ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีครูสาวรับงานร้องเพลงกลางคืน ก่อนถูกทางสถาบันต้นสังกัดบีบให้ลาออก เรื่องของความเหมาะสมย่อมถูกตั้งถามเป็นธรรมดา เพราะวิชาชีพถูกวางตำแหน่งเป็น “แม่พิมพ์ของชาติ” กลายเป็นเรื่องฝังหัวคาดหวังว่าครูจะต้องเป็นแบบอย่างดีงามตามกรอบสังคม แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือรายได้จากอาชีพครูไม่ได้มากมายสักเท่าไหร่ ทั้งหนี้สินครูก็เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐที่เร่งจัดการ การหารายได้เสริมนอกเวลาราชการจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก
นับเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างของการลาออกจากราชการครู ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจหลังจาก “ครูเจน” ครูสาวออกมาตัดพ้อผ่าน Tiktok ความว่าตนรับงานร้องเพลงกลางคืน ถูกโรงเรียนบีบให้ออก เพราะผิดจรรณยาบรรณ
ในประเด็นนี้ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้แสดงความคิดเห็นผ่านทางทวิตเตอร์ ความว่า “การรับจ้างร้องเพลงตามร้านอาหาร เป็นอาชีพสุจริตไม่ผิดกฎหมายใดๆ ผมขอแนะนำด้วยความปรารถนาดีว่า ผู้อำนวยการควรระงับการให้ออกโดยทันที”
กระทั่ง ทางต้นอดีตสถาบันต้นสังกัดของครูสาวตั้งโต๊ะแถลงข่าว โดย นางสมพร กิติสาธร ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาผดุงประชายะลา ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง และไม่เคยปิดกั้น งานหลัก คืออาชีพครู งานรองคือการหารายได้พิเศษ เป็นเรื่องส่วนตัวแต่ต้องเข้าใจว่าการตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 จชต. นักศึกษามี 700 คน นับถือศาสนาพุทธ 80 คน นอกนั้นนับถือศาสนาอิสลาม บางเรื่องเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีนักศึกษาที่มาร้องเรียนพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ครูดื่มเหล้า ชนแก้ว ทางวิทยาลัยก็ได้ว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งอาจทำให้เจ้าตัวรู้สึกว่าโดนบีบโดนติง
สำหรับ ครูเจน ปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่งานธุรการ รับผิดชอบในส่วนของเอกสารและกิจกรรม ได้รับอัตรา 16,435 บาทต่อเดือน ซึ่งทางวิทยาลัยฯ เข้าใจว่ารายได้อาจจะไม่เพียงพอ ต้องหาอาชีพเสริม กล่าวโดยสรุปประเด็นสำคัญที่ทางวิทยาลัยฯ พยายามสื่อสารกับสังคมว่า สนับสนุนครูในการหารายได้จากอาชีพเสริม ซึ่งเป็นความรู้สึกกดดันของตัวครูเอง หลังจากโดนตักเตือนจนนำสู่การลาออกโดยสมัครใจ
อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบว่าอัตราเงินเดือนอาชีพครูไม่ได้สูงนัก อีกทั้งครูไทยยังเผชิญ “วิกฤตหนี้ครู” ซึ่งรัฐบาลมีความพยายามแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้ครู พบว่ามีครูกว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือประมาณ 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 8.9 แสนล้านบาท รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท และ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารอาคาร, สงเคราะห์ รวมทั้ง สถาบันการเงินอื่นๆ
ภาพรวมการแก้หนี้ครูในปีที่ผ่านมามีการดำเนินการ ดังนี้ 1. ลดดอกเบี้ยเงินกู้ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ลงเฉลี่ยร้อยละ 0.3 ลูกหนี้ได้รับประโยชน์กว่า 4 แสนราย รวมภาระหนี้สินที่ลดลงกว่า 2.2 พันล้านบาท 2.ปรับโครงสร้างหนี้ โดยการรวมหนี้มาไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ หรือสถาบันการเงิน ที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า เพื่อให้ครูมียอดชําระต่อเดือนน้อยลง และเหลือ เงินเดือนหลังหักชําระไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 และ 3.กําหนดให้สามารถหักเงินสวัสดิการ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค) ในกลุ่มแรก (ร้อยละ 70 ของเงินเดือน) เพื่อให้สามารถใช้เงิน ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 3.6 แสนราย ที่ใช้ ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ส่งผลให้ผลให้ครูไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อทำประกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 2.3 พันล้านบาท
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แม้รัฐมีความพยายามแก้ปัญหาหนี้ครูอย่างเต็มกำลัง แต่ครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนหลายแสนรายมีหนี้สินพอกพูนเป็นภาระหนักอึ้ง บางรายถึงขั้นรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ
คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดทำรายงานข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูบำนาญต่อวิกฤติหนี้ในปัจจุบัน เผยแพร่เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยรายงานฉบับนี้ได้นำเสนอปัญหาเชิงโครงสร้างของหนี้ครู
กล่าวสำหรับปัญหาเชิงโครงสร้างหนี้ครู ที่ผ่านมาเจ้าหนี้แข่งขันกันให้กู้ยืมโดยไม่ควบคุมยอดหนี้ ซึ่งส่งผลให้ครูกู้ยืมจนเกินศักยภาพที่จะจ่ายหนี้คืนได้จากเงินเดือน ทำให้ครูเผชิญปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว มีการปล่อยสินเชื่อของเจ้าหนี้นับตั้งแต่ครูเริ่มทำงานวันแรก เจ้าหนี้พร้อมปล่อยเงินกู้ให้ครูทันทีจำนวนสูงนับล้านบาทได้ โดยไม่ต้องพิจารณาศักยภาพหรือรายได้เลย หลายแห่งไม่มีการกำหนดวงเงินสูงสุด ขณะที่กำหนดให้ต้องมีผู้ค้ำประกัน 3 - 4 คน หรือบางกรณีนับ 10 คน เป็นการโอนความเสี่ยง และผูกเงื่อนไขอย่างไม่เป็นธรรมให้ต้องรับผิดชอบเป็นลูกหนี้ร่วม
อ้างอิงข้อมูลการสำรวจวงเงินที่ให้กู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 89 แห่ง พบว่าค่าเฉลี่ยวงเงินกู้ต่อรายสูงถึง 4 ล้านบาท มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูถึง 9 แห่ง ที่ไม่มีการกำหนดเพดานสูงสุดของเงินที่ให้กู้ มีสหกรณ์ 19 แห่งที่มีวงเงินกู้สูงสุดที่ 5 ล้านบาท ขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินก็พร้อมที่จะให้สินเชื่อสวัสดิการ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อพัฒนาชีวิตครู สินเชื่อ ช.พ.ค. ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเจ้าหนี้ต่างหมายปองสินเชื่อสวัสดิการที่หักเงินเดือน เนื่องจากเห็นว่าเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ (low default risks) นายจ้างหรือกระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้ทำหน้าที่ หักเงินเดือนเพื่อจ่ายหนี้แก่เจ้าหนี้เป็นประจำทุกเดือน (collection) และสินเชื่อหักเงินเดือนหน้าซองของครู ถือเป็นสินเชื่อหักเงินเดือน กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
นอกจากนี้ การที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูได้รับสิทธิการตัดเงินเดือนก่อนเป็นกลุ่มแรก ประกอบกับเมื่อไม่มีการควบคุมยอดหนี้ที่ครูจะสามารถกู้ได้ ทำให้การพิจารณาสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในช่วงที่ผ่านมานั้น มีการอนุมัติให้กู้จะค่อนข้างง่าย โดยที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูไม่ได้สนใจว่าครูจะมีการกู้ยืมกับสถาบันการเงินอยู่ก่อนหน้าแล้วจำนวนเท่าใด ขณะที่เจ้าหนี้รายอื่นก็ไม่ทราบว่าสหกรณ์ปล่อยกู้ให้ครูหรือไม่เป็นจำนวนเท่าไร เพราะปัจจุบันสหกรณ์ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร พอจะสรุปได้ว่าการที่ครูมีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นผลมาจากเจ้าหนี้ไม่ได้สนใจพิจารณาการให้กู้ยืมนั้นสอดคล้องกับศักยภาพ
ปัญหาต่อมาคือเงินเดือนหลังจากจ่ายชำระหนี้แล้วเหลือไม่เพียงพอที่ครูจะใช้ดำรงชีพ ทั้งนี้ มีการกำหนดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 หรือเกณฑ์ residual income 30% กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของครู ว่า หลังจากจ่ายหนี้แก่เจ้าหนี้สินเชื่อสวัสดิการและหนี้สหกรณ์ทุกรายแล้ว จะต้องมีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% เพื่อช่วยต่อรองกับเจ้าหนี้ไม่ให้ตัดเงินเดือนชำระหนี้จนหมด เพื่อให้ครูมีเงินเดือนเหลือสำหรับใช้ดำรงชีพ และป้องกันไม่ให้ครูต้องกู้ยืมจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว
แต่ในความเป็นจริงครูจำนวนมากต้องจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้รวมทุกรายแล้วเหลือไม่ถึงร้อยละ 30 ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายดำรงชีพ ส่งผลให้ครูต้องไปพึ่งพาการใช้บัตรเครดิต และเป็นหนี้นอกระบบ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่นำครูเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของปัญหาหนี้สิน
นอกจากนี้ เรื่องของลำดับการตัดชำระหนี้ ที่กำหนดให้เงินต้นอยู่ลำดับสุดท้าย ทำให้เงินที่ครูชำระหนี้ถูกนำไปตัดชำระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมก่อนแต่ไม่ตัดเงินต้น แม้จ่ายมาตลอดแต่ก็ยังอยู่วังวนของปัญหาหนี้จนสุดท้ายของชีวิต เป็นต้น
ประเด็นที่ต้องเร่งจัดการคือ การกำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมไม่ให้ครูกู้ยืมเงินเกินศักยภาพ โดยบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบควบคุมการกู้ยืมของครูที่จะเกิดขึ้น โดยการกู้ยืมจะต้องไม่เกินศักยภาพจนสร้างความเดือดร้อนในวงกว้างเหมือนในอดีตผ่านมา ขณะที่สินเชื่อสวัสดิการที่นายจ้างจะอำนวยความสะดวกหักเงินเดือน ณ ที่จ่ายให้เจ้าหนี้ จะต้องเป็นสินเชื่อสวัสดิการที่นายจ้างจะต้องตรวจสอบแล้วเท่านั้นว่า อยู่ในศักยภาพที่ผู้กู้จะสามารถชำระหนี้คืนด้วยเงินเดือน
การจัดให้มีสินเชื่อสวัสดิการหักเงินเดือน กระทรวงศึกษาธิการต้องกำหนดเป็นเกณฑ์คุณลักษณะจำเป็นของเจ้าหนี้ที่จะมาปล่อยกู้ว่า จำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร เพราะไม่เช่นนั้นแทบที่จะเป็นไป ไม่ได้เลยที่จะทราบว่าการกู้ยืมของข้าราชการเป็นการกู้ยืมที่อยู่ในศักยภาพและวิสัยที่ผู้จะชำระคืนได้หรือไม่ อย่างไร และการกำหนดให้ residual income เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยต้องมี residual income 30% และต้องไม่น้อยกว่า 9,000 บาท
นอกจากนี้ เรื่องทักษะทางเงินเป็นสิ่งสำคัญที่ครูต้องมีการเรียนรู้ ต้องติดอาวุธให้ความรู้และทักษะทางการเงินแก่คุณครูโดยเฉพาะครูรุ่นใหม่ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของครู รวมทั้ง ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยในอนาคต รวมทั้ง มาตรการเตรียมความพร้อมให้ครูที่จะเกษียณอายุ กระทรวงศึกษาธิการต้องคิดกลไกเพิ่มเติมให้ครูหลังเกษียณเป็นไปได้อย่างราบรื่น
ทั้งหมดเป็นเพียงแนวทางส่วนหนึ่งในรายงานข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูบำนาญต่อวิกฤติหนี้ในปัจจุบัน โดยคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งภาครัฐโดยกระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่พิจารณาทางออกที่ดีที่สุด เพื่อนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางแก้วิกฤตหนี้ครู