xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“นายกฯ ชาย” เต็งหัวหน้า ปชป. “ค่ายแมลงสาบ” จะ “ฟื้น” หรือ “สูญพันธุ์”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 “นายกฯ ชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง
ป้อมพระสุเมรุ

ตามธรรมเนียมปฏิบัติของ “ค่ายสะตอ” ที่ยามพ่ายศึกเลือกตั้งต้องมีการเซ่นสังเวยหาผู้รับผิดชอบ

สำคัญที่เกินกว่า 30 ปี แล้วที่ พรรคประชาธิปัตย์ ร้างราจากบัลลังก์แชมป์เลือกตั้ง ซึ่งหนล่าสุดต้องย้อนไปเมื่อการเลือกตั้ง 2535/2 ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ “ค่ายสะตอ” ได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ทำให้แทบทุกหลังการเลือกตั้งตลอดกว่า 30 ปี ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงภายใน “ค่ายสะตอ” อยู่เสมอ

การเลือกตั้ง 2566 นี้ก็เช่นกัน ที่ถือว่า พรรคประชาธิปัตย์ ตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อสามารถนำ ส.ส.เข้าสภาผู้แทนราษฎร ได้เพียง 25 คน แบ่งเป็น 22 ส.ส.เขต และ 3 ส.ส.บัญชีรายชื่อ

เฉพาะในส่วนคะแนน “บัตรพรรค” หรือคะแนนป๊อปปูล่าร์โหวตเพียงแค่ 925,349 คะแนน ทำให้พรรคที่ได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย กลายเป็นพรรค “ต่ำล้าน” อย่างไม่น่าเชื่อ

ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้มีเสียงปรามาสว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะตกต่ำลงยิ่งเสียกว่าการเลือกตั้งปี 2562 ที่ได้ ส.ส.มา 52 คน และก็มีการโยนหินถึงการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารพรรคเพื่อหนีความตกต่ำในสนามเลือกตั้ง แต่ที่สุดก็ไม่มีเปลี่ยนแปลงใด

พร้อมๆ กับการแสดงความมั่นใจของ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ที่ประกาศล่วงหน้าว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิม หรือ 52 เสียง จะวางมือทางการเมืองทันที

แต่ก็ออกอาการ “รับสภาพ” ไปในที เมื่อ “เฉลิมชัย” ตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ จนเดากันไม่ยากว่า พรรคประชาธิปัตย์ ต้องได้ที่นั่งน้อยกว่าเดิมอย่างแน่นอน “เลขาฯ ต่อ” จึงเว้นวรรคไม่ลง ส.ส. เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาลาออกแสดงสปิริตให้มากความ

ขณะที่ “เสี่ยอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค หลังปิดหีบการเลือกตั้งไม่กี่ชั่วโมง เพื่อแสดงความรับปิดชอบ และเปิดทางให้มีการสรรหาหัวหน้า-กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ขึ้นมากอบกู้พรรค

แต่ “เสี่ยอู๊ด” ก็ยังมีรันเวย์แลนด์ดิ้ง เพราะยังเป็น 1 ใน 3 ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคร่วมกับ 2 ผู้อาวุโส อย่าง “ชวน หลีกภัย - บัญญัติ บรรทัดฐาน”

ล่าสุดได้ฤกษ์จัดประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กทม. โดยมีวาระสำคัญในการเลือกตั้งหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาก่อนถึงการเลือกตั้ง ภายใน “ค่ายสะตอ” ก็มีการโยนประเด็นการเปลี่ยนผู้นำพรรคมาอย่างต่อเนื่อง มีการกะเก็งถึงผู้ที่จะมารับไม้ต่อจาก “จุรินทร์” แต่ก็ดูเหมือนยังไม่มีผู้ที่เหมาะสม โดยเฉพาะในยามที่พรรคตกอยู่ในภาวะ “เลือดไหลออก” อย่างต่อเนื่อง

มีการพูดถึงการรีเทิร์นของ “นายหัวชวน” แต่ยามนั้นยังติดภารกิจเป็นประธานสภาฯ ซึ่งไม่สามารถเป็นกรรมการบริหารพรรคได้ หรือพูดถึงการปลับเข้ามามีบทบาทของ “จารย์มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีเสียงสนับสนุนเพียงพอ

ทำให้ต้องเข็น “จุรินทร์” เป็นแม่ทัพเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้ง และผลก็ออกมาอย่างที่เห็น

และด้วยสภาพพรรคประชาธิปัตย์จะพุพังเกินเยียวยา อีกทั้งอยู่ในยุคที่ “ขุนศึก” ขาดแคลน ทำให้บรรยากาศการหา “แม่ทัพคนใหม่” ไม่เข้มข้นเหมือนในอดีตยามที่มีการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการแย่งชิงกันอย่างดุเดือดทุกครั้ง

อย่างครั้งนี้หลังการเลือกตั้งก็มีการโยนชื่อหลายคนออกมา ทั้ง “นายหัวชวน” ที่พูดถึงขั้นว่า สิ้นความขลัง เหลือแต่ชื่อ เพราะขนาดพื้นที่ จ.ตรัง บ้านเกิดนายหัว ที่เลือกตั้ง 2562 ถูกเจาะไข่แดงไปได้ 1 เขต มาหนนี้โดนเพิ่มไปอีกเขต เหลือที่เป็นของพรรคประชาธิปัตย์เพียง 2 จาก 4 เขต แถมคะแนนบัญชีรายชื่อทั้งจังหวัดยังได้มาเพียง 4 หมื่นคะแนนเศษเท่านั้น

เป็นสัญญาณที่ชี้ว่าหมดยุค “นายหัวเมืองตรัง” โดยแท้ แถมคีย์เวิร์ด “การเมืองสุจริต” ที่เป็นจุดขายของ “ชวน” มาตลอด ก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะ “ค่ายสะตอ” ยุคใหม่ปรับสไตล์เป็น “สายเปย์” ไม่น้อยหน้าพรรคอื่นเหมือนกัน

กระทั่งมีเสียงเรียกร้องด้วยซ้ำให้ “จุรินทร์-ชวน-บัญญัติ” ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้าไปทำหน้าที่แทน ชื่อของ “นายหัวชวน” จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อกลับมากอบกู้พรรค

อีกราย “มาร์ค-อภิสิทธิ์” ที่ยังพอมีเสียงเชียร์อยู่บ้าง โดยเฉพาะ “ติ่งค่ายสีฟ้า” นอกพรรค แต่ขาดแรงสนับสนุนจากภายในพรรค ที่วันนี้ “สายเลขาฯ ต่อ” มีอิทธิพลเหนือพรรคแทบเบ็ดเสร็จ และเอาเข้าจริง “จารย์มาร์ค” ก็คง “ฉลาดพอ” ที่จะไม่เอาชื่อมาทิ้งกับสภาพพรรคยามนี้

สู้ถนอมเนื้อถนอมตัวแล้วไปลุย “พรรคขวาใหม่” ที่อื่น หรือเบนเป้าไปเล่นเวทีอินเตอร์ยังดีกว่า

เมื่อคนเก่าไปไม่ไหว ก็มีการเมียงมอง “คนใหม่ๆ” อาทิ “พี่เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่เดิมมีการวางตัวไว้เป็นทายาทหัวหน้าพรรคเช่นกัน หากประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. แต่เมื่อเสียหลักแบบแพ้ขาดลอย จึงต้องใช้เวลาสะสมแต้มอีกพักใหญ่

ส่วน “เสี่ยบิล” อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการพรรค อีกทั้งเป็นเด็กในคาถาของ “นายหัวชวน” ที่อยู่ในช่วงขาลง ทำให้ขาดแรงสนับสนุจากคนภายในพรรค

ที่ยังพูดถึงอยู่ในช่วงนี้ก็มีอยู่ 3-4 ชื่อ ที่มีลุ้นท้าชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9

รายแรก “นายกฯ ชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ที่แม้จะพรรษาน้อยเพิ่งเป็น ส.ส.สมัยเดียว แต่ก็โดดเด่นตามคอนเซปต์ “ใจถึง พึ่งได้” ใช้เวลาไม่นานในการสร้างชื่อ โดยเป็นแกนหลักคนสำคัญของ “ทีมเสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” ที่ทำงานกันแบบมองตารู้ใจ

ต่อมาเป็น “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพมหานคร และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 11 ซึ่งภาพลักษณ์ดี เหมาะกับเทรนด์การเมืองปัจจุบันที่โหยหาคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังมี “สื่อใหญ่” ในมือเป็นอาวุธสำคัญ รวมทั้งมีส่วนในการสนับสนุนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา “ไม่น้อย”

ทว่า “มาดามเดียร์” เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกพรรคไม่ถึง 1 ปี ซึ่งอาจจะมีมุมในการยกเว้นข้อบังคับพรรคที่ผู้กำหนดว่า สมาชิกผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคจะต้อง “เป็นสมาชิกติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง”

ซึ่งหากสู้ถึงขนาดผลักดันให้ยกเว้นข้อบังคับพรรค ก็ต้องมั่นใจว่า มีโอกาสจะชนะจริงๆ จึงมองว่า “มาดามเดียร์” ยังไม่น่าลงสู้หนนี้

ถัดมาก็มีชื่อ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ทายาท โพธิพงษ์ ล่ำซำ คนเก่าคนแก่ของพรรคประชาธิปัตย์ มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคมาเกินกว่าที่ข้อบังคับกำหนด ซึ่งก็คล้ายกับ “จารย์มาร์ค” ที่ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่เป็นคนนอกพรรค และไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกกรรมการบริหารพรรค จึงเชื่อว่า ยังไม่ใช่เวทีของ “มาดามแป้ง” ในครั้งนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงชื่อ “เสี่ยดอน” กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตคนของพรรคประชาธิปัตย์ และครั้งหนึ่งเคยลงแข่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนจะลาออกไปสร้างดาวดวงใหม่ของตัวเอง

เป็นจังหวะที่ “กรณ์” จบภารกิจกับพรรคชาติพัฒนากล้าของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ สามารถนำพา ส.ส.เข้าสภาฯ ได้เพียง 2 คน เป็น 1 ส.ส.เขต และ 1 ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยที่ “กรณ์” ลงสมัครเพียงเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่ไม่ได้สมัคร ส.ส.แต่อย่างใด

และมีกระแสข่าวว่า “กรณ์” ได้จากกับ “สุวัจน์” ด้วยดีแล้ว เพราะกลายเป็นว่าาชื่อของ “กรณ์” กลายเป็นอุปสรรคในการเข้าร่วมรัฐบาลกับ 8 ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล หลังจากเจอกระแสต้าน “มีกรณ์ ไม่มีกู”

แน่นอนว่า เคมีของ “กรณ์” ก็ยังคงเข้ากับพรรคประชาธิปัตย์ได้ และถือเป็นตัวเลือกที่ดีคนหนึ่ง โดยเฉพาะในจุดขายกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม ผสมกับความโดดเด่นด้านเศรษฐกิจ และแม้ว่าจะลาออกจากพรรคไปพักใหญ่ แต่ก็ยังมีคุณสมบัติครบถ้วนในการลงท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีต ส.ส. อดีตกรรมการบริหารพรรค และอดีตรัฐมนตรีของพรรค

“เสี่ยแทน” ชัยชนะ เดชเดโช
ติดแต่ว่า ชื่อของ “กรณ์” ดูเหมือนจะมาช้าเกินไป เพราะดูเหมือน “ผู้มีอำนาจในพรรค”จะได้ข้อสรุปแล้วว่าจะผลักดัน “นายกฯ ชาย-เดชอิศม์” ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยมี “เสี่ยแทน” ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองเลขาธิการ ขึ้นทำหน้าที่เลขาธิการพรรคคนใหม่

ทั้งชื่อของ “เดชอิศม์-ชัยชนะ” ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้ร่มเงาของ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” ที่หน้าฉากจำเป็นต้องวางมือทางการเมืองรับปิดชอบผลการเลือกตั้ง จึงวางคนที่ไว้ใจได้ทั้งคู่ขึ้นคุมพรรคอย่างเบ็ดเสร็จ

แม้จะยังต้องรอการลงมติของที่ประชุมวิสามัญในวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 แต่จากการประลองกำลังเบื้องต้น ต้องยกให้ “เดชอิศม์-ชัยชนะ” ค่อนข้างแบเบอร์ เพราะใน 25 ส.ส.ปัจจุบัน มีถึงอย่างน้อย 17 คน ที่อยู่ใน “ทีมเสี่ยต่อ”

สำหรับขั้นตอนการประชุมเพื่อลงมติเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันที่ 9 กรกฎาคม 66 นั้น จะเริ่มจากที่ประชุมมีมติเห็นชอบยกเว้นข้อบังคับข้อที่ 32 การหยั่งเสียงเบื้องต้น (ไพรมารี่โหวต) ในการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และใช้กลไกระดับตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และตัวแทนพรรคประจำสาขาพรรคเข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญพรรคแทน

ทั้งนี้ องค์ประชุมในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ จะมาจากตำแหน่ง ส.ส.ปัจจุบัน 25 คน ที่มี “น้ำหนัก” ในการลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่สัดส่วน “70%” ส่วนองค์ประชุมอื่น ๆ อีก 18 กลุ่มจาก 19 กลุ่ม มี “น้ำหนัก” ในการลงคะแนนเลือกตั้งหัวหน้าพรรครวมกันที่ “30%”

เท่ากับว่า จะซ้ายจะขวาอยู่ที่ ส.ส.ปัจจุบันทั้ง 25 คนเป็นหลัก

ว่ากันว่า หากต้องการเสนอคนอื่นท้าชิง และหวังจะสู้ให้ได้ลุ้น อีกฝ่ายต้องระดมสมาชิกพรรคให้ได้ราว 2 หมื่นคนมาร่วมประชุมและลงคะแนน เพื่อหักล้างน้ำหนัก 70% ของ ส.ส.ปัจจุบัน

ถือว่า เป็นไปได้ยาก หรือหากมีการเดินเกมดังกล่าวจริง ฝ่ายกุมอำนาจก็คงแก้เกมได้ไม่ยาก

ว่ากันในส่วนของ “นายกฯ ชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง พื้นเพเป็นคน อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ก้าวสู่ถนนการเมืองท้องถิ่น เป็นสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) สงขลา เขต อ.รัตภูมิ และเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา สมัยเลือกทางอ้อม จึงถูกขนานนามว่า “นายกฯ ชาย” มาตั้งแต่บัดนั้น

โดย "นายกฯ ชาย" ยังเป็นหัวคะแนนคนสำคัญของ “นายหัววอน” ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา หลายสมัย และก็มีคอนเนกชันที่กว้างขวาง ให้การเคารพนับถือ “เฮียจอง” จองชัย เที่ยงธรรม อดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.พรรคชาติไทย โดยสนิทสนมขนาดได้รับอนุญาตให้เรียก “ป๊าจองชัย”

รวมไปถึงคุ้นเคยดีกับ “ขาใหญ่การเมือง” ยุคปัจจุบัน ทั้ง “ผู้กองมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แห่งพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้ง “พี่หลา” ชาดา ไทยเศรษฐ์ แห่งพรรคภูมิใจไทย เป็นอย่างดี โดยรายหลังมักคุ้นกันผ่านธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

ย้อนไปถึงเส้นทางการเมืองระดับชาติ “เดชอิศม์” เคยเสนอตัวลงสมัคร ส.ส.สงขลา ในการเลือกตั้งปี 2548 ในนามพรรคประชาธิปัตยื แต่ไม่มีที่ว่าง จึงไปสวมเสื้อพรรคไทยรักไทยลงสนาม และต้องก็พ่ายให้กับ ประพร เอกอุรุ ตัวแทนของ นิพนธ์ บุญญามณี แห่งพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนั้น ก่อนจะกลับไปเล้นการเมืองท้องถิ่น

และได้มาลงสมัคร ส.ส.สงขลา ในสีเสื้อประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2562 ที่แม้ประอสความนิยมของพรรคจะตกต่ำ แต่ “นายกฯ ชาย” ก็ได้รับเลือกเป็น ส.ส.สมัยแรก และได้คะแนนมากที่สุดใน จ.สงขลา

บารมีของ “เดชอิศม์” เริ่มโดเด่นเมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา ที่ได้ผนักกำลังกับ “ถาวร-นิพนธ์” สนับสนุน ไพเจน มากสุวรรณ์ จนเอาชนะ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล จากค่ายพลังประชารัฐ ไปอย่างขาดลอย พร้อมส่ง “มาดามน้ำหอม” สุภาพร กำเนิดผล ภรรยา ไปกินตำแหน่งรองนายกอบจ.สงขลา ด้วย

จากนั้นมีเหตุที่ “ถาวร” ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากคดีชุมนุม กปปส. ทำให้ต้องเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่เขต 6 จ.สงขลา “นายกฯ ชาย” ได้ไฟเขียวผ่านตลอดจาก “เลขาฯ ต่อ” วางตัว “สุภาพร” ภรรยา ลงสมัคร และสามารถเอาชนะคู่แข่งจากพรรคพลังประชารัฐไปได้ โดยว่ากันว่าครั้งนั้นทั้งสองฝ่ายระดม “สรรพกำลัง” ใส่กันอย่างเต็มที่

แต่ก็ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ “เดชอิศม์” จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ แข่งกับ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ก่อนที่ “นายกฯชาย” จะเอาชนะไปได้แบบสบายๆ

ส่วนผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกเจาะในพื้นที่ภาคใต้หลายเขต แต่ในส่วนของพื้นที่ที่ “เดชอิศม์” รับผิดชอบก็ยังพอเอาตัวรอดได้ อย่างที่ จ.สงขลา ก็สามารถคว้าได้ 6 จาก 9 เขต จำนวนเป็นตัว “เดชอิศม์-สุภาพร” ที่รักษาที่นั่งเดิมได้ และยังส่งลูกชาย “ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง” เข้าป้าย ส.ส.ได้อีกคน

แม้ว่าบารมีทางการเมืองของ “เดชอิศม์” จะเบ่งบานขึ้นตามลำดับ แต่ว่ากันตามเนื้อผ้าก็นยังไม่ถึงขั้นจะขึ้นมาเป็นหัวหน้า “พรรคเก่าแก่ที่สุด” อย่างพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งยังมีเสียงลือเสียงอ้างเกี่ยวกับ “ธุรกิจ” อยู่พอสมควร

ไม่ว่าจะมาจาก “ภาวะจำยอม” ในยามที่ขาดแคลนขุนพลอย่างหนัก หรือเป็นความต้องการของ “ผู้มีอำนาจตัวจริง” อย่าง “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” ก็ตาม จึงพอฟันธงได้ว่า “ค่ายสะตอ” ยุคใหม่ ไม่น่าพ้นไปจากคู่หู “เดชอิศม์-ชัยชนะ” ที่จะขึ้นมากุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ

ก็ต้องรอดูฝีมือ “หัวหน้าชาย” ภายใต้การติวของ “ครูใหญ่ต่อ” ว่าจะพลิกฟื้น “ค่ายสะตอ” ให้กลับมาเป็นมวยหลักได้

หรือมาเพียงขัดตาทัพในช่วงนับถอยหลัง รอดู “ค่ายแมลงสาบ” สูญพันธุ์?


กำลังโหลดความคิดเห็น