xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แบงก์ไทยหนี้เสียสูงสุดในอาเซียน ธปท.ไฟเขียวรีดดอกเบี้ยกลุ่มเสี่ยงสูงเพิ่ม ต้อนลูกหนี้กู้นอกระบบเข้าคอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ผงะหนี้เน่าก้อนมหึมาของ 3 แบงก์พาณิชย์ชั้นนำของไทยกว่า 3 แสนล้านบาท หรือ 9.6 พันล้านดอลลาร์ สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน หนำซ้ำยังมีการสำรองเงินเผื่อหนี้สูญในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนสภาพเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยยังทำมาหากินลำบาก เศรษฐกิจฝืดเคือง ไม่มีปัญญาจ่ายหนี้จนกลายเป็นหนี้เน่าล้นทะลัก 

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยรายงาน Capital Market Snapshot ในหัวข้อ “Aspects in Stability of Banking Industry in ASEAN” ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานะหนี้สิน ภาวะเงินฝาก และความเสี่ยงของเงินกู้ในภาคธนาคารพาณิชย์ของทั้งประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

สิงคโปร์มีสัดส่วนบัญชีลูกหนี้และเงินฝากจากลูกค้า (ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน) เมื่อเทียบกับ GDP มากที่สุดอยู่ที่ 228.4% และ 286.9% ส่วนไทย เวียดนาม และมาเลเซีย มีสัดส่วนลูกหนี้และเงินฝากในระดับที่ใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับ GDP ของแต่ละประเทศ

 มูลค่ารวมของหนี้ NPL ของ 3 ธนาคารอันดับแรกของไทย (ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย) มีค่ามากกว่า 9.6 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.69% ของหนี้ทั้งหมด 


ส่วนมูลค่ารวมของหนี้ NPL ของธนาคาร 3 อันดับแรกของประเทศฟิลิปปินส์ มีค่ามากกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 1.23% ของหนี้ทั้งหมด และมูลค่ารวมของหนี้ NPL ของธนาคาร 3 อันดับแรกของประเทศอินโดนีเซีย มีค่ามากกว่า 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 1.21% ของหนี้ทั้งหมด

ภาพรวมธนาคารไทย มีสัดส่วนหนี้ที่มีปัญหา 4% ของหนี้ทั้งหมด ขณะเดียวกันมีการสำรองเงินเผื่อหนี้สูญในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนธนาคารในประเทศเวียดนาม มีแนวโน้มการเติบโตของการปล่อยกู้มากขึ้น อย่างไรก็ดี พบเงินสำรองหนี้สูญในปี 2553 ติดลบสูงถึง -25.68% หลังจากนั้นจำนวนเงินสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับติดลบอยู่

ไทยมีเงินฝากจากธนาคารสูงสุด เมื่อเทียบกับ 6 ประเทศอาเซียน จำนวน 55,399 ล้านดอลลาร์ หรือ 17% ของ GDP สัดส่วนบัญชีเงินฝากระยะสั้นของไทย (น้อยกว่า 1 ปี) มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์มีเงินฝากระยะสั้นประมาณ 60% แต่เป็นประเทศที่มีจำนวนเงินฝากน้อยที่สุด และสัดส่วนหนี้ต่อเงินฝากต่ำที่สุดใน 6 ประเทศในกลุ่มอาเซียน

ในปี 2564 ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้าน Economic Risk ต่ำที่สุด และภาคธุรกิจธนาคารยังเป็นประเทศที่มีการปล่อยสินเชื่อ และเงินฝากจากลูกค้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ

ธนาคารที่มีการดำเนินงานในประเทศมาเลเซีย มีจำนวนธนาคารมากที่สุดถึง 311 ธนาคาร ขณะที่ธนาคารในประเทศไทยมีจำนวนน้อยที่สุดคือ 58 ธนาคารเท่านั้น เมื่อเทียบกับ 6 ประเทศในกลุ่มอาเซียน

ภายหลังจากรายงานของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เผยแพร่ออกไป ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มธนาคารในถัดมา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ณ เวลา 15.02 น. ปรับลดลง 1.63% หรือปรับตัวลดลง 6.35 บาท มาอยู่ที่ 382.20 บาท มูลค่าการซื้อขายรวม 7,766.47 ล้านบาท โดย บล.กรุงศรี พัฒนาสิน วิเคราะห์ว่าการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นกลุ่มธนาคารมาจากการขายทำกำไร และมีประเด็นความกังวลเรื่องหนี้เสีย (NPL) และเรื่องการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ส่วนข่าวความกังวลเรื่อง บลจ. บัวหลวง มีการขายขาดทุนหุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK มองว่าไม่กระทบต่อผลประกอบการของธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL อย่างมีนัยสำคัญ เพราะพอร์ตการลงทุนของ บลจ. ไม่เกี่ยวข้องกับทางธนาคาร แต่คาดว่าอาจมีผลกระทบในเรื่องค่าบริหารการจัดการกองทุน ขณะที่การตั้งสำรองกรณีของ STARK ทางธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK และนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ตั้งไปเกือบ 100% แล้ว ธนาคารตั้งโดยไม่หักหลักประกันทำให้ผลกระทบจากประเด็นนี้ในอนาคตน้อยมาก

 ประเด็นเรื่องหนี้เสียของ 3 แบงก์พาณิชย์ไทยที่สูงสุดในอาเซียน และการตั้งสำรองหนี้สูงอย่างต่อเนื่องนั้น สะท้อนจากการตัดขายหนี้เอ็นพีแอลของแบงก์ในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ตามที่ นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ประเมินแนวโน้มการตัดขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เอ็นพีแอลของระบบสถาบันการเงินในปีนี้ว่ามีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่มีการตัดขายหนี้อยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท 

หนี้เสียในระบบที่เพิ่มขึ้นและนำมาตัดขายมากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมาตรการอุ้มลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ทยอยหมดลง การตัดขายหนี้เก่าเพื่อรับมือหนี้เสียใหม่โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เห็นการตัดขายมากขึ้น และเป็นหนี้เสียที่มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 6 เดือน โดยแบงก์ที่ตัดขายหนี้มากขึ้น เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นต้น

 นายพรชัย ฐีระเวช  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ระบุว่า แนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้เป็นหนี้เสีย ซึ่งจะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนนั้น ทางสถาบันการเงินควรใช้แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ด้วยการช่วยลดภาระการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้มากกว่าการยืดหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างแท้จริงและคำนึงถึงภาระของลูกหนี้ตลอดสัญญา

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะปานกลางของกระทรวงการคลัง ซึ่งจัดมหกรรมแก้ไขหนี้เพื่อให้สถาบันการเงินร่วมกันช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีผู้มาขอให้สถาบันการเงินแก้ไขปัญหา 4.13 แสนราย

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่างๆ ยังร่วมกันจัดทำสัญญาที่เป็นธรรมของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งถือเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนประเภทหนึ่ง สาระสำคัญของประกาศครอบคลุม 4 เรื่อง ได้แก่ การกำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ มี 3 ประเภทได้แก่ 1.รถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตรา 10% ต่อปี 2.รถยนต์ใช้แล้ว ต้องไม่เกินอัตรา 15% ต่อปี และ 3.รถจักรยานยนต์ต้องไม่เกิน 23% ต่อปี เป็นต้น

เป็นที่รู้กันดีว่าปัญหาหนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทางกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ หาแนวทางแก้ไขมาโดยตลอด โดยเฉพาะ “หนี้ครัวเรือน”  ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามที่  นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา   ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า หนี้ครัวเรือนของไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 60% มาเป็นกว่า 90% ของจีดีพีในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดในไตรมาสที่ 4/2565 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 86.9% ของจีดีพี มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่จะทำให้ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจอ่อนแอลง

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายการลดหนี้ครัวเรือนของไทยให้เหลือ 80 % ของจีดีพี โดยกำหนดแนวทางการลดภาระหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เช่น การสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้รายย่อยมีกลไกกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย ( Risk -Based-Pricing), การผลักดันกฎหมายช่วยลูกหนี้ให้สามารถฟื้นฟูหนี้ หรือเข้าสู่กระบวนการขอล้มละลายโดยสมัครใจ รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ ( Responsible Lending) เช่น ไม่โฆษณาเพื่อกระตุ้นการกู้ยืมเงินเกินตัว หรือกำหนดเงื่อนไขสัญญาที่เป็นธรรม เป็นต้น

 สุวรรณี เจษฎาศักดิ์  ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเป้าหมายการแก้หนี้ครัวเรือนไม่ได้คำนึงแต่เพียงตัวเลขหนี้ที่ลดลงเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือการคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของลูกหนี้ที่ไม่แย่ลง มีความสุขขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ธปท.จะออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนเพิ่มเติมภายในเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ ทั้งการก่อหนี้ใหม่ และแก้หนี้เดิม โดยจะเป็นมาตรการรวมแพ็กเกจ เน้นแก้หนี้ที่มีความเปราะบางและมีปัญหาก่อน เช่น หนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เพราะเป็นหนี้ดอกเบี้ยสูง และเน้นคุมเรื่องการขายผลิตภัณฑ์ของสถาบันการเงินเป็นหลัก

สำหรับแนวทางการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk based pricing : RBP) ซึ่งเป็นหนึ่งในการวางแผนแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนนั้น ธปท.อยู่ระหว่างการหารือสถาบันการเงิน โดยจะเริ่มจากสินเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้งแนวทางการกำหนดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio : DSR) คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2-3 เดือนนี้

หลังจากนั้น ธปท.จะกำหนดกรอบการขยับอัตราดอกเบี้ยจากขณะนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงสุด ธนาคารกำหนดเพดานดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ 25% ต่อปี หากขยับขึ้นให้เพิ่มขึ้นอีก 2-3% แบงก์ชาติกำลังประเมินว่าธนาคารพาณิชย์ จะรับลูกค้ากลุ่มเสี่ยงเข้ามาในระบบได้เพิ่มมากน้อยแค่ไหน สำหรับลูกค้ากลุ่มเสี่ยงสูงแม้ว่าจะจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น แต่ยังถูกกว่าดอกเบี้ยนอกระบบที่คิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 40-50% ต่อปี

ส่วนแนวคิดกำหนดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR ธปท.วางไว้ 2 แนวทาง คือ การกำหนดสัดส่วนชัดเจนเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น DSR ไม่เกิน 80% ของรายได้ และอีกแนวทางจะดูว่าลูกหนี้จะต้องมีเงินเหลือแต่ละเดือนสำหรับใช้จ่ายเท่าไหร่ เช่น กลุ่มรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน หักหนี้แล้วต้องเหลือไว้ใช้จ่าย 5,000 บาท เป็นต้น

ในมุมของแบงก์พาณิชย์  นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เผยผ่านสื่อว่า นโยบายคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกค้าเพื่อช่วยลดหนี้ครัวเรือนในระยะยาวนั้น การจะปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลเพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยง อาจจะต้องสูงกว่า 30% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% ต่อปี เนื่องจากลูกหนี้มีความเสี่ยงสูง มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เอ็นพีแอลได้ในอนาคต

แนวทางการขยับเพดานดอกเบี้ย ถือเป็นการเปิดช่องให้สถาบันการเงิน สามารถรับลูกค้าเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากที่ผ่านมาลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ผ่านเกณฑ์ และบางส่วนต้องออกไปใช้บริการหนี้นอกระบบ ซึ่งสถาบันการเงินที่จะเข้าร่วมต้องมีระบบพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพเพราะมีต้นทุนและความเสี่ยงสูงขึ้น ปัจจุบันแบงก์ซีไอเอ็มบี ไทย มีพอร์ตสินเชื่อบุคคลราว 6,000 ล้านบาท และหนี้เสียประมาณ 3%

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของ ธปท.ในไตรมาสที่ 4/2565 สัดส่วน 86.9% ของจีดีพี หรือมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท แยกเป็น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล 8.8% หรือประมาณ 1.33 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.27 ล้านล้านบาท หรือราว 8.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และคาดว่าไตรมาสที่ 1/2566 น่าจะขยับเพิ่มขึ้น

ก่อนหน้านี้  นายดนุชา พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 4/2565 ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 86.9% จากไตรมาสก่อนหน้านี้อยู่ที่ 87% แต่มูลหนี้ปรับขึ้น 3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อยู่ที่ 15.09 ล้านล้านบาท ถ้าดูไตรมาสต่อไตรมาสจะเห็นว่าปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 1.1% จากไตรมาส 3/2565 ที่ขยายตัว 0.9% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่ปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส 3 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 4 ปี 2565

ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับยังขยายตัวค่อนข้างสูงที่ 20.8% ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2565 ด้านคุณภาพสินเชื่อยังอยู่ระดับที่ทรงตัว โดยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 2.62% โดยเฉพาะเอ็นพีแอลที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลง ส่วนรถยนต์มีเอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง และเมื่อดูสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) สินเชื่อรถยนต์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4/2564 ซึ่งหนี้สินครัวเรือนที่ขึ้นมาเป็นระดับสูง เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง เป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโตของประเทศ

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา   นายสุรพล โอภาสเสถียร  ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร โพสต์ข้อมูลลงใน เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสถานการณ์หนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ที่พุ่งสูงขึ้นว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจหงอยและซึม เนื่องจากเครดิตบูโรเห็นสัญญาณลูกหนี้จ่ายหนี้แบบเลี้ยงงวดมาตั้งแต่ปี 2563-2564 และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2566 เพราะเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคข้าวของแพง ค่าแรงต่ำ ทำให้เกิดปัญหาในการผ่อนชำระ

จากข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 มาจนถึงไตรมาส 1 ปี 2566 นี้ พบว่า มีลูกหนี้ค้างจ่ายค่างวด 1-3 งวด แต่ยังไม่ถือเป็นหนี้เสีย เพราะลูกหนี้กลับมาชำระ 1 งวด เรียกกันตามภาษาสินเชื่อคือเลี้ยงงวดกัน เพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย และไม่ให้ถูกยึดรถ โดยกลุ่มลูกหนี้ดังกล่าว มีมูลหนี้ 190,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลหนี้ 150,000 ล้านบาท ของมูลหนี้ทั้งสิน 2.6 ล้านล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้กลุ่มสีแดง ที่ค้างเกิน 90 วัน หรือกลุ่มหนี้เสีย มีมูลหนี้ที่ 180,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 2565 ที่มีมูลหนี้ 150,000 ล้านบาท

หากแยกเป็นบัญชีตามช่วงอายุ จะพบว่าไตรมาสแรกปีนี้ บัญชีสินเชื่อรถยนต์ของกลุ่ม GEN Y จำนวน 600,000 บัญชี เป็นหนี้ที่มีปัญหา และพบว่ากว่า 50% หรือ 350,000 บัญชี เป็นหนี้เสียแล้ว ขณะที่กลุ่ม GEN X มีบัญชีที่มีปัญหา 400,000 บัญชี โดย 50% หรือ 200,000 บัญชี เป็นบัญชีหนี้เสีย ซึ่งเมื่อเอาตัวเลขบัญชีของทั้ง 2 กลุ่ม มารวมกัน มีความเสี่ยงว่าในอีก 4 เดือนข้างหน้า อาจจะมีลูกหนี้ถูกยึดรถรวม 1 ล้านคัน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่สินเชื่อรถยนต์ปล่อยกู้ยาก มีข่าวการปฏิเสธการอนุมัติสินเชื่อสูงจนกระทบบริษัทขายรถยนต์ และในอนาคตอาจจะได้เห็นหนี้เสียจากรถยนต์ที่รักโลกรักสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแน่ๆ

ล่าสุด นายวรัญญู ศิลา  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) หรือ AUCT ประเมินว่าทิศทางตลาดประมูลขายทอดตลาดรถยนต์มือสองมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราการเติบโตของหนี้เสีย (NPL) และปริมาณของสินเชื่อในกลุ่มที่มีความเสี่ยง หรือลูกหนี้ที่ผิดชำระหนี้เกิน 30 วัน รวมถึงอัตราการขยายตัวของสินเชื่อรถยนต์ใหม่ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ที่คาดว่าจะมีหนี้เสียจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นเป็นล้านคันนั้นคาดว่าน่าจะมีรถถูกยึดประมาณ 200,000 คันต่อปี

 ข้อเท็จจริงการเป็นหนี้ของคนไทยที่เป็นหนี้เร็ว หนี้เกินตัว หนี้เพราะจำเป็น เป็นหนี้นาน เป็นหนี้นอกระบบ นำไปสู่การเป็นหนี้เสียและเป็นหนี้ไม่มีวันจบสิ้น แม้จะเพียรพยามแก้ไขแต่ปัญหานี้ แต่ก็คล้ายพายเรือวนในอ่าง ดูจากสัดส่วนการเป็นหนี้ต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นเกินความเสี่ยงจนยากจะตัดวงจรหนี้  


กำลังโหลดความคิดเห็น