ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีเจ้าหน้าที่รัฐรุดตรวจสอบ “รีสอร์ทเคปชาร์ค พูล วิลล่า (Cape Shark Villas)” เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี” หลังเพจชมรม STRONG ต้านทุจริต จังหวัดสุราษฎร์ธานี ข้อสงสัยเป็นกระแสในโซเซียลฯ ความว่า “ห้องพัก C5C ในซอกหินรีสอร์ตหรู” สร้างได้ด้วยหรือ?
เกาะเต่านับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ จ. สุราษฎร์ธานี แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยที่ดินบนเกาะเต่าเป็น “ที่ดินราชพัสดุ” ทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับการอนุมัติให้เช่าพื้นที่จาก กรมธนารักษ์” จำนวน 25 ราย มีห้องพักที่ได้อนุญาตจำนวน 575 ห้อง และตกค้างไม่ได้รับการอนุญาตให้เช่าอีกจำนวนนับ 100 ราย ทว่า ก็ยังคงมีการเดินหน้าก่อสร้างอาคารบ้านพักและเปิดบริการโดยไม่ได้สนใจ จนก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ กับธนารักษ์พื้นที่ จนใสังคมตั้งคำถามว่าทำไมถึงปล่อยให้รีสอร์ทหรูทำธุรกิจผิดกฎหมายบนที่ดินหลวงเยี่ยงนี้
กรณีรีสอร์ทเคปชาร์ค พูล วิลล่า (Cape Shark Villas) เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของการกระทำที่ผิดกฎหมายเท่านั้น ซึ่ง ณ เวลานี้ นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ชสั่งการให้ทางอำเภอเกาะพะงัน เทศบาลตำบลเกาะเต่า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีคำสั่งห้ามมิให้ใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนของอาคาร และห้ามมิให้บุคคลใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคาร ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 ทางรีสอร์ทดังกล่าวได้ยื่นเอกสารขอเช่าที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สฎ.588 (แปลงเกาะเต่า) ต่อธนารักษ์พื้นที่ (สุราษฎร์ธานี) ตั้งอยู่ ม.3 ต.เกาะเต่า อ.เกาพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี จำนวนเนื้อที่ 18 ไร่ โดยระบุวัตถุประสงค์การเช่าเพื่อประกอบธุรกิจท่องเที่ยว แต่ได้จดทะเบียนธุรกิจในลักษณะดูแลบ้านพักอาศัย และดำเนินก่อสร้างบ้านพักเป็นหลังๆ ขายให้กลุ่มประชาชนในพื้นที่ และชาวต่างชาติมาตั้งแต่ปี 2540 จากอดีตถึงปัจจุบันคาดว่ามีการก่อสร้างบ้านพัก และห้องพักขายไปประมาณ 30 - 40 ห้อง สำหรับหลังที่มีปัญหา ในอดีตเปิดเป็นสถานบริการนวด สปา ในลักษณะสถานที่เปิด และล่าสุดมาปรับปรุงสร้างเป็นห้องพักบริการให้นักท่องเที่ยวในระยะ 2 - 3 ปี ที่ผ่านมา
นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่าพื้นที่บนเกาะเต่า เดิมใช้ประโยชน์ในราชการกรมราชทัณฑ์ เป็นที่ตั้งเรือนจำกักขังนักโทษการเมือง (กบฏบวรเดช) สมัยการปกครองของคณะราษฎร ก่อนปี พ.ศ.2476 กรมราชทัณฑ์ได้นำส่งขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไว้เมื่อปี พ.ศ.2478 เป็นแปลงหมายเลขทะเบียนที่ 34 สภาพเกาะเต่าจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304 (3)
นอกจากนี้ยังมี เกาะหางเต่า ซึ่งเป็นบริวารของเกาะเต่าก็เป็นที่ราชพัสดุด้วย โดยปัจจุบันขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุเป็นแปลงหมายเลขทะเบียน ที่ สฎ.588 โดยมีอาณาเขตคงเดิม คือ เกาะเต่าทั้งเกาะ และเกาะนางยวน มีเนื้อที่ตามภาพถ่ายทางอากาศ เกาะเต่าประมาณ 15,000 ไร่ และเกาะนางยวน ประมาณ 219 ไร่ มีหลักฐานเป็น ส.ค.1 เลขที่ 1 ซึ่งเป็น ส.ค.1 ฉบับเดียวบนเกาะเต่า
ทั้งนี้ หากราษฎรยื่นคำร้องขอเช่าก่อนวันที่ 18 สิงหาคม 2564 จะได้รับค่าเช่าในอัตราผ่อนปรน โดยเพื่ออยู่อาศัยและการเกษตร อัตราไร่ละ 40 บาทต่อปี และเพื่อการท่องเที่ยว หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่น ไร่ละ 200 บาทต่อเดือน โดยกรมธนารักษ์ได้รับข้อสังเกตของราษฎรเพื่อนำไปหารือแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เพื่อกำหนดนโยบายก่อนลงมาสู่ระดับปฏิบัติ ถือเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนมีข้อสั่งการไปยังธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานีเร่งรัดการพิสูจน์สิทธิ์ การจัดให้เช่า และการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว
สำหรับการแก้ไขปัญหาพื้นที่เกาะเต่า ได้พยายามมีการแก้ไขปัญหามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 โดยให้ราษฎรเข้าสู่ระบบการเป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุ เพื่อให้การครอบครองพื้นที่เป็นไปอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ดำเนินการจัดให้ราษฎรได้รับสิทธิ์การเช่าไปแล้ว จำนวน 298 ราย เนื้อที่ประมาณ 2,407-1-46.6 ไร่ แบ่งเป็นเพื่ออยู่อาศัย จำนวน 10 ราย เพื่อการเกษตร จำนวน 61 ราย เพื่อประกอบธุรกิจท่องเที่ยว จำนวน 220 ราย และเพื่อประโยชน์อย่างอื่น จำนวน 7 ราย สำหรับราษฎรที่จะโต้แย้งสิทธิและประสงค์จะขอดำเนินการพิสูจน์สิทธิ ก็สามารถแจ้งความประสงค์ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้
ประการสำคัญการแก้ปัญหาต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย นอกจากผู้ประกอบการต้องเคารพกติกา กรมธนารักษ์ต้องแสดงความจริงใจและมีความจริงจังในการแก้ปัญหา เพราะจากข้อมูลสถานการณ์ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน ปัญหาการรุกพื้นที่ราชพัศดุนับเป็นโจทย์ใหญ่กรมธนารักษ์ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข
ทั้งนี้ ไม่ใช่กรณีแรกสำหรับการรีสอร์ทสร้างบนพื้นที่ราชพัศดุโดยไม่รับอนุญาต ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา หลังจากชาวโซเชียลมีเดียตั้งคำถามกับ “รีสอร์ท Star Over Sea” บนเขาแสมสาร วิวผาหันหน้าออกทะเล ซึ่งตั้งยู่ยอดเขาหลวงพ่อดำ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ตั้งอยู่บนพื้นที่ราชพัสดุ และเป็นพื้นที่ดูแลของกองทัพเรือ
กระทั่ง สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดชลบุรี เข้าตรวจสอบว่าการก่อสร้างและเปิดให้บริการรีสอร์ตแห่งนี้ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยพบว่าจุดเริ่มต้น น.ส.รมณี โจว ยื่นแบบขอเช่าพื้นที่ราชพัสดุ (จป.3902) แปลงเลขทะเบียน ชบ.481 ต่อธนารักษ์พื้นที่จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 7-2-08 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์การขอเช่าเพื่ออยู่อาศัย และการเกษตร เมื่อ พ.ย. 2562 ต่อมา ม.ค. 2563 ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดชลบุรี ได้ทำหนังสือถึง ผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบ ขอทราบความยินยอมกรณีขอเช่าพื้นที่ดังกล่าว จะขัดข้องหรือไม่
อย่างไรก็ดี ส.ค. 2565 เจ้าหน้าที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ขอเช่าดังกล่าว พบว่า มีการนำตู้คอนเทนเนอร์มาติดตั้งจำนวน 6 ตู้ กล่าวคือมีการก่อสร้างทั้งที่ยังไม่ได้ผ่านยินยอมให้เช่าพื้นที่ และได้ทำผิดสัญญาโดยนำมาทำเป็นรีสอร์ทหรู โดยทางฐานทัพเรือสัตหีบได้ทำการแจ้งให้หยุดดำเนินการแล้ว
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่าที่ดินแสมสารเป็นส่วนหนึ่งของที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมาย ต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตามมาตรา 56 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497
ฉะนั้นราษฎรผู้อาศัยจึงไม่สามารถครอบครองกรรมสิทธิ์ใดๆ ในที่ดินได้ตามกฎหมาย ซึ่งความเป็นมาของที่ดินแสมสารเป็นพื้นที่เขตทรงสงวนตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึก คลังเชื้อเพลิง และที่ตั้งหน่วยทหาร พื้นที่ฝึก และพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล และภาพลักษณ์ของกองกำลังรักษาประเทศ อยู่ภายใต้ พรบ.ว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร การเข้าใช้พื้นที่ใดๆ ในพื้นที่นี้ จึงต้องได้รับอนุญาตจากกองทัพเรืออย่างถูกต้อง
ความคืบหน้าล่าสุด รีสอร์ท Star Over Sea บนเขาแสมสาร จ.ชลบุรี ยังไม่ได้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแต่อย่างใด โดยขออุทธรณ์คำสั่งให้รื้อถอนไปยังนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแสมสารเพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่ประกอบกิจการ แต่เบื้องต้นทางสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 2 ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดดำเนินการกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะการระวังลักลอบเปิดให้บริการ เนื่องจากปรากฏเป็นข่าวในโซเชียลว่ามีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าพักทั้งที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการสั่งปิด
คำถามที่สังคมตั้งข้อสงสัยคือระหว่างการก่อสร้างรีสอร์ทหรูเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องไม่เห็นหรืออย่างไร เหตุใดจึงมีการตรวจสอบหลังเกิดเป็นกระแสสงสัยในโซเซียลมีเดียอยู่ร่ำไป