xs
xsm
sm
md
lg

มาครง-นกรู้หรือม้าเมืองทรอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


เอ็มมานูเอล มาครง
ปรากฏข่าวครึกโครมผสมผสานความฉงนสนเท่ห์ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วที่มีข่าวจากหลายแหล่งว่า ปธน.มาครงของฝรั่งเศส ได้แสดงเจตจำนงจะขอเข้าร่วมประชุมสุดยอดประจำปีครั้งที่ 15 กับผู้นำทั้ง 5 ของกลุ่ม BRICS ซึ่งจะมีขึ้นระหว่าง 22-24 สิงหาคมนี้ ที่ประเทศแอฟริกาใต้

ได้รับการยืนยันจาก รมต.ต่างประเทศของฝรั่งเศส แคทเธอรีน โคลอนนา (Catherine Colonna) เมื่อวันจันทร์ที่ 19 นี้เอง ขณะที่เธอได้เข้าร่วมประชุมที่เมือง Pretoria ประเทศแอฟริกาใต้ และได้มีโอกาสได้พบหารือกับรมต.ต่างประเทศของแอฟริกาใต้ Grace Naledi Pandor

มีการยืนยันว่า ในวันที่ 3 มิถุนายน ได้มีการพูดโทรศัพท์ระหว่างปธน.มาครงและปธน.Cyril Ramaphosa แห่งแอฟริกาใต้ ซึ่งมีเนื้อหาหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ การที่ปธน.มาครงจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับอินเดีย จัดการประชุมสุดยอดงานช้างที่ปารีส เรื่อง The New Global Financial Pacts ช่วง 22-23 มิถุนายนนี้ เพื่อปูทางสำหรับสถาปัตยกรรมทางการเงินของโลกในแบบใหม่ หลังจากโลกได้ใช้สถาปัตยกรรมปัจจุบันมาราว 70 ปี โดยมีไอเอ็มเอฟ, ธนาคารโลก และดอลลาร์เป็นเสาหลักมาตลอด

โอกาสนี้เอง ปธน.มาครงได้เอ่ยปากว่า ตนเองอยากเข้าร่วมประชุมสุดยอด BRICS ด้วย ซึ่งฝ่ายสำนักปธน.ของแอฟริกาใต้ ก็ไม่ยอมยืนยันในคำกล่าวของปธน.มาครงแต่อย่างใด

การประชุม BRICS ในปีนี้ ดูจะเป็นที่จับตาในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศพอควร เพราะน่าจะเป็นปีแรกที่จะมีเครื่องหมาย+ไปเติมหน้าคำว่า BRICS คือจะเป็น BRICS+ (อ่านว่า BRICS PIUS) นั่นหมายถึงจะมีการเพิ่มสมาชิกใหม่เข้ามาร่วมกับ 5 ประเทศสมาชิกปัจจุบัน เนื่องจากมีหลายประเทศได้แสดงเจตจำนงจะขอเข้าเป็นทั้ง Dialogue Partners หรือที่จะเข้าเป็น Full Members ด้วย เช่น อาร์เจนตินา, อียิปต์, ยูเออี, ซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น

สำหรับข่าวเรื่องปธน.มาครงจะขอเข้าร่วมประชุมสุดยอดกับผู้นำทั้ง 5 ของ BRICS นั้น; จะเข้ามาร่วมประชุมในฐานะแขกพิเศษของประเทศ เจ้าภาพที่จัดคือ ประเทศแอฟริกาใต้ ยังไม่ได้เข้าร่วมในฐานะสมาชิกใหม่ เพราะฝรั่งเศสยังไม่ได้แสดงเจตจำนงสมัครเข้าเป็นสมาชิก แต่ก็มีบางกระแสข่าวว่า ฝรั่งเศสก็ดูสนใจจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ BRICS+ด้วย เรื่องนี้คงต้องรอติดตามกันต่อไป

แต่แค่คำแสดงความจำนงจะเข้าร่วมเป็นแขกรับเชิญพิเศษ ก็ทำเอาวงการ BRICS เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ก่อนอื่นคือ ทางเจ้าภาพเองก็ไม่ออกมาแถลงใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธต่อข่าว

เพราะเจ้าภาพเองก็มีปัญหาหนักใจเรื่องอื่นอยู่ด้วย นั่นก็คือ หมายจับจาก ICC (ศาลอาญาระหว่างประเทศ) ที่ต้องการให้ประเทศภาคีของ ICC ทำการจับกุมปธน.ปูติน ตามข้อหาว่า ปูตินได้กวาดต้อนเด็กและเยาวชนชาวยูเครน (ที่พ่อแม่ตายในสงคราม) เอากลับไปเลี้ยงดูที่รัสเซีย โดยเด็กไม่ได้สมัครใจ (และรัฐบาลยูเครนไม่เห็นด้วย) และอาจสอนให้เด็กเหล่านี้เกลียดชังยูเครน (ซึ่งเป็นแผ่นดินเกิดของพวกเขาเอง)

ปธน.รามาโฟซา ถึงกับเปรยว่า อาจย้ายสถานที่ไปจัดประชุมสุดยอด (โดยตัวเขายังเป็นประธานการประชุม) ที่ประเทศจีน (ที่ไม่ได้เป็นภาคีของ ICC) จะปลอดภัยและราบรื่นกว่า…เดิมเขาบอกว่า พร้อมจะถอนตัวจากการเป็นภาคี ICC ด้วยซ้ำ เพราะจะไม่ยอมจับปธน.ปูตินส่งให้ ICC แน่…แต่ต่อมา ก็อธิบายว่า ถ้าต้องเอาเรื่องเข้าสภา เพื่อออกเป็นกฎหมายยกเว้นจะไม่จับตามหมายของ ICC (กรณีเป็นผู้นำประเทศที่มาร่วมประชุม)…เขาเกรงว่า ขบวนการในสภาจะกินเวลานานจนไม่ทันกับตารางการประชุมสุดยอดที่กำลังใกล้เข้ามา

วาระการประชุมที่สำคัญของ BRICS ครั้งที่ 15 (ปีที่ 15 ที่จัด) จะมีเรื่องการออกสกุลเงินใหม่ที่จะใช้ร่วมกันในหมู่สมาชิกของ BRICS เพราะขณะนี้ได้มีการจัดตั้ง BRICS BANK แล้ว ชื่อ New Development Bank ซึ่งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ และมีอดีตปธน.ของบราซิลคือ ดิลมา รุสเซฟฟ์ เป็นประธาน ซึ่งจะทำหน้าที่ปล่อยกู้ฉุกเฉินแก่สมาชิกของ BRICS รวมทั้งภาคีที่เข้าร่วมด้วย

เงินสกุลใหม่นี้ จะใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งด้านการค้า, การลงทุนในมวลหมู่สมาชิกของ BRICS+ ซึ่งเป็นการลดการใช้เงินสกุลดอลลาร์, ยูโร หรือเยนไปโดยปริยาย

ปฏิกิริยาจาก 5 ประเทศสมาชิก BRICS ต่อคำขอของมาครงมีต่างๆ กัน จากรัสเซียนั้น มีการตั้งคำถามจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย นำโดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศว่า ขอให้ปธน.มาครงอธิบายถึงเจตนาว่า ทำไมอยากเข้าร่วมประชุม และเธอถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า การประชุมคงจะอึดอัด เพราะประเทศ BRICS นั้น เป็นประเทศ Global South ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ส่วนใหญ่เคยถูกเอารัดเอาเปรียบจากเหล่าเจ้าอาณานิคมตะวันตกมาตลอดเป็นร้อยๆ ปี เธอมองว่า บรรยากาศการประชุมคงไม่ค่อยยินดีต้อนรับผู้นำฝรั่งเศสที่อยู่ในกลุ่ม G7 ที่เป็น Global North ที่ร่ำรวย ซึ่งอาจมาสร้างความแตกแยกในหมู่ BRICS ก็เป็นได้…หรือจะเป็นม้าไม้เมืองทรอย (Trojan Horse) ที่เลื่องชื่อในอดีตกาล และเป็นสายสืบให้กับ G7 นั่นเอง

ฝ่ายจีน โดยบทบรรณาธิการของ Global Times เป็นต้น ได้มองว่า ตามธรรมเนียมของ BRICS นั้น เจ้าภาพสามารถเชิญผู้นำประเทศอื่นๆ มาร่วมประชุมได้เสมอ ซึ่งปีนี้ปธน.รามาโฟซา ก็เตรียมเชิญผู้นำแอฟริกาจำนวนหนึ่งมาเข้าร่วมด้วย และการพบพูดจากันก็ดีกว่าทำสงครามกัน

ด้านปธน.มาครง ได้ออกมาอธิบายว่า อยากได้โอกาสเข้าพูดคุยแลกเปลี่ยนโดยตรงกับผู้นำของ BRICS กับสถานการณ์โลกที่กำลังมีหลายขั้ว โดยเฉพาะกับปัญหาของโลกที่เผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกร้อน, หนี้สินประเทศยากจน, สงครามยูเครน, ความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งน่าจะหันหน้ามาหาทางออกร่วมกัน โดยเขาจะเป็นเสมือนหนึ่งสะพานเชื่อมโลกฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือนั่นเอง...

แต่แน่นอนว่า ประเทศในกลุ่ม BRICS นี้ มีทรัพยากรมั่งคั่งรวมทั้งพลังงาน ซึ่งถ้าฝรั่งเศสใกล้ชิดด้วยก็จะได้รับประโยชน์โดยตรง

ที่สำคัญคือ ปธน.มาครงดูจะตระหนักถึงโลกที่กำลังเปลี่ยนไป จากขั้วเดี่ยวที่สหรัฐฯ บงการควบคุมอยู่ เกิดเป็นหลายขั้วมากขึ้น ที่ฝรั่งเศสอาจไม่ต้องการตกรถไฟขบวนใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น