xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ชัชชาติ” ขอรื้อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง “อสังหาฯ” หนุน “คลัง” เมิน “พิธา” อุบไต๋

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  กลายเป็นประเด็นที่น่าจับตามองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่กับการผลักดันให้ทบทวนมาตรการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หยิบยกขึ้นมาพูดคุยกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อเร็วๆ นี้ 

การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ตั้งเป้าหมายจะมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและเพิ่มการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ ไฉนถึงไม่เป็นไปอย่างที่ว่า ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งฝากการบ้านเรื่องนี้ต่อรัฐบาลใหม่ แจงว่า เดิมการเก็บภาษีโรงเรือนจะคิดจากรายได้ 12.5% เพื่อมาเป็นรายได้ของเขต แต่เมื่อเปลี่ยนรูปแบบภาษีใหม่โดยคิดตามมูลค่าที่ดินทำให้การจัดเก็บภาษีมีรายได้ลดลง ยกตัวอย่างเขตพญาไท ก่อนเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษี สามารถจัดเก็บได้ประมาณ 300 ล้านบาท แต่ตอนนี้ลดลงเหลือประมาณ 200 ล้านบาท

ส่วนห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในพื้นที่พญาไท เดิมเสียภาษี 10 ล้านบาท แต่เมื่อเก็บภาษีรูปแบบใหม่ เสียภาษีเพียง 1 ล้านบาท ลดลงถึง 10 เท่า หรืออาคารสำนักงานใหญ่แห่งหนึ่ง เดิมเสียภาษีกว่า 11 ล้านบาท เพราะคำนวณจากค่าเช่าภายในสำนักงาน แต่เมื่อคิดภาษีรูปแบบใหม่ เหลือเพียง 3 ล้านบาท เพราะคิดตามมูลค่าที่ดิน และยิ่งเป็นอาคารเก่าก็ต้องคิดค่าเสื่อมเพิ่มไปอีก ขณะที่ห้องเช่าซึ่งเป็นอาคาร เดิมเก็บได้ 4 ล้านกว่าบาท ภาษีใหม่เก็บได้เพียง 7 หมื่นกว่าบาท เพราะเจ้าของได้ย้ายชื่อมาอยู่ในห้องเช่ากลายเป็นที่อยู่อาศัยและจะเสียภาษีในอีกอัตราหนึ่ง เรื่องนี้ต้องฝากไปถึงรัฐบาลและรัฐสภาใหม่เพื่อทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำได้จริง

 “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ใช้วิธีคิดจากการประเมินราคาที่ดินของกรมธนารักษ์ ซึ่งมีเจ้าของกรรมสิทธิ์บางคนได้ประโยชน์ บางคนเสียประโยชน์ เช่น ที่ดินประเภทเกษตรกรรม ที่ต้องคิดตามอัตราภาษีจริง ไม่ใช่เกษตรจำแลงเหมือนในเมือง คงมีจุดที่ท่านพิธา น่าจะมองเตรียมข้อนี้อยู่แล้ว....” นายชัชชาติ กล่าวถึงการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับนายพิธา เมื่อคราวร่วมเปิดกิจกรรมแคมเปญ The Road to Bangkok Pride 2023 วันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ว่า “กรุงเทพฯมีปัญหา 2-3 เรื่องอย่างที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เคยให้สัมภาษณ์ เรื่องเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดิน ทางพรรคได้เตรียมประเด็นนี้ไว้แล้ว”  

เอาเป็นว่า สองผู้นำ พิธา-ชัชชาติ จะหยิบยกเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาคุยกันต่ออีกแน่ๆ ส่วนจะเตรียมการเอาไว้อย่างไร รายละเอียดต่างๆ คงจะชัดเจนขึ้นหลังจากนี้

ท่าทีของผู้ว่าฯ กทม. ต่อประเด็นการขอให้ทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น มีมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยก่อนหน้านี้ เมื่อปลายปี 2565 นายชัชชาติทำหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเภทที่ดินเกษตรกรรมแยกย่อยตามโซนผังเมืองรวม ได้แก่ โซนสีแดงที่ดินประเภทพาณิชยกรรม โซนสีน้ำตาลที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก โซนสีม่วงที่ดินประเภทอุตสาหกรรม และโซนสีเม็ดมะปรางที่ดินประเภทคลังสินค้า ในกรณีเจ้าของนำที่ดินมาปลูกกล้วย มะม่วง มะนาว เพื่อให้เข้าเกณฑ์เกษตรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะปรับอัตราเพิ่มจากปัจจุบันเก็บในอัตรา 0.01-0.1% เป็นเก็บเต็มเพดาน 0.15% หรือจากล้านละ 100 บาท เป็นล้านละ 1,500 บาท

อย่างไรก็ดี คำร้องขอของ กทม. ถูกตีตก หลังคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พิจารณาว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำกับพื้นที่เกษตรบริเวณชานเมืองของกทม. และขัดต่อกฎหมายภาษีที่ดิน รวมถึงกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

ถึงแม้กระทรวงการคลังจะปฏิเสธ แต่นายชัชชาติ มุ่งมั่นเดินหน้าผลักดันการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่เพิ่มขึ้นจากที่กฎหมายกำหนดสำหรับที่ดินในพื้นที่สีแดง (พาณิชยกรรม) อย่างไม่ลดละ

“สิ่งที่เราอยากทำคือ ถ้าที่ดินเป็นเกษตรกรรมในผังเมืองสีแดง ขอให้เก็บแพงได้หรือไม่ แต่กระทรวงการคลังไม่ให้ จะหารือกับรัฐบาลใหม่ให้ช่วยผลักดันเรื่องนี้ เพราะถ้าทำได้จะเป็นเรื่องที่ดี ทำให้กทม.มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากทม.เสียรายได้จากตรงนี้ไปประมาณ 800 ล้านบาท” นายชัชชาติ กล่าว

เมื่อ กทม.ยืนยันจะผลักดันเรื่องนี้ต่อ นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล  ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จึงออกมาอธิบายความเป็นมาและสถิติการจัดเก็บรายได้เกี่ยวกับภาษีที่ดินฯในช่วงที่ผ่านมา สรุปรวมความได้ว่าภาษีที่ดินฯ จึงถูกนำมาใช้แทนการจัดเก็บภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่เมื่อปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีฐานทรัพย์สิน อย่างไรก็ดี ในปี 2563 – 2565 ซึ่งเป็นช่วงระยะ 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ มีการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี ทำให้ กทม. มีรายได้ภาษีที่ดินฯ น้อยกว่าเดิม

กล่าวคือ เดิม กทม.จัดเก็บภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวนประมาณ 15,300 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นจัดเก็บภาษีได้ประมาณ1,256 ล้านบาท 1,802 ล้านบาท และ 12,347 ล้านบาท ตามลำดับ (ข้อมูล ณ เดือน กันยายน 2565) โดยมีแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ภาษีที่สูงขึ้นและใกล้เคียงกับรายได้จากการจัดเก็บที่ กทม.

นอกจากนี้ ในระยะต่อไปคาดว่า กทม. จะมีรายได้ภาษีที่ดินฯ เพิ่มขึ้นจากฐานภาษีที่สูงขึ้น เนื่องจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีจะมีการปรับปรุงทุก ๆ 4 ปี โดยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ประกอบกับ กทม. ยังสามารถจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จากผู้เสียภาษีที่แต่เดิมเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างไม่เคยมาแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่

ขณะเดียวกันหากยังต้องการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ มาตรา 37 วรรคหก แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ยังให้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ให้สูงขึ้นกว่าที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 ได้ ทั้งนี้ อัตราภาษีดังกล่าวจะต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ

สำหรับท่าทีจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีทั้งให้สนับสนุนและข้อเสนอแนะ กทม.ผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนัก โดย  นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารและรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ มองว่าในความเป็นจริงการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกต้องตามหลักสากล แต่การกำหนดเกณฑ์ในการจัดเก็บอาจจะต้องทบทวน หากมองแยกส่วนในแง่ที่ดินเปล่าน่าจะคำนึงถึงประโยน์การใช้สอยในพื้นที่นั้นๆ ถ้าอยู่ในผังเมืองสีแดงอาจจะต้องมีอัตราการจัดเก็บที่สูงขึ้นมาโดยต้องดูความเหมาะสม แต่ไม่เห็นด้วยกับการกลับไปใช้ภาษีโรงเรือนอีกครั้งเหมือนถอยหลังเข้าคลองเพราะต้องไปแก้กฎหมายใหม่หมด ซึ่งทุกอย่างคงต้อรอรัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการ

ทางด้าน  นายอิสระ บุญยัง  กรรมการผู้จัดการบริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินว่าการที่นายชัชชาติจะขอให้รัฐบาลใหม่ทบทวนภาษีที่ดินใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากจะกำหนดอัตราจัดเก็บใหม่โดยไม่เกินเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้นั้นถือว่าดำเนินการได้ เพราะกฎหมายให้ท้องถิ่นกำหนดอัตราจัดเก็บได้อยู่แล้ว โดยอัตราเพดานที่ดินเกษตรกรรมไม่เกิน 0.15% บ้านพักอาศัยไม่เกิน 0.3% ที่ดินอื่นๆ และรกร้างว่างเปล่าไม่เกิน 1.2%

ที่สำคัญคือ การกลับมาใช้ภาษีโรงเรือนคงเป็นเรื่องยาก เพราะกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ออกประกาศใช้แล้วเพียงแต่ว่าจะปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพได้มากขึ้นอย่างไร โดยนำเรื่องผังเมืองเข้ามาใช้ประกอบในการจัดเก็บภาษี จากก่อนหน้านี้ทางภาคเอกชนได้นำเสนอไปแต่รัฐบาลไม่ได้นำมาใช้ เชื่อว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพราะในท้องถิ่นเขาจะรู้อยู่แล้วว่าเป็นการปล่อยรกร้างหรือว่าทำสวนทำไร่จริง หากสามารถทำได้จริงจะเกิดประโยชน์กับภาครัฐ ประชาชนส่วนรวม หลายเรื่องสามารถปรับแก้ได้ คงต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการ

 นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะมีการทบทวนภาษีที่ดินใหม่ แต่ระหว่างนี้จะขอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาการลดหย่อนภาษีออกไปอีก 1-2 ปี รอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ เนื่องจากหลังโควิดทำให้รายได้ของภาคธุรกิจยังกลับมาไม่เหมือนเดิม โดยขอเก็บภาษีเป็นขั้นบันได ในปี 2567 จัดเก็บ 50% ปี 2568 เก็บ 75% และปี 2569 ถึงเก็บ 100% รวมถึงชะลอการปรับขึ้นราคาประเมินใหม่ในระหว่างรอบปีด้วย เพราะเพิ่งปรับขึ้นไป 8.93% เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 แม้รัฐจะลดภาษีที่ดินให้ 15% แต่เมื่อหักลบกับราคาประเมินแล้วแทบไม่ได้ลดภาระให้เลย

 การผลักดันให้ทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกทม.ต่อรัฐบาลใหม่ แม้จะยังไม่มีการตอบรับที่ชัดเจนในรายละเอียด แต่การเมืองมิติใหม่ที่ก้าวไกลกับกทม.พร้อมจับมือทำงานร่วมกัน คงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า(ถ้าสามารถจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ) 


กำลังโหลดความคิดเห็น