"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ประชาชนมีมติเลือกพรรคก้าวไกลมากเป็นลำดับหนึ่ง ทำให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยตามปกติ เราก็จะได้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่ที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนในเร็ววัน ทว่า เนื่องจากการเมืองไทยระบอบประชาธิปไตยถูกทำให้บิดเบี้ยวโดยคณะรัฐประหาร การจัดตั้งรัฐบาลจึงยังคงมีความไม่แน่นอนดำรงอยู่ ประกอบกับนโยบายที่กำหนดโดยกระบวนทัศน์ทางการเมืองแบบใหม่ของพรรคก้าวไกลมีแนวโน้มว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบกับโครงสร้างอำนาจแบบเดิมอย่างใหญ่หลวง ขบวนการสกัดขัดขวางมิให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลได้จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ
หากพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จจะก่อให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อผลประโยชน์และอำนาจแก่ “กลุ่มจตุภาคีแห่งอำนาจ” ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มนักการเมืองแบบเก่า กลุ่มนายทุนผูกขาด เครือข่ายอดีตคณะรัฐประหาร และรัฐบาลต่างชาติที่ใกล้ชิดกับผู้อำนาจรัฐไทยในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็เป็นการสลายความหวังในการกลับเข้าประเทศของนายทักษิณ ชินวัตรด้วย
จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะนี้ เราสามารถอนุมานได้ว่า อาจมีการก่อตัวเป็นพันธมิตรชั่วคราวของ “จตุภาคีแห่งอำนาจ” เพื่อทำลายโอกาสการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลโดยใช้ยุทธวิธีที่หลากหลายเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
การทำลายสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งของนายพิธา เป็นยุทธวิธีแรกที่ถูกหยิบมาใช้ โดยมีการร้องเรียนว่า นายพิธาถือหุ้นสื่อไอทีวี ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามในการสมัคร ส.ส. เท่าที่ข้อมูลปรากฏในสาธารณะ ทำให้สรุปได้อย่างชัดเจนว่า การร้องเรียนเรื่องนี้มีลักษณะเป็นขบวนการที่มีการจัดตั้งและเตรียมการมาเป็นอย่างดี เห็นได้จากการพยายามฟื้นคืนชีพแก่ไอทีวีที่หยุดกิจการสื่อไปแล้วตั้งแต่ปี 2550 ให้กลายมาเป็นสื่ออีกครั้งในปี 2565 มีการเปลี่ยนแปลงข้อความในแบบนำส่งงบการเงินปี 2565 ช่องสินค้าและบริการให้แตกต่างจากปีก่อน ๆ โดยเปลี่ยนจาก “ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ” เป็น *“สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” พร้อมทั้งมีการจัดเตรียมบุคคลให้สอบถามประเด็นนี้ในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีในปลายเดือนเมษายน 2566
เมื่อข้อมูลในเรื่องนี้เปิดเผยสู่สาธารณะมากขึ้น ผู้ติดตามการเมืองก็พอจะมองเห็นภาพเงาที่เลือนลางในช่วงแรกได้อย่างชัดเจน มีความเป็นไปได้สูงว่ากลุ่มปริศนาที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้จะเป็นกลุ่มทุนผูกขาดด้านพลังงาน ที่กลัวสูญเสียผลประโยชน์จากนโยบายการปรับโครงสร้างพลังงานของพรรคก้าวไกล และอาจรวมถึงพรรคการเมืองบางพรรคที่ได้ประโยชน์จากการสูญเสียตำแหน่งแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลด้วย
หากนายพิธา หมดสิทธิการเป็น ส.ส. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง อย่างแรกคือ ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลก็คงต้องหาบุคคลที่มีสิทธิขึ้นมาแทน ซึ่งจะเป็นใครอื่นไม่ได้ นอกจากแคนดิเดตคนใดคนหนึ่งในสามคนของพรรคเพื่อไทย ก่อนหน้านี้ มีข่าวลือหนาหูในสาธารณะว่า พรรคเพื่อไทยมีดีลลับในการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย ต่อมาข่าวนี้ก็ถูกปฏิเสธโดยแกนนำของพรรคเพื่อไทย และมีการยืนยันอย่างหนักแน่นจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยว่า จะร่วมมือกับพรรคก้าวไกลอย่างมั่นคง ดังนั้นในแง่หนึ่งก็น่าจะเชื่อได้ว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีส่วนร่วมในขบวนการนี้
ทว่า ในอีกแง่หนึ่ง มีนักวิเคราะห์บางคนโต้แย้งได้ว่า ก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันที่ความปรารถนาในอำนาจและความอยากกลับบ้านของนายทักษิณ ชินวัตร ทำให้ต้องพิจารณาความจริงอีกด้านที่แตกต่างจากสิ่งที่ปรากฏอย่างเป็นทางการในสาธารณะ และถ้านำเรื่องสายสัมพันธ์ที่ดีในอดีตระหว่างแกนนำบางคนกับกลุ่มทุนพลังงานมาประกอบการวิเคราะห์แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีกลุ่มอำนาจบางกลุ่มในพรรคเพื่อไทยดำเนินงานการเมืองแตกต่างจากบรรดาแกนนำที่เป็นทางการของพรรค
จากการที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้ร้องนายพิธาเรื่องการถือหุ้นสื่อเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ บุคคลนี้สามารถเข้านอกออกในมูลนิธิบ้านป่ารอยต่ออันเป็นที่พำนักของหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐได้อย่างสะดวก ทำให้ในการวิเคราะห์ไม่สามารถตัดพรรคพลังประชารัฐออกจากขบวนการสกัดนายพิธาได้ เพราะหากนายพิธาหมดสิทธิการเป็นนายกรัฐมนตรี จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพรรคและขั้วการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลตามมา และนั่นหมายถึงโอกาสของพรรคพลังประชารัฐที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลใหม่ได้
มีอีกพรรคหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวพันกับเรื่องนี้ เพราะมีเหตุการณ์ที่บ่งถึงความเชื่อมโยงบางอย่างนั่นคือ บุคคลที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานะการเป็นสื่อของไอทีวีในที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพฯของพรรคภูมิใจไทย จึงอาจอนุมานได้ว่าสมาชิกบางคนของพรรคนี้มีส่วนร่วมขบวนการสกัดนายพิธา ส่วนแกนนำพรรคจะมีส่วนร่วมหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่หลักฐานที่เชื่อมโยงไปถึง ยกเว้นการพบปะกันระหว่างนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกับนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ซึ่งทั้งคู่ก็ปฏิเสธว่าเป็นการพบปะเพราะชอบเรื่องกีฬาเหมือนกัน ไม่มีการพูดคุยดีลลับทางการเมืองแต่อย่างใด แต่ผู้คนจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ความจริงทางการเมืองอย่างหนึ่งคือ ไม่มีพรรคการเมืองแบบเก่าพรรคใดที่อยากเป็นฝ่ายค้าน ดังที่อดีตนักการเมืองผู้ล่วงลับท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า *“การเป็นฝ่ายค้านทำให้อดอยากปากแห้ง” * กล่าวได้ว่าพรรคการเมืองแบบเก่าทุกพรรคต่างพยายามดิ้นรนช่วงชิงโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลให้ได้ และใช้กลวิธีและอุบายทุกอย่างเท่าที่จะหามาได้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ โดยไม่สนใจว่าต้องแลกมาด้วยสิ่งใด
อย่างไรก็ตาม ยุทธการทำลายสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งและการเป็นแคนดิเดตของนายพิธา ด้วยประเด็นการถือหุ้นสื่อมีแนวโน้มล้มเหลวสูง เพราะนายพิธาได้ขจัดเงื่อนไขนี้ไปแล้ว นั่นคือ การทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกอย่างสมบูรณ์ ด้วยการโอนหุ้นไอทีวีให้แก่ทายาทของเจ้าของมรดกในปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งทำให้ในทางกฎหมายถือว่า นายพิธามิได้ครอบครองหุ้นไอทีวี และนับย้อนหลังตั้งแต่วันที่เจ้าของมรดกเสียชีวิต สรุปเรื่องการถือหุ้นสื่อก็จบลงเพียงเท่านี้ แต่กระนั้นขบวนการเหล่านี้ก็อาจไปขุดเรื่องอื่น ๆ ขึ้นมาอีกก็ได้ในอนาคต
ยุทธวิธีสกัดนายพิธา ที่สำคัญอีกประการคือ การปั่นกระแสสร้างความหวาดกลัวเพื่อจูงใจให้สมาชิกวุฒิสภาลงมติไม่เลือกนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี การปั่นกระแสนี้เกิดจากกลุ่มสองกลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือกลุ่มขวาจัด ประเด็นหลักที่ถูกนำมาสร้างกระแสเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งมีการขยายความเลยเถิดไปจนถึงระดับการยกเลิกมาตรา 112 และมี ส.ว.บางคนวาดภาพว่าหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงในอนาคต กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่อาจสูญเสียผลประโยชน์จากนโยบายของพรรคก้าวไกล เช่น ผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับนโยบายต่างประเทศ นโยบายพลังงาน และนโยบายกัญชา กลุ่มนี้วาดภาพว่าพรรคก้าวไกลจะยอมให้สหรัฐอมริกามาตั้งฐานทัพในไทย และจินตนาการไปไกลว่าจะทำให้ประเทศไทยเดินเข้าสู่ภาวะสงครามเหมือนประเทศยูเครน มี ส.ว. จำนวนหนึ่งเชื่อเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ถึงกับนำมาพูดในที่สาธารณะและถามพรรคก้าวไกล แน่นอนว่า หากมี ส.ว. เชื่อเรื่องเหล่านี้เป็นจำนวนมากก็จะทำให้จำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติเลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีอาจไม่ถึง 376 คน
ความพยายามในการสกัดนายพิธาและพรรคก้าวไกลไม่ให้จัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งที่พรรคได้รับชัยชนะอย่างขาวสะอาดในการเลือกตั้ง และได้รับการยอมรับจากประชาชนด้วยจำนวนมากที่สุดทั้งในแง่คะแนนเสียงโดยตรงจากประชาชนและจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร เป็นอาการของคนที่ไม่ยอมรับกติการะบอบประชาธิปไตย เป็นอาการของคนที่หวาดกลัวกับการสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์จากระบบการเมืองแบบเก่าที่เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ ไร้ประสิทธิภาพ และฉ้อฉล และเป็นอาการของคนที่คำนึงแต่อัตตาและประโยชน์ของตนเองโดยไม่แยแสผลประโยชน์ส่วนรวม
*ประชาชนส่วนใหญ่ได้แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนแล้วว่า พวกเขาปรารถนาการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การกระทำที่ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของประชาชนย่อมผิดครรลองคลองธรรม และอาจส่งผลสืบเนื่องที่ไม่อาจคาดหมายตามมา