xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทยจะผ่านวิกฤติไปได้หรือไม่ (3) / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"โสภณ องค์การณ์"

  ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรแม้ว่าจะมีความสำคัญ แต่ในอดีตไม่ปรากฏว่ามีความสำคัญถึงขนาดเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งนี้ เป็นเพราะฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลสามารถกุมสภาพในสภาไว้ได้อย่างมั่นคง ในช่วงที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยแบบปกติ พรรคที่ได้เสียงข้างมากหรือเสียงมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรก็มักจะได้ครอบครองตำแหน่งนี้ บางช่วงเวลาที่มีสถานการณ์ประชาธิปไตยเบี่ยงเบนไปจากภาวะปกติ พรรคที่ได้เสียงมากที่สุดอาจไม่ได้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร กระนั้นก็ไม่กระทบถึงการจัดตั้งรัฐบาลมากนัก เพราะพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสามารรถยึดกุมกลไกอำนาจทางการเมืองที่ไม่ปกติเอาไว้ได้นั่นเอง

สถานการณ์ในปี 2566 คือ สถานการณ์ที่การเมืองไม่ปกติ พรรคก้าวไกลที่ได้รับเสียงมากเป็นลำดับหนึ่งจากมติมหาชน แต่พรรคก้าวไกลไม่มีอำนาจในการควบคุมกลไกทางการเมือง ยิ่งกว่านั้นยังมีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างจากพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นพรรคที่มีอำนาจในการควบคุมกลไกการเมืองที่ไม่ปกติเอาไว้ได้ อันได้แก่ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของผู้นำพรรคทั้งสอง และเป็น ส.ว. ที่มีอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลโดยตรง

ความลักลั่นทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลจะไม่เกิดขึ้นในสองกรณี

กรณีแรก หากพรรคการเมืองปีกฝ่ายค้านเดิม อันได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคเล็ก ๆ ที่เป็นพันธมิตร ชนะการเลือกตั้งได้ที่นั่ง ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือเกิน 376 เสียง

 กรณีที่สอง  พรรคร่วมรัฐบาลเดิมอันได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และภูมิใจไทย ชนะการเลือกตั้งและได้เสียง ส.ส. กึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร หรือเกิน 250 เสียง แต่เมื่อไรก็ตามที่พรรคทั้งสองขั้วได้เสียงไม่ถึงตัวเลขเป้าหมายของฝ่ายตนเอง ความลักลั่นและความขัดแย้งในการจัดตั้งรัฐบาลก็จะเกิดขึ้นทันที นั่นคือจะเกิดสถานการณ์ที่ ฝ่ายหนึ่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่ไม่สามารถผ่านด่านการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ แต่มีเสียงมากเพียงพอด้วยการสนับสนุนของ ส.ว. ลงมติให้คนของฝ่ายตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคก้าวไกลได้ 151 เสียง และพรรคเพื่อไทยได้ 141 เสียง รวมกันก็มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และยังสามารถรวบรวมพรรคพันธมิตรได้เสียงเพิ่มขึ้นจนเป็น 312 เสียง ก็มีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งสองพรรคก็เริ่มเจรจาทันทีหลังทราบผลเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยอาศัยความเชี่ยวชาญการเมืองเสนอให้มีการจัดสรรตำแหน่งเท่ากันระหว่างสองพรรค นั่นคือพรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งรัฐมนตรี 14 ตำแหน่ง และบวกตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็น 14+1 หรือ 15 ตำแหน่ง ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี 14 ตำแหน่งบวกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็น 14+1 หรือ 15 ตำแหน่งเช่นเดียวกัน โดยพรรคเพื่อไทยอ้างว่าทั้งสองพรรคได้คะแนนเสียงใกล้เคียงกัน จึงควรมีตำแหน่งเท่ากัน

 แต่หากพิจารณาตามหลักการทั่วไป จะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยเอาเปรียบพรรคก้าวไกลอย่างชัดเจน เพราะหากจัดสรรตำแหน่งอย่างเป็นธรรม โดยใช้อัตรา 10 ส.ส. ต่อ 1 ตำแหน่ง พรรคเพื่อไทยจะได้ 14 ตำแหน่งเท่านั้น ขณะที่พรรคก้าวไกลควรได้ 15 ตำแหน่ง และจากบรรทัดฐานทั่วไปในการจัดตั้งรัฐบาลผสม พรรคที่ชนะการเลือกตั้งมากเป็นลำดับหนึ่งและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีความชอบธรรมในการครอบครองทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้ฉีกบรรทัดฐานนี้ทิ้งไป ซึ่งนำมาความขัดแย้งในการจัดตั้งรัฐบาลตามมา

ตำแหน่งประธานรัฐสภาเป็นหมุดหมายและข้อต่อสำคัญของการจัดตั้งรัฐบาลในสถานการณ์ที่การเมืองไม่ปกติเช่นนี้ พรรคก้าวไกลคงคาดไม่ถึงว่า พรรคเพื่อไทยอันเป็นพรรคลำดับสองพยายามช่วงชิงตำแหน่งนี้ ดังนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยเสนอมา จึงต้องกลับไปตั้งหลัก และบอกต่อพรรคเพื่อไทยว่าจะให้คำตอบในภายหลัง หลังจากนั้นพรรคก้าวไกลก็ส่งสัญญาณสู่สาธารณะผ่านสมาชิกบางคนว่า พรรคก้าวไกลมีความประสงค์ในตำแหน่งประธานสภา ซึ่งได้รับการตอบโต้จากแกนนำของพรรคเพื่อไทยทันที ความขัดแย้งระหว่างสองพรรคดำเนินไปจวบจนใกล้วันที่คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศรับรอง ส.ส. แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนก็ออกมานำเสนอหลักการใหม่ว่า “ตำแหน่งประธานสภาฯเป็นของพรรคลำดับหนึ่ง และตำแหน่งรองประธานสภาฯ 2 ตำแหน่งจะเป็นของพรรคลำดับสอง” เลขาธิการพรรคก้าวไกลก็ออกมาตอบรับทันทีในที่สาธารณะและขอบคุณพรรคเพื่อไทย เรื่องราวก็ทำท่าว่าจะจบลงด้วยดี แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่

สมาชิกพรรคเพื่อไทยบางคนได้ออกมาตำหนิแกนนำพรรคตนเองในทันควัน และกล่าวหาว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคก้าวไกลไปเสียแล้ว เมื่อมีการสัมมนา ส.ส. ของพรรคในวันถัดมา สมาชิกพรรคผู้นั้นก็ได้ออกมากล่าวยืนยันในที่ประชุมว่า ตำแหน่งประธานสภาฯต้องเป็นของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น และได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ต่อมาพรรคเพื่อไทยก็จัดประชุมพรรคอย่างเป็นทางการและได้ข้อสรุปว่า การจัดสรรตำแหน่งจะกลับไปสู่จุดเริ่มต้นนั่นคือ 14+1 ซึ่งตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย


เมื่อพรรคก้าวไกลทราบข่าวนี้ ก็มิได้ตอบโต้ด้วยคำพูดแต่อย่างใด หากแต่แสดงออกผ่านการกระทำ นั่นคือ การประกาศชื่อผู้ที่พรรคกำหนดให้เป็นประธานสภาฯในเว็บเพจของพรรค และแจ้งการเลื่อนวันเจรจากับพรรคเพื่อไทย จากเดิมกำหนดในวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ได้เลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด และเลื่อนประชุมพรรคพันธมิตร 8 พรรค จากเดิมกำหนดในวันที่ 29 มิถุนายน 2566 เป็นวันที่ 2 กรกฎาคม เพียง 2 วันก่อนวันประชุมสภาฯ เพื่อเลือกประธานสภาฯ ซึ่งกำหนดในวันที่ 4 กรกฎาคม การเลือกวันประชุมที่กระชั้นชิดเช่นนี้ เป็นการแสดงนัยว่า พรรคก้าวไกลอาจจะนำเรื่องการเจรจาตำแหน่งประธานสภาไปหารือในที่ประชุมร่วมของ 8 พรรค และอาจนำไปสู่การตัดสินใจว่า จะยังคงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทยอยู่หรือไม่

 คำถามคือ ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงปรารถนาอย่างแรงกล้าต่อตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ มีคำอธิบายสี่ประการด้วยกัน ประการแรก การแก้ปัญหาการจัดสรรตำแหน่งการเมืองของพรรค ประการที่สอง ความต้องการในการกุมสภาพการจัดตั้งรัฐบาล ประการที่สาม การตกหลุมพรางกลุ่มอำนาจเก่า และประการที่สี่ การหาเหตุแยกตัวจากขั้วการเมืองเดิม


 ประการแรก การแก้ปัญหาการจัดสรรตำแหน่งการเมืองของพรรค ปัญหาเกิดจากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกน้อยกว่าที่คาดหมายมาก ทำให้การจัดสรรตำแหน่งการเมืองของพรรคถูกลดลงเหลือเพียง 14 ตำแหน่งเท่านั้น ขณะที่พรรคมีบุคลากรจำนวนมาก บางส่วนเป็นแกนนำที่มีบทบาทสำคัญมาโดยตลอดในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เช่น นายชลน่าน ศรีแก้ว นายสุทิน คลังแสง บางส่วนเป็นแกนนำเชิงยุทธศาสตร์ของพรรคเช่น นายพรมินทร์ เลิศสุริย์เดช นายภูมิธรรม เวชยชัย บางส่วนเป็นนักการเมืองบ้านใหญ่ที่ย้ายพรรคเข้ามา เช่น นายสุชาติ ตันเจริญ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน บางส่วนเป็นนายทุนพรรค บางส่วนเป็นอดีตหัวหน้าพรรคและคนสำคัญของพรรค และบางส่วนเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงภาพลักษณ์ดี ดังนั้น การได้ตำแหน่งเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นเพียงตำแหน่งเดียวก็มีความหมายอย่างยิ่งต่อนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงมีกรอบความคิดและตัวแบบทางจิตในการเล่นการเมืองแบบเก่า จึงไม่น่าแปลกใจที่สมาชิกพรรคเกือบทั้งหมดมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า จะต้องช่วงชิงตำแหน่งประธานสภามาให้ได้

 ประการที่สอง  ความต้องการในการกุมสภาพในการเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากในการเลือกนายกรัฐมนตรียังคงมีความไม่แน่นอนสูง และมีโอกาสสูงมากว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกล อาจได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. ด้วยจำนวนไม่เพียงพอที่จะนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการลงมติครั้งแรก หากประธานสภาเป็นของพรรคเพื่อไทย ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า จะดำเนินการให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ทันที และโดยวางแผนให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และดำเนินการเลือกใหม่ทันที พรรคเพื่อไทยอาจคาดว่า ส.ว. จะสนับสนุนนายเศรษฐา และทำให้เขาได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นของพรรคก้าวไกล ก็มีความเป็นไปได้ว่า หากนายพิธา ไม่ได้รับเลือกในครั้งแรก ประธานสภาอาจนัดประชุมเพื่อเลือกใหม่โดยใช้เวลาหลายวัน เพื่อให้นายพิธาและพรรคก้าวไกลมีเวลาในการเจรจาขอการสนับสนุนจาก ส.ว. หรือ แม้กระทั่ง ส.ส.ต่างพรรค ซึ่งจะทำคนจากพรรคเพื่อไทยมีโอกาสน้อยลงในการได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 ประการที่สาม การตกหลุมพรางกลุ่มอำนาจเก่า เป็นไปได้ว่าพรรคเพื่อไทยอาจถูกหลอกลวงโดยนักการเมืองขั้วอำนาจเก่า ข้อสรุปนี้อนุมานจากการที่นายสุทิน คลังแสง กล่าวในที่สาธารณะทำนองที่ว่า ทั้งหมดเป็นการทำเพื่อช่วยเหลือนายพิธา ให้ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปก็จะเข้าใจพรรคเพื่อไทย ลักษณะการหลอกลวงอาจมีลักษณะดังนี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยอาจได้รับการแจ้งหรือเจรจากับนักการเมืองขั้วอำนาจเก่าว่า หากตำแหน่งประธานสภาฯเป็นของพรรคเพื่อไทย พวกเขาจะลงคะแนนเลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อมั่นว่า คนของพรรคเพื่อไทยจะไม่บรรจุญัตติการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าไปสู่ในการประชุมสภา เมื่อแกนนำพรรคเพื่อไทยได้รับทราบข้อเสนอนี้ก็อาจหลงเชื่อ และยืนกรานกับพรรคก้าวไกลว่า ตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย และนั่นเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งของสองพรรค อีกทั้งไม่มีหลักประกันใดว่า นักการเมืองกลุ่มอำนาจเก่าจะลงคะแนนให้นายพิธา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือ รอยร้าวและความแตกแยกระหว่างพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล ซึ่งเท่ากับว่าการวางแผนยุยงสร้างความแตกแยกของกลุ่มอำนาจเก่าบรรลุความสำเร็จ และผลดีก็จะตกอยู่กับกลุ่มอำนาจเก่า

 ประการที่สี่ การหาเหตุแยกตัว ในกรณีที่สามพรรคเพื่อไทยถูกหลอกลวง แต่สำหรับกรณีที่สี่ พรรคเพื่อไทยจงใจ โดยใช้ตำแหน่งประธานสภา ซึ่งไม่ได้สำคัญอะไรกับพรรคเพื่อไทยมากนัก เมื่อเทียบกับพรรคก้าวไกล แกนนำพรรคเพื่อไทยอาจรู้ว่าตำแหน่งนี้สำคัญต่อพรรคก้าวไกลมาก ไม่ว่าอย่างไรเสีย พรรคก้าวไกลก็ไม่ยอมสูญเสียตำแหน่งให้กับพรรคเพื่อไทย เพราะถ้ายอม ก็เท่ากับว่าหมดโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า พรรคเพื่อไทยใช้เงื่อนไขนี้บีบให้พรรคก้าวไกลแตกหักกับตนเอง และสลายพันธะในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นการเปิดประตูเสรีภาพในการเลือกผสมกับพรรคอื่น ๆ ที่อยู่ต่างขั้วกับตนเองได้ โดยเฉพาะกับพรรคพลังประชารัฐ เมื่อผสมกับพรรคพลังประชารัฐแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยอาจมีนายเศรษฐา หรือพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ คนใดหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี

เหตุผลที่ทำให้พรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรค พปชร. อาจเกิดจากการที่นายทักษิณ ชินวัตร ไปตกลงเงื่อนบางอย่างในการกลับประเทศไทยกับกลุ่มอำนาจเก่า หรืออาจเป็นไปได้ว่ากลุ่มอำนาจเก่าใช้เรื่องที่เคยช่วยเหลือนายทักษิณและครอบครัวเกี่ยวการดำเนินคดีในอดีตมาทวงบุญคุณ และรวมถึงการใช้เงื่อนไขเกี่ยวการดำเนินคดีต่อไปในอนาคตเป็นกลไกในการบีบในอีกทางหนึ่ง จึงทำให้นายทักษิณ ไม่มีทางเลือก และทำให้พรรคเพื่อไทยไม่มีทางเลือกไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การแยกขั้วไปจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามมีราคาที่พรรคเพื่อไทยต้องจ่ายอย่างมหาศาล ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และความนิยมของพรรคจะสูญเสียไปอย่างไม่อาจประมาณได้ และอาจกระทบต่ออนาคตทางการเมืองของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร เพราะเธอเป็นผู้ให้คำมั่นต่อประชาชนก่อนเลือกตั้งว่าจะไม่จัดตั้งรัฐบาลกับพรรคสืบทอดอำนาจรัฐประหาร และให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนนายพิธา และพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล การจับมือกับขั้วตรงข้ามเท่ากับเป็นการทรยศต่อประชาชน ซึ่งจะกลายเป็นมลทินด่างพร้อยติดตัวเธออย่างยาวนาน และเป็นการบั่นทอนอนาคตทางการเมืองของเธอโดยตรง

 การเลือกประธานสภาที่กำลังเกิดขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคมเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นทางแพร่งที่จะบ่งบอกว่า การเมืองและสังคมไทยจะตกไปสู่เหวลึกของวิกฤติร้ายแรง หรือจะก้าวผ่านวิกฤติไปได้ แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สัญญาณหลายประการเกิดขึ้นและบ่งชี้ว่า ประเทศไทยมีโอกาสสูงมากขึ้นที่จะเคลื่อนตัวไปสู่มหาวิกฤติ อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่น ๆ รวมทั้ง ส.ว. ที่ยังมีจิตสำนึกเพื่อประเทศชาติก็ยังมีเวลาอยู่บ้าง แม้ว่าจะเหลืออยู่ไม่มากนัก เพื่อถอดชนวนระเบิดและหยุดยั้งไม่ให้วิกฤติการเมืองเกิดขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น