ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรมวิชาการเกษตร เผยการส่งออกสินค้าเกษตร ปี 2565 “ผลไม้สด” เป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับ 1 ของประเทศไทย ปริมาณการส่งออกกว่า 2.94 ล้านตัน สร้างมูลค่าการส่งออก 1.72 แสนล้านบาท โดยผลไม้สดที่สร้างมูลค่าการส่งออก 3 อันดับแรก คือ ทุเรียน มะพร้าวอ่อน และลำไย
นอกจากนี้ ไทยครองแชมป์ส่งออกผลไม้ไทยไปยังจีนเป็นอันดับ 1 โดยในปี 2565 ปริมาณการนำเข้าผลไม้ในจีนอยู่ที่ 2 ล้าน 1 แสน 7 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.72 โดยผลไม้ที่จีนนิยมนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรกคือ กล้วยหอม มะพร้าวอ่อน ทุเรียน แก้วมังกร และลำไย ซึ่งจีนนำเข้าทุเรียนไทยร้อยละ 95 ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมด และนำเข้ามะพร้าวอ่อนถึง 523,000 ตัน มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าตลาดผลไม้ของจีนยังมีความต้องการผลไม้จากทั่วโลก เป็นตลาดบริโภคผลไม้ขนาดใหญ่ อันเป็นโอกาสสำคัญของเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยในการพัฒนาคุณภาพผลไม้ ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการ
และดีลไม่ลับที่น่าจับตา เกี่ยวกับการผลักดันส่งออกกล้วยไทยเข้าตลาดญี่ปุ่น แม้ประเทศไทยมีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า JTEPA ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 โดยญี่ปุ่นได้ให้สิทธิพิเศษการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากประเทศไทยเป็นจำนวน 8,000 ตัน แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถส่งออกกล้วยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้สูงสุดเพียง 2,890 ตันต่อปีเท่านั้น
สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้กล้วยไทยสามารถส่งเข้าไปแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นได้น้อย แม้ว่าจะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าก็ตาม ก็คือการแข่งขันอย่างรุนแรงจากประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นเจ้าตลาด ซึ่งในปัจจุบันถือครองตลาดอยู่ถึง 76% หรือประมาณ 3 ใน 4 ของตลาดกล้วยในญี่ปุ่นทั้งหมด และล่าสุดฟิลิปปินส์เพิ่งออกมาประกาศขึ้นราคากล้วยหอมในประเทศญี่ปุ่น เป็นผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้ง ฟิลิปปินส์ยังประสบปัญหาโรคระบาดในกล้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อด้านปริมาณการผลิตด้วย จึงเป็นโอกาสของกล้วยไทยจะเข้าไปช่วงชิงตลาดญี่ปุ่น
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าผู้บริโภคญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นิยมรับประทานกล้วย เพราะเห็นว่าเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยและมีคุณค่าทางอาหารสูง อีกทั้งยังมีราคาที่เข้าถึงได้ รวมถึงสามารถนำไปใช้แปรรูปเป็นขนมได้อีกมากมาย ทว่า ญี่ปุ่นปลูกกล้วยเองได้ในปริมาณน้อย เนื่องจากมีภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งในแต่ละปีจะต้องนำเข้ากล้วยเข้ามาบริโภคในประเทศถึงปีละกว่า 1 ล้านต้น จึงเห็นถึงโอกาสในขยายตลาดและได้สั่งการให้เดินหน้าการผลักดันการส่งออกกล้วยไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นอย่างเต็มที่
นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว เผยถึงการจัดกิจกรรมการเจรจาการค้าสินค้ากล้วยสดและแปรรูป โดยทางสำนักงานได้นำทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ อาทิ Gyomu Super ซึ่งมีกว่า 1,050 สาขา และ Beisia ซึ่งมีกว่า 130 สาขาทั่วญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้นำเข้าที่มีศักยภาพรวม 10 บริษัท เดินทางมาพบปะเจรจาการค้ากับผู้ส่งออกและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอม ผู้ผลิตกล้วยแปรรูป และได้เชิญผู้ประกอบการกล้วย GI ของไทยที่ได้รับการรับรองจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเจรจาการค้าและเกิดการทดลองชิมสินค้า ซึ่งในส่วนตัวมีความเชื่อว่ากล้วยจากประเทศไทยมีรสชาติที่อร่อยกว่าของประเทศคู่แข่ง อีกทั้ง ผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปจากประเทศไทยมีความหลากหลายและมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ และยังอาจช่วยสร้างโอกาสให้สินค้าเกษตรจากภูมิภาคของไทยให้สามารถเปิดตลาดส่งออกสู่ประเทศญี่ปุ่นได้ต่อไปด้วย
จากการประเมินผลการจัดกิจกรรมการเจรจาการค้าสินค้ากล้วยสดและแปรรูปในเบื้องต้น คาดว่าเกิดการสั่งซื้อกล้วยหอมจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2,000 ตัน และผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปรวมเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท
กรมการค้าภายใน เปิดเผยว่าจากมาตรการบริหารจัดการผลไม้ทั้งการจำหน่ายในประเทศและการส่งออก ปี 2566 ผลไม้ไทยมีปริมาณ 6.75 ล้านต้น เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 3 โดยในนี้ ทุเรียน เพิ่ม 18% มังคุด เพิ่ม 30% ลำไย เพิ่ม 1% เงาะ เพิ่ม 7% ลิ้นจี่ เพิ่ม 10% มะม่วง เพิ่ม 4% สับปะรด เพิ่ม 5% เป็นต้น ซึ่งผลไม้ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง แต่ที่ลดลงคือ ลิ้นจี่ มะม่วง และสัปปะรด เป็นผลมาจากการได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และสภาพอากาศในช่วงที่ผ่านมา
โดยตั้งเป้าหมายการส่งออกผลไม้สดและแปรรูปไว้ที่ 4.44 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อน 10% โดยเฉพาะทุเรียน ตั้งเป้าการส่งออกทุเรียนให้ได้ที่ 1 แสนล้านบาท พร้อมทั้งวางแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ 3 จังหวัด ในส่วนของผลไม้ส่งออกสำคัญคือทุเรียน มีการกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่บทความ เรื่อง “ผลไม้ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก?” โดย นายสุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ย้ำเตือนความท้าทายและเตรียมความพร้อมในตลาดผลไม้ส่งออกพืชเกษตรอันดับหนึ่งของไทย เพื่อไม่ให้ผลไม่ไทยชาติใดในโลก ระบุว่า ผลไม้เป็นสินค้าที่มีค่าความยืดหยุ่นต่อรายได้สูง ซึ่งแตกต่างจากอาหารคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว กล่าวคือ เมื่อประเทศพัฒนาขึ้น ประชากรมีรายได้สูงขึ้น จะหันมารับประทานผลไม้มากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมผลไม้มีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ดีในอนาคต ผลไม้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย (luxury goods) ในบางประเทศ โดยเฉพาะจีน ยกตัวอย่างเช่น การรับประทานทุเรียนที่สะท้อนฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนจีนว่าอยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ การปลูกผลไม้ต้องอาศัยความเอาใจใส่และความประณีตสูง เช่น การปลูกมังคุดให้มีคุณภาพดีต้องควบคุมน้ำใกล้ชิด เพราะหากได้รับน้ำมากไป อาจทำให้มังคุดมีอาการเนื้อแก้วและยางไหล ซึ่งทำให้ราคาลดลง นอกจากนี้ ผลไม้หลายชนิดยังต้องผ่านการอบไอน้ำและรมยาในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อยืดอายุของผลไม้ โดยเฉพาะลำไยที่ต้องรมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งหากมากเกินไป อาจไม่ผ่านมาตรฐานการผลิตและทำให้ส่งออกไม่ได้
ย้ำเตือนไปยังเกษตรกรและผู้ประกอบการผลไม้ไทยมี ต้องเตรียมรับมือ ตระหนักรู้ และปรับตัว พร้อมๆ กับภาครัฐที่จำเป็นต้องสนับสนุนในหลายด้าน อาทิ 1. รสนิยมการรับประทานผลไม้ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ คนรุ่นใหม่ดื่มน้ำลำไยลดลง ซึ่งทำให้อุปสงค์ของลำไยอบแห้งลดลงตามไปด้วย ทำให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น
2. เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยยังต้องรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะคู่แข่งจากต่างประเทศ เช่น เวียดนามที่เริ่มปลูกทุเรียนบางสายพันธุ์มาแข่งขันกับไทย ทุนต่างชาติที่ลงทุนปลูกผลไม้ในกลุ่มประเทศ CLMV เช่น ลาวและกัมพูชา ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ประเทศเหล่านี้เริ่มผลิตผลไม้มาแข่งขันกับไทยได้
ทั้งนี้ คุณภาพผลไม้ไทยที่เคยเป็นอันดับหนึ่งในตลาดโลกอาจประสบกับการแข่งขันที่สูงขึ้น อาทิ ทุเรียนที่คนจีนคิดว่าดีที่สุดในโลก อาจไม่ใช่ทุเรียน “หมอนทอง” จากไทยแล้ว แต่เป็นทุเรียน “มูซานคิงส์” จากมาเลเซีย ดังนั้น เกษตรกรควรพยายามวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ผลไม้ใหม่ๆ และควรปลูกผลไม้แต่ละชนิดในหลากหลายสายพันธุ์ เพราะแต่ละพันธุ์ก็มีเวลาเก็บเกี่ยวแตกต่างกัน
ขณะที่ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน และจัดตั้งเป็นสถาบันเกษตรกรไทยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้าให้แก่เกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างความสำเร็จ เช่น การขายผลไม้กีวี่ของเกษตรกรชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งรวมกลุ่มกันจัดตั้งสำนักงานขายในต่างประเทศ และถือว่าเป็นการส่งออกเชิงรุก
และ 3. การส่งออกผลไม้ไทยในปัจจุบันพึ่งพาตลาดจีนมาก สะท้อนจากขนาดตลาดและอุปสงค์ต่อผลไม้ไทยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้เกษตรกรไทยต้องอาศัย “ล้งจีน” ในการส่งออกผลไม้ไทย เพราะการส่งออกไปตลาดจีนโดยตรงมีความยุ่งยากและซับซ้อนมาก ซึ่งภาครัฐควรดูแลให้อำนาจต่อรองระหว่างล้งจีนกับผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยมีความเป็นธรรมที่สุด ไม่ฉวยโอกาสเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ภาครัฐควรเร่งเจรจาการค้าเพื่อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการผลไม้ไทยในการหาช่องทางการส่งออกใหม่ๆ
ข้อสำคัญรัฐควรพิจารณายกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ และดันผลไม้ไทยสู่ soft power ในระดับโลก