xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทยจะผ่านวิกฤติไปได้หรือไม่ (2) / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

 การเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาถูกครอบงำด้วยการเมืองแห่งเกมอำนาจมาอย่างยาวนาน แต่การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นเป็นปกติของสังคม ในปัจจุบันพัฒนาการทางการเมืองไทยกำลังเดินมาสู่ระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ มีการอุบัติขึ้นของกระบวนทัศน์ใหม่ นั่นคือการเมืองแห่งธรรมาภิบาล การเมืองไทยจะสามารถก้าวผ่านวิกฤติการเมืองได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ากระบวนทัศน์ใดจะประสบชัยชนะในการแข่งขันจัดตั้งรัฐบาล


การเมืองแห่งเกมอำนาจเป็นการเมืองที่ใช้วิธีการทุกอย่างที่คิดได้ ไม่ว่าวิธีการนั้นจะถูกต้องตามหลักศีลธรรม หรือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เพื่อให้ได้อำนาจและรักษาอำนาจ รูปธรรมของการเมืองแห่งเกมอำนาจในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งคือ การทุจริตเลือกตั้งในรูปแบบต่าง ๆ นานัปการ เช่น การซื้อเสียง การโกงคะแนน รวมทั้งการหาเสียงตัวด้วยการใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่งด้วยข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลกึ่งเท็จกึ่งจริง หรือข้อมูลที่คลุมเครือเพื่อสร้างความสงสัยในใจของผู้เลือกตั้งต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองคู่แข่ง โดยมีเป้าหมายในการบั่นทอนและทำลายคะแนนนิยมของคู่แข่ง

สำหรับการซื้อเสียงในการเลือกตั้งไทย พรรคการเมืองที่มีองค์ประกอบจากกลุ่มผู้สมัครที่เรียกกันว่า “บ้านใหญ่” มีแนวโน้มการใช้การซื้อเสียงสูงกว่าพรรคการเมืองที่ผู้สมัครไม่ใช่บ้านใหญ่ และเนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นระบบการเลือกตั้งที่แยกอย่างเด็ดขาดระหว่างการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตกับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จึงทำให้เราสามารถเห็นร่องรอยความผิดปกติ ที่สามารถอนุมานและตั้งเป็นสมมติฐานได้ว่า เขตการเลือกตั้งใดมีแนวโน้มการซื้อเสียงสูง เขตการเลือกตั้งใดมีแนวโน้มการซื้อเสียงต่ำ และผู้ชนะเลือกตั้งในเขตใดมีแนวโน้มใช้การซื้อเสียง และผู้เลือกตั้งเขตใดที่ชนะมาด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม

สมมติฐานคือ เขตการเลือกตั้งใดที่มีความสอดคล้องระหว่างคะแนนบัญชีรายชื่อพรรคกับคะแนนแบบแบ่งเขต เขตเลือกตั้งนั้นมีแนวโน้มซื้อเสียงต่ำ หรือการซื้อเสียงไม่ได้ผล แต่หากเขตใดที่คะแนนทั้งสองระบบไม่สอดคล้องกัน แสดงว่ามีการซื้อเสียงมาก และอาจใช้ได้ผล ความไม่สอดคล้องที่ว่าคือ คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค กับส.ส. แบบแบ่งเขตของพรรคเดียวกันห่างกันมากเกินไป หรือ พรรคหนึ่งได้คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อสูง แต่คะแนน ส.ส. เขตต่ำ ขณะที่อีกพรรคหนึ่ง คะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขตสูง แต่คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคต่ำ เช่น เขตการเลือกตั้งที่ 1 ของจังหวัด น. พรรค ก. ได้คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อสูงที่สุด แต่ พรรค ข. กลับได้คะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขตมากที่สุด ก็สามารถอนุมานเบื้องต้นได้ว่า ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต พรรค ข. มีแนวโน้มใช้การซื้อเสียงในเขตนั้น ในการเลือกตั้งที่ผ่านมามีปรากฎการณ์แบบนี้หลายเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่า การซื้อเสียงอันเป็นวิธีการหนึ่งของการเมืองแห่งเกมอำนาจยังคงมีอิทธิพลในสังคมไทยไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกหลายเขตที่มีความสอดคล้องกันระหว่างคะแนนแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต ซึ่งแสดงว่าเขตเหล่านั้นไม่มีการซื้อเสียง หรืออาจมีการซื้อเสียงแต่ใช้ไม่ได้ผล เช่น กรุงเทพมหานคร หลายจังหวัดในปริมณฑล หลายจังหวัดในภาคตะวันออก หลายจังหวัดภาคเหนือ และบางจังหวัดในภาคใต้

 การที่พรรคก้าวไกลประสบชัยชนะ ได้รับเลือกมาด้วยเสียงมากเป็นลำดับหนึ่ง และได้รับการยอมรับจากประชาชนและนักการเมืองด้วยกันว่า พรรคนี้ไม่ใช้การซื้อเสียงแม้แต่น้อย หากแต่เอาชนะมาด้วยการหาเสียงที่เป็นไปตามครรลองของการเมืองแบบธรรมาภิบาล นั่นคือ การนำเสนอวิสัยทัศน์ จุดยืน และอุดมการณ์ทางการเมือง รวมทั้งนโยบายอย่างเข้มข้น จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า การเมืองแบบธรรมาภิบาลได้ลงหลักปักฐานในสนามการเลือกตั้ง และประชาชนผู้เลือกตั้งได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่าต้องการเมืองแบบนี้ 

ในอีกด้านหนึ่ง นอกเหนือจากการซื้อเสียงแล้ว การเมืองแห่งเกมอำนาจรูปแบบอื่นก็ปรากฎขึ้นควบคู่กันไปด้วย นั่นคือการอาศัยข้อมูลที่คลุมเครือเพื่อทำลายคู่แข่ง และปล่อยออกมาในจังหวะเวลาใกล้วันเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้ตกเป็นเป้าหมายไม่มีเวลาเพียงพอในการชี้แจงและแก้ข้อกล่าวหา ในห้วงเวลาสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งคะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลทะยานขึ้นไปนำเหนือพรรคการเมืองอื่น ๆ แบบทิ้งห่าง ได้ก่อให้เกิดความปริวิตกแก่คู่แข่ง กลุ่มทุนและกลุ่มอำนาจที่จะเสียประโยชน์ หากพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

 กลอุบายในการทำลายชื่อเสียงเพื่อบั่นทอนคะแนนนิยมจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นขบวนการ ซึ่งข้อมูลที่ถูกเปิดโปงในภายหลังก็พิสูจน์อย่างชัดเจนถึงการดำรงอยู่ของขบวนการนี้ สี่วันก่อนการเลือกตั้ง มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นสื่อบริษัทไอทีวี มีการขอให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร ส.ส. ของ นายพิธา และประเด็นการขอให้ กกต. ตรวจสอบของผู้ร้องเรียนขยายไปสู่คุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกลทั้งพรรค ซึ่งแสดงให้เป็นชัดว่าเป้าหมายของการร้องเรียน หาได้จำกัดแต่เฉพาะนายพิธา เพียงผู้เดียว หากแต่ต้องการจัดการพรรคก้าวไกลให้หายไปจากการเมืองไทย เฉกเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ในปี 2563 ราวกับเครื่องจักรแห่งอำนาจกำลังเดินเครื่องอย่างสุดกำลังเพื่อกวาดล้างเป้าหมายของมัน ทว่าเหตุการณ์มิได้เป็นไปตามนั้น พรรคก้าวไกลยังคงประสบชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างไม่มีสิ่งใดมาหยุดยั้งได้ เพราะการเมืองแห่งธรรมาภิบาลสำแดงพลานุภาพสยบการเมืองแห่งเกมอำนาจได้ในระดับหนึ่งนั่นเอง  

หลังการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลผสมแปดพรรคภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยการยึดกุมหลักแห่งประสิทธิภาพ โปร่งใส มีส่วนร่วม และรับผิดชอบต่อสาธารณะ อันเป็นหัวใจของการเมืองแบบธรรมาภิบาล MOU หรือบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่างแปดพรรคได้รับการรังสรรค์ขึ้นมาในฐานะสัญญาประชาคมระหว่างว่าที่พรรครัฐบาลกับประชาชน เนื้อหาสาระของ MOU ได้รับการนำไปเปิดเผยให้สาธารณะทราบอย่างชัดเจน พร้อมกันนั้นมีการจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อการเปลี่ยนผ่านประเทศให้เป็นไปอย่างราบรื่นขึ้นมา และมีกำหนดประเด็นปัญหาประเทศที่รัฐบาลใหม่จะเข้าไปแก้ไข พร้อมทั้งจัดตั้งคณะทำงานรับผิดชอบจากการมีส่วนร่วมของพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลทุกพรรค รวมทั้งมีการกำหนดการประชุมหารือและแจ้งผลการหารือให้แก่ประชาชนทราบเป็นระยะ

ขณะที่การเมืองแห่งธรรมาภิบาลกำลังเดินเครื่องและขับเคลื่อนไปข้างเพื่อจัดตั้งรัฐบาลตามครรลองประชาธิปไตย ตามเจตจำนงของประชนและมติมหาชน แต่การเมืองแห่งเกมอำนาจมิได้ยอมรับความพ่ายแพ้ ตรงกันข้าม กลับดิ้นรนต่อสู้อย่างหนักหน่วงเพื่อช่วงการนำและอำนาจกลับคืนมา ร่องรอยการเมืองสีเทาแห่งเกมอำนาจที่เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนและระหว่างการเลือกตั้ง ก็ปรากฏขึ้นอีกคราในการจัดตั้งรัฐบาล

ก่อนการเลือกตั้งมีข่าวลือ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วสังคมว่า มีดีลลับระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐในการจัดตั้งรัฐบาล อันเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยประสบความพ่ายแพ้การเลือกตั้งอย่างพลิกความคาดหมาย และสิ้นสุดสองทศวรรษของการผูกขาดตำแหน่งพรรคลำดับหนึ่งลงไปอย่างเจ็บปวด แม้มีความเป็นไปได้ว่า แกนนำเชิงยุทธศาสตร์ของพรรคอาจรับรู้ถึงสถานการณ์นี้แล้ว แต่ดูเหมือนผู้บริหารสูงสุดของพรรคยังมึนงงและไม่อาจสรุปบทเรียนนี้ได้ ยังคงหมกมุ่นกับวาระส่วนตัวในการกลับประเทศไทยของตนเอง พยายามรักษาเครือข่ายสายใยกับกลุ่มอำนาจเก่าเอาไว้ ซึ่งส่งผลให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ถูกรายล้อมด้วยอุปสรรคนานัปการ

เริ่มตั้งแต่การแสดงท่าทีไม่เต็มใจในการทำ MOU ถัดมาก็แสดงความไม่พอใจของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยต่อคำถามและข้อเรียกร้องของสมาชิกพรรคไทยสร้างไทยที่ต้องการให้มีการบรรจุถ้อยคำในทำนองที่แสดงถึงหลักประกันในการร่วมมือระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย นั่นคือ การล่มหัวจมท้ายทางการเมืองด้วยกันในสมัยสภาผู้แทนฯชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ตาม ความขัดแย้งปานปลายจนหัวหน้าพรรคเพื่อไทยมีการกล่าวในทำนองเสมือนคำขาดว่า จะเลือกพรรคใดระหว่างสองพรรค อย่างไรก็ตาม ต่อมาสมาชิกพรรคไทยสร้างไทยที่ตั้งคำถามก็ยอมออกมากล่าวคำขอโทษ และทำให้ความขัดแย้งลดลง ทว่ารอยร้าวยังคงดำรงอยู่ มิได้เลือนหายไปแต่อย่างใด

 ร่องรอยความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลได้ปรากฏออกมาสู่สาธารณะอีกครั้ง เมื่อพรรคเพื่อไทยต้องการตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการเสนอสูตรการแบ่งตำแหน่งที่ดูเหมือนยุติธรรม (ตามความรู้สึกของคนพรรคเพื่อไทย) นั่นคือ การที่พรรคลำดับหนึ่งและลำดับสองจำนวนที่นั่ง ส.ส. ห่างกันไม่มาก (ห่างกัน 10 ที่นั่งในส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือประมาณ 3.5 ล้านคะแนนเสียงของผู้เลือกตั้ง) ดังนั้นเมื่อพรรคลำดับหนึ่งได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารแล้ว พรรคลำดับสองก็ควรได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ 

หากข้อเสนอนี้เกิดขึ้นในบริบทการเมืองที่เป็นปกติ และปราศจากข่าวลือของการหักหลัง ก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลแต่อย่างใด ทว่าการเสนอเช่นนี้ผิดกาละและเทศะยิ่งนัก เพราะการเมืองไทยกำลังอยู่ในบริบทของต่อสู้กันอย่างเข้มข้นระหว่างฝ่ายสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารกับฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิดการตีความว่า พรรคเพื่อไทยกำลังใช้เล่ห์เหลี่ยมของเกมอำนาจ เพื่อหาเหตุผลในการปลดจากพันธะของสัญญาประชาคม และหันไปจับมือกับขั้วอำนาจเดิมในการจัดตั้งรัฐบาล

 วิธีการของพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลจึงมีสองอย่างคู่ขนานกันไป ด้านหนึ่งให้แกนนำพรรคใช้วิธีที่ถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตย ยืนยันในหลักการของความร่วมมือเพื่อตอบสนองมติมหาชน แต่อีกด้านหนึ่งก็ใช้ ส.ส. บัญชีรายชื่อสูงอายุคนหนึ่งของพรรค ที่หายไปจากการเมืองร่วม 17 ปี ออกมาทวงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างต่อเนื่อง ด้านหนึ่งอาจมองได้ว่า การพูดเพื่อแย่งชิงตำแหน่งเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้พูด ที่คิดว่าหากพรรคได้ตำแหน่งนี้มา ตนเองก็อาจได้รับการจัดสรรให้ไปดำรงตำแหน่งนี้จากพรรค แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจมองได้เช่นกันว่า การพูดแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาเป็นหมากตัวหนึ่งของผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค เพื่อปั่นสถานการณ์ความขัดแย้ง และทำให้การจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยล้มเหลว อันเป็นการเปิดประตูให้พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องไปร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป 

อย่างไรก็ตาม การออกมาแย่งตำแหน่งประธานสภาของพรรคเพื่อไทยสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนที่ปรารถนาการเปลี่ยนแปลงการเมืองจำนวนมาก แรงกดดันทางสังคมจึงก่อตัวขึ้นมาอย่างหนักหน่วง และทำให้เรื่องเงียบไประยะหนึ่ง จวบจนไม่กี่วันก่อน กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง(กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง 19 มิ.ย.) เรื่องนี้ก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง ช่วงแรกดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางที่ดี บรรดาผู้สนับสนุนของพรรคทั้งสองดูโล่งใจได้ในระดับหนึ่ง เมื่อแกนนำพรรคเพื่อไทยออกมากล่าวสอดคล้องในทิศทางเดียวกันว่า พรรคเพื่อไทยเสนอหลักการว่า พรรคที่ได้รับเสียงมากเป็นลำดับหนึ่งจะได้ที่นั่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพรรคลำดับสองจะได้ตำแหน่งรองประธานสภา 2 ตำแหน่ง ทว่าเพียงสองวันหลัง กกต. รับรองผลการเลือกตั้ง ในการสัมมนา ส.ส.ใหม่ของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า ตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.ของพรรคประมาณร้อยละ 90 มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน บ่งบอกว่าเครื่องจักรแห่งเกมอำนาจกำลังแสดงอิทธิฤทธิ์อีกครั้ง

 คำถามคือ เส้นทางการจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยกำลังถูกชักนำให้ไปสู่ทางตันหรือไม่ ในวันประชุมสภาผู้แทนฯ เพื่อเลือกประธานสภา จะมีการเสนอชื่อ ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยลงแข่งขันกับ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลหรือไม่ หากมีการเสนอและพรรคก้าวไกลไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร การจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยังมีความเป็นไปได้อีกหรือไม่ และวิกฤติการเมืองจะเกิดขึ้นหรือไม่ ติดตามตอนต่อไปครับ 


กำลังโหลดความคิดเห็น