม่สนใจเสียงประชาชน กลุ่มที่สอง กลุ่มที่ประกาศเลือกนายพิธา ด้วยเหตุผลของการเคารพหลักการเสียงส่วนใหญ่ของระบอบประชาธิปไตย และ กลุ่มที่สามคือกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ รอดูสถานการณ์ในวันเลือกนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจำนวนของ ส.ว.ในกลุ่มที่สองอาจมีน้อยกว่ากลุ่มแรก แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าในวันเลือกนายกรัฐมนตรี กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจจำนวนหนึ่งจะลงมติเลือกนายพิธา และทำให้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

อย่างที่สามคือ มี ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่น ๆ ช่วยลงคะแนนหนุนเสริมนายพิธา แม้ว่า ส.ส. บางคนมีจุดยืนทางการเมืองต่างจากนายพิธา และพรรคก้าวไกล แต่พวกเขายึดหลักการประชาธิปไตย เคารพมติของประชาชนส่วนใหญ่ และต้องการยืนยันอำนาจของประชาชนที่เลือกตั้งพวกเขามา ส.ส. กลุ่มนี้จึงตัดสินใจเลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ยังไม่มี ส.ส.คนใดที่แสดงทัศนะเช่นนี้อย่างเปิดเผยในสาธารณะ มีแต่นักการเมืองที่ไม่ได้เป็น ส.ส. บางคนของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่แสดงทัศนะแบบนี้

วิกฤติการเมืองมีแนวโน้มเกิดขึ้นและมีระดับความรุนแรงหลายระดับ 1) วิกฤติร้ายแรง มาจากการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะเกิดขึ้น หาก ส.ว. ลงมติให้นักการเมืองจากพรรคเสียงข้างน้อยเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย สังคมจะมีความรุนแรงสูงเพราะรัฐบาลขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง เป็นรัฐบาลไร้เสถียรภาพ ไม่สามารถบริหารประเทศได้ ประเทศจะตกอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอน เดินเข้าสู่ความสับสนวุ่นวาย ประชาชนจะเกิดความรู้สึกไม่พอใจถึงขนาดเกลียดชังต่อกลุ่มชนชั้นนำเพิ่มมากขึ้น การต่อต้านขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอย่างประมาณไม่ได้

2) วิกฤติปานกลางค่อนข้างสูง เกิดขึ้นเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม รัฐบาลผสมข้ามขั้วมีความชอบธรรมต่ำ ประชาชนจำนวนมากจะปฏิเสธ ไม่ยอมรับ และต่อต้าน ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยจะถูกประณามว่าทรยศประชาชน จำนนต่อเผด็จการ รัฐบาลอาจประคับประคองตัวไปได้ระยะหนึ่ง แต่การต่อต้านจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น และอยู่ในอำนาจได้ไม่นาน

3) วิกฤติค่อนข้างต่ำ เกิดขึ้นหากมีการจัดตั้งรัฐบาลขั้วเดิมแต่สลับแกน ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และพรรคก้าวไกลยังคงเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมปานกลาง อาจมีประชาชนจำนวนหนึ่งไม่พอใจบ้าง แต่ไม่มากเท่ากับสองสถานการณ์แรก

4) วิกฤติต่ำมาก เกิดขึ้นหากพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มีความชอบธรรมสูง เพราะได้รับฉันทามติจากประชาชนเสียงส่วนใหญ่ และได้รับการยอมรับจากสากล การต่อต้านอาจเกิดขึ้นบ้างจากกลุ่มขวาจัด พลังต่อต้านก็จะอ่อนกำลังลง หากรัฐบาลมีการดำเนินการตามนโยบายได้ และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ให้ที่ดีอย่างเป็นรูปธรรม

 อีกไม่กี่วันเราก็คงจะพอมองเห็นว่า แนวโน้มของสถานการณ์ทางการเมืองไทยจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางแบบใดระหว่าง การฝ่าฟันผ่านวิกฤติไปได้และเริ่มเดินไปตามครรลองคลองธรรมของระบอบประชาธิปไตย นำประเทศก้าวไปข้างหน้าตามวิถีแห่งความเจริญรุ่งเรื่อง หรือการถลำลึกลงไปสู่วิกฤติและความรุนแรงที่ยืดเยื้ออีกครั้ง ซึ่งจะสร้างความถดถอย เสื่อมโทรมแก่สังคมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น