ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในตลาดหุ้นกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่มีโกงกันมโหฬาร อดีตผู้บริหารสูบเงินนับหมื่นล้านเผ่นออกนอก ปล่อยให้นักลงทุนใหญ่น้อยย่อยยับจากหุ้น STARK ที่ดิ่งนรกกันถ้วนหน้า ยังไม่นับนักลงทุนอีกเกือบ 5 พันรายสุดช็อกเจอเบี้ยวหนี้หุ้นกู้ งานนี้จึงต้องถาม ตลท. และ ก.ล.ต. ในฐานะผู้คุมกฎ รู้สึกสำนึกถึงความล่มจมของนักลงทุนนับหมื่นรายใน STARK บ้างหรือไม่
คำถามข้างต้น มีคำตอบจาก นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตลท. ไม่ได้มีอำนาจในการตรวจสอบข้อมูลแต่อย่างใด หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจตรวจสอบความผิดปกติคือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เห็นข้อมูลการเงินของบริษัทก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงส่งให้ ตลท. แจ้งข้อมูลให้นักลงทุนหรือผู้ถือหุ้นทราบพร้อมกับ ตลท. จะประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทำได้เพียงติดป้ายเตือนหน้าหุ้น และแจ้งให้บริษัทส่งงบการเงินให้ครบถ้วน แต่ไม่มีสิทธิ์ไปบังคับใดๆ
นอกจาก ตลท.จะโบ้ยไปให้ ก.ล.ต.แล้ว ตลท.ยังเปิดให้ STARK เทรดอีกครั้งเป็นเวลา 1 เดือน (ระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2566) ทั้งที่หุ้นดังกล่าวสร้างความหายนะแก่นักลงทุนสุดคนานับ โดย ตลท.อ้างว่าเป็นไปตามเกณฑ์การเปิดซื้อขายหุ้นในช่วงที่ยังไม่ส่งงบการเงินซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2562 เป็นการให้โอกาสบริษัทชี้แจงข้อมูลและส่งงบการเงินในงวดปี 65 และไตรมาสแรกปี 66 ตามที่แจ้งกับ ก.ล.ต. ในวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ถ้าส่งครบทุกอย่างเรียบร้อย อาจพิจารณาให้เปิดทำการซื้อขายต่อไป แต่ยังไม่มีอะไรรับประกันว่า STARK จะส่งงบตามที่แจ้งไว้หรือไม่ หากไม่สามารถส่งงบได้ทันในเดือนมิถุนายน 2566 ก็จะสั่งยุติการเทรด
ส่วนคำตอบจาก ก.ล.ต. นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่าก.ล.ต.ได้ดำเนินการเชิงรุก โดยให้ทาง STARK เปิดเผยและชี้แจงข้อมูลต่างๆ ส่วนการบังคับใช้กฎหมายนั้น ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริง หากพบหลักฐานในการชี้มูลความผิดจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ขณะที่ผู้ถือหุ้นสามัญและผู้ถือหุ้นกู้ STARK ไม่ขอทน เคลื่อนไหวกดดันให้ ก.ล.ต.เร่งเข้ามาจัดการปัญหา โดยนัดรวมตัววันที่ 12 มิถุนายน 2566 ยื่นหนังสือต่อ ก.ล.ต.เพื่อขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมผู้สอบบัญชี และเรียกร้องให้ ก.ล.ต. เข้าควบคุมทรัพย์สินของ STARK โดยเร็วเพื่อป้องกันการผ่องถ่ายโยกย้ายทรัพย์สิน ระงับยับยั้งความเสียหายของผู้ถือหุ้น หากไม่เร่งควบคุมทรัพย์สินที่เป็นของผู้ถือหุ้นจะถูกผ่องถ่ายออกจนหมดเกลี้ยงจนบริษัทเหลือแต่ซาก สร้างความเสียหายของนักลงทุนลุกลามมากขึ้น
การเรียกร้องให้ตรวจสอบผู้สอบบัญชี STARK เนื่องจากนักลงทุนมีปมสงสัยในพฤติกรรมการทำหน้าที่ว่าเป็นไปด้วยความสุจริตรอบคอบเพียงใด รู้เห็นกับฝ่ายบริหารในการดำเนินธุรกรรมที่ไม่โปร่งใสหรือไม่ ผู้สอบบัญชีสังกัดสำนักงานสอบบัญชียักษ์ใหญ่และมีชื่อเสียง แต่ทำไมไม่พบสิ่งผิดปกติในงบการเงิน และไม่เคยส่งสัญญาณเตือนสาธารณชนถึงรายการบัญชีที่มีปัญหา
สุนันท์ ศรีจันทรา คอลัมนิสต์ชุมชนคนหุ้น ตั้งคำถามในทำนองเดียวกันว่า หายนะหุ้น STARK ก.ล.ต.-ตลท.สำนึกผิดบ้างไหม เพราะสังคมมีข้อกังขาว่า STARK สร้างความเสียหายใหญ่หลวงในตลาดหุ้น โดยที่กลไกระบบตรวจสอบ ระบบควบคุมและกำกับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทั้งกรรมการอิสระของบมจ.ที่กำกับงานภายใน ทั้งผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีชื่อเสียงใหญ่โต ทั้งมี ตลท.สอดส่องดูธุรกรรมต่างๆ และมี ก.ล.ต.กำกับดูแล แต่ทุกหน่วยงานกลับตรวจสอบไม่พบความผิดปกติใดๆ ใน STARK ทั้งที่บัญชีน่าจะถูกตกแต่งมาหลายปี
ที่น่าสงสัยอย่างยิ่งคือ บริษัทผู้สอบบัญชี ซึ่งเป็นสำนักตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่และมีชื่อเสียงถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีส่วนรู้เห็นการทุจริตหรือไม่ และควรต้องเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ อาชญากรรมปล้นกลางตลาดหุ้นรอบนี้ คอลัมนิสต์ชุมชนคนหุ้น ตั้งข้อสังเกตว่า การทุจริตใน STARK คงทำกันเป็นขบวนการ และน่าสงสัยว่าโยงโยผู้บริหารบริษัทคนใดสุมหัวโกงกันบ้าง
ทั้งนี้ ต้องบอกว่า STARK ไม่ใช่กรณีแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบริษัท โพลารีส แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE และบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ อีกนับสิบแห่ง ซึ่ง ก.ล.ต. และต.ล.ท.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน และมีหน้าที่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนผู้ลงทุนจำเป็นต้องมีคำตอบในเรื่องนี้ให้สิ้นกระบวนความ
เอาแค่ผู้ถือหุ้นรายย่อย STARK หลังปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 4 เมษายน 2565 ก็มีจำนวนทั้งสิ้น 9,613 ราย และไม่รู้ว่าล่าสุดมีจำนวนเท่าใด
ไม่นับนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบัน กองทุนทั้งในและต่างประเทศซึ่งพากันย่อยยับไปตามๆ กัน
กล่าวสำหรับจุดเริ่มต้นของ STARK ในตลาดหุ้นนั้น ต้องบอกว่า เป็นบริษัทมหาชนที่ไม่ได้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดด้วยวิธีการปกติอย่างการขายหุ้นใหม่ (Initial Public Offering: IPO) แต่เข้ามาในตลาดหุ้นด้วยวิธีการเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์โดยอ้อม (Back-door Listing) ผ่าน “บริษัท สยามอินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน)” โดย นายวนรัชย์ ตั้งถารวคุณ เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 21,500 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 95% ของทุนจดทะเบียน ในรูปบุคคลวงจำกัด ราคาหุ้นละ 60 สตางค์ จากพาร์ 1 บาท และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK
จากนั้นโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่เปลี่ยนไป พร้อมโครงสร้างผู้บริหารบริษัท และโครงสร้างการดำเนินงาน ซึ่งหันเข้าสู่ธุรกิจสายไฟฟ้าและสายเคเบิล โดยบริษัทลูกเป็นผู้ดำเนินการ และใช้เงินกว่า 500 ล้านบาท ซื้อบริษัทผลิตไฟฟ้าในเวียดนามเมื่อประมาณกลางปี 2563
ทั้งนี้ผลประกอบการของ STARK ดีขึ้นต่อเนื่อง คือปี 2562 มีกำไรสุทธิ 123.92 ล้านบาท ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 1,608.88 ล้านบาท ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 2,783.11 ล้านบาท และงวด 9 เดือนแรกปี 2565 มีกำไรสุทธิ 2,216.47 ล้านบาท แต่ไตรมาสที่ 4 มีความยุ่งเหยิงในการจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 จนไม่สามารถส่งตลาดหลักทรัพย์ตามกำหนดได้
STARK สร้างภาพจัดฉากมาประมาณ 4 ปี แสดงผลกำไรเติบโตก้าวกระโดดต่อเนื่อง จนกลายเป็นหุ้นพุ่งแรง นักลงทุนแห่เข้าไปเก็งกำไร เพราะหลงในภาพลวงตาทั้งนักลงทุนต่างชาติ ทั้งสถาบันการเงินชั้นนำทั้งในและต่างประเทศขนเงินเข้าใส่ รวมทั้งบรรดากองทุน การสร้างภาพจนเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีอนาคตสดใส ฐานะการเงินมั่นคง จนระดมเงินด้วยวิธีการใดก็ได้ ออกหุ้นกู้กว่า 9.1 พันล้านบาทก็ขายเกลี้ยง กู้เงินแบงก์กว่า 8 พันล้านบาทก็ได้รับอนุมัติฉลุย ออกหุ้นเพิ่มทุนขายบุคคลในวงจำกัด 11 ราย เมื่อปลายปี 2565 รวมวงเงิน 5,580 ล้านบาทก็ขายเกลี้ยงและมีกำไรสะสมอีก 7,849.71 ล้านบาท
ไม่มีใครรู้ว่าฐานะการเงินที่แท้จริงของ STARK เป็นอย่างไร นอกจากข่าวลือที่ว่าเกิดการทุจริตภายในกันมโหฬาร มีการสร้างหนี้เทียม สร้างเอกสารเท็จ และผ่องถ่ายไซฟ่อนเงินจำนวนนับหมื่นๆ ล้านออกไป ก่อนจะมีการโละกรรมการบริษัทชุดเก่า ซึ่งมี “นายชนินทร์ เย็นสุดใจ” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แถมยังมีการเร่งชำระหนี้คืนบริษัทย่อย ทั้งที่หนี้ยังไม่ครบกำหนด ซึ่งมีการตั้งคำถามว่าอาจเป็นการสูบเงินออกจาก STARK ในรอบสุดท้าย ขณะที่บริษัทผลิตสายไฟฟ้าในเวียดนามที่ STARK ซื้อไว้ มีข่าวลือว่าสต๊อกสายทองแดงมูลค่านับพันล้านบาท อันตรธานหายไป เหลือแต่สต๊อกลม
คำถามในเวลานี้คือ เงินทั้งหมดจำนวนรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท ยังอยู่ดีหรือไม่ หรือใครเล่นแร่แปรธาตุผ่องถ่ายออกไปหมดแล้ว มีข่าวลือว่าอดีตผู้บริหาร STARK พร้อมนักกฎหมายคู่ใจได้เผ่นหนีออกไปนอกประเทศแล้ว พร้อมกับเงินนับหมื่นล้านบาท เพราะได้วางแผนปล้น STARK มานาน และจัดฉากทุกอย่างแนนเนียน จนทุกฝ่ายตายใจ ทิ้งความเสียหายใหญ่หลวงให้สถาบันการเงิน กองทุนทั้งในและต่างประเทศ ผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งบางคนลงทุนในหุ้นกู้ STARK นับร้อยล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยที่ต้องหมดตัว
STARK กลายเป็นอีกกรณีที่ส่งผลสะเทือนตลาดทุน เพราะถือเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่มีทรัพย์สินตามที่ระบุเกือบ 4 หมื่นล้านบาท และผู้ถือหุ้นก็เป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่หลายราย แต่มีกลิ่นของขบวนการทุจริตที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทั้งผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นกู้และเจ้าหนี้มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเข้ามานั่งตำแหน่ง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2566 เผยว่า หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทได้รับทราบจากบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ผู้สอบบัญชี ว่าตรวจพบพฤติการณ์อันควรสงสัยในการดำเนินงานและปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการ และหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท บริษัทได้มีหนังสือแจ้ง ก.ล.ต.ถึงการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อสังเกตของผู้สอบบัญชี และแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ
ล่าสุด บริษัทได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก) เพื่อให้สืบสวนและสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายจนถึงที่สุด
ไม่เพียงแต่โกงกันมโหฬาร มีปัญหาราคาหุ้นดำดิ่ง สร้างความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น STARK ยังเกิดปัญหาการ “ผิดนัดชำระหนี้” กับผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งมีการขายออกไปทั้งสิ้น 5 รุ่น มูลค่ารวม 9,198.4 ล้านบาท และผลจากกรณีที่บริษัทไม่ส่งงบการเงินปี 2565 ทำให้เมื่อ 31 พฤษภาคม 2566 ผู้ถือหุ้นกู้ 2 รุ่น (STARK239A และ STARK249A) มีการประชุมลงมติให้ถือเป็นเหตุผิดนัดชำระหนี้ พร้อมเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยถึงกำหนดชำระโดยพลัน รวมวงเงิน 2,241 ล้านบาท หมายความว่าบริษัทต้องหาเงินมาชำระหนี้หุ้นกู้ 2 รุ่นดังกล่าวภายใน 30 วัน
ต่อมา เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 รุ่นดังกล่าว บริษัท STARK ได้ตัดสินใจระงับการชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นการผิดนัดชำระหนี้ เป็นผลให้ทางบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ออกมาประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กร STARK เป็น “D” ซึ่งหมายถึงองค์กรที่ภาระหนี้ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดอยู่ในสภาวะผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ STARK มี 2 ราย คือ ธนาคารกสิกรไทย และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน)
อย่างไรก็ดี หากอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงาน ก.ล.ต. พบว่ามีนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากการลงทุนหุ้นกู้ STARK จำนวนกว่า 4,528 ราย ทั้งหมดเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่
หายนะจากหุ้น STARK ซึ่งสร้างความล่มสลายในวงกว้าง กฎหมายจะลากคอใครมาลงโทษได้หรือไม่ และนายวนรัชต์ จะติดร่างแหกับอดีตผู้บริหารบริษัทที่หอบเงินหมื่นล้านหนีไปหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป