ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การยกกระดับเพื่อขับเคลื่อนสู่ “รัฐบาลดิจิทัล” ของประเทศไทยเป็นรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือการจัดตั้ง “สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (สขญ.)” หรือ “Big Data Institute (Public Organization) (BDI)” ยกระดับหน่วยงานรัฐเดิมให้เป็นหน่วยงานนิติบุคคลภายใต้กำกับกระทรวงดีอีเอส ทำหน้าที่บูรณาการ “บิ๊กดาต้า (Big Data)” หรือ “ข้อมูลขนาดใหญ่” ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2566 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2566 แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งส่งเสริม ประสาน และวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืน โดยเป็นการยกฐานะเดิมของสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ (สวข.) (GBDI) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เปิดเผยว่าที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย DEPA มุ่งขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญระดับชาติ โดยบูรณาการการทำงานไปแล้วกว่า 100 โครงการกับ 67 หน่วยงาน พร้อมกันนี้ ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (Health Link) ระบบรวบรวมข้อมูลด้านการท่องเที่ยว (Travel Link) ระบบเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและเยาวชน (Youth Link) และระบบเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (CO-Link) เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนไทย ซึ่งการยกระดับครั้งนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ บิ๊กดาต้าเป็นชุดข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ยังไม่สามารถนำข้อมูลของทุกหน่วยมากองรวมกันได้ ด้วยชั้นความลับ หรือความเป็นเจ้าของข้อมูล ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือการเชื่อมโยงเข้ามูล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึง สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะเรื่องที่มีความร่วมมือด้วยกันได้ โดยที่ผ่านมามีการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลไปแล้วกับภาคสุขภาพ การศึกษา และการท่องเที่ยว เป็นต้น
กล่าวสำหรับการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลนั้น นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ระบุว่า มีการทำคลอดแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2566 – 2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ “บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน” โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้บริการตอบสนองประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำ (Responsive Government) ส่งเสริมความสามารถการแข่งขันภาคธุรกิจ (Enhance Competitiveness) โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ประชาชนเชื่อถือและมีส่วนร่วม (Open Government & Trust) และภาครัฐปรับตัวทันเวลา (Agile Government) เพื่อพัฒนาบริการที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้ พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ และร่วมกันบูรณาการข้อมูลและกระบวนงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อการบริหารงานที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว
การเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digital Government หรือ รัฐบาลดิจิทัล เป้าหมายคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มันลื่นไหลมากขึ้น และสิ่งที่ตามมาหลังจากกระบวนการเปลี่ยนผ่านนั้นก็คือ Open Government หรือการเปิดรัฐบาลเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดย ให้ความสำคัญกับ “ข้อมูล” สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงาน หรือ นำข้อมูลมาต่อยอด เพื่อสร้างประโยชน์แก่ประชาชน เอกชน และภาครัฐให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และนำมาต่อยอดเพื่อเป็นตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จาก Big Data
อาทิ ด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางข้อมูลด้านสวัสดิการ (Welfare Platform) หน่วยงานได้จัดทำบริการด้านสวัสดิการให้สามารถใช้บริการได้ผ่านระบบดิจิทัล (Digital Service) แบบครบวงจร “รู้ ยื่น จ่าย รับ” โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิ์สวัสดิการของตนได้แบบเบ็ดเสร็จ และเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
โครงการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transcript) มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกทั้งนิสิตนักศึกษาและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ลดภาระงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสาร รวมถึงลดงบประมาณของมหาวิทยาลัยในการออกเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบกระดาษ เพื่อยกระดับการศึกษาไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม
หรือด้านการระบบกลางด้านกฎหมาย (Law Portal) มีการเปิดให้หน่วยงานของรัฐนำร่างกฎหมายมาเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และประเมินผลสัมฤทธิ์ผ่านระบบกลางฯ ตาม พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ พ.ศ. 2562 รวมถึงเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมาย และร่วมประเมินผลสัมฤทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.law.go.th รวมถึงมีการให้บริการศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (GDX) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถเชื่อมโยงข้อมูลของประชาชนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการขับเคลื่อนด้วย Big Data ได้อย่างเต็มรูปแบบ และสอดคล้องกับสาระสำคัญ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 จึงได้มีการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Innovation & Governance Institute: DIGI) ขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐให้มีคุณภาพตามกรอบธรรมาภิบาล นำไปสู่การเปิดเผย เชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมข้อมูลสำหรับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลและประเทศอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมา มีโครงการที่ประสบความสำเร็จและสร้างผลประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจและสังคมที่โดดเด่น เช่น พร้อมเพย์ และระบบภาษีออนไลน์ และแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทย พ.ศ. 2563 - 2565 ที่กำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาประเทศ ได้มีการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม เช่น โครงการ Digital Transcript เป็นโครงการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐทั่วไปยังได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อการบริหารจัดการและการบริการประชาชนในวงกว้าง
อนึ่ง จากการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations E-Government Survey) ที่ประเมินการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศสมาชิก 193 ประเทศ โดยใช้ดัชนีการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGDI) ในการพิจารณา ซึ่งตัวดัชนีมี 3 องค์ประกอบที่มีน้ำหนักเท่ากัน ได้แก่ 1) ดัชนีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (Telecommunication Infrastructure Index : TII) ที่วัดจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต มือถือ และบรอดแบนด์ต่อจำนวนประชากร 2) ดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index : HCI) วัดจากคุณภาพการศึกษาของแต่ละประเทศ โดยใช้ตัวชี้วัดเช่น ระดับการศึกษาประชากร และจำนวนปีที่ได้รับการศึกษา เป็นต้น และ 3) ดัชนีบริการทางออนไลน์ (Online Service Index : OSI) วัดจากแบบสอบถามเกี่ยวกับบริการสาธารณะออนไลน์ของภาครัฐ ผลปรากฎว่าไทยมีคะแนน EGDI อยู่ในอันดับที่ 57 จาก 193 ประเทศในปี 2020 โดยมีค่าดัชนี EGDI อยู่ที่ 0.76 จัดอยู่ในระดับที่มีการพัฒนาของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่ค่อนข้างสูง (จากการจัดของ UN) แต่ก็ยังเป็นรองบางประเทศในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ (อันดับที่ 11) มาเลเซีย (อันดับที่ 47)
สุดท้าย การประยุกต์ใช้งานชุดข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ของรัฐโดยหน่วยงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จะสร้างประสิทธิที่ดีผลต่อประชาชนคนไทย Big Data คือส่วนประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคม และเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของรัฐบาลใหม่ สำหรับการขับเคลื่อนสู่รัฐบาลดิจิทัล