xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ทัวร์ทิพย์” คัมแบ็ก ล็อกเป้า “ไทยเที่ยวนอก” ชำแหละ “โฮลเซล” ตัวการใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับตั้งแต่ต้นปี 2566 หลังการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว มีผู้เสียหายจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ “ทัวร์ทิพย์”  ถูกหลอกขายแพกเกจท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดคนไทยเที่ยวนอก (เอาต์บาวน์) สุดท้ายเดินทางไม่ได้สูญเงินรวมมูลค่ารวมกว่าหลายล้านบาท อีกทั้งยังตกเป็นข่าวใหญ่อย่างต่อเนื่องสั่นสะเทือนความเชื่อมั่นธุรกิจนำเที่ยว

นอกจากนี้ ในแวดวงธุรกิจทัวร์นอกกำลังเผชิญปัญหา  “บริษัททัวร์นำเที่ยวรายใหญ่”  หรือเรียกว่า  “โฮลเซล”  เททริปทิ้งลูกทัวร์ จนสร้างความเสียแก่  “ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวรายย่อย”  หรือเรียกว่า  “รีเทล”  และส่งผลกระทบโดยต่อประชาชนผู้ซื้อทัวร์จากรีเทล โดยที่ “โฮลเซล” ลอยตัว ส่วนความรับผิดชอบตกอยู่กับ “รีเทล” ไปเต็มๆ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนมีการร้องเรียนไปยัง  “กรมการท่องเที่ยว”  เรียกว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่กลุ่มธุรกิจทัวร์ต้องทบทวนรูปแบบการทำธุรกิจกันยกใหญ่

กรณีล่าสุด เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตำรวจ สภ.เมืองสุราษฎร์ธานี แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาฉ้อโกงประชาชน ด้วยการหลอกซื้อแพคเกจทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศ มูลค่าความเสียหายกว่า 27 ล้านบาท จับกุมผู้ต้องหา 6 คน ในฐานความผิดร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง , นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยเป็นการกระทำต่อประชาชน โดยมีผู้เสียหาย 27 ราย ซื้อแพคเกจท่องเที่ยวต่างประเทศจากบริษัททัวร์แห่งนี้ โดยอ้างว่าให้บริการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จัดแพคเกจกรุ๊ปทัวร์ไปท่องเที่ยวในต่างประเทศโซนต่างๆ หลายประเทศในราคาถูก โดยอ้างว่าได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

หรือย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “กลุ่มลูกทัวร์” ผู้เสียหาย กว่า 20 คน เข้าร้องพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ณ ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรณีถูกบริษัททัวร์ย่านวังทองหลาง เทลูกทัวร์ทริปเที่ยวออสเตรีย สโลวีเนีย ระหว่างวันที่ 18 - 27 พ.ค. 2566 หลังโอนเงินไปครบจำนวน รายละกว่า 2 แสนบาท มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท

ผู้เสียหายหลายคนเป็นผู้สูงอายุ ตั้งใจเก็บเงิน และนำเงินที่ได้จากการเกษียณ เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยว บางคนได้รับคำแนะนำจากกลุ่มจึงเกิดความมั่นใจซื้อทัวร์กับบริษัทแห่งนี้ รวมทั้ง สื่อออนไลน์เฟซบุ๊กของบริษัททัวร์แห่งนี้สร้างความน่าเชื่อถือว่าได้ไปท่องเที่ยวจริงผู้ติดตามเพจเฟซบุ๊กกว่า 1 หมื่นคน ทว่า เมื่อถึงวันเดินทางไม่สามารถเดินทางได้ตามกำหนด จึงมีการรวมตัวรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับบริษัททัวร์แห่งนี้

นอกจากนี้ ยังมีผู้เสียหายเปิดเผยว่า ซื้อทัวร์จากบริษัทดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 แต่เดินทางไม่ได้ไป หลังจากนั้นได้แจ้งเรื่องร้องเรียนไปที่ “กรมการท่องเที่ยว” เพื่อให้ดำเนินการ และ “สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)” เพื่อเรียกคู่กรณีมาเจรจาไกล่เกลี่ย โดยทางบริษัทขอผ่อนคืนแต่ชดใช้เพียง 2 เดือน หลังจากนั้นก็ไม่จ่ายและไม่สามารถติดต่อได้

กรณี “ทัวร์ทิพย์” กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจทัวร์ต่างประเทศ ไม่เฉพาะประชาชนกลุ่มลูกทัวร์ที่ได้รับผลกระทบความความเสียหาย เพราะกลุ่มคนทำธุรกิจทัวร์ “บริษัทนำเที่ยวรายย่อย” กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ ซึ่งในประเด็นนี้  นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์  ทนายความ และประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้ออกมาเปิดเผยว่าหลังจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการนำเที่ยว หรือ บริษัททัวร์รายย่อย จำนวนหลายบริษัท ว่าได้ซื้อทัวร์กับผู้ประกอบการรายใหญ่ชื่อดังแห่งหนึ่งเพื่อจะเอาไปจำหน่ายต่อให้กับนักท่องเที่ยวรายย่อย แต่เมื่อใกล้ถึงกำหนดกลับถูกบริษัททัวร์รายใหญ่ดังกล่าว ประกาศยกเลิกเที่ยวบิน ยกเลิกทัวร์ โดยไม่มีการจ่ายเงินคืนให้ จนบริษัททัวร์รายย่อยเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อน เพราะต้องยอมควักเงินทุนจ่ายคืนให้กับผู้บริโภคหรือลูกทัวร์เอง ซึ่งการกระทำแบบนี้เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน

โดยได้พากลุ่มบริษัทนำเที่ยวรายย่อยผู้เสียหาย เข้าร้องกองปราบให้ช่วยตรวจสอบพฤติกรรมของบริษัททัวร์รายใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำลักษณะดักล่าว อันส่งผลกกกระทบต่อบริษัทนำเที่ยวรายย่อย และสร้างความเสียหายแก่นักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ในอนาคต

ย้อนกลับไปช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566  นายทินกร วัฒนกุลเทพ  ตัวแทนจากบริษัทโซร่า แทรเวล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสียหายบริษัทนำเที่ยวรายย่อยจำนวนกว่า 10 แห่ง ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง หลังมีพฤติกรรมหลอกขายทัวร์พาไปเที่ยวญี่ปุ่น แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายกลับไม่สามารถเดินทางได้ตามที่กล่าวอ้าง ก่อนจะบริษัทดังกล่าวจะเชิดเงินหนีไปกว่า 14 ล้านบาท


ก่อนอื่นต้องเข้าใจรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทนำเที่ยวรายย่อย กล่าวคือพวกเขามีนักท่องเที่ยวอยู่ในมือจำนวนหนึ่งที่ต้องการไปเที่ยวต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น แต่เนื่องจากบริษัทฯ มีงบน้อยไม่สามารถพาไปเองได้ จึงไปติดต่อบริษัททัวร์แห่งนี้ที่จัดโฮเซลโปรแกรมต่างๆ จำนวนมาก อ้างว่ามีตั๋วรวมทั้งโรมแรมที่พักในราคาพิเศษ เพื่อซื้อมาจำหน่ายให้กับลูกค้าที่ต้องการ

ปัญหาคือเมื่อใกล้ถึงวันเดินทางบริษัทที่จัดโฮเซลกลับแจ้งยกเลิกกระทันหันอ้างเหตุผลต่างๆ นานา รวมถึงไม่มีการโอนเงินกลับคืน สร้างความเสียหายให้กับบริษัทนำเที่ยวรายย่อยเป็นอย่างมาก เพราะต้องจัดทัวร์ขึ้นมาเองใหม่เพื่อแก้ปัญหาให้ลูกทัวร์ได้เดินทางตามที่ซื้อเอาไว้ โดยจำเป็นต้องซื้อตั๋วเครื่องบินและโรงแรมที่พักในราคาที่แพงขึ้น เป็นต้น

ขณะที่ผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวรายย่อย ไปแจ้งเรื่องร้องเรียนต่อ “กรมการท่องเที่ยว” เพื่อให้ถอนใบประกอบการ แต่ทางกรมฯ ปฏิเสธไม่รับเรื่อง อ้างว่าเป็นความเสียหายทางแพ่ง แนะนำให้ไปฟ้องร้องกันเอง จึงมีการเข้าแจ้งความดำเนิคดีดังกล่าว

กระทั่ง เป็นกระแสข่าวครึกโครมกลายประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ นำสู่ความคืบหน้าล่าสุด กรมการท่องเที่ยว โดยนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ได้ดำเนินการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการของบริษัทที่ก่อให้เกิดความเสียหาย รวมทั้ง ตรวจสอบเอกสารในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนออกคำสั่งให้เข้าพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย จนนำไปสู่การออกคำสั่งพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวของบริษัททัวร์รายดังกล่าว ซึ่งบริษัททัวร์ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว จะมีผลให้กรรมการผู้จัดการบริษัทไม่สามารถประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้อีกเป็นเวลา 5 ปี

ทั้งนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2559 ในการคุ้มครองนักท่องเที่ยวให้ได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้รับความคุ้มค่าจากรายการ นำเที่ยวในราคาที่เป็นธรรม และป้องกันการเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัญหาในลักษณะนี้ต่อเนื่องตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน เพราะภาคการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญของการใช้ชีวิต ทำให้มีบริษัทประกอบธุรกิจทัวร์นำเที่ยวเพิ่มขึ้น

 นายวิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์  นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีการที่มีบริษัททัวร์นำเที่ยวรายใหญ่ (โฮลเซล) ถูกผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวรายย่อย (รีเทล) ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงกรมการท่องเที่ยว เกี่ยวกับปัญหาการทิ้งลูกทัวร์ และการไม่ทำตามแพคเกจทัวร์ที่จำหน่ายไว้ล่วงหน้า ทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายต่อทั้งรีเทลและลูกค้า โดยอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยรายชื่อของบริษัททัวร์ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวของบริษัททัวร์ รวมถึงรายชื่อของผู้กระทำความผิด เพื่อให้ผู้ประกอบการรีเทลและลูกค้า สามารถป้องกันตัวเองได้ในเบื้องต้น

มองว่าสาเหตุของปัญหาบริษัททัวร์ทิ้งลูกค้าและรีเทลรายย่อยมาจากหลายปัจจัย ทั้งปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัท พฤติกรรมทางการเงินของผู้บริหารที่อาจนำเงินในธุรกิจไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งการทำทัวร์แบบโฮลเซลรายใหญ่ต้องมีเงินทุนที่หนามากพอจำนวนหนึ่ง เพื่อให้สามารถสำรองจ่ายได้ก่อน ทั้งค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรมที่พัก ประเด็นสำคัญ คือ ผลกระทบในตอนนี้อยู่กับรีเทลรายย่อยเป็นหลักมากกว่า เพราะมักเป็นผู้ถูกดำเนินคดี เนื่องจากเป็นตัวแทนการขาย ลูกค้ามาซื้อผ่านรีเทล ทั้งที่ผู้ผิดนัดเป็นโฮลเซลส่วนใหญ่

นายวิโรจน์ ยอมรับว่าการป้องกันทำได้ยากเพราะเป็นเรื่องของการทำธุรกิจ แต่กลไกทางกฎหมายโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดขอบข่ายของการเอาผิดที่ปิดช่องโหว่ได้ โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับโฮลเซล ไม่ใช่เอาผิดกับรีเทลรายย่อยเพียงอย่างเดียว เพราะรีเทลถือเป็นตัวแทนผู้จัดจำหน่าย แต่ผู้ทำธุรกิจจริงๆ คือโฮลเซล

หรือการดำเนินการในเรื่องความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตมากขึ้น อาทิ การเพิ่มวงเงินประกันสูงกว่าเดิม แต่ก็มีข้อจำกัดในธุรกิจเอสเอ็มอี ที่อาจไม่สามารถเข้ามาเริ่มต้นทำธุรกิจได้ หากวงเงินที่กำหนดไว้สูงเกินไป รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขหรือขั้นตอนในการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นทั้งหมด หากเป็นผู้ที่มีประวัติฉ้อโกงติดตัวก็ไม่สมควรกลับเข้ามาทำธุรกิจใหม่อีกครั้ง

 นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช  อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ระบุว่าขอให้บริษัททัวร์ปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อตกลงหรือโฆษณาที่ชี้ชวนไว้กับนักท่องเที่ยว ช่วยกันปกป้องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้มีภาพลักษณ์ที่ดี มีความปลอดภัย หากบริษัททัวร์รายใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กรมการท่องเที่ยวจะดำเนินการตามกฎหมายขั้นสูงสุดต่อไป

พร้อมย้ำเตือนนักท่องเที่ยวที่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวกับบริษัททัวร์ ขอให้เลือกซื้อทัวร์ที่มีคุณภาพ มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ซื้อทัวร์ที่ราคาต่ำกว่าทุนหรือราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับโปรแกรมนำเที่ยวใกล้เคียงกัน ไม่หลงเชื่อการรับจองโปรแกรมทัวร์ข้ามปีที่ราคาถูกมากเกินไป หรือมีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มหลังจองไปแล้ว และต้องจ่ายมัดจำเต็มจำนวน เพราะเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงและไม่สามารถออกทัวร์ได้จริง

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นแกนสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่รัฐตระหนักให้ความสำคัญ โดยกรณีประชาชนซื้อทัวร์จากบริษัทนำเที่ยว แต่เมื่อถึงเวลาไม่สามารถติดต่อบริษัททัวร์ และไม่สามารถเดินทางได้ ทำให้ประชาชนสูญเสียเงินนั้น ฟากรัฐบาลโดย  น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาย้ำเตือนสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนโดยแนะนำวิธีตรวจสอบสถานะของบริษัททัวร์นำเที่ยวได้ด้วยตนเองผ่านออนไลน์ที่เว็บไซต์กรมการท่องเที่ยว https://www.dot.go.th เพื่อตรวจสอบใบอนุญาตก่อนตัดสินใจซื้อทัวร์ท่องเที่ยว และป้องกันการถูกหลอกจากทัวร์เถื่อน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่เปิดธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต

 หลังบริษัททัวร์ในประเทศไทยกลับมาเปิดกิจการรับการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว กำลังเกิดสถานการณ์ปัญหาหลอกขายแพคเกจท่องเที่ยวต่างประเทศ เมื่อ “ทัวร์ทิพย์” ล็อกเป้า “ไทยเที่ยวนอก” ไม่เพียงเป็นโจทย์ท้าทายภาครัฐโดย “กรมการท่องเที่ยว” ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง ยังเป็นโจทย์ใหญ่ของภาคเอกชนผู้ประกอบการนำเที่ยวที่ต้องหาทางออกร่วมกัน 



กำลังโหลดความคิดเห็น