ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ข้อมูลล่าสุดรายงานของ NielsenIQ ระบุว่า Sergey Chetvertakov นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานหลักของ S&P Global Commodity Insights เผยว่าปริมาณสต็อกโกโก้ทั่วโลกลดลงเรื่อยๆ จากผลผลิตที่ลดลง ซึ่งมีแนวโน้มจะลดลงอีกจากการมาของปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Nino) ซึ่งจะทำให้อากาศแล้งขึ้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่าระดับฝนตกอาจต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นที่ตั้งของทั้งสาธารณรัฐโกตดิวัวร์ และประเทศกานา แหล่งผลิตโกโก้ 60% ของโลก นั่นทำให้ตลาดโกโก้อาจได้รับผลกระทบขาดดุลในฤดูกาลถัดไป
ส่งผลให้ตลาดโกโก้กำลังประสบปัญหาราคาที่พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โกโก้ปรับตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี และคาดการณ์ว่าราคาโกโก้มีโอกาสจะขึ้นไปสูงถึง 3,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วงปลายปี 2567 และจะส่งผลให้ราคาช็อกโกแลตพุ่งสูงขึ้นไปอีก เมื่อนำไปประกอบกับค่าต้นทุนอื่นๆ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อาทิ ค่าพลังงานในการขนส่ง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยประเภทของช็อกโกแลตที่มีแนวโน้มจะราคาพุ่งมากที่สุดก็คือ ดาร์กช็อกโกแลต เพราะมีสัดส่วนของโกโก้สูงกว่าช็อกโกแลตชนิดอื่นๆ
น่าติดตามว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อตลาดโกโก้ประเทศไทยอย่างไร ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา “โกโก้” ถูกจับตาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย ด้วยเมล็ดสามารถนำไปแปรรูปได้ รองรับในหลากอุตสาหกรรมทั้งอาหารและความงาม แต่ปีที่ผ่านมากลับมีข่าวไม่สู้ดีนักว่าเกษตรกรไทยถูกหลอกขายต้นพันธุ์โกโก้ ครั้นผลผลิตโกโก้ออกแล้วขายไม่ได้ เมล็ดแห้งไม่มีแหล่งรองรับ
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จัดให้โกโก้เป็นสินค้าเศรษฐกิจที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแผนส่งเสริมพัฒนาการผลิตและการตลาด ให้เป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดโลกสูง ส่งออกยุโรป ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ อีกทั้ง เป็นพืชทางเลือกชนิดหนึ่งที่สามารถปลูกเป็นพืชทดแทนและเป็นพืชแซมในสวนผสม เป็นพืชที่ดูแลง่าย เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง และให้ผลผลิตสูง
ปี 2563 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายนโยบายอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และพืชแห่งอนาคต (Future Crop) โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคเกษตรกร พร้อมกับกำหนดให้ “โกโก้เป็นหนึ่งในพืชแห่งอนาคต” มีการนำร่องโดยการส่งเสริมการผลิตโกโก้ และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 เพื่อคุ้มครองเรื่องการค้าที่เป็นธรรมระหว่างเกษตรกร และภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมการแปรรูป การวิจัยพัฒนา และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่านศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) เช่น อาหาร อาหารเสริม เครืองสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และอื่นๆ
หนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาสู่พืชแห่งอนาคตพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่มองว่าโกโก้เป็นโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งมีลงทุนครั้งเดียวอย่างโกโก้ที่มีอายุยาวถึง 60 ปี โดยไม่ต้องใช้แรงงานมาก และผลผลิตออกทุกเดือน
รวมทั้งมอบนโยบายกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ส่งเสริมปลูกโกโก้ เนื่องจากจะมีสวนยางที่มีหมดอายุประมาณ 200,000 ไร่ต่อปี เพื่อเป็นการทดแทนการนำเข้า มีเป้าหมายที่จะผลักดันประเทศไทยเป็น HUB โกโก้ และช็อกโกแลตแห่งอาเซียน รวมทั้ง มีการทำเกษตรกรพันธสัญญากับบริษัทโกโก้
การประชาสัมพันธ์ของรัฐทำให้โกโก้เป็นพืชผลที่เกษตรกรให้ความสนใจ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มนายทุนฉกฉวยโอกาสหลอกขายต้นพันธุ์โกโก้ไม่ได้คุณภาพ จวบจนกระทั่ง ปี 2565 มีรายงานข่าวโกโก้ล้นตลาด ขายไม่ออก เกษตรกรถูกหลอกขายต้นพันธุ์ มูลเหตุเกิดมาจากนายทุนตั้งบริษัทเข้ามาเพื่อหลอกขายต้นกล้า อาศัยกระแสโปรโมทของรัฐ และแรงหนุนจากกลุ่มข้าราชการในท้อง ชักชวนส่งเสริมให้ชาวบ้านให้ปลูกโกโก้ ให้คำมั่นรับซื้อผลผลิตมีตลาดรองรับ แต่สุดท้ายไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้
เป็นประเด็นที่ต้องจับตาว่าภาครัฐโดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำจะสร้างกลไกรองรับพืชเศรษฐกิจโกโก้อย่างไร
ขณะที่ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่าเส้นทางการสำรวจการส่งออกโกโก้ไปยังประเทศต่างๆ ล่าสุด ได้รับรายงานจาก น.ส.สุพัตรา แสวงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เผยถึงโอกาสในการขยายตลาดสินค้าโกโก้และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโกโก้เจาะตลาดอินเดีย เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของตลาด ที่ชาวอินเดีย เริ่มมีการบริโภคสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น
อ้างอิงผลการศึกษาของ Euromonitor รายงานว่าสินค้าของหวานในอินเดีย มีมูลค่า 118,000 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมถึงช็อคโกแลต ลูกอม อมยิ้ม และหมากฝรั่ง โดยพบว่าตลาดช็อกโกแลตมีแนวโน้มจะเติบโตเป็นเท่าตัวในปี 2570 สอดคล้องกับผลการศึกษาของ IMARC Group ที่คาดการณ์ว่าตลาดช็อคโกแลตในอินเดียจะเติบโตเฉลี่ย 12.1% ต่อปี ในช่วงปี 2563 – 2569 ขณะที่ BlueWeave Consulting คาดการณ์ว่าตลาดช็อกโกแลตในอินเดียว่าจะเติบโตเฉลี่ย 11% ต่อปีในช่วงปี 2565–2571
รวมทั้งปัจจัยด้านประชากรที่ครึ่งหนึ่งของคนอินเดียมีอายุน้อยกว่า 25 ปี และ 2 ใน 3 ของประชากรมีอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สามารถบริโภคช็อคโกแลตได้ในปริมาณมาก รวมถึงครอบครัวชนชั้นกลางมีการขยายตัวมากขึ้น สะท้อนถึงกำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้นและชาวอินเดียยังนิยมบริโภค และมอบของขวัญด้วยช็อคโกแลตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คาดว่าความต้องการของตลาดจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้อินเดีย เพิ่มการเพาะปลูกโกโก้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการซึ่งอินเดียต้องการใช้เมล็ดโกโก้แห้งประมาณ 5 หมื่นตันต่อปี เพื่อนำมาผลิตสำหรับการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก
อย่างไรก็ดี อินเดียนำเข้าเมล็ดโกโก้จากไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2561 เป็น มูลค่า 1.57 แสนเหรียญสหรัฐ และเพิ่มขึ้นเป็น 3.62 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562 เพิ่มขึ้น 2,193% แต่หลังจากนั้น อินเดียหันไปนำเข้าจากโดมินิกันและเนเธอร์แลนด์แทน และไม่พบการนำเข้าจากไทยอีก ส่วนของผงโกโก้ไทยยังไม่มีการส่งออกไปอินเดีย แต่พบว่ามีอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ครองตลาดอินเดียอยู่ในสัดส่วนถึง 94% ของการนำเข้าทั้งหมด
จึงมองเป็นโอกาสมีความเป็นไปได้ว่าไทยแทรกตลาดอินเดีย โดยผู้นำเข้าอินเดียสามารถใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีนำเข้าเมล็ดโกโก้และผงโกโก้จากไทยได้ภายใต้ FTA อาเซียน-อินเดียได้ ส่วนช็อคโกแลตและผลิตภัณฑ์อื่นที่ทำจากโกโก้ ในปี 2564 อินเดียนำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 2.05 แสนเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 819% โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 24 ของอินเดีย มีสัดส่วนตลาดเพียง 0.26% ในขณะที่สิงคโปร์ และมาเลเซียเข้าไปเจาะตลาดและเป็นแหล่งนำเข้า Top 10 ของอินเดียแล้ว
บทวิเคราะห์เรื่อง “โกโก้ พืชเศรษฐกิจที่เป็นโอกาสและความท้าทาย” โดย bangkokbanksme ระบุตอนหนึ่งว่า โกโก้ (Cocoa) เป็นอีกพืชเศรษฐกิจของอาเซียน เพราะมีการปลูกกันหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปฟินส์, เวียดนาม และไทย แต่อาเซียนไม่ใช่ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก หากไทยต้องการผลักดันโกโก้รัฐบาลต้องตั้ง คณะกรรมการโกโก้แห่งชาติ (Thailand Cocoa Board) เพื่อดูแลโกโก้ทั้งระบบ ควบคุมมาตรฐาน ได้แก่ พันธุ์ และคุณภาพของผลผลิต และจัดทำแผนโปรโมท เช่นจัดเทศกาลช็อกโกแลตแบรนด์ไทย
ล่าสุด สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัว “ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาโกโก้ไทยเพื่อความยั่งยืน (The Innovation Center for Research and Development of Sustainable Cocoa Thailand : ISTC)” ดำเนินโครงการนวัตกรรมการจัดการห่วงโซ่คุณค่าโกโก้ในระบบนิเวศทางธุรกิจโกโก้น่าน ภายใต้ทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมและการประเมินผลกระทบทางสังคม กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ปีงบประมาณ 2565 เพื่อการพัฒนางานวิจัยสู่การเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม รวมถึงการเป็นผู้ประกอบการสังคมเพื่อสร้างความยั่งยืน ภายใต้โครงสร้างของบริษัท ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจามจุรี จำกัด
ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์ ณ น่าน หัวหน้าโครงการนวัตกรรมการจัดการห่วงโซ่คุณค่าโกโก้ในระบบนิเวศทางธุรกิจโกโก้น่าน เปิดเผยว่า ศูนย์ ISTC มีภารกิจหลักในการศึกษาวิจัย พัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และยกระดับการจัดการคุณภาพผลผลิตและผลิตภัณฑ์โกโก้ไทย การให้บริการข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อเพิ่มสมรรถนะและศักยภาพคนโกโก้ในทุกหน่วยธุรกิจโกโก้ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพเมล็ดโกโก้และผลิตภัณฑ์จากโกโก้ไทย เชื่อมโยงทุกหน่วยธุรกิจโกโก้ให้สามารถส่งต่อผลผลิตที่มีคุณภาพเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าโกโก้ไทย นอกจากนี้ยังมีการให้บริการด้านการรับรองคุณภาพ ด้วยนวัตกรรมการจัดการคุณภาพผลผลิตโกโก้ และระบบรับรองมาตรฐานคุณภาพเมล็ดโกโก้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนโกโก้ไทยให้สามารถยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสู่เวทีโลก
ทั้งนี้ ISTC ได้ลงนามความร่วมมือกับ Fine Cocoa Chocolate Institute (FCCI) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับสากลด้านระบบคุณภาพและมาตรฐานเมล็ดโกโก้และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก พร้อมทั้ง สร้างความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเอกชนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกการเสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพเมล็ดโกโก้ไทย
นอกจากนี้ ทางสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ ได้ดำเนินโครงการวิจัยโครงการการพัฒนาธุรกิจกลางน้ำในระบบนิเวศทางธุรกิจโกโก้ จ.น่าน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการท้องถิ่นให้มีองค์ความรู้ในการแปรรูปโกโก้จากโกโก้ผลสดเป็นเมล็ดโกโก้แห้งที่มีมาตรฐานตามความต้องการของตลาด และพัฒนามาตรฐานกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เมล็ดโกโก้แห้ง
ผศ.ดร.พิมพ์พินันท์ สมทรง อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ เปิดเผยว่าแม้ว่าในประเทศไทยจะมีการปลูกโกโก้มานานแล้ว แต่การปลูกยังจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ นอกจากนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักวิธีดูแลจัดการ รวมถึงในเรื่องของการตลาด จึงได้มีการพัฒนาแผนงานวิจัยการยกระดับห่วงโซ่อุปทานโกโก้ในพื้นที่ จ.น่าน ซึ่งมีโครงการย่อยเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดและธุรกิจ การดูแลจัดการในแปลงปลูกโกโก้ของเกษตรกร และการพัฒนาธุรกิจกลางน้ำซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนการแปรรูปขั้นต้น ได้แก่ การหมักและตากโกโก้ เพื่อให้เป็นเมล็ดโกโก้แห้ง โดยให้เกษตรกรได้เข้ามามีส่วนร่วม
นับเป็นการต่อยอดในธุรกิจปลายน้ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำเมล็ดโกโก้แห้งมาทำเป็นช็อกโกแลต ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้ประกอบการมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจกลางน้ำ หรือการแปรรูปขั้นต้นโดยนำเมล็ดโกโก้สดมาทำเป็นโกโก้แห้งยังมีผู้ประกอบการค่อนข้างน้อย ส่วนธุรกิจต้นน้ำคือเกษตรกรซึ่งปลูกโกโก้นั้นมีจำนวนค่อนข้างมาก
ทั้งหมดนี้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิจัย ชุมชน และผู้ประกอบการ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยแก้ปัญหาแก่ผู้ประกอบการท้องถิ่น ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนต่างๆ ของภาคการเกษตรได้เกิดการพัฒนา รวมถึงการกระจายรายได้ดีขึ้น
ภาควิชาการดำเนินงานให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว คงต้องติดตามกันว่านโยบายของรัฐจะต่อยอดพัฒนาศักยภาพพืชเศรษฐกิจใหม่ “โกโก้” ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
(ภาพประกอบจากสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย)