xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ทาสแมว” ดันมูลค่า Pet Economy นิยมเลี้ยงสัตว์เป็นสมาชิกในครอบครัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หนึ่งในเรื่องราวชวนอมยิ้มรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่พ้นเรื่องของอุบัติเหตุ “เจ้าชิฟู” แมวอ้วนตกตึก 6 ชั้น ทะลุกระจกหลังรถยนต์แตก แต่เจ้าตัวบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยแค่เล็บหลุด ในอีกมุมหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทาสแมวมีอยู่ทุกที่ แถมปรนนิบัติพัดวีสัตว์เลี้ยงเหมือนลูกเสมือนสมาชิกในครอบครัว แต่กรณีนี้ผิดตรงที่เจ้าของแมวชิฟูฝ่าฝืนกฎคอนโดห้ามเลี้ยงสัตว์ ซึ่งยอมรับความผิดแต่โดยดีย้ายแมวอ้วนไปอยู่ในบ้านต่างจังหวัดแล้ว  

โดยในปัจจุบันกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากรุกธุรกิจรับเทรนด์ Pet Humanization หรือการเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่  ที่นิยมเลี้ยงเสมือนลูกเป็นสมาชิกในครอบครัว ทำให้เหล่าผู้พัฒนาโครงการ (Developer) มีการออกแบบโครงการรองรับกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์มากขึ้น เพื่อทำการตลาดให้เข้าถึงและตรงใจกลุ่มลูกค้า ดึงดูดด้วยการอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ในคอนโดได้ เป็นการตอบโจทย์ในการอยู่อาศัยร่วมกับสัตว์เลี้ยง มองว่าการปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงไม่ใช่เป็นแค่สัตว์เลี้ยงหากแต่เป็นสมาชิกในครอบครัว

พฤติกรรม Pet Humanization ยังส่งผลให้มูลค่าการใช้จ่ายต่อสินค้าและบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้รับความนิยมพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลบวกต่อ Pet Economy ดันอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดสัตว์เลี้ยงที่โตทะลุหมื่นล้านบาท มูลค่ายอดใช้จ่ายของเจ้าของสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยต่อคนที่สูงถึง 10,000 - 20,000 บาทต่อปี

 ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าตลาดธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงทั่วโลกในปี 2569 จะมีมูลค่าถึง 6.9 ล้านล้านบาท สำหรับประเทศไทยตลาดมีมูลค่าราว 40,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 10% ทุกปี โดยในหมวดอาหารมีสัดส่วนประมาณ 45% ตามด้วยธุรกิจดูแลสัตว์ (โรงพยาบาล, คลินิก) 32% และเสื้อผ้าเครื่องประดับ 23% ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 14,200 บาทต่อปี  

โดยปัจจัยบวกที่ทำให้ตลาดยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มาจากไลฟ์สไตล์และมายด์เซตของคนในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด - 19 ทำให้คนเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อน ซึ่งเป็นผลพวงการระบาดตั้งแต่ช่วงแรกๆ ทำให้คนต้องอยู่แต่บ้าน คนจึงมองหากิจกรรมคลายเครียดหาสัตว์มาเลี้ยง หรือคนโสดและไม่ต้องการมีลูกมากขึ้น การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนถือเป็นอีกทางเลือก รวมทั้ง การเข้าสู่สังคมสูงวัย ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้น มีสัดส่วน 10% ของประชากรทั้งประเทศ การเลี้ยงสัตว์ไว้คลายเหงาก็เป็นหนึ่งในเทรนด์ เป็นต้น

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ เผยว่าการเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนเป็นครอบครัวเข้ามามีบทบาทสำคัญและมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยธุรกิจบริการดูแลสัตว์เลี้ยงที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย (ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565) มีจำนวน 562 ราย คิดเป็น 0.06% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 1,359.60 ล้านบาท คิดเป็น 0.006% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย

ในจำนวนนี้ การลงทุนของคนไทย มีมูลค่าการลงทุน 1,334.93 ล้านบาท คิดเป็น 98.19 % ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 5.15 ล้านบาท ( 0.38%) รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 5.02 ล้านบาท ( 0.37%) อังกฤษ มูลค่า 3.88 ล้านบาท ( 0.29%) และอื่นๆ มูลค่า 10.62 ล้านบาท ( 0.77%)

โดยการเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยไปเป็นในทิศทางเดียวกับตลาดโลก ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์หน่วยงานเก็บข้อมูลสถิติระดับโลก คาดการณ์ว่า ปี 2569 ตลาดสัตว์เลี้ยงทั่วโลก จะมีมูลค่าสูงถึง 217,615 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2% ซึ่งตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยก็เติบโตสอดคล้องไปกับตลาดโลกเช่นกัน

ข้อมูลจาก Kantar Worldpanel ในประเทศไทย พบว่าไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 เทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2021 จํานวนครัวเรือนที่เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยจํานวนครัวเรือนที่มีสัตว์เลี้ยงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เติบโตเร็วกว่าในพื้นที่อื่นๆ และยังพบว่าครัวเรือนที่มีสัตว์เลี้ยงมีพฤติกรรมที่ค่อนข้างคล้ายกับครัวเรือนที่มีเด็ก กล่าวคือต้องการสรรหาสินค้าที่ดีที่สุดให้กับสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจในตลาด Pet Economy ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่ยังมีช่องว่างในการเข้าสู่ตลาด

 ปัจจุบันตลาดสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในไทยมีมูลค่าราว 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง 75-85% หรือ 15,000-17,000 ล้านบาท ซึ่งมูลค่านี้มีการเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโรคโควิด-19 และคาดว่าในปี 2566 ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงจะเติบโตกว่า 20% นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับ 4 ของโลก โดยปี 2565 ไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมากถึง 5.35 แสนตัน มูลค่ากว่า 4.47 

อย่างไรก็ดี การเติบโตของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2566 มาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ ประการแรกแมวถูกเลี้ยงมากขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงโรคโควิด-19 ระบาด เพราะความน่ารักของแมว และสะดวกในเรื่องการเลี้ยงดูแลเรื่องสถานที่ ซึ่งทำให้อาหารแมวมีอัตราการเติบโตมากกว่าอาหารสุนัข ประการที่ 2 อาหารสัตว์เลี้ยงระดับพรีเมียมเติบโตขึ้น เนื่องจากผู้เลี้ยงต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดให้กับสัตว์เลี้ยง

 นายวรพัทธ์ อัครกุลไกรเลิศ  นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงไทย (TPIA) กล่าวถึงทิศทางของผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในปี 2566 ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 8-10% ปัจจุบันแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเลี้ยงแบบลักษณะความเป็นเจ้าของ หรือ Ownership กลายเป็นการเลี้ยงแบบความผูกพันเหมือนคนในครอบครัว หรือ Pet Humanization และต้องการเลือกสิ่งที่ดีมีคุณภาพให้กับสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ และบริการต่างๆ

โดยกลุ่มลูกค้าที่เติบโตย่างต่อเนื่องจะเป็นกลุ่มแมว ส่วนตลาดอาหารสุนัขมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดทั้งในด้านรายได้และขนาดการใช้จ่าย ซึ่งส่วนแบ่งการตลาดนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความต้องการอาหารสัตว์ราคาแพง (Premium treats) เพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคเลี้ยงสัตว์ด้วยความรักและให้ความผูกพัน ทำให้ต้องการอุปกรณ์เลี้ยงสัตว์มากขึ้น เช่น อาหารสัตว์ประเภทอื่น ๆ ที่หลากหลายมากกว่าอาหารสัตว์จำพวกอาหารเม็ดหรืออาหารแบบเปียกอย่างเดิม
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจใหม่ๆ ที่เข้ามารุกตลาดสัตว์เลี้ยงรับเทรนด์ Pet Humanization ล่าสุด เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ร่วมกับ ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น หรือ ITC ผู้นำการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงระดับโลก เปิดตัว i-Tail PET CINEMA โรงภาพยนตร์สำหรับคนรักสุนัขและแมวแห่งแรกในประเทศไทย PET Friendly ที่พร้อมต้อนรับเจ้าของและน้องหมาน้องแมวเข้ามาร่วมดูหนังด้วยกัน เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 10 ม.ย. 2566 เป็นต้นไป เฉพาะ 3 สาขา ที่โรงภาพยนตร์เมกา ซีนีเพล็กซ์, อิสต์วิลล์ ซีนีเพล็กซ์ และ เมเจอร์ ซีนีม่า โรบินสันราชพฤกษ์

โดยมีข้อกำหนด คือ สัตว์เลี้ยงที่สามารถนำเข้าชมภาพยนตร์ได้ เฉพาะน้องหมาและน้องแมวเท่านั้น อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น สุขภาพแข็งแรง ไม่ดุร้าย สะอาด ไม่มีกลิ่น ได้รับวัคซีนพื้นฐานตามเกณฑ์ น้ำหนักไม่เกิน 15 กิโลกรัม ใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปและอยู่ในกระเป๋า Pet in Cinema ตลอดการชมภาพยนตร์ เป็นต้น

 นายพิชิตชัย วงศ์ปิยะ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ด้วยอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดสัตว์เลี้ยง ส่งผลทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเติบโตไปด้วย จึงเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจที่สามารถตอบรับกับเทรนด์ Pet Humanization ได้เป็นอย่างดี เป็นที่มาของโปรเจกต์ i-Tail Pet Cinema ต่อยอดจากธุรกิจการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ร่วมจับมือกับพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่งอย่าง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ผ่านโรงภาพยนตร์ที่เป็นมิตรต่อสัตว์เลี้ยง ตอกย้ำจุดยืนของบริษัทที่เอาความต้องการของสัตว์เลี้ยงเป็นสำคัญ (Pet Centric) และเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของพ่อแม่หมาแมวยุคใหม่ที่ต้องการใช้เวลาร่วมกันกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก

 นับเป็นปีทองของธุรกิจสัตว์เลี้ยงเมืองไทย เกิดธุรกิจใหม่ๆ เป็นสีสันรับเทรนด์ Pet Humanization หรือการเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่ ที่นิยมเลี้ยงเสมือนลูกเป็นสมาชิกในครอบครัว 


กำลังโหลดความคิดเห็น