xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทยจะผ่านวิกฤติไปได้หรือไม่ (1) / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 "ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

 ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นที่ชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงการเมืองคือมติมหาชน เห็นได้จากการเลือกพรรคการเมืองซีกฝ่ายค้านมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลประยุทธ์ หากพิจารณาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย กลุ่มพรรคฝ่ายค้านซึ่งได้รับฉันทานุมัติจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนก็จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในเร็ววัน ทว่า ความเป็นจริงของการเมืองไทยกลับก่อให้เกิดบรรยากาศของความไม่แน่นอนขึ้นมา 


อันที่จริง หากศึกษาข้อมูลจากนิด้าโพลที่ทำมาตลอดปี 2565 ก็พอเห็นร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เพราะคะแนนนิยมรวมของพรรคฝ่ายค้านหลักสองพรรคอันได้แก่ พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล มีคะแนนเหนือกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างชัดเจน ในการสำรวจเดือนธันวาคมปี 2565 คะแนนของทั้งสองพรรครวมกันอยู่ที่ร้อยละ 59.55 ขณะที่คะแนนนิยมรวมของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 21.55 แต่ดูเหมือนฝ่ายรัฐบาลอาจยังไม่ใส่ใจกับสัญญาณนี้มากนัก และยังคงมีความมั่นใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลสามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้

  ช่วงปลายปี 2565 คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยมาเป็นลำดับหนึ่ง มีอยู่ถึงร้อยละ 42.95 และมากกว่าพรรคลำดับสองอย่างพรรคก้าวไกลถึง 2.5 เท่า ด้วยข้อมูลนี้ทำให้ไม่มีใครคาดคิดว่าพรรคก้าวไกลจะสามารถเอาชนะและแซงพรรคเพื่อไทยได้ มากไปกว่านั้นหากนำข้อมูลเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งที่มีการแบ่งแยกอย่างเด็ดขาดระหว่าง ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ซึ่งระบบการเลือกตั้งแบบนี้หลายฝ่ายเห็นร่วมกันว่าถูกออกแบบมาเพื่อสกัดการเติบโตของพรรคก้าวไกล รวมทั้งหากนำคะแนนเลือกตั้งเดิมของปี 2562 ในระดับเขตเลือกตั้ง ก็จะยิ่งเห็นภาพชัดว่า ฐานเสียงของส.ส.ของพรรคเพื่อไทยเหนือกว่าพรรคก้าวไกลอยู่มาก ก็ยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจว่าโอกาสการขยายตัวของพรรคก้าวไกลคงเกิดขึ้นได้ยาก  

นักสังเกตการณ์ทางการเมืองมีแนวโน้มที่จะวิเคราะห์ว่า พรรคเพื่อไทยมีโอกาสสูงที่จะประสบชัยชนะได้ที่นั่ง ส.ส. มากเป็นลำดับหนึ่ง เพราะเป็นพรรคที่มีคะแนนนิยมของพรรคสูง มีผู้สมัคร ส.ส.ในระดับเขตที่แข็งแกร่ง และพรั่งพร้อมไปด้วยทรัพยากรในการเลือกตั้ง ตรงข้ามกับพรรคก้าวไกลที่คะแนนนิยมตามหลังพรรคเพื่อไทยอยู่ไม่น้อย ผู้สมัคร ส.ส. เกือบทั้งหมดเป็นคนหน้าใหม่ ไม่มีฐานคะแนนเสียงส่วนบุคคลมากนัก และทรัพยากรหาเสียงก็น้อยมากเมื่อกับพรรคการเมืองหลักอื่น ๆ ก่อนการเลือกตั้ง พรรคร่วมรัฐบาลจึงมองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นคู่แข่งหลัก ขณะเดียวกันก็มองข้ามพรรคก้าวไกล

ทว่า ความไม่แน่นอนยังเป็นสัจธรรมอยู่เสมอ ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ก่อนการยุบสภา นิด้าโพลสำรวจศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 1 พบว่าความนิยมของพรรคฝ่ายค้านหลักสองพรรครวมกันอยู่ที่ร้อยละ 67.00 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2565 ประมาณร้อยละ 10 พรรคเพื่อไทยยังครองลำดับหนึ่งด้วยคะแนนนิยมสูงลิ่วถึงร้อยละ 49.85 ขณะที่พรรคก้าวไกลตามมาห่าง ๆ โดยได้รับร้อยละ 17.15 สถานการณ์การแข่งขันของสองพรรคในช่วงต้นเดือนมีนาคมยังไม่มีความแตกต่างจากช่วงปีที่แล้วมากนัก แต่สิ่งที่ต่างมากขึ้นคือความนิยมในภาพรวมของพรรคฝ่ายค้านทั้งสองพรรคเพิ่มขึ้น ขณะที่คะแนนนิยมของพรรคร่วมรัฐบาลยังคงเท่าเดิม

สถานการณ์เคลื่อนตัวไปไม่หยุดยั้ง เมื่อการยุบสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นในกลางเดือนมีนาคม และมีการสมัครรับเลือกตั้งในช่วงต้นเดือนเมษายน นิด้าโพลสำรวจศึกเลือกตั้งครั้งที่สอง พบ จุดเปลี่ยนหรือ Turning point ที่สำคัญเกิดขึ้น แต่คาดว่ามีคนสังเกตเห็นไม่มากนัก เพราะคะแนนนิยมของพรรคฝ่ายค้านเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อยู่ที่ระดับร้อยละ 68.85 คะแนนนิยมของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยก็ยังคงสูงกว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์อยู่หลายจุด (35.7 % ต่อ 20.25 %)

 คำถามคืออะไรคือจุดเปลี่ยน คำตอบคือ คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยเริ่มลดลง ขณะที่คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลเริ่มขยับขึ้น (ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีนักวิเคราะห์การเมืองบางคนระบุว่า คะแนนนิยมร้อยละ 17 ของพรรคก้าวไกล เปรียบเหมือนน้ำเต็มแก้วไม่สามารถขยายได้แล้ว) เป็นครั้งแรกในรอบปีที่คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยลดลงจากร้อยละ 49.75 เหลือร้อยละ 47.20 เช่นเดียวกับคะแนนนิยมของ น.ส. แพทองธารที่ลดลง จากร้อยละ 38.2 เหลือร้อยละ 35.7 เป็นการลดลงทั้งคะแนนนิยมพรรคและตัวผู้นำพรรค แต่อาจเป็นเพราะว่าสัดส่วนการลดลงยังค่อนข้างน้อย ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลอาจยังไม่สังเกต หรืออาจเห็นแล้ว แต่ก็ยังให้ความสำคัญไม่มากนัก เป้าหมายหลักในการต่อสู้ของพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังคงเป็นพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคก้าวไกล 

ดังเห็นได้จาก กลางเดือนเมษายน โพลสำนักหนึ่งได้แถลงผลสำรวจที่แตกต่างจากนิด้าโพลอย่างสิ้นเชิง ในโพลนั้นคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยมีเพียงร้อยละ 11.2 ขณะที่คะแนนนิยมของพรรคภูมิใจไทยสูงถึง 23.9 แตกต่างจากผลของนิด้าโพลที่สำรวจในช่วงต้นเดือนเมษายนมาก ซึ่งพรรคภูมิใจไทยได้คะแนนนิยมเพียงร้อยละ 3.75 เท่านั้น ส่วนคะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลของโพลนี้ใกล้เคียงกับนิด้าโพล ความน่าแปลกของโพลนี้คือ คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยต่ำมาก ขณะที่คะแนนนิยมของพรรคภูมิใจไทยสูงมาก และเป็นโพลที่ระบุว่าคะแนนนิยมรวมของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลทุกพรรครวมกัน สูงกว่าคะแนนนิยมของพรรคฝ่ายค้านรวมกัน เป็นไปได้ว่าโพลนี้พยายามที่จะเปลี่ยนทิศทางการเมืองให้ตรงข้ามกับนิด้าโพล แต่เมื่อผลการเลือกตั้งจริงปรากฏขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าความพยายามนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

ตลอดเดือนเมษายน การหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ทิศทางใหญ่ของการเมืองไทยยังคงเป็นแบบแผนเดิม นั่นคือความนิยมของพรรคฝ่ายค้านยังสูงกว่าฝ่ายรัฐบาล และไม่มีสัญญาณใดที่บ่งบอกว่าพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลจะเอาชนะพรรคฝ่ายค้านได้ ทว่า ฝันร้ายที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิมของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และกลุ่มอนุรักษ์เชิงอำนาจนิยม กำลังปรากฏขึ้นอย่างช้า ๆ เพราะว่ายิ่งใช้เวลาในการหาเสียงมากขึ้น กระแสนิยมของพรรคก้าวไกลก็ยิ่งปรากฏตัวเป็นรูปธรรมมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการแสดงจุดยืนที่ชัดเจน วิสัยทัศน์ที่แหลมคม และนโยบายที่เป็นระบบในเวทีดีเบตผ่านสื่อมวลชนทั้งสื่อแบบดั้งเดิมและสื่อออนไลน์ ในวันที่ 22 เมษายน เมื่อพรรคก้าวไกลจัดปราศรัยที่สามย่านมิตรทาวน์ ใจกลางกรุงเทพมหานคร มีผู้คนเข้าร่วมฟังการปราศรัยจำนวนมาก และกลายเป็นกระแสที่ส่งผลกระทบต่อความคิดและความรู้สึกของผู้เลือกตั้งอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ความนิยมของพรรคก้าวไกลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จวบจนถึงปลายเดือนเมษายน ผลก็ปรากฏออกมาในการสำรวจศึกเลือกตั้งครั้งที่ 3 ของนิด้าโพล

นิด้าโพลเก็บข้องมูลในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน ปรากฏว่า เป็นครั้งแรกที่คะแนนนิยมของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มากกว่า คะแนนนิยมของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร (35.44 % ต่อ 29.20 %) ขณะเดียวกันคะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลก็เพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับสูสีกับพรรคเพื่อไทย (35.36 % ต่อ 35.92) อย่างไรก็ตาม คะแนนรวมของทั้งสองพรรคอยู่ที่ระดับร้อยละ 71.28 ซึ่งเพิ่มจากเดิมไม่มากนัก หมายความว่า คะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นของพรรคก้าวไกลส่วนใหญ่มาจากผู้ที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมาก่อนนั่นเอง

การทะยานขึ้นมาของพรรคก้าวไกลคงสร้างความกังวลให้แก่กลุ่มอำนาจเก่ายิ่งกว่าการที่พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะเป็นลำดับหนึ่งเสียอีก สัญญาณบางอย่างที่ผิดปกติจึงเริ่มปรากฏขึ้น แต่ในตอนนั้นคงมีผู้สังเกตเห็นไม่มากนัก นั่นคือ นายนิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเคยอยู่พรรคอนาคตใหม่มาก่อน ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 24 เมษายน เตือนหัวหน้าพรรคหนึ่งที่ถือหุ้นบริษัทไอทีวีจำนวน 42,000 หุ้น ให้เตรียมมอบตัวต่อ กกต. (ปัจจุบันโพสต์นี้ถูกลบไปแล้ว) นายนิกม์กระทำก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของไอทีวีเพียง 2 วัน เท่านั้น เมื่อมีการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีในวันที่ 26 นายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ลูกน้องที่นายนิกม์ ขายหุ้นทีวีให้ เข้าร่วมประชุมออนไลน์กับไอทีวีด้วย ขณะประชุมก็มีนายนิกม์ นั่งประกบอยู่ด้วย และมีการส่งคำถามไปให้ประธานที่ประชุมตอบ

 คำถามที่สำคัญคือ นายพิธาถือหุ้นไอทีวีอยู่หรือไม่ ไอทีวียังมีรายได้จากการทำสื่อหรือไม่ นายคิม ศิริทวีชัย ประธานที่ประชุมตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ต้องรอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน” ทว่า เมื่อมีรายงานการประชุมออกมาในวันที่ 28 เมษายน ข้อความที่ตอบในที่ประชุมกับข้อความในรายงานการประชุมไม่ตรงกัน โดยในรายงานการประชุมกลับเขียนว่า “ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท” และที่สำคัญคือในรายงานการประชุมฉบับนั้นนายคิม ก็เซ็นชื่อตนเองกำกับเอาไว้ด้วย 

ทำไมเพียงสองวัน คำตอบระหว่างการประชุม กับคำตอบที่เขียนในรายงานจึงมีความหมายตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง หากใช้คำตอบระหว่างการประชุมหมายความว่า ไอทีวีไม่มีการประกอบกิจการสื่อใด ๆ แต่หากใช้คำตอบในรายงานการประชุม กลับหมายความว่า ไอทีวี ยังประกอบกิจการสื่ออยู่ การที่ไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่เป็นสื่อย่อมส่งผลที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะหากนักการเมืองคนใดถือหุ้นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชน ก็ย่อมถูกตัดสิทธิการสมัคร ส.ส. และ การเป็น ส.ส.

ข้อสังเกตคือ มีความเป็นไปได้ว่าระหว่างการประชุมในวันที่ 26 ประธานที่ประชุมยังไม่มีส่วนใด ๆ กับขบวนการรื้อฟื้นความเป็นสื่อให้แก่ไอทีวีเพื่อประโยชน์ทางการเมือง จึงตอบคำถามตามความเป็นจริง แต่ความจริงนั้นไม่อาจนำไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามได้ จึงอาจมีกระบวนการที่ทำให้ประธานที่ประชุมต้องเปลี่ยนข้อความในรายงานการประชุม และเป็นไปได้ว่าประธานก็อาจมีส่วนร่วมในขบวนการนี้ เพราะมีลายเซ็นของตนเองกำกับอย่างชัดเจนในเอกสารรายงานการประชุม

 ในที่สุดฟันเฟืองสำคัญทางการเมืองก็ปรากฏออกมาในวันที่ 10 พฤษภาคม เมื่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบว่านายพิธา มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น และได้อ้างถึงรายงานการประชุมล่าสุด รวมทั้งได้ยื่นแบบนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 และเอกสารงบไตรมาสแรกปี 2566 ของไอทีวีประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม ต่อมา กกต. ได้พิจารณายกคำร้องนี้ โดยอ้างว่ายื่นเกินกำหนดเวลาตามกฎหมายกำหนด โดยต้องยื่นภายใน 7 วัน นับแต่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร 

แม้ว่า คำร้องของนายเรื่องไกรจะถูกตีตกไปในภายหลัง แต่ในช่วงเวลานั้นสังคมไม่ทราบว่า มาตรา 60 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดว่าการยื่นตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครต้องยื่นภายใน 7 วัน นับแต่ กกต.ประกาศรายชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเมื่อ กกต. ได้รับคำร้อง ก็ไม่ได้แถลงต่อสังคมทันทีว่า นายเรืองไกรทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และคำร้องต้องตกไป กลับปล่อยเรื่องให้เนิ่นช้า และวินิจฉัยยกคำร้องเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนหลังการเลือกตั้งผ่านไปประมาณสามสัปดาห์ ไม่เหมือนกับกรณี ที่ผู้สมัครพรรครวมไทยสร้างชาติที่ยิงเลเซอร์ใช้สะพานพระราม 8 หาเสียง กกต. ใช้เวลาเพียงชั่วข้ามคืนในการบอกสังคมว่าการกระทำนั้นไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

ถามว่านายเรืองไกร รู้หรือไม่ว่ามีข้อกำหนดเรื่องนี้ในกฎหมายเลือกตั้ง มีความเป็นไปได้ว่านายเรืองไกรอาจไม่รู้ หรืออาจรู้อยู่แล้ว แต่ก็ยังคงยื่นคำร้อง หากเป็นไปในประการหลัง ก็มีความเป็นไปได้ว่า การยื่นคำร้องในขณะนั้นมีจุดประสงค์เฉพาะหน้าคือ การสั่นคลอนคะแนนนิยมของพรรคก้าวไกล โดยทำให้ผู้เลือกตั้งที่คิดเลือกพรรคก้าวไกล เพื่อให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีเกิดความหวั่นไหวและเปลี่ยนใจ เพราะถ้าเลือกไปแล้วก็ไม่รู้ว่านายพิธา จะถูกตัดสิทธิเลือกตั้งแบบที่เคยเกิดขึ้นกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่หรือไม่

 ในยกแรกแผนการนี้อาจประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เพราะสามารถสร้างความสงสัยขึ้นในใจของผู้เลือกตั้งจำนวนหนึ่งอยู่บ้าง และเป็นไปได้ว่าอาจทำให้คะแนนเสียงของพรรคก้าวไกลลดลงไม่มากก็น้อย แม้ว่าในที่สุดพรรคก้าวไกลจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากเป็นลำดับหนึ่งก็ตาม มีข้อมูลอะไรที่ทำให้ผมคิดว่า คะแนนเสียงจำนวนหนึ่งของพรรคก้าวไกลอาจลดในช่วงสองวันสุดท้ายของการเลือกตั้ง และเมื่อพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง แผนการสกัดพรรคก้าวไกลที่เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงสามสัปดาห์จะเคลื่อนตัวไปอย่างไร และจะนำไปสู่วิกฤติการทางการเมืองหรือไม่ ติดตามในสัปดาห์หน้าครับ 


กำลังโหลดความคิดเห็น