ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกได้ว่ากลายเป็นกระแสสุราชุมชนฟีเวอร์ไปแล้ว หลัง #แด็ดดี้พิธา - นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ออกทีวีคุยเรื่องนโยบายสุราก้าวหน้า พร้อมแนะนำแบรนด์สุราชุมชนจนขายดิบขายดีเกลี้ยงโรงงานกันทั้งประเทศเลยทีเดียว
อย่างที่รู้กันว่า “สุราก้าวหน้า” เป็นนโยบายเร่งด่วนที่พรรคก้าวไกล จะผลักดันให้สำเร็จใน 100 วันแรก หากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นผลสำเร็จ หลังจบศึกยกแรกที่ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าไม่ผ่านสภาฯ ทำเอาแฟนคลับผิดหวังไปตามๆ กัน
ความฮึกเหิมจากกระแสสุราชุมชนฟีเวอร์คราวนี้ พรรคก้าวไกล ซึ่งอยู่ในห้วงฝัน “รัฐบาลก้าวไกล” ประกาศชัดเจน “อนาคตสุราไทยต้องไม่เหมือนเดิม” โดยจะทลายอำนาจผูกขาดธุรกิจสุราที่อำนาจรัฐเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กลุ่มทุนเจ้าสัวยาวนานมากกว่า 70 ปีมาแล้ว เหลืออีกเพียงก้าวเดียวโซ่ตรวนที่ปิดกั้นศักยภาพของผู้ผลิตสุราไทยกำลังจะถูกทำลายลง
พรรคก้าวไกล ประเมินมูลค่าธุรกิจสุราทั้งหมด 500,000 ล้านบาท จากที่อยู่ในมือของรายใหญ่ 2-3 ราย กำลังจะกระจายไปสู่ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยทั่วประเทศ สร้างสรรค์เอกลักษณ์สินค้าเกษตรของท้องถิ่นตัวเอง โดยสินค้าเกษตรเก็บไว้ในโกดังมีแต่ราคาจะลด ส่วนเหล้า เก็บไว้ในไหมีแต่ราคาจะสูงขึ้น
Think Forward Center ของก้าวไกล นำเสนอว่าหากการปลดล็อกธุรกิจสุราเกิดขึ้นจริง ประเทศไทยจะมีศักยภาพเกิดขึ้นถึง 7 อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรได้มากมายหลายชนิด ทั้งข้าว อ้อย มัน ข้าวโพด มะพร้าว ตาล จาก ฯลฯ โดยรวมแล้วจะเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตเหล่านี้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท/ปี สร้างงานและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท/ปี เสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว ให้มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ และมีกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น
นอกจากนั้น ยังจะเกิดการวิจัยและพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิม ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ข้าวและผลผลิตการเกษตร การหมัก การเก็บรักษา ไปจนถึงการตลาด ลดการนำเข้าสุราและเบียร์ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกสุราและเบียร์ ทำให้เพิ่มดุลการค้าให้กับประเทศไทยได้มากกว่า 3,500 ล้านบาท/ปี
อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาผลผลิตการเกษตรของชุมชน ด้วยการเก็บรักษาไว้ในรูปของสุราพื้นบ้าน เพิ่มทางเลือกในการจัดการและอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกรและชุมชน ส่วนกากจากกระบวนการหมักสุราและเบียร์ของชุมชน ยังสามารถนำมาใช้ในการลดต้นทุนอาหารสัตว์ของชุมชน และ/หรือการหมักก๊าซชีวภาพ ได้อีกทางหนึ่งด้วย
พรรคก้าวไกล คุยเขื่องคำโตว่าเป้าหมายการปลดล็อกธุรกิจสุราไม่ใช่ชัยชนะของผู้ผลิตสุรารายย่อยที่มีต่อทุนใหญ่ แต่คือชัยชนะของประชาชนที่ต่อระบอบนายทุน ขุนศึก ศักดินา ที่ใช้อำนาจผูกขาดกัดกินประเทศ #สุราก้าวหน้า เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ประเทศไทยยังมีศักยภาพอีกหลายอย่างที่รอให้ #รัฐบาลก้าวไกล เข้าไปพัฒนา
กระแสสุราชุมชนฟีเวอร์ ได้ปลุกความคึกคักมีชีวิตชีวาให้เกษตรกร ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย รวมทั้งนักดื่มเลือดสูบฉีด มีความหวังเรืองรองขึ้นมา ดังเช่น คำบอกเล่าของ น.ส.ปัณฑ์ชนิต สังข์สุข ผู้ประกอบการโรงต้มสุราชุมชนรายหนึ่ง ในพื้นที่ ต.พุดซา อ.เมือง จ.นครราชสีมาขณะนี้ผู้ประกอบการโรงผลิตสุรารายย่อยในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ตื่นตัวกันมาก ต่างอยากต่อยอดทำสุราแบรนด์ท้องถิ่นเป็นสุราเกรดพรีเมียม แต่ที่ผ่านมาติดปัญหากฎหมายหลายฉบับและต้องผ่านหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข โรงงาน สรรพสามิต ฯลฯ ทำให้เกิดความยุ่งยากอย่างมาก
ที่สำคัญการจะต่อยอดจากโรงต้มสุราแบบเหล้าขาวไปผลิตสุราแบบอื่น ก็มีข้อกฎหมายว่าต้องตั้งโรงงานแยกกันทั้งที่ไลน์การผลิตสามารถต่อยอดได้เลย ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่มีเงินทุนตั้งโรงงานใหม่ จึงฝากว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถต่อยอดเติบโตต่อไปได้
เช่นเดียวกันกับ นายสวาท อุปฮาด ผู้ผลิตสุราชุมชนจากข้าวเหนียวอินทรีย์ 100% ในฐานะประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเมล็ดพันธุ์และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านโนนเชือก ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่นสะท้อนถึงปัญหาระเบียบข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาต่อยอดสุราชุมชน ซึ่งถ้าทลายข้อจำกัดและมีการพัฒนาจริงจังต่อเนื่อง 3 ปี สุราชุมชนของไทยสามารถแข่งได้ในระดับโลก เพราะมีความหลากหลายเรื่องวัตถุดิบและมีทุกฤดูกาล
ทางด้าน นายประสิทธิ์ สำนักเหยา เจ้าของผลิตภัณฑ์สุราชุมชม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ออกมาหนุนนโยบายส่งเสริมสุราชุมชน และเห็นด้วยที่จะปลดล็อกตัวบทกฎหมายและข้อจำกัดที่มีอยู่ เช่น กำลังการผลิต ขนาดแรงม้าของเครื่องจักรในโรงกลั่น การผลิตคราฟเบียร์ หรือสุราสีควรปรับปริมาณในการผลิตให้ต่ำลง เพื่อให้โรงผลิตระดับชุมชนสามารถขออนุญาตผลิตได้และอยากให้ส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายสินค้าสุราชุมชน คราฟเบียร์ หรือแม้แต่สินค้าชุมชน สินค้าพื้นบ้าน สินค้าโอทอปอื่นๆ ด้วย
นโยบายสุราก้าวหน้า สุราชุมชน จะเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนปีละหลายหมื่นล้านอย่างที่คาดหวังกันหรือไม่ เพจ “ไบโอไทย” ตั้งประเด็นชวนสังคมขบคิด “ระหว่างสุรากับน้ำผลไม้ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อย่างไหนเกษตรกรได้ประโยชน์มากกว่ากัน ?” โดยยกข้อมูลกรุงศรีรีเสิร์ช ซึ่งระบุว่า ในปี 2563 ตลาดเครื่องดื่มในไทยมีปริมาณการบริโภครวม 1.3 หมื่นล้านลิตร มูลค่าประมาณ 7.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คิดเป็นสัดส่วน 79:21 ในเชิงปริมาณการบริโภค และ 36:64 ในเชิงมูลค่า
“คิดง่ายๆ คือถ้าในเชิงปริมาณตลาดเครื่องดื่มไม่ใช่แอลกอฮอล์ใหญ่กว่าเกือบ 4 เท่า แต่ในเชิงมูลค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่า ซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกษตรกรจะได้รับ ...อันไหนใช้ผลผลิตการเกษตรต่อหน่วยเครื่องดื่ม (ลิตร) มากกว่า อันนั้นน่าจะช่วยเกษตรกรได้มากกว่า
ประเด็นดังกล่าว มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นอย่างล้นหลาม เสียงส่วนใหญ่มีแนวโน้มเชื่อว่าภาคการเกษตรจะได้รับอานิสงค์ที่เป็นผลดี ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและกระจายรายได้สู่ชุมชน อย่างความเห็นของ Phannakorn Chirapornthipsakul ที่ว่า “การทำสุราเสรี มีประโยชน์ในหลายมิติ เราสามารถพัฒนาอาชีพเพิ่มงานและสร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชนให้เติบโตได้ ลดการผูกขาดนายทุน สามารถเพิ่มตัวเลือกในการเก็บรักษาสินค้าการเกษตรได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง ได้เพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรไปในตัว ประกอบกับการทำ soft power สนับสนุนภูมิปัญญา วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวท้องถิ่นไปในตัว ได้ภาพลักษณ์ วันหนึ่งสุราพื้นบ้านเหล่านี้จะสามารถพัฒนามีชื่อเสียงและสามารถแข่งขันกับไวน์ เหล้าหมักที่มีมูลค่าในตลาดโลกได้ครับ”
แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมผลกระทบที่อาจตามมา อย่างที่ TOn PLoOkwOngcHueN บอกว่า “เห็นด้วยกับนโยบายสุราก้าวหน้า สุราชุมชน แต่ถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วอยากให้มีการเพิ่มโทษเรื่องเมาแล้วขับและบังคับใช้แบบเข้มข้นเคียงข้างกันไปด้วย เพื่อรักษาวินัยการดื่มไปด้วยพร้อมๆ กันครับ”
ทางด้านทางพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นต้นคิดปลุกปั้นสุราพื้นบ้านเป็นหนึ่งในสินค้าโอทอปมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นพรรคไทยรักไทย โพสต์คลิปชี้ว่าโอกาสของประเทศไทยเปิดกว้างขึ้นอีกครั้ง ตั้งแต่ปี 2544 พรรคไทยรักไทย เราพยายามผลักดันสุราพื้นบ้านและยกระดับสินค้าชุมชนพื้นบ้านหลายตัว สุราพื้นบ้าน คือหนึ่งในสินค้า OTOP ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน
“ปรากฏการณ์สุราชุมชน” ที่ได้รับความนิยมขายดีจนเกลี้ยงโรงงานรอบนี้ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ว่าที่ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างพ.ร.บภาษีสรรพสามิต หรือสุราก้าวหน้า ร่วมยินดีที่สุราชุมชนมียอดขายดีขึ้นเรื่อยๆ และบอกให้ผู้ประกอบการเก็บเงินทุนไว้ขยายโรงงานระหว่างรอกฎหมายปลดล็อกสุราเสรี
สำหรับนโยบายสุราก้าวหน้า นายเท่าพิภพยังจะผลักดันต่ออย่างแข็งขัน โดยวางไทม์ไลน์เมื่อจัดตั้งรัฐบาลเสร็จแล้วก็จะออกเป็นกฎกระทรวงแก้ไขเรื่องใบอนุญาตและเรื่องภาษี ในส่วนของสภาฯ จะมีร่างพ.ร.บ.สรรพสามิต เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีรัฐบาลไหนมาแก้กฎกลับมาได้อีก และอีกเรื่องคือ ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ที่ต้องปลดล็อก อย่างเช่นการโฆษณาที่เป็นปัญหามากในตอนนี้
ส่วนที่มีการเกรงว่าการปล่อยสุราเสรี จะทำให้มีนักดื่มเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนติดเหล้าหรือเกิดผลเสียนั้น เขาขอว่าอย่าปิดโอกาส เชื่อว่าตอนนี้จุดดุลยภาพของการผลิตหรือดื่มเหล้าเจ้าใหญ่เขาไกลกว่านี้ได้แต่ทำไมเขาไม่ไปเพราะเขาขายไม่ได้แล้ว ดื่มพอกันแค่นี้แล้ว สุราก้าวหน้าจะช่วยรายย่อย เป็นการกระจายรายได้ เขาไม่ได้ผลิตเยอะขึ้นหรอกและไม่ได้เสรีเหมือนกัญชา “...ฉะนั้นอย่าห่วง”
ทว่า ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ไม่ได้เชื่อเช่นนั้น และมีความเห็นสวนทาง เพราะไม่น่าจะจริงว่าจะไม่ทำให้เกิดการดื่มเพิ่มมากขึ้น
ภาคีเครือข่ายงดเหล้าออกแถลงการณ์ไม่คัดค้านนโยบายสุราก้าวหน้า เพราะเป็นนโยบายที่จะลดการผูกขาดของนายทุนใหญ่ เปิดโอกาสให้ผู้ค้ารายย่อยได้มีโอกาสผลิตและจำหน่าย ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการทำธุรกิจ แต่อย่าลืมว่าเมื่อผลิตออกมาแล้วจะต้องมีการจำหน่าย ต้องทำการตลาด ซึ่งเรื่องนี้งานวิจัยหลายชิ้นมีผลการศึกษาออกมาตรงกันว่าจะเพิ่มการดื่มแน่นอน
ผอ สคล. ยังแสดงความห่วงกังวลต่อกระแสข่าวที่ว่ารัฐบาลพรรคก้าวไกลจะผลักดันให้มีการโฆษณาอย่างเสรีด้วยว่าถ้าไม่ห้ามโฆษณานอกจากจะดื่มเพิ่มมากขึ้นแล้ว จะยิ่งเกิดนักดื่มหน้าใหม่ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีแนวโน้มดื่มเพิ่มมากขึ้น จะเป็นอันตรายเพราะจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมาก สิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ควรทำคือ การห้ามโฆษณาแฝงซึ่งปัจจุบันกลุ่มทุนใหญ่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังดำเนินการอยู่ แตกต่างจากบุหรี่ ยาสูบ ที่มีการห้ามแล้ว
จากการติดตามนโยบายสุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล ภก.สงกรานต์ มองว่า จนถึงขณะนี้ยังเห็นแต่เรื่องการทำธุรกิจเครื่องดื่มน้ำเมาที่มีอยู่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น แต่ไม่เห็นถึงมาตรการปกป้องกลุ่มคนที่ดื่มหรือไม่ได้ทำธุรกิจดังกล่าว ซึ่งมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 90 ปัจจุบันประเทศไทย มีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 30 ขณะร้อยละ 70 ไม่ได้ยุ่งเกี่ยว หากรัฐบาลชุดใหม่จะผลักดันนโยบายสุราก้าวหน้า ก็ควรให้ความสำคัญกับการออกมาตรการปกป้องคนกลุ่มนี้ด้วย
ไม่แต่องค์กรงดเหล้าที่แสดงความกังวลถึงผลพวงจากกระแสสุราชุมชนฟีเวอร์ ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” กำลังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป วันที่ 1 - 18 มิถุนายน 2566 ก็ต้องการเข้ามาควบคุมการบริโภค การจำหน่าย เพิ่มบทกำหนดโทษ และให้อำนาจหน้าที่เจ้าพนักงานใช้ดุลยพินิจในการเข้าตรวจสอบการกระทำผิด ฯลฯ จุดกระแสให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ ประเด็นที่เปิดรับฟังความเห็นของร่างกฎหมายดังกล่าว ประกอบด้วย สมควรกำหนดเวลาห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ขายเครื่องดื่มฯ ในเวลากำหนดห้ามขายหรือไม่, สมควรกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องแจ้งเตือน ควบคุมดูแล ห้ามปรามเพื่อไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาห้ามขายหรือไม่, สมควรกำหนดให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบหรือควบคุมเท่าที่จำเป็น ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าน่าจะมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่,
สมควรกำหนดโทษปรับเป็นพินัยไม่เกินห้าพันบาท สำหรับผู้ฝ่าฝืนที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่, สมควรกำหนดโทษปรับเป็นพินัยไม่เกินสามหมื่นบาท สำหรับผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบฯ ที่ไม่ดำเนินการตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และสมควรกำหนดโทษปรับเป็นพินัยไม่เกินห้าแสนบาท สำหรับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่มีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่
สำหรับที่มาที่ไปของร่างกฎหมายดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน พ.ย. 2564 สำนักเลขาฯ ครม.ได้ส่งร่างฯ ไปสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.
ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เสนอความเห็นให้นำประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 เรื่องกำหนดห้ามการดื่มสุรา ณ สถานที่ขายสุราในกำหนดเวลาห้ามจำหน่ายมารวมไว้ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย สธ.โดยกรมควบคุมโรค จึงนำความเห็นของสำนักงานกฤษฎีกามาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข และเปิดรับฟังความเห็น ซึ่งร่างพ.ร.บ.นี้อยู่ในชั้นเสนอร่างของหน่วยงานต่อ ครม. เพื่อพิจารณาในหลักการของร่างฯ อาจมีการปรับปรุงแก้ไขในในกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายอีก
เพจ “ประชาชนเบียร์” มองว่าร่างกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีขึ้นเพื่อกีดกันและคุมกำเนิดรายย่อยหนักกว่าเดิม ลามไปยังผู้บริโภคด้วย ไม่ได้เป็นห่วงประชาชนอย่างที่รัฐหลอกลวง
“ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสุรา ฉบับใหม่ ทำไมต้องโหวตไม่เห็นด้วยทุกข้อ? เพราะเอื้อให้เกิดการติดสินบน เปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่รีดไถ เพราะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่บุกตรวจ จับ ปรับได้ โดยไม่มีความผิด เป็นการให้อำนาจเกินความจำเป็น ...ดื่มหลังเที่ยงคืนในร้าน ปรับคนดื่ม 5,000 บาท ปรับคนขาย 30,000 บาท ต้องมีสติ๊กเกอร์ร้านเหล้าไหมครับ... ปรับผู้ผลิต-นำเข้า 500,000 บาท สำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่”
นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ กรรมการบริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ในฐานะประธานชมรมผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทย สะท้อนว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า เจ้าของสถานบันเทิงกลางคืน ผับ บาร์ ร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านข้าวต้มโต้รุ่ง กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมที่มีมินิบาร์ตามห้องพัก ธุรกิจท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบตามอย่างมาก ทั้งยังกระทบกับผู้บริโภคด้วย
“ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เดิม เปิดให้มีการซื้อขายได้ 2 ช่วงคือ 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. ไม่ได้มีการห้ามดื่ม แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ กำหนดการห้ามดื่มเอาไว้ .... ผับบาร์ที่เปิดได้ถึง 02.00 น. ปกติเขาจะขายเหล้าเบียร์และเช็กบิลก่อนเที่ยงคืน ... ผู้บริโภคเขามีสิทธิที่จะนั่งดื่มกินไปจนถึงร้านปิด 02.00 น. แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ลูกค้าที่ซื้อเหล้าและจ่ายเงินไปแล้วก็ไม่สามารถดื่มในร้านได้ การดื่มในร้านหลังเที่ยงคืนถือว่าเป็นความผิด และร้านก็จะมีความผิดด้วย อันนี้ผมว่าการท่องเที่ยวจะวินาศสันตะโร” ประธานชมรมผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ไทย ให้ความเห็นผ่านสื่อ
ที่น่ากังวลอีกเรื่องก็คือ ร่าง พ.ร.บ ฉบับนี้เพิ่มอำนาจให้กับเจ้า พนักงานของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่อนข้างมาก (มาตรา 34) สามารถทำได้เหมือนหน่วยเฉพาะกิจ ตั้งแต่การเข้าไปตรวจสอบ เรียกดูบัตรประชาชน ยึดอายัด เรียกให้เข้ามาให้ปากคำ เท่ากับว่ามีอำนาจทำแทนตำรวจได้ทั้งหมด จากเดิมที่จะต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือที่ผ่านมา กรณีที่กรมสรรพสามิต จะเข้าตรวจสอบก็ต้องมีตำรวจไปด้วย
นอกจากนั้น ยังมีในส่วนของการโฆษณา (มาตรา 32) ก็ห้ามโฆษณาแบบเด็ดขาดมากขึ้น และยังห้ามในเรื่องของการทำซีเอสอาร์ และห้ามเผยแพร่ด้วย
การห้ามโฆษณาเด็ดขาดไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่ได้กระทบแค่ทุนน้ำเมาเจ้าสัวเท่านั้น แต่กระทบรายเล็กรายย่อยที่กำลังฟดฟื้นจากกระแสสุราชุมชนฟีเวอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างแอดมินเพจประชาชนเบียร์ ก็เจอแจ้งข้อหาโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากโพสต์ที่เอ่ยถึงชื่อยี่ห้อสุราชุมชน
แม้แต่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ยังเจอ “นักร้อง” นายศรีสุวรรณ จรรยา ไปร้องเอาผิดกรณีที่ไปพูดชื่อเหล้าออกสื่อด้วยเช่นกัน
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การปลุกกระแสสุราชุมชนฟีเวอร์ ทลายทุนผูกขาด ปลดล็อกข้อจำกัดคลายปมเงื่อน สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมคำนึงถึงคือผลกระทบหลากหลายมิติที่จะตามมาทั้งด้านบวกและด้านลบ